posttoday

"ธรรมะ คือ ธรรมดา" หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป

21 พฤศจิกายน 2553

จิตไม่ระเริงหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันนั้นแหละเรียกว่าผู้เห็นธรรม

จิตไม่ระเริงหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันนั้นแหละเรียกว่าผู้เห็นธรรม

หมายเหตุ - เมื่อช่วงจะสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปบุญญาราม ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร วัย 83 ปี เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสกลนคร เนื่องด้วยเหตุอาพาธด้วยโรคมะเร็ง ท่านเป็นศิษย์ซึ่งเคยได้รับการอบรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยตรง ไม่กี่รูปที่ยังดำรงขันธ์อยู่ หลังผ่าตัดแพทย์ได้ให้กลับวัดแล้ว เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากจะแสดงธรรมด้วยธาตุขันธ์คราวนี้แล้ว ใคร่ขอนำเทศนาบางตอนที่ท่านเคยแสดงไว้ในอดีตมาเสนอดังนี้

“จิตไม่ระเริงหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันนั้นแหละเรียกว่าผู้เห็นธรรม

ธรรมะ คือ ธรรมดาสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

เห็นเกิดเห็นดับอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก บุคคลนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

\"ธรรมะ คือ ธรรมดา\" หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป หลวงปู่ผ่าน

ภาวนาให้มันเห็นอย่างนี้ จิตเราจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ในรูป ในเสียง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีอุปาทาน นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย ชื่อว่าเป็นจิตวิเวก นั่งอยู่กุฏิก็สบาย นั่งอยู่ในร่มไม้ก็สบาย ไม่ต้องไปภูไปเขา ไปภูไปเขาแล้วธรรมะไม่เกิดไม่รู้ มันก็เดินไม่หยุด ที่อาตมาว่า “หมาหลังบาด” อาจารย์มั่นท่านเทศน์พวกนี้พวกหมาหลังบาด นั่งอยู่นี่กิเลสมันมาหา ว่ามันไม่สบาย ไปอยู่นั่นมันคงสบายก็ไป ไปตลอดปีจนกลับมา เมื่อยังไม่เห็นเกิดเห็นดับก็ชื่อว่าธรรมะยังไม่เกิดกับตนเองอย่างนั้นแหละ

นี่แหละเรามาภาวนาเพื่อรู้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้จิตเรายังเป็นวิปลาส คือ จิตยังไม่รู้ว่ารูปอันนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เรามาถือว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่ ตัวเวทนาก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เขา เรามายึดเอาเวทนาว่าเป็นตัวเป็นตน เรายังเห็นผิดจึงว่าวิปลาส จิตยังไม่เข้าถึงธรรม

เหตุนั้นแหละพวกเราทุกคนให้ภาวนาให้มันเห็นภายนอกคือร่างกาย และเห็นภายใน ตับ ไต ไส้ พุง ให้มันเห็นหมดทุกส่วนภายใน เพ่งจนมันรู้ เมื่อยังไม่รู้ กรรมฐานยังไม่เกิด เพ่งจนแจ้งประจักษ์ วางลง ปลงลง แต่โยมบางคนภาวนาเห็นนะ เห็นรูปร่างมีหนอนเต็ม แต่เขาไม่รู้ทางออก เมื่อผู้มีปัญญาเห็นแล้วก็ต้องเพ่งให้มันแจ้งประจักษ์ในดวงจิตปลงแล้วก็หาตัว ตัวที่มันรู้ อันไหนเป็นตัวรู้ ตัวรู้อยู่ที่นี่ อันนี้เป็นตัวรูป อันนี้เป็นตัวนาม เพ่งแล้วปลงออกๆ จนจิตมันถอนออกๆ จนความยึดมั่นถือมั่นเราไม่มี สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าสัญญา สังขาร วิญญาณ ปลงอยู่อย่างนั้น...

...ศาสนาอื่นนั้นไม่ได้สอนถึงพระนิพพาน สอนแต่ว่าตั้งตนอยู่ในความดี เลี้ยงชีวิตดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต แค่นี้เป็นธรรมอันยังไม่พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมอันพ้นทุกข์

ธรรมอันพ้นทุกข์คืออะไร?

