พิล็อกซิ่ง ออก 1 ได้ถึง 3
ในยุคสมัยที่ผู้คนต้องการความท้าทายใหม่ แนวทางของการออกกำลังกายในยิมจึงไม่ได้มีแค่แอโรบิก เล่นเวต และการวิ่ง
โดย กั๊ตจัง ภาพ piloxing.com
ในยุคสมัยที่ผู้คนต้องการความท้าทายใหม่ แนวทางของการออกกำลังกายในยิมจึงไม่ได้มีแค่แอโรบิก เล่นเวต และการวิ่ง แต่มีการผสมผสานกิจกรรมหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน โดยใช้จังหวะเพลงสนุกๆ เป็นตัวเชื่อมการออกกำลังกายหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็คือ พิล็อกซิ่ง (Piloxing)
พิล็อกซิ่ง คือการออกกำลังกายที่ผสมผสานระหว่างพิลาทิสและบ็อกซิ่งเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้บ็อกซิ่งถูกเอาไปรวมกับการออกกำลังกายอย่างอื่นๆ เพื่อผลของการออกกำลังกายแบบคู่ขนานก็คือ ได้ออกกำลังสนุกๆ และยังได้ฝึกการชกและการเตะสำหรับต่อสู้ป้องกันตัวเองเข้าไว้ด้วยกัน
แม้จะสู้ได้ไม่เก่งเท่าคนฝึกมวยจริงๆ แต่ก็ยังดีกว่าออกอาวุธไม่เป็นเลย พิล็อกซิ่งถือกำเนิดมาจาก วิวีกา เจนเซน (Viveca Jensen) เทรนเนอร์ฟิตเนสชาวออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกาย ทั้งพิลาทิสบัลเลต์ และบ็อกซิ่ง ซึ่งโค้ชที่ถ่ายทอดวิชาให้กับเธอล้วนเป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการเฉพาะด้านนั้นจริงๆ อย่างเช่นบ็อกซิ่งเธอก็ได้รับการฝึกมาจากโค้ชแชมป์บ็อกซิ่งระดับโลก
เธอบอกว่าชอบการออกกำลังกายที่เน้นด้านพละกำลังและความแข็งแกร่ง โฟกัสไปที่การเคลื่อนไหวของร่างกายในท่วงท่าที่ให้มัดกล้ามเนื้อได้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ การเต้นก็มีจุดเด่นของตัวเอง พิลาทิสก็ให้ในสิ่งที่การเต้นให้ไม่ได้ ในขณะเดียวกันบ็อกซิ่งก็เป็นกีฬาที่สนุก เธอจึงผสมผสานการออกกำลังกายทั้ง 3 ชนิดเข้าด้วยกัน แล้วให้ชื่อว่าพิล็อกซิ่ง
ผสมผสานศาสตร์พิลาทิส เพิ่มความยืดหยุ่นตัวแก่ร่างกาย ผสมกับสเต็ปการเต้นเข้าจังหวะด้วยท่าทางที่ออกแบบมาอย่างลงตัว และยังมีท่าทางการออกอาวุธหมัดมวยสร้างความฮึกเหิม ความสนุกผสานเข้าด้วยกัน ทำให้พิล็อกซิ่งเป็นการบริหารร่างกายได้ครบทุกสัดส่วน ด้วยจังหวะและการออกแรงในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยเผาผลาญพลังงานได้ถึง 400-900 กิโลแคลอรี/ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น
ปัจจุบันมีคลาสการออกกำลังกายพิล็อกซิ่งตามฟิตเนสชั้นนำหลายแห่งที่เราสามารถลงสมัครเรียนคอร์สการออกกำลังกายแบบพิล็อกซิ่งใกล้บ้านได้
สำหรับการเริ่มต้นการออกกำลังกายด้วยพิล็อกซิ่ง จะต้องเริ่มต้นจากการวอร์มร่างกายเหมือนกับการออกกำลังกายชนิดอื่นๆ โดยเริ่มจากยืดกล้ามเนื้อส่วนบน ได้แก่ หัวไหล่ คอ แขน ส่วนกลางลำตัว ได้แก่ หลัง หน้าท้อง เอว สะโพก และส่วนล่าง ได้แก่ ขาลงไปถึงข้อเท้า
