ยุทธศาสตร์ระดับชาติ 5G (National 5G Strategy)
ยุทธศาสตร์ระดับชาติ 5G เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ในยุคดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ระดับชาติ 5G เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ในยุคดิจิทัล
******************************
โดย...พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เมื่อเครือข่ายไร้สาย 3G เปิดตัวในปี 2000 ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าโลกของโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอย่างไรและจะมีผลกระทบอย่างไร ซึ่ง 3G ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ Google, Facebook และ YouTube เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนในปี 2010 มีการใช้ 4G เป็นปีแรกๆ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่และบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Airbnb, Uber, Netflix, Spotify และ LINE เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว และคำถามต่อไปคือ จะเกิดอะไรขึ้นในยุค 5G?
รัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างมีความต้องการที่จะผลักดันประเทศของตนให้เป็นผู้นำในเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยคต่อไป นั่นคือ “ยุค 5G” ซึ่งหากประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีก็จะทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมที่ทันสมัยของประเทศได้ และจะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการเติบโตได้ โดยการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีรูปแบบบริการเรียลไทม์ ดังนั้น 5G จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้นหนึ่ง สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่มีศักยภาพอย่างมาก สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย จึงทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการพูดถึง 5G กันอย่างมากในปัจจุบัน
GSMA คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ทั่วโลกจะมีเครือข่าย 5G ครอบคลุม 1 ใน 3 ของประชากรโลก โดยจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มากถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 และสามารถสร้างตำแหน่งงานได้มากกว่า 17.3 ล้านตำแหน่งงาน
IDC ได้คาดการณ์ว่าการให้บริการ 5G จะเริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลกในต้นปี 2019 และจะแพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2021 ถึง 2023 และเทคโนโลยี 5G จะเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถขจัดอุปสรรคในด้านการสื่อสารต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการประยุกต์ใช้ในธุรกิจทุกธุรกิจ
จากรายงานของ Statista คาดการณ์ว่าในยุค 5G จะมีอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) จำนวนมากถึง 31 พันล้านชิ้นเชื่อมต่อกันบนอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และจะทำให้ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมดิจิทัลในทศวรรษต่อจากนี้ และตลาดของ IoT จะมีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2020 และผลการวิเคราะห์ของ Business Insider Intelligence ในรายงาน Internet of Things จะมีค่าตลาดสูงถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐระหว่างปี 2017 ถึง 2025
มีการวิเคราะห์จาก Intel และ OVUM ว่าในปี 2025 จะเป็นจุดก้าวกระโดดของ 5G โดยในรายงานระบุว่า รายได้จากสื่อไร้สายทั่วโลก 57% จะถูกสร้างขึ้นโดยใช้ความสามารถของแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นเป็นพิเศษของเครือข่าย 5G โดยอุปกรณ์และสรรพสิ่งต่างๆ ที่ทำงานบน 5G จะเชื่อมโยงเชื่อมต่อกันนับพันล้านชิ้นทั่วโลกภายในปี 2025 และด้วยความหน่วงเวลาที่ต่ำของเครือข่าย 5G จะทำให้การถ่ายทอดสตรีมมิ่งวิดีโอได้อย่างไม่สะดุดหรือติดขัด และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ภายในพริบตา
รายงานของ Intel และ OVUM ยังได้ระบุถึงส่วนแบ่งรายได้จากเครือข่าย 5G ที่แซงหน้า 3G และ 4G ด้วยการใช้ความสามารถใหม่ๆ โดยในปี 2025 5G จะสร้างรายได้มากกว่า 55% ของรายได้ทั้งหมด 183 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 321 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สหภาพยุโรป จากแผน “5G for Europe: An Action Plan” ที่สหภาพยุโรปได้ประกาศในเกือนกันยายน 2016 เพื่อชักชวนให้ประเทศสมาชิกมีการกำหนดยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศ (National 5G Strategy) ซึ่งปรากฏว่ามีประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G แล้ว
