“ต๋อ วีรภัทร” การ์ตูนนิสต์ไทยผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ "MVเพลงลูกทุ่งแอนิเมะ"
คุยกับ “ต๋อ-วีรภัทร ภิญโญวิทยาวงศ์” นักเขียนการ์ตูนผู้สร้างเอ็มวีแอนิเมชั่นเพลง "แมงขี้นาก’"นักร้องสาวตั๊กแตน ชลดา จนเป็นปรากฏการณ์วงการลูกทุ่งไทย
คุยกับ “ต๋อ-วีรภัทร ภิญโญวิทยาวงศ์” นักเขียนการ์ตูนผู้สร้างเอ็มวีแอนิเมชั่นเพลง "แมงขี้นาก’"นักร้องสาวตั๊กแตน ชลดา จนเป็นปรากฏการณ์วงการลูกทุ่งไทย
***********************
โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล
"สวยและสนุก" คำกล่าวชมเอ็มวีเพลง "แมงขี้นาก" ของนักร้องเสียงทอง "ตั๊กแตน ชลดา" หลังได้รับชมทั้งกลุ่มแฟนคลับเพลงและผู้คนในวงการการ์ตูน
โดยผลงานดังกล่าวเป็นของ “ต๋อ-วีรภัทร ภิญโญวิทยาวงศ์” นักโฆษณาและการ์ตูนนิสต์ชื่อดังเมืองไทย ในนามบริษัทที่ก่อตั้ง T la frame (ทีละเฟรม)
อย่างไรก็ตามนอกจากกระแสชื่นชมและพูดถึง ภายใต้ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แง้มเปิดทิศทางของวงการการ์ตูนไทยทั้งคอมมิคและแอนิเมชั่นให้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง
การ์ตูนนิสต์กำลังกลับมา ‘เกิด’
กระแสการ์ตูนคอมมิคหรือแอนิเมชั่น ประเทศไทยหลังจากช่วงประมาณปี 2554 เป็นต้นมากลายเป็นกระแสจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘ก้านกล้วย’ หลังทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท ส่งต่อวงการการ์ตูนคึกคักเป็นอย่างมาก มีการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ออกมา อาทิ เรื่องนาค เรื่องยักษ์ ทว่าต่อมาซบเซากระทั่งมีแอนิเมชั่นเรื่อง ‘9ศาสตรา’ ที่ดังไกลระดับโลก เมื่อปลายปี 2560
“ผลงานเอ็มวีแอนิเมชั่น ‘เพลงแมงขี้นาก’ ก็เป็นผลกระแสต่อ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีถือเป็นนิมิตรหมายที่การ์ตูนไทยกลับมา และเป็นปรากฏการณ์ในวงการลูกทุ่งตอนนี้ก็มีเพลงนี้เพลง”
โดยทางค่าย Go Lab Music ค่ายเพลงลูกของบริษัทแกรมมี่โกลด์มีความประสงค์จะปฏิวัติวงการลูกในการนำเสนอที่แปลกใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดรสชาติที่แตกต่างจากเดิมของภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ซึ่งในตอนแรกต๋อเองก็รู้สึกว่าผลงานครั้งนี้จะออกมาเป็นเช่นไรในการที่จะนำทั้งสองสิ่งมาแมตช์กัน