การแบ่งการวอร์มร่างกายออกเป็น 3 ส่วน ก็เหมือนกับการแบ่งส่วนการออกกำลังกายของพิล็อกซิ่ง โดยช่วงบนใช้การชกแบบพิล็อกซิ่ง เป็นการออกกำลังกายในช่วงแขน หน้าอก และหัวไหล่ ในส่วนของพิลาทิสก็จะมีการยืดแขนโน้มตัวเพิ่มความยืดหยุ่นโดยรวมของร่างกาย ในส่วนล่างขาและเท้าจะใช้สเต็ปฟุตเวิร์กผสมกับท่าเต้นเพื่อความสนุกมากขึ้น หลายครั้งที่เราอาจสังเกตเห็นได้ว่ากีฬาบ็อกซิ่งนั้นสามารถนำสเต็ปฟุตเวิร์กมาใช้ร่วมกับการแดนซ์ได้เป็นอย่างดี
มาถึงขั้นตอนของการเล่นจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ชุด (ขึ้นอยู่กับการจัดชุดเล่นของเทรนเนอร์ในแต่ละฟิตเนสด้วย) โดยท่าชุดที่ 4 จะเป็นชุดการบริหารกล้ามเนื้อหัวใจ ไหล่ แขน อก ลำตัว และขา ระยะเวลาในการเล่นชุดนี้ใช้เวลาทั้งหมด 7 นาทีโดยประมาณ เน้นสเต็ปฟุตเวิร์กเหมือนนักมวยและต่อยหมัดฮุกสลับซ้ายขวาต่อเนื่องเริ่มจากช้าไปเร็ว สลับฟุตเวิร์กซอยเท้าอยู่กับที่เพื่อเร่งอัตราการเต้นของหัวใจให้สูงขึ้น มีรูปแบบของการเต้นผสมผสานอยู่ในนั้น
ในชุดที่สองของพิล็อกซิ่งจะเริ่มออกกำลังกายสไตล์พิลาทิส แต่ก็ไม่ถึงกับอ่อนช้อยเสียทีเดียว ยังคงมีจังหวะและความสนุกโดยยืมท่วงท่ามาปรับใช้อยู่ ในชุดนี้จะเน้นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ไหล่ แขน อก สะโพก และหลัง และในชุดที่สามจะยังคงเป็นพิลาทิสเหมือนกัน
เน้นจังหวะการโยกก้าวเดินและการแกว่งแขนสลับไปมาอย่างช้าสลับเร็ว ฝึกระบบประสาทสัมผัสไปด้วย หากรู้สึกไม่ไหวตามไม่ทันให้ลดจังหวะให้ช้าลงเหลือแค่การเคลื่อนไหวเท่าที่สามารถเล่นตามได้ ผ่านไปสักระยะประมาณเมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้ เราก็จะเริ่มเล่นตามคนอื่นได้
ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที แต่การที่เราได้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องช้าสลับเร็วมีการซอยเท้า ในช่วงพักมีการเล่นพิลาทิสก็ยิ่งทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานต่อเนื่องในระดับ 900 แคลอรีก็มีให้เห็น ซึ่งเผาแคลอรีได้มากกว่าการวิ่งในเวลาที่เท่ากัน แต่ด้วยรูปแบบการออกกำลังกายพิล็อกซิ่งนั้นเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องคล้าย ที25 จึงไม่ควรออกอย่างหักโหมต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละฟิตเนสจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของพิล็อกซิ่งให้เหมาะสมกับผู้เล่นแค่ไหน
สำหรับคนที่ไม่อยากเสียเวลาออกกำลังกายมากนัก ชอบการออกกำลังกายครั้งเดียวได้ประโยชน์ 3 อย่างจากการออกกำลังกาย 3 ชนิด พิล็อกซิ่งคือคำตอบของคุณอย่างแน่นอน