posttoday

พลิกเกม! เจาะวิชั่นเอ็มดี SCC ลดต้นทุน รุกโลว์คาร์บอน-พลังงานสะอาด

17 ธันวาคม 2567

"ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)" ก้าวสู่ธุรกิจ New S-Curve เดินหน้า "พลังงานสะอาด-โลว์คาร์บอน" บุกตลาดอเมริกา แก้เกมสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนทะลัก พร้อมลดต้นทุน ปิดธุรกิจไม่ทำกำไร

KEY

POINTS

  • "SCC" ก้าวสู่ธุรกิจ New S-Curve เดินหน้า พลังงานสะอาด-โลว์คาร์บอน  
  • ทางรอด "กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย" ลดต้นทุน ปิดธุรกิจไม่ทำกำไร
  • SCC บุกตลาดอเมริกา แก้เกมสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนทะลัก

"กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย" ถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง , ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ แม้เป็นบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง แต่ด้วยธุรกิจเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้ง ความผันผวนด้านราคาวัตถุดิบและพลังงานที่มีต้นทุนสูง , การแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีนและเวียดนามที่มีต้นทุนต่ำกว่า, นโยบายกีดกันทางการค้า กำแพงภาษีสหรัฐฯ, การทุ่มตลาดของสินค้าจีน , ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) รวมทั้งเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เบาและประหยัดพลังงาน ที่สำคัญต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วันนี้การเดินเกมแบบเดิมๆอาจไม่ตอบโจทย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ต้องทำคือ "เกมใหม่ ตลาดใหม่ ธุรกิจใหม่" เสริมความแข็งแกร่ง!

พลิกเกม! เจาะวิชั่นเอ็มดี SCC ลดต้นทุน รุกโลว์คาร์บอน-พลังงานสะอาด

"คุณโป้ง - ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC พูดชัดเจนว่า "หากเราคิดว่าทําทุกอย่างเหมือนเดิม ในโลกที่เปลี่ยนไป ไม่เร่งปรับตัว เราเสร็จแน่นอน" สงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง หากไม่มีการปรับตัว นั่นยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เมื่อปรับตัวเร็วสามารถคว้าโอกาสได้เร็วเช่นกัน

กลุ่มเอสซีจี มีสิ่งที่กังวลคือพวกพลาสติกราคาถูก โดยเฉพาะพลาสติกประเภท PP หรือ โพลีโพพีลิน (Polypropylene) จากจีน เนื่องจากจีนอาจจะได้วัตถุดิบราคาถูกจากรัสเซียจึงค่อนข้างมีความได้เปรียบ เอสซีจีจึงต้องปรับตัว ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจพยายามผลักดันสินค้าไปอเมริกาเพิ่มขึ้น

การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ผมมีเป้าหมายระยะยาวคือเปลี่ยนพอร์ตฟอลิโอของเอสซีจีไปสู่ธุรกิจ “โลว์คาร์บอน” นี่คือ New S-Curve เห็นได้ชัดจากกระแส “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ” ค่อนข้างได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา มียอดขาย 1.3 ล้านตัน นี่คือคำตอบในสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนว่าเดินมาถูกทาง และผมเชื่อว่าเราเปลี่ยนจากไฮคาร์บอนซีเมนต์ , ไฮคาร์บอนพลาสติก เป็น “โลว์คาร์บอน”ได้ นี่คือแผนระยะยาวที่อยากให้เกิดขึ้น

พลิกเกม! เจาะวิชั่นเอ็มดี SCC ลดต้นทุน รุกโลว์คาร์บอน-พลังงานสะอาด

เป้าหมายปี 2568 

เรื่องแรกที่ต้องทำ คือ "รักษากระแสเงินสด" ซึ่งภาพรวมผลประกอบการ 3 ไตรมาสปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ดูเหมือนลดลงค่อนข้างมาก แต่อย่าลืมว่าในปีที่ผ่านมา บริษัทมีการ Spin-Off ตัว SCGWD ทำให้มี one time เกณฑ์เข้ามาประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท หากตัดตัวเลขนี้ออกไปจะเห็นว่า YoY ไม่ได้ลดลงในระดับ 70% แต่ลดลงเพียง 40% ซึ่งยอมรับว่ายังคงลดลงในระดับที่สูง เนื่องด้วยตัวกดดันหลักคือ "ธุรกิจเคมิคอลส์" หากแต่ “กระแสเงินสด” เดือนกันยายนลดลงเพียง 10% แม้กําไรลดลงกว่า 40%  

