‘2 ไร่ ก็พอเพียง’ นรินทร์ สุขสบาย
อดีตครูผู้ใช้ชีวิตฟังเสียงหัวใจตัวเอง แจ๊ส-นรินทร์ “สุขสบาย”
อดีตครูผู้ใช้ชีวิตฟังเสียงหัวใจตัวเอง แจ๊ส-นรินทร์ “สุขสบาย” คือนามสกุลของ นรินทร์ ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งปัจจุบันเขารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ตั้งแต่ลองมาใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังจากการเสียชีวิตของหลานชายเพียงคนเดียววัย 17 ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมความรักของครอบครัว ทำให้เขาได้คิดว่า ชีวิตคนเราก็แค่นี้
เขาจึงหันหลังให้งานประจำ ผันมาพัฒนาสวนในที่ดินเพียง 2 ไร่ของแม่ และตั้งเพจและไร่ของตนเองว่า “2 ไร่ พอเพียง” ทำได้ 4 ปีแล้ว คอนเซ็ปต์การทำสวน ทำไร่ และปลูกข้าวอินทรีย์คือ ไม่เน้นจำหน่าย เน้นปลูกเอง กินเอง เพื่อลดรายจ่าย ซื้อให้น้อยที่สุด แต่หากเหลือก็ขายให้คนอื่นบ้าง แต่กว่าจะมีชีวิตพอดีพอเพียงแบบนี้ได้ ต้องรู้จักวางแผนชีวิต เก็บเงินสร้างห้องเช่า เพื่อให้ห้องเช่าในเมืองทำงานเลี้ยงตัวเขาด้วยอีกทางหนึ่ง
วางแผนชีวิต ตามแนวคิดที่แม่ทำเป็นตัวอย่าง
นรินทร์เล่าว่า กว่าที่เขาจะละทิ้งหน้าที่การงานทุกอย่าง และผันตัวเองไปเป็นชาวไร่ชาวนา เพราะเขามีบ้านเช่า 9 ห้องที่เขาทำไว้ให้คนอื่นเช่าได้รายได้ประมาณเดือนละหมื่นกว่าบาท สร้างจากเงินออมจากอาชีพครูเดือนละ 2 หมื่นบาท วุฒิปริญญาตรีด้านวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ค่อยๆ เก็บเงินและสร้างบ้านตั้งแต่ปี 2554 สร้างบนที่ดินของแม่ในตัวเมืองสงขลา ต.จะนะ อ.น้ำขาว จ.สงขลา ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตตามอัตภาพได้ ซึ่งแนวคิดการใช้ชีวิตของเขาน่าสนุก
“ผมเป็นครูสอนด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้กับนักเรียนระดับ ปวช. ปวส. สอนอยู่ 10 ปี รู้สึกเบื่อจึงลาออก การวางแผนชีวิตที่ดีผมได้จากแม่ แม่สอนผมเรื่องการออม แม่ไม่ได้มีความรู้มาก ไม่ได้สอนตรงๆ แต่แม่ทำให้ผมเห็นและซึมซับ จะใช้ชีวิตใช้เทคโนโลยีอย่างไร แต่ต้องเก็บเงินซื้อที่ดินเก็บไว้ แต่ก่อนเป็นครูผมทำงานและเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ นาน 3 ปีรู้สึกไม่ชอบปัญหารถติด ต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งรถ พอผมเรียนจบ ปวช.ที่กรุงเทพฯ ผมกลับบ้านไปเรียนต่อที่บ้านคือ จ.สงขลา เรียนจบทำงานต่ออีก 10 ปี ก็ลาออก”
แรงบันดาลใจทำไร่
ด้วยแนวคิดที่เบื่อชีวิตจำเจ และเขาชอบท้าทายชีวิตในการทำอะไรใหม่ๆ และไม่ชอบหยุดนิ่งอยู่กับที่ประกอบกับย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อนภาษาอังกฤษได้รับความนิยมมาก ในวัย 32 ปีเขาจึงบินไปออสเตรเลียเพื่อเรียนรู้ภาษาและเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ 2 ปีและกลับมาเมืองไทย มาดูแลแม่และหลานชายที่เขาเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก และก้าวขึ้นสู่วัยรุ่น งานที่นรินทร์ทำหลังจากกลับจากออสเตรเลียคือ แปลงานใช้ชีวิตอย่างสุขสงบกับหลานชาย และเขาก็เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตคือ หลานชายอันเป็นที่รักเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุตรงกับวันเกิดปีที่ 17 ของหลานชายพอดี