อิตาลี ได้ดำเนินโครงการริเริ่มจำนวนมากสำหรับบริการ 5G โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ และการสนับสนุนการทดลองต่างๆ โดยจะมีการนำแผนมาใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ
สวีเดน ได้มีการกำหนดแผนการสำคัญเกี่ยวกับ 5G ใน “ยุทธศาสตร์บรอดแบนด์” ที่จะสามารถเชื่อมต่อสวีเดนได้อย่างสมบูรณ์ ภายในปี 2025
ออสเตรีย มีเป้าหมายในการพัฒนามาตรฐาน 5G ให้มีความเหมาะสม และมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนโอกาสใหม่ๆ สำหรับประชาชน เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ โดยรัฐบาลออสเตรียมีการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1: ระยะทดลองใช้งาน 5G ในช่วงกลางปี 2018 ระยะที่ 2: บรรลุเป้าหมายการวางเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูงทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายเครือข่าย 5G ทั่วประเทศ และเริ่มมีการเปิดให้บริการ 5G ในหัวเมืองใหญ่ๆ โดยกำหนดเป้าหมายความเร็วของเครือข่ายสูงมาก (ultra- fast broadband network) ในระดับ 100 Mbps ภายในปี 2020 และในระยะที่ 3: มีความพร้อมสำหรับการให้บริการ 5G ตามเส้นทางการจราจรหลักภายในปี 2023 และจะต้องพร้อมใช้งาน 5G ทั่วประเทศ ภายในปี 2025
เยอรมนี ในปี 2016 ได้ประกาศ 5G Initiative for Germany เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการสนับสนุนการใช้เครือข่าย 5G และการพัฒนาแอปพลิเคชั่น 5G ซึ่งยุทธศาสตร์ 5G ของรัฐบาลเยอรมนีได้อธิบายบริบทและขอบเขตการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปิดให้บริการเครือข่าย 5G ในเยอรมนี ในช่วงปี 2025 ซึ่งถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะทำให้เยอรมนีเป็นผู้นำตลาดสำหรับแอปพลิเคชั่น 5G โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการ ที่สำคัญได้แก่
- การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เพียงพอ
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการ
- กำหนดเป้าหมายและความร่วมมือในการวิจัย
- เริ่มต้นทดลองให้บริการ 5G ในตัวเมืองและในเมืองใหญ่ๆ ก่อน
จีน ได้จัดทำแผน the 13th Five Year Plan ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2020 รวมถึงต้องการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยการวิจัยและพัฒนา 5G และเป้าหมายระยะยาวในปี 2025 คือการสร้างเครือข่ายการสื่อสารเคลื่อนที่ชั้นนำ และรัฐบาลจีนได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดตั้งกลุ่ม IMT-2020 (5G) Promotion Group ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเกือบ 60 ราย ที่มาจากบริษัทต่างๆ ผู้ประกอบการเครือข่าย มหาวิทยาลัย และสถาบันการวิจัย โดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัย 5G เพื่อร่วมมือกับรัฐบาลและสมาคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศและในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป้าหมายคือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐาน 5G และระบบนิเวศอุตสาหกรรมแบบครบวงจรในระดับโลก
ญี่ปุ่น โดยกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น (MIC) ทำหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายการสื่อสารและเครือข่าย สำหรับการพัฒนาเครื่อข่ายและจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 5G โดยในเดือนกันยายน 2014 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งฟอรัมการสื่อสารเคลื่อนที่ยุคที่ 5 (5GMF) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 120 รายจากบริษัทต่างๆ ผู้ให้บริการเครือข่าย และหน่วยงานกำกับดูแล โดยมีมหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นประธานผู้จัดงาน ซึ่งจะมุ่งเน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม, ภาควิชาการ, รัฐบาล ในการส่งเสริมมาตรฐานและความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างการรับรู้และการทำงานร่วมกัน จากการทดลอง 5G ในภาคสนาม
เกาหลีใต้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (MSIT) มีหน้าที่ดูแลและควบคุมการพัฒนานโยบายและการปรับใช้งาน 5G โดย MSIT จัดประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ที่เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนจากสถาบันการวิจัย เพื่อเป็นไปตามนโยบาย 5G แห่งชาติ (National 5G policy) ที่เกาหลีใต้ต้องการที่จะเป็นผู้นำในระดับโลกภายในปี 2020 ในการให้บริการ 5G และการพัฒนามาตรฐาน 5G ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดสรรงบประมาณมูลค่ามากถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในโครงการ i-Korea 4.0 (ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017) เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยี AI, AR/VR, ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, หุ่นยนต์, เมืองอัจฉริยะ และการติดตามภัยพิบัติ
