จิตตวิถี (ตอน๑)
ปุจฉา
ปุจฉา
โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส
ปุจฉา
ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ จะมีวิธีการดำรงรักษาความนึกคิดของเราให้อยู่ในร่องของความเป็นกุศลอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร คือ รู้สึกว่า จิตคนเรานั้นมักไม่ค่อยคิดเป็นกุศล ชอบคิดเป็นอกุศล แต่พอบางทีรู้ทัน ก็พยายามปรับให้พยายามมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เพื่อรักษาความเป็นกุศลจิต ทำเช่นนี้ใช้ได้หรือไม่คะ
วิภา ณ ซิดนีย์
วิสัชนา
อาตมามักสอนพระลูกศิษย์ที่วัดป่าพุทธพจน์ฯ ให้หมั่นทำความสงบนิ่ง แล้วใช้สติที่เป็นสัมมาสติเป็นความระลึกรู้อันชอบ ทำความสำนึก หรือตรวจสอบ หรือระลึกรู้เข้าไปในวิถีแห่งจิตของเรา จิตก็คือสภาพตัวรู้ ที่คิด ที่นึก ที่ปรุงแต่ง ความคิดความนึก ความปรุงแต่งของจิตนั้น ทำให้มันเข้าไปติดอยู่ในสิ่งเร้า ในอารมณ์ทั้งหลาย เราก็พิจารณาดูว่า ให้มีสติ หรือระลึกเข้าไปดู
สติเป็นอำนาจธรรมอันหนึ่งที่ไว้ปรับสภาพ ตรวจสอบ ควบคุม และพัฒนาการของตัวจิต ซึ่งเป็นความคิดความนึก เป็นความปรุงแต่ง ให้มันรู้ความควร ความชอบ เรานั่งดู เราส่องดูจิตของเราว่า ณ ขณะนั้นจิตของเรามีสภาพแบบไหน มันรื่นเริง มีความฉันทะ พึงใจ หรือมันเบื่อหน่ายขี้เกียจ มันมีกำลังความตั้งมั่นที่มาจากศรัทธา หรือมันหวั่นไหว อ่อนแอ เบื่อหน่าย ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ให้แยกดูเป็น ๒ ส่วนคือ
ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความมีประโยชน์ ความเป็นบุญ กับ
ความไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ไม่มีประโยชน์ และความเป็นบาป
ถ้าเรามีสติมีความระลึกรู้ชอบ เราก็สามารถที่จะอ่านจิตออก อ่านสภาพธรรมของจิตออก เพราะจิตที่มีกำลังสติที่เข้มแข็ง จะมีปัญญา เราก็จะรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้ความเข้าใจดังกล่าวนั้นนำไปสู่การปรับสภาพจิตให้มีประโยชน์ ให้เป็นไปสู่ส่วนของบุญกุศล ไม่ไปในส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล มันปรับได้ นั่นแสดงว่าจิตนี้เป็นอำนาจธรรมที่ไม่คงที่เที่ยงแท้แน่นอน มันเคลื่อนไหวไปมา ยักย้าย ถ่ายเทได้
ในขณะที่เรามีความรู้สึกที่ดีหรือจิตเข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ดีๆ ในสิ่งดีนั้นก็ให้ประโยชน์ ไม่ให้โทษ จิตก็จะแสดงสภาพอันหนึ่งเกิดขึ้น สภาพดังกล่าวนั้นจะรู้สึกมีความสุข มีความพึงใจเกิดขึ้น มีความเร้าใจในทางฝ่ายกุศล มีความสบายใจเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกันถ้ามันอยู่ในวิถีที่อยู่ในฝ่ายที่ไม่ชอบอกไม่ชอบใจ ก็มีความเร้าใจในฝ่ายอกุศลเกิดขึ้น ไม่ค่อยเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทษ เร่าร้อน
สองอารมณ์นี้ สุขกับทุกข์ จึงเป็นที่อาศัยของจิต อารมณ์นี้ก็ยกขึ้นสู่จิต ให้จิตนั้นเข้าไปรู้ เข้าไปรับไว้ ซึ่งจิตนั้นก็ทำหน้าที่อยู่ เข้าไปรู้ในฐานะของวิญญาณ วิญญาณก็เป็นเหมือนพาหนะให้จิตนั้นอาศัย เป็นวิถีจิตเข้าไปสู่การรับรู้ในอารมณ์เหล่านั้น แม้ไม่ทุกข์ ไม่สุข กลางๆ ก็เช่นเดียวกัน
อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้