ไม่ควรมี... ใครเจ็บบนท้องถนน
ปัญหาผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของโลก
เรื่อง : โยธิน อยู่จงดี ภาพ : pixabay, มูลนิธิบลูมเบิร์ก
ปัญหาผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของโลก ในแต่ปีจะมผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงราว 1.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 50 ล้านคน
ในการประชุม ชาเลนจ์ บีเบนดัม ริโอ 2010 (Challenge Bibendum Rio 2010) ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ได้ร่างกรอบกำหนดการทำงานเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2593 หรือในอีก 32 ปีข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่า 8 ปีที่ผ่านมาหลังจากมีการรณรงค์ ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปเลย
ไทยรั้งอันดับหนึ่งของโลก
ในกลุ่ม 100 ประเทศที่ร่วมลงนามรณรงค์ประเทศไทยเรายังคงรั้งอันดับหนึ่งในอัตราการเสียชีวิตราว 36.4 ต่อประชากร 1 แสนคน แซงหน้าประเทศมาลาวี ประเทศไลบีเรีย ประเทศแทนซาเนีย และประเทศรวันดา และเมื่อมองจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดย่อมไม่พ้นกรุงเทพมหานคร หนึ่งในเมืองที่รถติดที่สุดในโลก
สุราษฎร์ เจริญชัยสกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในกรุงเทพมหานครว่า “สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มประชากรในช่วงอายุ 15-29 ปี โดย
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่คือ รถจักรยานยนต์ มองลึกลงไปอีกจะพบว่ามีการตายเกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนผู้ที่ไม่มีใบขับขี่สูงขึ้นทุกปี ที่สำคัญกว่านั้นก็คือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ใส่หมวกกันน็อก”
สอดคล้องกับข้อมูลสถิติอุบัติเหตุของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ปี 2558 พบว่ามีคดีอุบัติเหตุทางบกสูงถึง 69,394 คดี มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6,273 คน แบ่งเป็นชาย 4,722 คน และหญิง 1,551 คน เสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุทันที 3,331 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2,520 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด คืออุปกรณ์ชำรุด 9,861 ราย การขับตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด 8,027 ราย และการขับตามในระยะกระชั้นชิด หรือการขับจี้ท้ายคันหน้าทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงถึง 5,826 ราย ส่วนคดีเมาสุราแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุนั้นมีอยู่ 1,362 ราย ประเภทพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุดคือรถจักรยานยนต์ 26,715 คัน ตามด้วยรถเก๋ง 22,637 คัน
รายงานจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรม ความปลอดภัยทางถนน ได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทย ในปี 2561 วันที่ 24 พ.ย. 2561 ทั้งหมด 13,877 คน บาดเจ็บทั้งหมด 912,220 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุที่สูงมาก
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 845 ราย จ.ชลบุรี 522 ราย และนครราชสีมา 515 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน ที่มีเพียง 38 รายเท่านั้น
เมาไม่ขับและใส่หมวกกันน็อก
“เราไม่รู้เลยว่าเพื่อนที่เรานั่งมอเตอร์ไซค์ของเขาไปด้วยจะดื่มเหล้ามาก่อน ถ้ารู้ก็คงไม่ซ้อนท้ายไปด้วย” นุชจรี เหมราช วัย 39 ปี หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากการซ้อนท้ายคนเมาแล้วขับ เล่าถึงความทรงจำเมื่อ 24 ปีก่อนที่ประสบอุบัติเหตุจนเกือบทำให้ตัวเองต้องเสียชีวิต แต่เคราะห์ดีเธอรอดมาได้เพราะหมวกกันน็อก และเล่าให้แง่คิดเตือนใจกับทุกคนถึงภัยจากความประมาทบนท้องถนน เนื่องในวันรำลึกถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนแห่งโลก โดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety: BIGRS) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
“ตอนที่เกิดเหตุประมาณสามทุ่ม นุชนั่งรอรถอยู่ริมถนนแถวบางแค เพื่อที่จะกลับเข้าบ้านหลังจากไปทำธุระ โชคไม่ดีที่วันนั้นฝนตกหนัก ทำให้ต้องรอรถนานมากจนถึงเวลาสี่ทุ่มก็ยังไม่มีรถประจำทางมา พอดีมีเพื่อนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ผ่านมาบริเวณนั้น จึงอาสาพาไปส่งที่บ้าน
