ราชินีแห่งผ้าไหม ‘แพรวา’ ใครๆ ก็ใส่ได้
ผ้าทออีสานมีเอกลักษณ์ความงดงามไม่แพ้ผ้าท้องถิ่นใดในโลกนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดหลายๆ ข้อ
โดย ชุติมา สุวรรณเพิ่ม
ผ้าทออีสานมีเอกลักษณ์ความงดงามไม่แพ้ผ้าท้องถิ่นใดในโลกนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดหลายๆ ข้อ ข้อแรก คนรักผ้าไทยใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ ราคาแพงลิบ ไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ให้หยิบมาใช้ได้ง่ายดายนัก
การได้ครอบครองราชินีแห่งผ้าไหม “แพรวา” ผ้าผืนงามล้ำค่าของ จ.กาฬสินธุ์ ผืนหนึ่งราคาหลายพันบาท ไปจนแตะหลักหลายหมื่นบาทก็มีให้เห็น อยากได้ผ้าไทยทอมือก็มองตาละห้อย จะตัดเดรสสวยๆ โก้ๆ สักชุด ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว
เหตุผลถอดใจอีกข้อของผ้าไหมไทยยับย่นง่าย ต้องส่งซักแห้งทุกๆ ครั้งที่หยิบขึ้นมาสวมใส่ มีค่าใช้จ่ายอีกหลายร้อยบาท
หากวันนี้มีการคิดค้นงานวิจัยกับการแก้ไขปัญหาลดข้อจำกัดเหล่านี้ลงได้อย่างน่าดีใจ ด้วยผลงาน “งานวิจัยคุณภาพ” โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หรือ มทร.พระนคร เตรียมโชว์ความพร้อมนำผลงานวิจัย “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน” จะเผยโฉมในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561-Thailand Research Expo2018 ระหว่างวันที่ 9-13 ส.ค.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ผลงานวิจัยโบแดงชิ้นนี้สานต่อพระราชปณิธาน “พระมารดาแห่งผ้าไหมไทย” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการทรงงานมีพระราชดำริในการส่งเสริมรักษาผ้าทอไทย ทรงเริ่มจากพระองค์เองด้วยการนำผ้าไหมไทยฝีมือทอชาวอีสาน ทรงนำมาตัดเย็บฉลองพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกล ทำให้ผ้าไหมไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ต่อยอดมรดกล้ำค่าชาวภูไท จ.กาฬสินธุ์
ผลงานวิจัยโดยการนำองค์ความรู้แบบบูรณาการ ลง 3 พื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มแรก คือ ผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มที่ 2 ผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ และกลุ่มที่ 3 ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติ จ.อุบลราชธานี เป็นการคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายและช่องทางการจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ทอผ้า 3 จังหวัด
รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อธิบายโครงการวิจัยชิ้นล่าสุด พร้อมแล้วที่จะนำไปโชว์ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2561 โครงการวิจัยคุณภาพชิ้นนี้มีที่มาปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย คือ สร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี สร้างคนดีสู่โลกอาชีพ เพื่อการผลิตบุคลากรให้ก้าวสู่ตลาดแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญสายอาชีพของตัวเอง
อีกพันธกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ การบริการวิชาการเพื่อสังคม โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน เป็นงานที่ มทร.พระนคร สร้างทีมวิจัยโดยคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น คิดค้นทั้งนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนา เพื่อยกระดับผ้าทออีสานโดยเฉพาะผ้าไหมแพรวา ผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท หรือชาวผู้ไท
นอกจากสืบสานพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทยแล้ว ก็คือการน้อมนำปรัชญาการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลักการระเบิดจากข้างใน คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามาใช้ในการทำงานครั้งนี้ด้วย
