posttoday

มะพร้าวราคาตกต่ำ สาเหตุ และทางออก

22 กรกฎาคม 2561

การตกต่ำของราคามะพร้าวในขณะนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ชาวสวนมะพร้าวและหลายๆ คน ไม่ได้คาดฝันไว้ก่อน

การตกต่ำของราคามะพร้าวในขณะนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ชาวสวนมะพร้าวและหลายๆ คน ไม่ได้คาดฝันไว้ก่อน

****************************

โดย...เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การตกต่ำของราคามะพร้าวในขณะนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่ชาวสวนมะพร้าวและหลายๆ คน ไม่ได้คาดฝันไว้ก่อน เพราะเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ในวันที่ 27 พ.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแนะนำให้ชาวปัตตานี ปลูกมะพร้าวแทนยางอยู่เลย

ในวันนั้น ราคาของมะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยในเดือน พ.ย. 2560 เท่ากับ 17.10 บาท/ผล แต่วันนี้ มะพร้าวหน้าสวนกลับมีราคา 4-5 บาท/ผล เท่านั้น บทความนี้จะสำรวจสาเหตุของการตกต่ำของราคามะพร้าวและแนวทางแก้ไข

อุปสงค์เพิ่ม อุปทานลด

หลายคนมองว่า การตกต่ำของราคามะพร้าวก็คงเป็นไปตามกลไกตลาดแบบสินค้าอื่น แต่จริงๆ แล้วในภาพรวมนั้นความต้องการมะพร้าวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ความต้องการใช้มะพร้าวทั้งประเทศอยู่ที่ 1.047 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.425 ล้านตัน ในปี 2560 โดยความต้องการใช้มะพร้าวผลในประเทศ เป็นการใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูปถึงร้อยละ 60 เป็นการใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงเพียง 35% และใช้ในการสกัดน้ำมันมะพร้าว 5% ของความต้องการทั้งหมด

ในขณะที่ผลผลิตมะพร้าวของไทยลดลงไปมาก โดยหากเทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในปี 2546 ประเทศไทยมีผลผลิตมะพร้าว 2.12 ล้านตัน แต่ปัจจุบันในปี 2560 ผลผลิตมะพร้าวของเราเหลือเพียง 8.83 แสนล้านตัน หรือผลผลิตมะพร้าวของเราลดลงไปกว่าร้อยละ 60 ในเวลาเพียง 15 ปี

สาเหตุสำคัญของการลดลงมาจากทั้งการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ โดยในปี 2546 มีเนื้อที่ให้ผลผลิตมะพร้าว 1.74 ล้านไร่ แต่ในปี 2560 ลดลงเหลือ 1.10 ล้านไร่ หรือลดลงไปประมาณ 6.40 แสนไร่ ส่วนผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ก็ลดลง จากเดิมประเทศไทยมีผลผลิตมะพร้าวเฉลี่ยต่อไร่ 1,217 กก./ไร่/ปี ในปี 2546เหลือเพียงแค่ 754 กก./ไร่/ปี ในปี 2560

การลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นเพราะสวนมะพร้าวที่เหลืออยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าวที่มีอายุมากและขาดการบำรุงดูแลรักษา รวมถึงการเกิดศัตรูพืชระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตมะพร้าวของไทยลดลงอย่างมาก

ผลผลิตมะพร้าวแทบไม่มีความเป็นฤดูกาล

ปัญหาหนึ่งของผลผลิตการเกษตรอื่นๆ คือ ความเป็นฤดูกาล (Seasonality) หรือการมีผลผลิตออกมามากในบางช่วงฤดูกาล ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ แต่มะพร้าวกลับเป็นพืชที่แทบไม่มีความเป็นฤดูกาลเลย ในภาพรวมของทั้งประเทศ มะพร้าวให้ผลผลิตในทุกเดือนใกล้เคียงกัน ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2560 เดือนที่มะพร้าวมีผลผลิตมากที่สุดคือ มิ.ย. มีผลผลิต 11.02% ของผลผลิตทั้งหมดเท่านั้น

การขึ้นลงของราคามะพร้าว

ในเมื่ออุปสงค์มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนอุปทานก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แถมยังไม่มีปัญหาผลผลิตกระจุกตัวเป็นบางฤดูกาล ราคามะพร้าวก็น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาพรวมระยะยาว ซึ่งหากมองราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยรายปีก็มีแนวโน้ม โดยเพิ่มจากราคา 4.39 บาท/ผล ในปี 2550 เป็น 16.95 บาท/ผล ในปี 2560

แต่เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เราพบช่วงเวลาที่ราคามะพร้าวลดต่ำลงอย่างมากอยู่ 2 ช่วงเวลา คือ

ช่วงแรก จากเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2555 ราคาลดลงจาก 12.83 บาท/ผลในเดือน ม.ค. 2555 เหลือเพียง 3.15 บาท/ผลในเดือน ส.ค. 2555 โดยในปี 2555 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5.47 บาท/ผล ดังนั้นเกษตรกรจึงประสบปัญหาขาดทุนในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้น

ช่วงที่สอง จากเดือน ธ.ค. 2560 หรือ 1 เดือนหลังจากนายกฯ แนะนำให้ปลูกมะพร้าว ราคามะพร้าวก็ลดลงจาก 17.21 บาท/ผล เหลือเพียง 13.55 บาท/ผลในเดือน มี.ค. 2561 ก่อนจะลดลงเหลือ 7.41 บาท/ผล ในเดือน มิ.ย. 2561 หรือลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทำไมราคามะพร้าวจึงตก?

