ความภูมิใจของคนไทย อุทยานแห่งชาติเขาสก มรดกแห่งอาเซียน
"กุ้ยหลินเมืองไทย"อุทยานแห่งชาติเขาสก กับความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการประกาศเป็นมรดกแห่งอาเซียน
สภาพความอุดมสมบูรณ์ อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกเรียกว่า “ ขุนเขาแห่งป่าฝน ” เพราะเป็นศูนย์ กลางผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและสำคัญของภาคใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีพื้นที่รวมกันถึง 2,296,879.5 ไร่
อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 22 ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2523 อยู่ในบริเวณที่ดินป่าคลองหยีและคลองพระแสง ตำบลคลองศก ตำบลพังกาญจน์ ตำบลพนม อำเภอพนม กับ ตำบลพะแสง และ ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน ครอบคลุมพื้นที่ 645.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 403,450 ไร่และวันที่ 2 สิงหาคม 2537 ได้มีประกาศพระราชกิจจานุเบกษา ปรับปรุงแนวเขตและเพิกถอนบริเวณทับซ้อนกับแนวเขตนิคมสหกรณ์พนม โดยได้ผนวกพื้นที่น้ำเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา เข้ารวมเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก รวมมีเนื้อที่ทั้งหมด 738.74 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 461,712.5 ไร่ เป็นผืนป่าที่มีความยิ่งใหญ่ในอันดับต้นๆภาคใต้
“ผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสกมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอุดมไปด้วยพืชพรรณหลากหลายชนิด ทั้งพืชพรรณที่หายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่นเช่น “ดอกบัวผุด” ดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปาล์มเจ้าเมืองถลางหรือปาล์มหลังขาวและปาล์มพระราหู นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ประกอบกับสภาพพื้นที่มีทิวทัศน์ ที่สวยงาม มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติทั้งน้ำตก หน้าผา ถ้ำ และทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนตระหง่านเหนือผิวน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ถูกตั้งฉายาว่า “ กุ้ยหลินเมืองไทย ” นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก กล่าว
กิจกรรมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก จึงเน้นในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทั้ง การศึกษาเส้นทางธรรมชาติ การเดินป่า นั่งช้าง การล่องแก่งและการดูนก รวมทั้งการชมถ้ำ และน้ำตก เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะกลุ่มนักท่อง เที่ยวต่างชาติจากยุโรปชื่นชอบมากและมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียเข้ามามากขึ้น
ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังอุทยานแห่งชาติเขาสก จำนวน 343,782 คน เป็นชาวต่างชาติ 189,652 คนจากเยอรมันนี รัสเซีย อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ ชาวไทย 154,130 คน ถัดมาปี 2562 เข้ามาเพิ่มเป็น 365,603 คน เป็นชาวต่างชาติเพิ่ม 231,843 คน ชาวไทย 133,760 คน
สภาพธรณีวิทยาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก ดร.วราวุธ สุธีธร อดีตนักธรณีวิทยาและนักบรรพชีวินวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เคยเข้าสำรวจถ้ำปะการัง ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา เป็นถ้ำเกิดจากภูเขาหินปูนที่มีภูมิประเทศสูงต่ำเกิดขึ้นในทะเลมีอายุทางธรณีวิทยา250-400 ล้านปี ประมาณช่วงคานิฟอรัสถึงฟอร์เมียน มีหินงอกหินย้อยจำนวนมากและแปลกกว่าที่อื่นเหมือนมีปะการังเขากวางในทะเล โดยมีลักษณะการตกผลึกของหินปูนด้วยน้ำและมีกระบวนการพิเศษบางอย่างที่ทำให้หินงอกขึ้นหรือลงตรงๆขยายออกข้างตะปุ่มตะปั่ม “ หินปะการัง ” และพบฟอสซิลในเนื้อหินในถ้ำเป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวเล็กๆติดอยู่ จึงคาดว่าเป็นแหล่งทะเลโบราณอายุหลายร้อยล้านปีมาก่อน