สหราชอาณาจักร ในปี 2017 ได้ริเริ่ม 5G strategy ของรัฐบาล โดยได้กำหนดกรอบและขั้นตอนเพื่อพัฒนา 5G ในสหราชอาณาจักร นำโดยกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา (Department of Culture, Media and Sport: DCMS) ของสหราชอาณาจักร โดยมุ่งเน้นไปที่ความท้าทาย 4 ประการ ได้แก่ เร่งการปรับใช้เครือข่าย 5G และสร้างความมั่นใจว่าสหราชอาณาจักรสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งานบนระบบ 5G, เพิ่มประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดของ 5G ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ; สร้างโอกาสให้กับธุรกิจในสหราชอาณาจักรทั้งในและต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยหัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้คือโครงการ 5G Testbeds and Trials ของรัฐบาล ซึ่งส่งเสริมและทดสอบการใช้งานในหลายๆอุตสาหกรรมและทดสอบความสามารถของ 5G ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการทดสอบนี้ได้รับการสนับสนุนจาก UK 5G Innovation Network ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาอิสระที่คอยให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ 5G
สหรัฐอเมริกา โดย Federal Communications Commission (FCC), องค์กรการสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศแห่งชาติ (NTIA), สภาคองเกรส และรัฐบาลท้องถิ่น ต่างให้การสนับสนุนความก้าวหน้าของ 5G ด้วยการให้คำปรึกษา และดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมไปถึงมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSF) ได้ดำเนินงานในโครงการที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G จำนวนมาก ได้แก่ การริเริ่มการวิจัยไร้สายขั้นสูง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาในการสื่อสารเคลื่อนที่และเทคโนโลยีต่างๆ นอกจากนี้ยังมี 5G Americas ที่เป็นองค์กรด้านอุตสาหกรรมของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม โดยมีหน้าที่ในการพัฒนาไปสู่ 5G ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เข้ามาดำเนินการ แต่เป็นตัวแทนจากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งจะยิ่งทำให้การวางโครงข่าย 5G ในประเทศสหรัฐอเมริกามีความสำคัญกับลูกจ้างในอนาคตเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศสหรัฐฯ ได้มีการประมูลคลื่นความถี่ 5G ไปเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้การทำงานไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาเกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2020
ประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี ได้พยายามอย่างแรงกล้าที่จะแย่งชิงเป็นผู้นำเพื่อที่จะกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี 5G แห่งอนาคต และหากบริษัทจากประเทศใดสามารถที่จะกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี 5G และได้รับการยอมรับจากตลาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะทำให้ประเทศนั้นสามารถกุมความชาญฉลาดของโลกได้ในที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังจะมีราคาถูกมากและมีความชาญฉลาดอย่างยิ่ง จึงทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งโครงข่าย 5G ของประเทศใดที่สามารถแพร่หลายทั่วโลกได้ ก็จะหมายความถึงการควบคุมระบบเศรษฐกิจโลกได้นั่นเอง
เป็นที่ยอมรับและเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วว่า ยุทธศาสตร์ระดับชาติ 5G (National 5G Strategy) กำลังเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ในยุคดิจิทัล และหากการดำเนินการภาครัฐไม่สามารถนำไปสู่ระบบ 5G ได้ก็จะทำให้นโยบายด้านดิจิทัลที่กำหนดไว้นั้นไม่ประสบความสำเร็จได้เลย ซึ่งอาจเปรียบได้กับการที่ไม่มีถนนจึงทำให้ไม่สามารถขนส่งผลิตผลด้านการเกษตรที่จะทำให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดีได้ นั่นเอง โดยในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy) การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การแพทย์ทางไกล รวมไปถึงการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น ต่างก็ต้องการเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูงในระดับ 5G เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น