หากพิจารณาในแง่ช่วงเวลาแล้วจะเห็นได้ว่า การลดลงของราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ในทั้งสองช่วง จะสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้ามะพร้าวที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2554 และปี 2560 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกมะพร้าว จนกระทั่งถึงปี 2553 ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกมะพร้าว โดยส่งออกมะพร้าวผลสดอยู่ที่ 33,249 ตัน และนำเข้ามะพร้าวผลแห้งเพียงประมาณ 3,207 ตันเท่านั้น แต่ในปีถัดมา 2554 การเกิดศัตรูพืชระบาดทำให้ผลผลิตมะพร้าวทั่วประเทศลดลง จึงมีการนำเข้ามะพร้าวผลแห้งเข้ามา 111,611 ตัน จนเป็นผลให้มะพร้าวราคาตกต่ำลงในปี 2555

อย่างไรก็ดี การนำเข้ามะพร้าวผลแห้งของไทยในปี 2555 ก็ลดลงเหลือ 27,476 ตัน แต่ประเทศไทยก็เริ่มกลับมาเป็นประเทศผู้นำเข้ามะพร้าวในปี 2557 และนำเข้าอยู่ประมาณ 1-2 แสนตัน/ปี แต่ในปี 2560 ปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลแห้งเพิ่มขึ้นเป็น 410,839 ตัน

โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย. 2560-ก.พ. 2561 เรานำเข้ามะพร้าวแต่ละเดือนประมาณ 4 หมื่นตัน ทำให้ในช่วงเวลา 4 เดือน ดังกล่าวเรานำเข้ามะพร้าวเท่ากับ 171,899 ตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการนำเข้ามะพร้าวของปี 2559 ทั้งปีเสียอีก ปริมาณการนำเข้าดังกล่าวเทียบเท่ากับ 64% ของผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่ปีก่อน ปริมาณการนำเข้ายังอยู่ที่สัดส่วนเพียง 40% เท่านั้น

การนำเข้าผลผลิตมะพร้าวมาเป็นจำนวนมาก หลังจากที่นายกฯ แนะนำให้พี่น้องปลูกมะพร้าว ทำให้ราคามะพร้าวได้ลดลงไปแล้ว 65% หรือเกือบ 2 ใน 3 จากวันที่นายกฯ แนะนำให้ปลูกมะพร้าว

ทางออกอยู่ที่การบริหารการนำเข้ามะพร้าว

เมื่่อเห็นชัดเจนแล้ว่า ราคามะพร้าวในประเทศที่ลดลงจะขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้ามะพร้าว ดังนั้นเราจึงต้องบริหารจัดการการนำเข้าให้ดีขึ้น ซึ่งมะพร้าวยังมีข้อแตกต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ เพราะการนำเข้ามะพร้าวยังมิได้เป็นไปในลักษณะการค้าแบบเสรีโดยสมบูรณ์ แต่ยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งเพิ่งกำหนดกรอบการนำเข้าใหม่สำหรับปี 2560-2562

แม้ว่าปัจจุบันการนำเข้าเกือบทั้งหมดมาจากประเทศในกลุ่มการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าเท่ากับ ศูนย์แต่คณะกรรมการฯ ก็ยังพยายามกำหนดกรอบการนำเข้า โดยเน้นการนำเข้าในช่วง 7 เดือน/ปี ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. และเดือน พ.ย.-ธ.ค. เพราะคาดว่าเป็นช่วงที่ผลผลิตในประเทศออกมาสู่ตลาดน้อย และให้นำเข้าเพื่อใช้ในกิจการของตนเองเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กรอบการนำเข้าดังกล่าวดูจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะข้อมูลในปี 2560 พบว่า ปริมาณผลผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวมีสัดส่วนประมาณ 50-60% ของผลผลิตทั้งปี เพราะฉะนั้นการนำเข้ามะพร้าวโดยกระจุกตัวในช่วงเวลาดังกล่าวจะกระทบกับราคามะพร้าวในประเทศอย่างแน่นอน

การบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าว จึงควรเป็นไปในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยมีเสถียรภาพของราคาเป้าหมายในประเทศเป็นเกณฑ์ เช่น กำหนดช่วงราคามะพร้าวในประเทศที่ประมาณ 10-13 บาท/ผล โดยภายใต้กรอบดังกล่าว ผู้นำเข้าจะหยุด/ลดการนำเข้าหากราคามะพร้าวในประเทศต่ำกว่า 10 บาท/ผล และจะมีการนำเข้ามากขึ้น หากราคามะพร้าวเกินกว่า 13 บาท/ผล (หมายเหตุ ตัวเลขข้างต้นเป็นตัวเลขสมมติเบื้องต้น โดยพิจารณาจากราคามะพร้าวนำเข้าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 8.38-11.20 บาท/ปี ในปี 2557-2560)

ซึ่งหากเราสามารถรักษาระดับราคาในประเทศไว้ได้ ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจและการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการกลับมาปลูกหรือบำรุงดูแลสวนมะพร้าวให้มีผลผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเราก็มีความเป็นไปได้ในการรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าวได้ เพราะโครงสร้างตลาดมะพร้าวนำเข้า คือ การนำมาทำกะทิสำเร็จรูป ซึ่งมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น (ส่วนแบ่งตลาดของ 4 รายใหญ่มีมากกว่า 90% ของทั้งหมด) เพราะฉะนั้น หากกลุ่มธุรกิจกะทิสำเร็จรูปเห็นถึงความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก และจะเป็นผลดีต่อทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการเองด้วย