"ตัวเลขกระแสเงินสดที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก เราจึงมั่นใจว่าจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ เพราะอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจตัวหลักคือ กระแสเงินสด Cash Generation หรือ EBITDA ดังนั้นเราจะรักษากระแสเงินสดให้มีผลกระทบน้อยที่สุด"

เรื่องสำคัญต่อมา คือ "กำไรสุทธิ (Net Profit)" เป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องกับผลตอบแทนนักลงทุน ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่า "ธุรกิจเคมิคอลส์" ในประเทศไทยมีกำไร ไม่ได้ขาดทุน มีกระแสเงินสดที่ดี แต่ตัวที่ฉุด คือ เคมิคอลส์ในประเทศเวียดนาม ด้วยว่าเป็นโครงการลงทุนใหม่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานสักระยะ ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีแรกค่อนข้างเหนื่อย 

ถามว่า..วิธีแก้ปัญหาโรงงาน LSP ในเวียดนามอย่างไร ? แผนระยะสั้น คือ ลดต้นทุนทั้งหมด โดยเฉพาะลดต้นทุนดอกเบี้ย เชื่อว่าหากผ่านปีหน้าไปได้ทุกอย่างจะดี ส่วนแผนระยะปานกลางและระยะยาว คือ ปรับวัตถุดิบเป็น “ก๊าซอีเทน” ซึ่งราคาอีเทนปัจจุบันเทียบแอดแวนเทจในระดับเกือบ 300 เหรียญต่อตัน คูณ 1 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 300 ล้านหรียญต่อปี คาดว่าไม่กี่ปีก็จะคืนทุน นี่คือตอบโจทย์และต้องเร่งดำเนินการ

"เอสซีจีไม่ได้มีแค่ธุรกิจเคมิคอลส์ แต่ยังรวมถึงธุรกิจซีเมนต์, แพคเกจจิ้ง, เดคคอร์ ซึ่งธุรกิจซิเมนต์ ผลประกอบการปีต่อปีดีขึ้น ทั้งที่ยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ไม่ดี แต่ว่าผลประกอบการดีขึ้นเพราะมีปูนโลว์คาร์บอนขายในอเมริกาได้ล้านกว่าตัน , แพคเกจจิ้ง และธุรกิจอื่นๆยังคงพยายามสร้างผลกำไร ซึ่งภาพรวมเรายังไปไม่ได ไม่ได้กังวลว่าจะไม่รอด เพียงแต่เรากำลังตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาในจุดที่เป็นปัญหาก็คือที่เคมิคอลส์คอมเพล็กซ์ในเวียดนาม"

ถามว่า อนาคตธุรกิจของเอสซีจีในเวียดนามเป็นอย่างไร ? สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ เศรษฐกิจเวียดนามปี 2567 คาดว่าน่าจะโต 6% ส่วนปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าโต 8% และที่น่าสนใจคือ ปี 2569 ตั้งเป้าโตกว่า 10%

ซึ่งเอสซีจีมีสินทรัพย์ในเวียดนามใหญ่เป็นอันดับสองรองจากประเทศไทย ซึ่งเอสซีจีมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในไทย นอกนั้นอยู่ในอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้นหากเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างมากย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจของเอสซีจีในเวียดนามเช่นกันและคาดว่าจะเติบโตมากกว่าแน่นอน

ปิดธุรกิจไม่ทำกำไร-ขยายพลังงานสะอาด

เรื่องของการปิดธุรกิจที่ไม่ทํากําไร เป็นเรื่องที่ต้องทําในช่วงที่ธุรกิจต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านเรามีการทดลองทําธุรกิจใหม่ๆ แต่ต้องยอมรับว่าการไปทําธุรกิจใหม่ๆมันจะมีบางอันที่สําเร็จและไม่สำเร็จ อันไหนที่สำเร็จเราก็ใส่เงินเข้าไปขยายการเติบโต แต่บางอันที่ไม่สําเร็จอย่าไปยื้อ รีบปิด จะได้เอาคนเก่งๆโยกไปทําในส่วนที่เขาสามารถสร้าง Impact ได้มากกว่า ส่วนปี 2568 ตั้งเป้าปิดกี่บริษัทนั้นตอบไม่ได้เพราะไม่ได้วางเป้าหมายไว้

"เวลาเราเลือกธุรกิจเราก็ต้องเลือกดูว่าธุรกิจนี้ ถ้าเราอยากจะทําให้สําเร็จต้องใส่เงินเข้าไปอีกเท่าไหร่ แล้วผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร ถ้ามันไม่ดีก็ถอย ถ้าดีก็ใส่เงินเพิ่ม ตรงไปตรงมา เราไม่อยากอยู่ในยุคที่สร้างธุรกิจใหม่เต็มไปหมด อันไหนไม่โตก็ยังเก็บไว้ แบบนี้ไม่เอา เราเป็นนักบริหารต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในระยะยาว นี่คือธรรมชาติของการทําธุรกิจ"