เขาจึงเซ้งร้านแปลในเมือง กลับไปอยู่บ้านควบคู่กับการเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พอเรียนจบเริ่มทำงานโครงการวิจัย ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำนาน 3 ปีทำให้เขาได้เรียนรู้ระบบการวางแผนงบประมาณ วางยุทธศาสตร์ 5 ปี การวางแผนเป้าหมายคณะ ต้องวางแผนประจำปีเพื่อให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อก้าวเดินเจริญเติบโตไปทั้งองค์กร
“ผมได้นำความรู้มาทำสวนทำไร่ของผมวางแผนในระยะ 5 ปีก่อน ในแต่ละปีผมต้องทำอะไรบ้าง และใช้งบประมาณเท่าไร ผมได้เซตงบประมาณปีต่อปี ผมทำแผนใส่โปรแกรมเอ็กเซลตั้งแต่ปีแรก เพื่อทำให้ผมรู้ทิศทาง แต่ละปีผมจะเดินตามที่ผมวางแผนไว้ อีกทั้งการทำการเกษตรตัวแปรเยอะ เช่น ภัยธรรมชาติหรือศัตรูพืช ยิ่งอากาศแปรปรวน เราต้องเรียนรู้เศรษฐกิจ 3 ห่วง คือทำพอประมาณ และไม่กู้ มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุมีผล พอประมาณคือทำแต่พอดี พอเพียง ทำได้ให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงคือมีเหตุมีผลที่เราทำได้ รู้ว่าถ้าเราทำแล้วเกิดปัญหาและแก้ไขอย่างไรได้บ้าง นี่คือมีภูมิคุ้มกัน”
ปลูกในสิ่งที่กิน 3
ปีของการเรียนรู้การทำไร่ที่ไม่ตอบโจทย์ ทำสวนแบบอินทรีย์ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เขาอยากหาทางออก เขาจึงศึกษาการทำสวนของคนอื่นๆ อยู่นาน 4-5 เดือน ได้ข้อสรุปว่า เขามี 2 ไร่ อยู่ที่ อ.นาทวี อยู่ห่างจากบ้านเดิมในเมืองเพียง 1 กิโลเมตร และลงมือทำไร่ได้ 4 ปีแล้ว“
กว่าจะเป็นไร่ ผมพัฒนาหาความรู้ ปลูกอะไร ใช้การวางแผน วางระบบน้ำอย่างไร ปลูกอะไร นี่คือจุดสำคัญในการวางแผน ถ้าปลูกเริ่มจากข้าว คือผมปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก ผมเน้นปลูกออร์แกนิก 100% เพราะทำกินเอง ไม่ใช้สารเคมีเลย ปุ๋ยเคมีก็ไม่ใช้ พอเรียนรู้ ณ วันนี้จึงไม่ยาก เพียงแต่ไม่งามเหมือนเคมี แต่ผลผลิตดีขึ้นทุกครั้งที่ผมปลูก เพราะสภาพดินดี สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ ผักไม่งามแต่ผมมีเป้าหมายชัดเจน คือทำอินทรีย์ 100% และอยากให้เป็นที่รู้กันในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะกลุ่มลูกค้าผมเฉพาะกลุ่มมากๆ”
ผักที่นรินทร์ปลูกคือ ผักสลัด เพราะเขาชอบกินสลัด ผักคะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ ส่วนใหญ่ปลูกไว้กินเอง ที่เหลือค่อยขาย ปลูกผักกินเองเพื่อลดรายจ่าย
“ผมปลูกข้าวในที่ลุ่ม ผมแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวราว 250 ตารางเมตร ผมปลูกข้าวหอมนิล จักรพรรดิอินทรีย์แท้ 100% ผมหาสูตรทำปุ๋ยโดยเข้าไปอบรมโครงการหนึ่งไร่ หนึ่งแสนที่พิพิธภัณฑ์เกษตร รู้ว่าต้องคัดเมล็ดข้าวอย่างไร ปลูกข้าวแรกๆ มีปัญหาเยอะ เช่น นกมากวนผมป้องกันโดยใช้ตาข่ายคลุม ป้องกันนกกินเมล็ดข้าวตอนเป็นน้ำนม ในระยะแรกไม่รู้วิธีแก้ ผมจึงไม่ได้ข้าวนี่คือปัญหาหนึ่ง มีแมลงสิงห์ดูดน้ำเลี้ยงทำให้เม็ดข้าวลีบ ผมเป็นพื้นที่สวนไม่ใช่ที่นา เลยเจอปัญหาเยอะกว่าชาวนา อีกทั้งผมปลูกข้าวนอกฤดูกาลปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมต้องเจออยู่แล้ว ครั้งแรกได้ข้าวเปลือกเพียบ 10 กิโลกรัม เอาไว้พอกิน พอปรับการปลูกลดปัญหาและผมยังตั้งใจว่าผมทำได้ และก็ได้ผล”
