เส้นทางชีวิต "วิเชียร ฤกษ์ไพศาล" จากเด็กรับใช้ในกองถ่าย สู่ผู้ก่อตั้งค่ายจีนี่ฯ
เปิดเส้นทางชีวิตและแนวความคิดในการทำงานจนทำให้ประสบความสำเร็จ ของผู้ก่อตั้งค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส
เปิดเส้นทางชีวิตและแนวความคิดในการทำงานจนทำให้ประสบความสำเร็จ ของผู้ก่อตั้งค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส
*****************
เรื่อง : วิรวินท์ ศรีโหมด / ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์
เมื่อ 50 กว่าปีก่อน นิค หรือ เด็กชายวิเชียร ฤกษ์ไพศาล หลังจากกลับจากโรงเรียนสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ คือการวิ่งข้ามถนนเส้นเล็กๆ ตรงหน้าบ้านเพื่อไปขอให้ คุณลุง คุณน้า คุณอา เปิดเพลงให้ฟัง ผ่านมา 30 ปี เด็กชายคนนั้นนำความชอบมาทำในสิ่งที่รัก จนกลายเป็นคนไทยคนแรกที่สร้างมิวสิควิดีโอของประเทศ ต่อมาเขาได้เป็นผู้ก่อตั้งค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ที่ปลุกปั้นศิลปินดังมาแล้วมากมาย
โพสต์ทูเดย์ นั่งคุยกับ วิเชียร ในวัย 60 ปี ผู้ก่อตั้งค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการผลิตและโปรโมชั่นเพลงบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บนห้องทำงานชั้น 33 ตึกแกรมมี่ เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตและแนวความคิดในการทำงานจนทำให้ประสบความสำเร็จ จนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของวงการเพลงไทย
จากคนชอบฟัง สู่เส้นทางคนทำเพลง
วิเชียร เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่ออายุ 7 ขวบ ย้ายตามครอบครัวมาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนไทยจีน ในกรุงเทพ พอถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ย้ายไปเรียนโรงเรียนนิพัทธ์วิทยา จบชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิค เล่าว่า จุดเริ่มการเป็นนักฟังเพลงเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก วันหนึ่งคุณพ่อนำเทปคาสเซ็ทเพลงจีนกลับมาบ้านเยอะมาก และเมื่อเปิดฟังทุกวันจนเกิดการซึมซับ ทำให้หลงรักเสียงเพลง หลังจากนั้นเมื่อกลับมาจากโรงเรียน สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำคือ วิ่งข้ามถนนไปขอให้ผู้ใหญ่แถวบ้านเปิดแผ่นเสียงศิลปินไทยหรือต่างประเทศให้ฟัง รวมถึงฟังผ่านวิทยุเครื่องเล็กๆที่สถานีวิทยุเปิด
ระหว่างช่วงการเริ่มสนทนา วิเชียร ได้ฮัมเนื้อเพลงสัปเหร่อ ของประจวบ จําปาทอง อดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ที่ฟังจนติดหูขึ้นมา เมื่อถูกถามเรื่องการฟังเพลงในอดีต “คนเรามีกรรม เหมือนคำพุทธภาษิต ว่าเกิดมาใช้หนี้ชีวิต ลิขิตไปตามบาปกรรมสร้างมา..”
จุดเริ่มต้นการเข้าสู่วงการเพลงของผู้ก่อตั้งค่ายจีนี่ ไม่ได้เริ่มต้นทันทีหลังจบปริญาตรี ในปี 2523 เนื่องจากเขารู้สึกว่าตอนนั้นไม่อยากทำงานตามสายบริหารท้องถิ่นที่เรียนมา แต่ด้วยความชื่นชอบศิลปะมาก จึงไปสมัครเข้าคณะละครมะข้ามป้อม ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมทำสื่อรณรงค์ในรูปแบบละคร เช่น ให้ความรู้พิษภัยยาฆ่าแมลง การใช้ชีวิตของคนชนบทในเมืองหลวง โดยตระเวนเล่นไปทั่วประเทศ