“แนวทางการพัฒนาวางไว้ 4 ด้าน คือ การพัฒนารูปแบบ ผ้าไหมทอ ขิด จกไหม คือความงามในแบบของแพรวา ชุดกระโปรงป้ายข้างสั้นเหนือเข่างดงามอ่อนหวาน ดีไซน์ออกมาให้มีความเรียบโก้ ทะมัดทะแมง ยามสวมใส่ก็เคลื่อนไหวได้ง่าย ดูคล่องแคล่วตามสไตล์คนรุ่นใหม่
สวมใส่ไปทำงานในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เป็นสาววัยทำงานกระฉับกระเฉง ไม่ทิ้งความเป็นแฟชั่น กับสีของลายผ้าไหมแพรวา เลือกใช้สีสันสดใสพาสเทล หรือถ้าเป็นสีจัดจ้านของลายแพรวาก็ตัดได้ด้วยความอ่อนหวานของผ้าลินินสีพื้น รวมไปถึงความเหลื่อมของสีเดียวกันแต่หลายเฉดก็ทำให้เกิดลูกเล่นที่น่าสนใจ”
รศ.สุภัทรา แนะนำชุดของนางแบบที่สวมผ้าไหมไทยได้ดูสวยงาม ไม่เกินวัยอย่างที่หลายๆ คนกังวล
“การยกระดับผ้าไหมแพรวา ทำให้เป็นผ้าที่ทุกคนซื้อได้ในราคาไม่สูงนัก ทีมอาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เริ่มคิดเรื่องดีไซน์การนำผ้าไหมแพรวามาเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่การนำมาตัดเย็บทั้งผืน เป็นการมิกซ์แอนด์แมตช์ผ้าไหมแพรวากับผ้าทอสีพื้นชนิดอื่น เช่น เลือกใช้ผ้าลินิน ใช้แพรวาตรงส่วนปกเสื้อ กระเป๋าเสื้อ หรือส่วนชายกางเกง ใช้ผ้าราคาสูงเพียงบางส่วนเท่านั้นค่ะ”
แนวทางพัฒนาอีก 3 เรื่องต่อมา คือการพัฒนาเพิ่มลักษณะเฉพาะตัวให้ผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าทอมือสีธรรมชาติ และผ้าไหมตีนแดงมีการจับคู่สีให้โดดเด่นขึ้น การแปรรูปผ้าทอเป็นกระเป๋าถือ หมวก และการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผ้าทอด้วยการตกแต่งสำเร็จ เช่น การทำให้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติของ จ.อุบลราชธานี น่าสัมผัสนุ่มลื่นด้วยเอนไซม์ โดยกระบวนการใช้สารเคมีที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อสุดท้าย คือการนำสู่ตลาด โดยใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนทอผ้าได้มั่นคง
วิจัยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา
ทีมนักวิจัยฝ่ายออกแบบ จรัสพิมพ์ วังเย็น อาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา อธิบายว่าความวิจิตรงดงามของลวดลายแพรวาล้วนเกิดจากภูมิปัญญา ซึ่งต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญ ทั้งเทคนิคการขิด การจก พื้นฐานจากเดิมผ้าแพรวามีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน สำหรับคุลมไหล่หรือห่มสไบเฉียง ต่อมามีการทอผ้าให้เป็นผืนหน้ากว้างสำหรับตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่
“คณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มชุมชนทอผ้าแพรวา โจทย์ที่เราได้รับมาคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหมแพรวา ชุมชนทอผ้าแพรวา ล้วนต้องการที่จะทำอย่างไรให้ผ้าไหมแพรวาขายได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น คณะทำงานกลับมานั่งตีโจทย์กันค่ะ
พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาทำให้ผ้าไหมแพรวาขายยาก เนื่องจากความวิจิตรบรรจงของลายผ้าที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญของช่างทอ แล้วเมื่อทอเป็นผืนใหญ่ใช้เวลาทอนาน มีราคาสูง ดังนั้นเมื่อนำไปตัดชุดสำเร็จจึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในการตัดเย็บเสื้อผ้าสูงตามไปด้วย
หน้าที่ของทีมวิจัย คือ จะทำอย่างไรให้เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมแพรวามีราคาย่อมเยาตรงความต้องการของผู้บริโภค แต่คงไว้ซึ่งความสวยงามและเอกลักษณ์ของลวดลายที่สำคัญของผ้าไหมแพรวา กลุ่มเป้าหมายที่เรามองคือคนทำงานรุ่นใหม่อายุประมาณ 25 ปีขึ้นไปค่ะ”