ปัจจุบันเขาปลูกข้าวได้ปีละ 2 รอบ มีข้าวกินทั้งปี ได้ประมาณ 60 กก./รอบ รวมได้ข้าวเปลือกราว 110 กก.และสีได้ข้าวสารราว 80 กก.ซึ่งพอกิน
ทำในสิ่งที่ชอบ
สิ่งที่ทำให้นรินทร์อยากเป็นเกษตรอินทรีย์คือเขามีปัญหาด้านสุขภาพคือเป็นไมเกรนตั้งแต่เด็ก และเชื่อมั่นในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางเกษตรอินทรีย์
“ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราทำในแนวเกษตรพอเพียงจริงๆ น่าจะอยู่ได้ แล้วก็อยู่ได้จริงๆ ที่สำคัญต้องมีความสุขเพราะผมไม่เน้นเงินเป็นหลัก ผมต้องมีความสุขในสิ่งที่ผมทำ แม้เหนื่อยแต่ก็สู้ไหว เหนื่อยเพราะผมทำเองคนเดียวช่วงแรกที่ผมขุดหลุมปลูกกล้วย 4 เดือนแรกจากพนักงานออฟฟิศมาขุดหลุมร่างกายผมไม่ไหว หลังจาก 4 เดือนผมค่อยๆ ปรับวิธีคิดจะอยากได้ดังใจไม่ได้ ค่อยๆ ทำค่อยๆ ลงมะนาว สละะอินโด และพยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด ทำระบบน้ำสำคัญมาก ผมทำระบบบ่อบาดาลเอง ตอนนี้ผมปลูกข้าว ปลูกผลไม้ ได้แก่ ละมุด กล้วยไข่ ไผ่ปลูกล้อมรอบกันลมเป็นการออกแบบพื้นที่ ปลูกส้มหัวจุก หลังๆ ปลูกเสาวรส ให้ผลผลิตดีมากเพราะดินเหมาะกับเสาวรสและละมุด เป็นต้น”
ทำจริงจัง หากเหนื่อยก็พัก
นิยามการใช้ชีวิตช้าๆ ในแบบของนรินทร์ คือ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ วันนี้เหนื่อยก็หยุดพัก
“สโลว์ไลฟ์ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ผมทำเท่าที่ทำไหว ชีวิตประจำวันของผมคือ ตื่นหกโมงเช้า ตอนนี้ผมปลูกบ้านอยู่ในสวนเลย ปลูกบ้านแข็งแรงที่สวนเพื่อดูแลพืชผล อีกทั้งผมสร้างบ้านอีก 1-2 หลังปลูกแบบง่ายๆ ในสวนเพื่ออยากให้คนที่สนใจด้านการเกษตรมาลองทำการเกษตรดู โดยผมไม่คิดค่าเช่า อยากให้คนได้เรียนรู้แต่เขาต้องตื่นเช้ามาช่วยผมทำไร่ ทำสวนเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น ตื่นเช้ามาดูสละออกดอกไหม ถ้าดอกบานหาตัวผู้ไปผสม ถือเป็นการออกกำลังกายในตัวเพราะต้องเดินดู เสร็จกลับมานั่งหั่นหยวกกล้วยให้ไก่ ไปลดน้ำผัก จากนั้นช่วงเย็นๆ ทำงานขุดเพราะแดดไม่ร้อน แต่งานในชีวิตประจำวันของผมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่สภาพอากาศ เลยทำชีวิตแบบเรียบง่ายได้”
นรินทร์บอกว่า ความสุขในการใช้ชีวิต คนเราต้องการอิสระ 3 อย่าง ได้แก่ อิสระทางความคิด เขาทำอะไรเมื่อไรก็ได้ที่อยากทำ 2 อิสระทางเวลา ถ้าคนทำงานประจำไปไหนไม่ได้ แต่เขาสามารถเซตเวลาได้ว่าช่วงเดือน ธ.ค.จะไปเที่ยวเมียนมาก็สามารถจองตั๋วเครื่องบินได้เลย ดีที่ 3 คือ อิสระด้านการเงิน เนื่องจากเขาปลูกในสิ่งที่กิน ในชีวิตประจำวันจึงไม่ต้องใช้เงินเยอะ
“เดือนหนึ่งผมใช้เงินประมาณ 3,000-4,000 บาท ยกเว้นผ่อนรถซึ่งใกล้หมดแล้ว ข้าวสารผักไม่ซื้อ ผมกินนมถั่วเหลืองแทนน้ำเลย คอนเซ็ปต์ของผมคือ ลดรายจ่ายให้เข้าใกล้ศูนย์ และค่าพลังงานผมใช่โซลาร์เซลล์ทั้งหลัง ผมเข้านอนประมาณ 3 ถึง 4 ทุ่ม และตื่นเช้า แต่ช่วงหน้าฝนนอนดึกตื่นสายได้ ส่วนช่วงหน้าร้อนนอนให้เร็วตื่นให้เช้าเพราะอากาศร้อน ทำงานแค่ถึง 9 โมงก็ไม่ไหวแล้ว ช่วงเที่ยงก็นอนกลางวัน ใช้ชีวิตสโลว์มากๆ มีผลไม้กินหลังอาหารทุกมื้อครับ”