เราก็ไม่ทราบมาก่อนว่าเพื่อนคนนี้ได้ดื่มแอลกอฮอล์มา ตอนนั้นฝนตกหนักด้วย พอสวมหมวกกันน็อกและรถออกตัวไปได้เพียงไม่นาน รถมอเตอร์ไซค์ที่นุชนั่งซ้อนท้ายได้ชนเข้าอย่างแรงกับรถกระบะที่จอดติดไฟแดงอยู่ข้างหน้า ตอนนั้นความรู้สึกเราเหมือนโดนปิดสวิตช์
มารู้สึกตัวอีกทีขณะที่กู้ภัยกำลังลากตัวเราออกมาจากใต้ท้องรถกระบะ และนำส่งโรงพยาบาล ความรู้สึกตอนนั้นคือตัวชาไปหมด ไม่รู้สึกอะไร เจ้าหน้าที่กู้ภัยบอกว่าหมวกกันน็อกเราแตกละเอียด ถ้าหากไม่สวมหมวกกันน็อก ศีรษะของเราอาจจะไปกระแทกกับเพลาใต้ท้องรถหรือพื้นถนน หรือสมองอาจได้รับความกระทบกระเทือนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราก็คือ กระดูกคอแตกทับเส้นประสาท และกลายเป็นผู้พิการ ต้องนั่งรถเข็นตั้งแต่อายุ 15 และมารู้ทีหลังจากทางตำรวจว่า เพื่อนที่เราซ้อนท้ายเขานั้นตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูง แล้วขับมาด้วยความเร็วในช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก จึงเสียหลักทำให้รถจักรยานยนต์ชนเข้ากับท้ายรถกระบะที่จอดติดไฟแดง แล้วตัวเราก็กระเด็นเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถกระบะ ต้องใช้เวลารักษาตัวในห้องไอซียูนานถึง 3 เดือน
จากนั้นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกเกือบปี เพราะต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง ความฝันทุกอย่างพังทลายหมด จนคิดอยากจะฆ่าตัวตาย เราชอบเรียนภาษาแต่ความฝันที่เคยอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องจบลง รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของพ่อแม่ ทำให้แม่ต้องหยุดทำงานเพื่อดูแลเรา ในขณะที่พ่อต้องเป็นเรี่ยวแรงสำคัญคนเดียวในการทำงานเลี้ยงดูลูกทั้งสามคน แต่กำลังใจจากแม่และครอบครัว ทำให้เราฉุกคิดสู้ชีวิตและอยากกลับมาช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด”
เธอฝากทิ้งท้ายกับทุกคนว่า ครั้งนั้นหมวกกันน็อกช่วยชีวิตไว้ ถ้าตอนนั้นไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง “ใกล้ไกลขอให้ใส่หมวก เพราะหมวกกันน็อกคือสิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตคุณได้ อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น” ปัจจุบัน นุชจรีได้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือคนพิการให้มีงานทำ โดยทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้เธอได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แม้จะไม่ได้เดินตามความฝันแต่อย่างน้อยก็ได้ใช้ชีวิตอย่างมีค่ากับทุกคนในครอบครัว
จิตสาธารณะแก้ปัญหาอุบัติเหตุ
สุราษฎร์ เสริมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนว่า แนวทางของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการทำงานร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนน ทั้งด้านการสื่อสารรณรงค์ และการออกแบบพัฒนาปรับปรุงถนนในกรุงเทพมหานครให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีอัตราความเสี่ยงสูงกว่ารถประเภทอื่นมีตัวเลขความพิการทุพพลภาพ และสูญเสียชีวิตมากกว่า หากเป็นรถเก๋งหรือรถโดยสารอื่นเมื่อประสบอุบัติเหตุ ก็จะเสียหายแค่ทรัพย์สิน แต่รถจักรยานยนต์นั้น ผู้ขับขี่มีความเสี่ยงถึงชีวิต โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้มีการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย
เราพบว่าในกรุงเทพฯ มีผู้ไม่ใส่หมวกกันน็อกแล้วขับขี่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 45 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มเยาวชนผู้ที่ไม่มีใบขับขี่สูงขึ้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ดำเนินกิจกรรมการสื่อสารรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึก ค่านิยม วัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับประชาชน รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ให้มากขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหานี้ก็คือการมีจิตสาธารณะในการใช้รถใช้ถนน เพราะถนนเป็นของส่วนรวม เรื่องความปลอดภัยทางถนนจึงควรเป็นของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง หากเรามีจิตสาธารณะแล้ว เราจะปฏิบัติตามกฎจราจร แล้วอุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้น” สุราษฎร์ กล่าวทิ้งท้ายให้กับทุกคน โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้เทศกาลที่ทุกคนเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยแล้วยิ่งควรตระหนักถึงความปลอดภัยให้มากขึ้น