สำรับการลงทุน จัดให้ถูกตั้งแต่ต้น!
ทำไมต้องจัดความเสี่ยงการลงทุน ก็เพราะตราสารในโลกการเงินไม่ได้มีแค่หุ้น
เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
ทำไมต้องจัดความเสี่ยงการลงทุน ก็เพราะตราสารในโลกการเงินไม่ได้มีแค่หุ้น แต่มีตราสารอีกหลายประเภทที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงมากน้อยต่างกัน การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนเพื่อนำไปลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก พันธบัตร หรือหุ้น เรียกว่า การจัดสำรับการลงทุน (Asset Allocation) เพื่อกระจายความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ลงทุนได้วัตถุประสงค์ด้านระดับผลตอบแทนในระยะเวลาที่ต้องการ และเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของเงินลงทุน
งานวิจัยระบุว่า การจัดสัดส่วนว่าจะลงทุนในตราสารประเภทใด มีความสำคัญมากกว่าการเลือกตราสารเสียอีก โดยเฉพาะการลงทุนในเงินออมระยะยาว เช่น เงินออมของกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ พบว่า 93.6% ของความผันแปรในตัวเลขผลประกอบการเป็นผลจากการจัดสำรับการลงทุน
กองทุนบำนาญในสหรัฐแห่งหนึ่ง มีการจัดแบ่งสัดส่วนการลงทุนสำรับการลงทุนที่กำหนดเป็นแนวทางไว้ (Base Asset Allocation) ดังนี้ เงินสด 10% ตราสารหนี้ 30% หุ้นในสหรัฐ 45% และในจำนวนนี้แบ่งย่อยออกเป็นหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ กับหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนที่เหลือ 15% เป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
แม้สหรัฐ ที่มีตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดในโลก ยังกระจายการลงทุนไปตลาดต่างประเทศด้วย และมีผลประกอบการเป็นตัวเลขสองหลักอย่างสม่ำเสมอ (ให้ผลตอบแทนเกิน 10% ในระยะเวลา 9-12 ปี) นั่นหมายถึงแม้จะมีตัวเลขติดลบหรือขาดทุนบ้าง 1-2 ปี แต่ถ้าเฉลี่ยแล้ว 12 ปียังได้กำไรดีก็ถือว่าลงทุนได้ ไม่กระทบแผนการลงทุนที่วางไว้
ที่สำคัญคือ ต้องคอยตรวจสอบว่าแผนการลงทุนที่วางไว้สำหรับแผนระยะยาวนั้น ยังถูกต้องหรือยังอยู่ในเกณฑ์ความเป็นไปได้ ทั้งหมดนี้น่าจะสามารถนำมาปรับกับแผนการลงทุนรายได้เพื่อใช้แทนบำนาญในวัยเกษียณอายุจากการทำงานแล้วได้เหมือนกัน
กฎเกณฑ์สำหรับการจัดสำรับการลงทุนส่วนบุคคล คือ ยิ่งอายุน้อย ยิ่งรับความเสี่ยงได้มาก เพราะมีเวลาพอที่จะรอให้ได้กำไรหรือให้กลับตัว ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์การจัดสำรับการลงทุนแบบง่ายๆ ที่รู้กันทั่วไปว่า ให้เอาอายุของตัวเองหักลบจาก 100 ผลลัพธ์เป็นเท่าไหร่ ก็ให้เอาเงินไปลงทุนในหุ้นเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในตราสารหนี้
เช่น ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นทำงาน อายุ 25 ปี ก็สามารถนำเงินออมไปลงทุนในหุ้นได้ 75% อีก 25% จึงนำไปลงทุนในตราสารหนี้ กรณีว่าอายุใกล้วัยเกษียณแล้ว อายุ 50 ปี ก็สามารถนำเงินออมไปลงทุนในหุ้นได้ 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% จึงค่อยนำไปลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า หลักการนี้ใช้กับเงินที่ออมไว้ใช้ตอนชรา ที่ไม่มีความจำเป็นต้องถอนออกมาใช้ระหว่างทาง และต้องนึกไว้เสมอว่า อะไรก็ตามที่เป็นหลักการทั่วๆ ไป จะถือเอาจากค่ากลางเป็นหลัก ฉะนั้นถ้าคุณมีปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะเป็นคนกล้าเสี่ยง หรือเสี่ยงได้น้อยลง เพราะมีแผนที่จะต้องใช้เงินในระยะเวลาอันใกล้ กลัวความผันผวน ก็ปรับตัวเลขสัดส่วนให้เหมาะสม
สำหรับการกระจายการลงทุน ซึ่งต้องพิจารณาให้มากในการจัดสำรับลงทุน แนะนำว่าการกระจายการลงทุนที่แท้จริง คือเลือกสิ่งที่จะลงทุนที่มีปฏิกิริยาสนองตอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน เช่น การกระจายการลงทุนในบริษัทผลิตครีมกันแดด กับบริษัทผลิตร่ม คนที่จะได้รับตอบแทนสูงสุด คือผู้ที่ลงทุนในหุ้นของทั้งสองบริษัท ไม่ใช่คนที่เลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
เพราะเมื่อกระจายความเสี่ยงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวันที่ฝนตกหรือในวันที่แดดออก ผู้ที่ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทไว้ก็ย่อมทำกำไรได้ทั้งสองทาง นี่คือการกระจายความเสี่ยงที่เพิ่มผลตอบแทน เหตุผลก็คือ 2 สินค้ามียอดขายที่ต่างกันคนละเวลากัน การขายสินค้าสองอย่างจึงได้กำไรสูงกว่าที่จะขายสินค้าอย่างเดียวในระยะยาว เป็นการลดความผันผวนของผลตอบแทนลงโดยที่ไม่ได้ลดผลตอบแทนลงนั่นเอง
นอกจากจะต้องกระจายการลงทุนในตลาดการเงินระหว่างตราสารต่างๆ และกระจายระหว่างในประเทศกับต่างประเทศแล้ว กองทุนในหลายประเทศเริ่มสนใจลงทุนในหุ้นของกิจการที่อยู่นอกตลาด (พิจารณาความเสี่ยงด้วย) การลงทุนในกิจการเหล่านี้เป็นตัวถ่วงความผันผวนของตลาดการเงินได้ดี
สัดส่วนการลงทุน จัดสำรับให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ต้น จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ลดความแปรผันลงได้ ผลตอบแทนสูง และไม่หวือหวาจนเกินไป