“ผลงานชิ้นนี้เป็นการ์ตูน 2D ให้คำจำกัดความว่าเป็นอนิเมะ คล้ายการ์ตูนญี่ปุ่น ที่เราตั้งใจปล่อยเอ็มวีให้ตีความได้หลายๆ แบบ แต่ธีมหลักพูดถึงภายนอกกับภายในใจ ภายนอกดูสวยงามแต่ภายนอกอาจจะไม่ได้สวยงามเท่าภายใน” ต๋อ กล่าวถึงแนวคิดของภาพเอ็มวีการ์ตูนของนางเอกที่สื่อถึงนักร้องสาว ‘ตั๊กแตน ชลดา’ ออกไล่ล่าคนที่มาอ่อยแฟนหนุ่ม
ด้านขั้นตอนกระบวนผลิตสร้างแอนิเมชั่นเพลงแมงขี้นาก เริ่มจากออกแบบคาแรคเตอร์นักร้องสาวตั๊กแตน และเขียนบอร์ดดูไทม์มิ่งทั้งหมด ต่อมานำมาตัดแอนิเมติก (สตอรีบอร์ดแบบเคลื่อนไหว มีทั้งแบบที่เขียนด้วยภาพ 2 มิติ) ก่อนทีจะนำมาลงสีทั้งหมดและร้อยรียงพร้อมกับเพิ่มการเคลื่อนไว้ในแต่ละตัวแต่ละคัทเข้าไป และใส่เอฟเฟคต์
“ตอนนี้พอตัวนี้ออกไปมันมีกระแส รสชาติที่ได้มันก็ใหม่และสนุกดี ทางค่ายให้เราได้ทำเอ็มวีอีกตัวต่อมาในเพลงลูกทุ่งเพื่อตอกย้ำกระแสที่ให้โอกาสนำสื่อแอนิเมชั่นมาประยุกต์ใช้กับเพลงลูกทุ่ง”
“ยอมรับและสนับสนุน” การ์ตูนไทยไม่แพ้ใคร
ทุนและทัศนคติเป็นปัญหาทำให้เกิดการเติบโตที่ขาดช่วงในการก้าวของวงการการ์ตูนคอมมิคและการ์ตูนแอนิเมชั่นไทยตามที่ควรจะเป็น
“อุตสาหกรรมการ์ตูนทั้งการ์ตูนเล่มและการ์ตูนแอนิเมชั่นของต้นแบบประเทศญี่ปุ่นที่เป็นอันดับ 1 เขาไปด้วยกัน แต่เรายังแยกกันอยู่ แบ่งการ์ตูนเล่มกับแอนิเมชั่น” ต๋ออธิบายเหตุผลแรก
อย่างไรก็ตามความพยายามจะจับทั้งสองอย่างมิกซ์เข้าด้วยกันบ้าง หลังผลิตหนังออกมาก็พยายามจะมีคอมมิคสั้นๆ ต่อ แต่ก็ยังไม่แข็งแรง เนื่องจากติดในเรื่องของการเปิดใจที่มักหายไปครึ่งหนึ่งเมื่อรู้ว่าผลงานคนไทยทำ
“ทั้งๆ ที่คนไทยเก่งเยอะมากที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานต่างประเทศ ในส่วนการ์ตูนไทยก็มีผลงานดีๆ เช่น เรื่องน้องมะม่วงจังของ ของ ตั้ม วิศุทธิ์ เรื่องเรื่องมีอยู่ว่า ของเดอะดวง เก่าไปอีกก็เรื่องอภัยมณีซากา”
ต๋อบอกต่อว่าความสามารถแขนงนี้ฝีมือผลงานคนไทยเป็นที่ประจักษ์ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและผลิตในระดับโลกมากมาย โดยเขามองว่าการจะรันวงการให้ไปต่อได้ดีขึ้นต้องแก้จุดนี้ และมองย้อนดูคอนเทนต์ของเราเองที่มันยังไม่ตอบโจทย์ ต้องค้นหากันไปว่าเพราะอะไร ทำไมคอนเทนต์ที่เป็นไทยถึงไม่ดังเปรี้ยง
“ผลงานชิ้นนี้เอ็มวีเพลงแมงขี้นากก็มีกระแสบอกทำใช้ลายเส้นญี่ปุ่น ผมว่ามันมีการพัฒนามากกว่า ส่วนตัวชอบการ์ตูนแอนิเมชั่นยุค 90 เรื่อง โกส อินเดอะเชลล์ เรื่องอากิระ คนไม่ใช่คน เรื่องโตเกียว ก็อตฟาเธอร์ เมตตาไม่มีวันตาย พวกนี้เป็นอินสปายเรชั่นของผม ลายเส้นผมอาจจะพัฒนาต่อยอดมาจากตรงนั้น พยายามทุกวันก็พยายามหาจุดทีเรียกว่า คนดูเส้นนี้แล้วเป็นเราทำ ถามว่าเหมือนก็อาจจะไม่ได้เหมือน แต่มันก็คือแอนิเมะ”