แต่ทำได้ประมาณ 2 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่านักกิจกรรมไม่สามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ จึงตัดสินใจลาออกไปสมัครเป็นเซลล์ขายโฆษณาในหนังสือแมกกาซีน ซึ่งต้องตระเวนพบลูกค้าเกือบทุกวัน แม้จะขายงานไม่ได้เลย ทว่ากลับถูกลูกค้าดึงตัวให้ไปร่วมทำงาน จนสุดท้ายเลือกเปลี่ยนไปทำงานยังบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งรับทำโฆษณาและรายการ พอทำได้ประมาณ 6 เดือน บริษัทพรีเมียร์ฯ ก็ก่อตั้งเป็นบริษัท แกรมมี่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2526
ปัจจุบัน วิเชียร ถือว่าเป็นบุคลากรรุ่นก่อตั้งบริษัทแกรมมี่เพียงไม่กี่คนที่ยังคงทำงานอยู่ในองค์กรถึงตอนนี้
ห้องทำงานของ วิเชียร บนชั้น 33 ตึกแกรมมี่
จากเด็กวิ่งซื้อของในกอง สู่ผู้บริหารค่ายเพลงยักษ์ใหญ่
การทำงานแกรมมี่ยุคก่อตั้ง วิเชียร เริ่มจากตำแหน่งเล็กสุด คือ เด็กรับใช้ มีหน้าที่คอยวิ่งซื้อของในกองถ่าย ทำงานอุปกรณ์ประกอบฉาก ฯลฯ แต่จากนั้นไม่นานก็ได้รับโอกาสทำหน้าที่พิธีกรจำเป็นในรายการยิ้มใส่ไข่ คู่กับ ภิญโญ รู้ธรรม และต่อมาได้เป็นพิธีกรหลักภาคสนาม
ผู้บริหารแกรมมี่ บอกถึงสาเหตุที่ยอมทำแม้กระทั่งตำแหน่งเล็กสุดตอนนั้น เพราะคิดว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสจะได้ทำในสิ่งที่รัก
ทว่าจุดเปลี่ยนที่มาพร้อมกับโอกาสประกาศความสามารถของเขาเกิดขึ้นครั้งแรก หลังแกรมมี่เปิดได้ 1 ปีในช่วงปลายปี 2527 ขณะนั้นบริษัทต้องการทำมิวสิควิดีโอเพลงให้ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ ตามกระแสการทำเพลงในต่างประเทศ โดยขณะนั้นกำลังทำไตเติ้ลรายการซึ่งมีรูปแบบคล้ายมิวสิควิดีโอมาก จึงได้รับมอบหมายและกลายเป็นคนไทยคนแรกที่สร้างมิวสิควิดีโอ จากนั้นก็มีผลงานตามมาอีกมาก เช่น เพลงสมปองน้องสมชาย ของ เต๋ เรวัต ,เพลงต้องโทษดาว ของเบิร์ด ธงไชย
วิเชียร เล่าว่า จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในวงการเพลงเกิดขึ้นหลังแกรมมี่ก่อตั้งได้ 13 ปี เมื่อ เต๋อ เรวัติ เสียชีวิต ทำให้องค์กรต้องปรับโครงสร้างใหญ่ มีการตั้งค่ายเพลงน้องใหม่ขึ้นมาในปี 2540 คือ ค่ายกรีนบีนส์ ค่ายแกรมมี่โกลด์ ค่ายมอร์มิวสิค โดยขณะนั้นได้รับมอบให้ดูเรื่องรวบรวมเพลงฮิตจำหน่าย ดูศิลปิน และรายการเพลงของบริษัททั้งหมด
ทำได้สักระยะหนึ่งก็ได้รับโอกาสจาก อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม อนุญาตให้เปิดค่ายจีนี่ แต่ทว่าการได้รับโอกาสใหญ่ขณะนั้นเรียกได้ว่ามาพร้อมกับความว่างเปล่า เพราะเป็นค่ายที่แทบไม่มีอะไรทั้งศิลปิน ทีมงานสร้างสรรค์ เพราะทุกฝ่ายถูกโอนไปทำงานส่วนต่างๆในแกรมมี่ มีเพียงพนักงานขายไม่กี่คนที่เหลืออยู่ จึงต้องพยายามหาทางแก้ปัญหา
ในช่วงวิกฤตนั้นมีโอกาสเสมอ แม้ในตอนนั้นไม่มีศิลปินในค่าย แต่พนักงาน 2 คน ของแกรมมี่ได้ส่งเดโมเพลงเข้ามาให้วิเชียรได้พิจารณา ทั้งคู่มีนามว่า สุเมธ องอาจ กับ ปั๋ง ประกาศิต โบสุวรรณ จึงกลายเป็นศิลปินเบอร์แรกของค่ายจีนี่
หลังจากนั้นได้สั่งให้ลูกน้องประกาศรับสมัครศิลปินหน้าใหม่จากทั่วประเทศ และผ่านไปไม่นานก็มีเทปม้วนหนึ่งฟันฝ่าหน่วยต่างๆในแกรมมี่มาวางอยู่บนโต๊ะ หน้าปกเขียนว่า ธนาวุฒิ แก้วเพิก พร้อมระบุชื่อ เพลงประเทืองและใช่เลย เมื่อฟังจบก็รู้สึกว่า ต้องขายได้ล้านตลับแน่นอน และเมื่อปล่อยออกมาก็ได้รับความนิยมจริงๆ สุดท้ายช่วงการก่อตั้งค่ายจีนี่ปีแรกมีศิลปินทั้งหมด 4 เบอร์ คือ สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง , ทรีดีซี , วาสนา ไท ธนาวุฒิ และหลังจากนั้นก็มีศิลปินหน้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น บูโดกัน พลพล กะลา