พลิกเกม! เจาะวิชั่นเอ็มดี SCC ลดต้นทุน รุกโลว์คาร์บอน-พลังงานสะอาด

สำหรับธุรกิจใหม่ๆที่สนใจขยายการลงทุนต้องล้อไปกับกลยุทธ์ที่วางไว้ ซึ่งเอสซีจีสนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับ "พลังงานสะอาด" ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ รวมถึงลงทุนคลีนเอ็นเนอร์จี, ฮิปแบตเตอรี่ , สมาร์ทกริด ฯลฯ เดินหน้าลงทุนเต็มที่ ดูจากผลตอบแทนทางการเงินในระยะยาวน่าจะดี ส่วนธุรกิจขนาดเล็กที่ทำแล้วไม่เวิร์คหรือไม่ได้ตอบโจทย์ในระยะยาวอาจจะปิดและขายออกไป

เรื่องการขึ้นค่าแรง เป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตา และอาจต้องใช้เทคโนโลยี โรบอทเข้ามาช่วย ซึ่งที่ผ่านมา เอสซีจี ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ใช้โซลูชัน AI จาก REPCO NEX ในการดูแลเครื่องจักรและซ่อมบำรุงได้อย่างแม่นยำ มีเสถียรภาพ (Reliability) ถึงร้อยละ 100 และเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) ผลิตกระเบื้อง แม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้ 

ความเชื่อมั่น vs ราคาหุ้น ?

เอสซีจีให้ความสำคัญในเรื่อง "ความมั่นคงทางการเงิน" เราทําอะไรด้วยความระมัดระวัง ไม่ทําอะไรเกินตัว ฉะนั้นผมการันตีว่า SCC เรื่องความแข็งแกร่งไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องราคาหุ้นหรือการลงทุนผมอยากให้ศึกษาถึง Fundamental ศึกษาถึงปัญหาจริงๆด้วยสิ่งที่เผชิญเกี่ยวกับรอบวัฏจักร(Cycle)

แต่จะเห็นว่า เอสซีจี มีการเปลี่ยนแปลงพอร์ตฟอลิโอ เดินหน้าธุรกิจ New S-Curve เพียงแต่สินทรัพย์ของ SCC มีมากกว่า 800,000 ล้านบาท กว่าจะสร้างธุรกิจใหม่ให้มีขนาดใหญ่เพื่อลงทุนให้ได้ถึง 100,000 ล้านบาทมันต้องใช้เวลา แต่สิ่งหนึ่งที่การันตีได้คือ ความมั่นคงทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง(Risk Management)ทำด้วยความระมัดระวังอย่างแน่นอน

"ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างปีอาจจะมีเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปัญหา Geopolitics หรือปัญหาอื่นๆก็ต้องแก้ไป ส่วนการพัฒนาองค์กร เราเชื่อในเรื่องของ Inclusive เราตั้งใจทำเรื่องนี้อย่างมาก ไม่ใช่แค่สร้าง Growth อย่างเดียว แต่ต้องเน้น Green Growth เช่นกัน หมายความว่า "พยายามลดคาร์บอน และสร้างการเติบโต" แม้ว่าเราอาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้แต่เราไม่หยุดที่จะช่วยเหลือเท่าที่เราช่วยได้ อะไรที่เราทําได้เราจะช่วยให้เต็มที่
ตลอด 1 ปีกว่าที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากถามว่าเหนื่อยหรือไม่ แน่นอนว่าการทํางานทุกงานเหนื่อยหมด ทีมงานของผมอาจจะเหนื่อยกว่าตัวผมด้วยซ้ำ ผมมีปรัชญาการทํางานว่า เวลาเจอปัญหา ผมจะเรียกมันว่า “ความสุข” ที่ผมจะแบ่งปันพรรคพวกให้ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ เพื่อให้ก้าวข้ามทุกปัญหาไปได้."


สรุปงบไตรมาส 3/67 "กลุ่ม SCC" กำไรหดทุกธุรกิจ

16 ปีแห่งความหลัง! SCC ร่วงต่ำ มาร์เก็ตแคปเหลือ 2.3 แสนล้าน

ผ่าอาณาจักร SCC ในมือ “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” เสี่ยงมรสุมเศรษฐกิจโลก

ผ่ากำไร "ครอบครัว SCC" ปี67 ฟื้น รึ ฝ่อ ? วางเกมไง