โดย 1.ต้องแยกการเปรียบเทียบผลงานอันนี้ของคนไทยกับงานลายเส้นไทย คนไทยทำแล้วถ้าเขาทำได้ดีก็ควรสนับสนุน 2.เรื่องลายเส้น ลายเส้นไทยคือรูปลักษณ์ในการ์ตูนเล่มละ 5-10 บาท ก็ไม่ทั้งหมด หรือถ้ามองว่าคนไทยต้องลายเส้นกนกผนังโบสถ์ถึงจะไทยก็จะเกิดการถกเถียงกันไม่จบ การรันวงการให้กลับได้รับความสนใจส่วนนี้สำคัญไม่แพ้องค์ประกอบข้างต้น
“แทนที่เราจะมากำหนดเส้นสไตล์ไหนให้กลับมองคิดว่าผลงานไหนของบ้านเราที่ตอบโจทย์และดี” การ์ตูนนิสต์หนุ่มแนะนำ
ประยุกต์-ยุคทองปัจจุบัน
ปัจจุบันถือเป็นจังหวะที่ดีหากปลดล็อกประเด็นที่ยึดวงการคอมมิคและแอนิเมชั่นไว้ เพราะช่องทางการเผยแพร่มีหลากหลายให้แสดงฝีมือ
“เว็บไซต์การ์ตูนอ่านออนไลน์ก็เพิ่งจะมีเกิดขึ้น” เขากล่าวต่อ “วงการเราจะโตได้ดียุคนี้ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ลงกระแสออนไลน์ก็ช่วยผลักแล้ว ฉะนั้นถ้าทุกคนให้ความสนใจก็จะมีโปรเจ็คดีๆ เกิดขึ้นมาอีกเยอะ และถ้านายทุนให้ความสำคัญ ให้ทุนแล้วทำประสบความสำเร็จในคนส่วนมาก มันก็จะบูมเหมือนวงการแอนิเมชั่นช่วงยุค 2554 แต่ทุกคนต้องช่วยกัน”
ปัจจุบันบริษัท T-la-frame มีด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ T-la-frame Publishing รับทำสื่อโฆษณาทุกรูปแบบ ขณะที่ในส่วนของสำนักพิมพ์ยังได้จัดพิมพ์หนังสือการ์ตูนคอมมิคผลงานคนไทยอีกด้วย
“นักวาดการ์ตูนส่วนมากสู้ชีวิต ตั้งแต่ความเชื่อ เมื่อก่อนการเรียนสู้กับความเชื่อเยอะ จบมาทำอะไร สมัยก่อนเป็นสิ่งที่วงการนี้ต้องพิสูจน์ว่าอยู่ได้ มีแค่การ์ตูนผี การ์ตูนขายหัวเราะ หรือซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนต่างประเทศมาพิมพ์ขาย
“และอีกอย่างคือไม่ได้มีเงินทุนกันเยอะ มันก็กลายเป็นว่า เราอาจจะต้องหาทุนเพื่อมาทำสิ่งที่รัก มันก็ทำให้ไม่ได้เกิดความต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่สุดท้ายมันก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ ถ้าเราไม่ยึดติด”
เขากล่าวทิ้งท้ายถึงนักการ์ตูนนิสต์เมืองไทย ขอแค่ความตั้งใจ มุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำ โดยระบุว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนมากเขาบอกว่าไม่มีแผน B และ C สำรอง มีแค่แผน A ถึงจะประสบความสำเร็จเพราะทำให้ทุกงานเป็นงานที่เราอยากปล่อยของสุดๆ และต่อมาจะมีสิ่งดีๆ ตอบกลับมา