“ยุคแรกของค่ายจีนี่การเลือกศิลปินเราไม่เน้นหน้าตา เหมือนศิลปินค่ายอื่น เพราะเราให้ความสำคัญเรื่องเสียงร้อง” นิค บอกถึงจุดเริ่มต้นการสร้างศิลปินในยุคแรก
นิค มองย้อนวันวานกลับไปว่า สิ่งที่ทำให้ไม่ย่อท้อต่อปัญหา แม้ช่วงก่อตั้งบริษัทแทบจะไม่มีอะไรเลยนั้น เพราะคิดว่าต้องทำความไม่มี ให้มันมีให้ได้ เพราะหากทำสำเร็จมันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ปัจจุบันค่ายจีนี่ มีศิลปินชื่อดัง อาทิ ประเภทวง บอดี้สแลม บิ๊กแอส พาราด็อกซ์ ลาบานูน เรโทรสเปกต์ โปเตโต้ ค็อกเทล สวีตมัลเล็ต เดอะเยอร์ส อินสติงต์ เดอะมูสส์ เคลียร์ ทเวนตีไฟฟ์อาเวอส์ เยสเซอร์เดส์ , ส่วนศิลปินเดี่ยว เช่น ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ปาล์มมี่ หนุ่ม-กะลา พลพล กวาง-เอบีนอร์มัล ปั้น-แบชเชอร์
หน้าที่และหลักการทำงาน"คนเจียระไนเพชร"
“ความเป็นมิวสิคเลิฟเวอร์ ที่เข้าใจธรรมชาติการเป็นผู้ฟัง เข้าใจเกือบทุกวิธีการเสพเพลง มันคือต้นทุนมหาศาลการทำงานในวงการเพลงไทย” คำพูดของ เต๋อ เรวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแกรมมี่ ที่ทำให้ นิค มุ่งมั่นการเป็นผู้สร้างศิลปิน
วิเชียร ยอมรับว่า ปัญหาในการทำงานเพลงมีมากมายตั้งแต่อดีตถึงทุกวันนี้ แต่เรื่องหลักคือการก๊อปปี้ผลงาน ซึ่งไม่สามารถแก้ให้หมดไปได้ นอกจากต้องเร่งผลิตผลงานวางจำหน่ายให้เร็วก่อนถูกก๊อป และสาเหตุที่ทำให้วงการเพลงยุคนี้ไม่เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน เพราะเป็นยุคเพลงดังฟังฟรี ที่ทุกคนสามารถหาฟังเพลงได้โดยไม่เสียเงินในอินเตอร์เน็ต ปัญหานี้แกรมมี่ก็พยายามปรับตัวทั้งด้านโครงสร้างองค์กร การทำเพลง รวมถึงการโปรโมท
ผู้ก่อตั้งค่ายจีนี่ ยอมรับว่า การบริหารค่ายเพลงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ส่วนตัวมีทฤษฎีที่ยึดทำมาตลอด คือจะไม่ทำตัวให้แก่ไปตามวัย โดยต้องทำตัวให้ทันตามโลกมากที่สุด เพราะหัวใจของการบริหารสื่อด้านนี้ต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเสมอ
นักปั้นมือทอง เผยประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปีในวงการเพลงว่า การหาศิลปินเข้าค่ายส่วนตัวมีความเชื่อ เพชรถึงอย่างไรก็ต้องเป็นเพชร เราไม่สามารถเปลี่ยนหินแกรนิตให้เป็นเพชรได้ ส่วนคำพูดที่ว่าต้องปั้นดินให้เป็นดาวนั้นคิดว่าไม่สามารถทำได้จริง และหน้าที่ของหัวหน้าค่ายคือ ต้องดูให้ออกว่าคนไหนจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต ซึ่งเป็นหัวใจการเลือกศิลปิน
ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงดัง แนะนำว่า หากเยาวชนรุ่นใหม่อยากเป็นศิลปิน อาวุธสำคัญที่จะสร้างผลงานออกมาให้สามารถครองใจผู้ฟัง ต้องใช้ใจแลกใจโดยเริ่มจากให้ใจแฟนเพลงก่อน อย่าคิดตั้งแต่แรกว่าจะนำกระเป๋าออกมาโกยเงินจากคนฟัง ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะผลงานเป็นสิ่งที่ต้องกลั่นออกมาจากความรู้สึก ไม่ใช่ใช้การตลาดสร้างมันออกมา