ต้นทุนการผลิตลดลง จึงจำหน่ายได้ในราคาย่อมเยาขึ้น ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น การผลิตกับการขายเริ่มสัมพันธ์กัน เน้นผลิตออกมาเพื่อขายได้ทั้งหมด
ในการลงพื้นที่ทำงานครั้งนี้ จรัสพิมพ์ กล่าวว่า ไม่ใช่การนำองค์ความรู้หรือสิ่งที่คณะนักวิจัยคิดค้นพัฒนาขึ้นไปมอบให้ชาวบ้าน “กลุ่มแม่ๆ” ผู้ทอผ้า โดยที่ไม่ได้มองถึงความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ในกระบวนการตกผลึกความคิดทุกขึ้นตอนจึงต้องผ่านการพิจารณามีส่วนร่วมระหว่างคณะทำงานทีมนักวิจัย และชุมชนทอผ้า
“หน้าที่ของเราคือเข้าไปส่งเสริมนำองค์ความรู้ไปให้ แต่ละแบบ แต่ละดีไซน์ จึงต้องคำนึงถึงว่าชุมชนคนทอผ้าเขาจะทำได้ไหม เพราะสิ่งที่เขาถนัดคือการทอผ้าไม่ใช่งานดีไซน์ ถ้าเราไม่ช่วยกันคิดพิจารณาเห็นชอบร่วมกัน ถ้าสิ่งที่เรานำไปให้พอเรากลับออกมา เขาทำต่อไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่การออกแบบดีไซน์เท่านั้นค่ะ
เรามองไปถึงเรื่องของตลาด เมื่อก่อนเขาจะตัดเย็บชุดที่เป็นไซส์เดียว คือ ฟรีไซส์ หรือไซส์ตามใจฉัน เราก็เข้าไปเติมเต็มในเรื่องของการทำไซส์ S M L ที่เป็นมาตรฐานสากล ก็ทำให้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง การตลาดออนไลน์ก็เป็นช่องทางที่น่าสนใจที่เรานำเข้าไปช่วยชุมชน”
สิ่งที่ยากในการเริ่มต้นทำ “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน” ให้กับชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์ ทีมนักวิจัย จรัสพิมพ์ บอกว่าคือการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
“กลุ่มผู้ทอผ้าที่เป็นรุ่นคุณยาย คุณแม่ จะมีความกังวลว่าเราจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาเคยทำมา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเขา จึงต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันระยะหนึ่ง โดยเราเองก็ให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ไปบิดเบือนวิถีการทอผ้าที่แม่ๆ สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เพราะนั่นคือมรดกทางภูมิปัญญาที่เราต้องคงไว้อย่างเหนียวแน่น แต่สิ่งที่เราขอคือขอให้เปิดใจรับมุมมองใหม่ เมื่อเราทำความเข้าใจมองไปในทิศทางเดียวกันการทำงานก็ง่ายขึ้นเลยค่ะ
ต่างฝ่ายได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กลุ่มแม่ๆ ก็ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับเรา ส่วนเราก็นำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม งานดีไซน์ไปให้ โดยเฉพาะประโยชน์ที่เกิดกับกลุ่มนักศึกษาของ มทร.พระนคร ที่ได้ร่วมลงพื้นที่ทำงานเขาได้มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานครั้งนี้ และจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำงานทุกๆ ฝ่าย กลายเป็นแรงงานคุณภาพที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาต่อยอดผ้าทอไทยและวงการแฟชั่นต่อไปในอนาคตค่ะ” จรัสพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย
โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน ชุดผ้าไหมแพรวาดีไซน์ใหม่จากโครงการนี้ ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย สามารถจำหน่ายได้แล้ว และพร้อมจะนำไปจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561” หรือ THAILAND RESEARCH EXPO 2018” ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ นำกว่า 500 ผลงานมาจัดแสดงปีนี้ เริ่มวันที่ 9-13 ส.ค.นี้ เวลา 09.00-18.00 น. โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
คลิกชมผลงานกันได้ ที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th งานนี้เข้าชมฟรี