ธรรมอันพ้นทุกข์ท่านสอนไว้คือไม่มีอุปาทาน เมื่อตัวอุปาทานยังมีอยู่จิตนั้นยังไม่พ้นทุกข์ ความทุกข์เกิดจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ถ้าจิตไม่มีอุปาทานแล้ว จิตนั้นก็ไม่ร้อน นี่แหละธรรมอันพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า

...พระอาจารย์มั่นท่านรู้วาระจิตนะ อาตมาเคยไปฟังธรรมท่าน อาตมาไปอยู่บ้านหนองโดก พอออกจากสมาธิเห็นบุ้งตัวเล็กๆ คลานมาหา “เอ๊ะ! บุ้งตัวเล็กๆ นี้จิตมันใหญ่มั้ย ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันเล็กมั้ย หรือว่าเท่ากัน” สงสัยในจิต

ขึ้นไปบ้านหนองผือไปฟังเทศน์พระอาจารย์มั่น ท่านก็แสดงธรรมไปเรื่อยๆ ท่านก็เปล่งออกมา “บุ้งตัวน้อยๆ ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันเท่ากันนั้นแหละ” อาตมาก็แจ้งขึ้นมาในใจ ไม่สงสัยแล้ว แต่ก่อนสงสัย อาตมาสงสัยอยู่ แต่ท่านแก้ให้ ท่านรู้ ไปภาวนาอยู่กับท่าน ถ้าบุคคลใดนึกถึงบ้านนึกถึงช่องจิตไม่อยู่ เวลาเทศน์ท่านก็เตือน “เข้ามาภาวนาคิดถึงบ้านถึงเฮือน คิดถึงรูปถึงเสียง มันจะเป็นอีหยัง มันบ่ได้สักเทื่อดอก” ท่านรู้

อาตมาไปอยู่กลัวท่านอาจารย์มั่น ไม่ได้คิดไปทางใดเลย กลัวท่านจะดุเอา

เข้าสมาธิก็รู้อยู่ในตัวนั่นแหละ ไม่เคยคิดถึงบ้านถึงช่องเพราะเวลาบวชอาตมาอธิษฐานแล้วว่าจะไม่กลับ (สึก) จิตอาตมาเร่งแต่ภาวนาเท่านั้น ไม่ได้คืนไปทางนั้นทางนี้ ถึงขนาดนั้นมันก็ยังไป ไปหาหมู่หาพวก เป็นอย่างนั้นแหละเพราะเป็นธรรมดา จิตตัง คือว่านึกคิด เราจะตัดจิตอันนี้ได้ก็ต้องสอนให้มันรู้ เหมือนสอนเด็กน้อยที่ไม่รู้จักภาษา มันเล่นไปจนตกเรือน มันไม่กลัวตาย เพราะมันไม่รู้ว่าอันนี้จะพาให้เราตาย จิตที่ยังไม่รู้ก็เหมือนกันแหละ อันนี้มันผิดอันนี้มันถูก มันไม่ได้รู้อย่างนั้น มันก็ไป ไปหาดูรูป ดูโทรทัศน์ ดูนั่นดูนี่แล้วก็พากันเฮฮาอยู่นั่นแหละ อันนี้แหละจิตหลง มันก็เต้นเหมือนลิง จิตเหมือนเด็กน้อย เราก็ภาวนาสอน เห็นอสุภะจนมันรู้ขึ้นมา มันก็ไม่ได้ มันอยู่ได้ เป็นผู้ใหญ่แล้ว

พระอาจารย์มั่นท่านว่า ให้หมั่นทำ หมั่นบำเพ็ญ การภาวนาเหมือนเราทำนา เราทำนาข้างนอก ปักไถลงในแปลงนา ภาวนาก็เหมือนกัน เรามาบวชให้ภาวนา คือ การทำนา

ผานไถคืออะไร? คือตัวสติ

หิริความละอายคือ งอนไถ

มโนคือเชือก สำหรับไถนาอยู่ในร่างกาย ให้มาทำนาภายใน ให้มันรู้ทำสมาธิภาวนาจนเห็นเกิดเห็นดับ รู้แจ้งประจักษ์จนจิตมีธรรม ให้หาคุณธรรม หาที่พึ่งของตัวเอง หาศาสนา หากุฏิที่พึ่งสำหรับอยู่เย็นเป็นสุข นั่งก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข สบายๆ”