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ สะมาลา กับดร.กิตติมา คงทน อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และทีมนักวิจัยได้สำรวจพบต้นเทียนสิรินธร พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นพืชชนิดใหม่ของโลกที่ภูเขาหินปูนบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยที่พบในภาคใต้ที่กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ขึ้นบนเขาหินปูน ความสูง 20-150 เมตร เป็นไม้ล้มลุกสูง 50 เซ็นติเมตร ลำต้นเกาะเลื้อยห้อยลง มีดอกออกเดี่ยวหรือเป็นคู่สีชมพูอมม่วง
ถัดเข้าในเขตป่าลึกเหนืออ่างเก็บน้ำมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เนื้อที่ประมาณ 750,000 ไร่ นายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง ได้สำรวจข้อมูลสัตว์ป่าโดยการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์ดักถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ได้ เช่น เสือลายเมฆ เสือไฟ นอกจากนี้พบร่องรอย เสือดำและเสือดาว ส่วนสัตว์ป่าสงวนได้สำรวจพบ สมเสร็จ เลียงผา แมวลายหินอ่อน เก้งหม้อ โดยช้างป่า คาดว่ามีประมาณ 200 ตัว กระทิงกว่า 400 ตัว ที่เกิดจากความหลายหลากในระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของพื้นป่า
ในปีนี้ ทีมนักวิจัยสถานีสัตว์ป่าคลองแสง ได้พบลูกชนหินเกิดใหม่ ซึ่งเป็นนก 1 ในสายพันธุ์นกเงือกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก ในผืนป่าลึกคลองแสง-เขาสก สุราษฎร์ธานี โดยทีมนักวิจัยได้เฝ้าติดตามเก็บข้อมูลชีววิทยาและนิเวศวิทยาการสืบพันธุ์มากว่า 6 เดือนพบคู่นกผัวเมียแล้ว 5 คู่ คาดจะมีฝูงนกสายพันธุ์นี้มากที่สุดในไทย
ที่ไม่คาดคิดเมื่อ “ โว้คแห่งปารีส ” (Vogue) นิตยสารแฟชั่นและเว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดังของปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศยกให้“เขาสก”เป็น1 ใน 8 อุทยานที่สวยที่สุดในโลกโดยนำเสนอและเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติสวยที่สุดในโลกทั้ง 8 แห่ง ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี เพียงแห่งเดียวของไทย เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความงดงามระดับโลกเทียบเท่าอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียง อาทิ อุทยานแห่งชาติแบมฟ์ ประเทศแคนาดา อุทยานแห่งชาตินามิบ-น็อคลัฟท์ ประเทศนามิเบีย อุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุล ประเทศไอซ์แลนด์ อุทยานแห่งชาติกาลาปากอส ประเทศเอกวาดอร์ อุทยานแห่งชาติอิกวาซู ประเทศอาร์เจนตินา อุทยานแห่งชาติกุ้ยหลิน ประเทศจีน และอุทยานแห่งชาติเยลโล่สโตน ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ โว้ค ” (Vogue) ระบุว่า อุทยานแห่งชาติเขาสก อยู่ระหว่างเส้นทางภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ 285 ตารางไมล์ หรือประมาณ 738 ตารางกิโลเมตร ท่ามกลางป่าธรรมชาติที่เขียวชะอุ่ม และมีนกกว่า 300 สายพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในป่าที่มานานกว่า 160 ล้านปี มีต้นไม้บางต้นสูงกว่า 213 ฟุต หรือ 65 เมตร และยังมีฝูงชะนีอาศัยส่งเสียงร้องอยู่ตามธรรมชาติ โดยในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน(เขื่อนรัชชประภา)จะได้เห็นทิวเขาที่สลับซับซ้อนสวยงาม เฉพาะอย่างยิ่งจุดเขาสามเกลอ หรือเขาหินปูนสามลูกกลางน้ำ ที่ถือเป็นจุดเด่นของที่นี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน(ASEAN Heritage Park:AHP)ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ด้วยปัจจัยมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียวมีความหลากหลาย มีคุณค่าโดดเด่นคู่ควรแก่การอนุรักษ์ มีคุณสมบัติที่แสดงถึงความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเอก ลักษณ์ความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและมีขอบเขตทางกฎหมายที่ชัดเจน
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ก่อนปลายปี2562 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับการประกาศจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เป็นลำดับที่ 46 ในภูมิภาคอาเซียน และเมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน จึงเป็นความเป็นความภูมิใจของชาวสุราษฎร์ธานีที่จะมีอุทยานมรดกแห่งอาเซียนถึง 2 แห่งด้วยกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดี
“ อุทยานแห่งชาติเขาสก ถือเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัด แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สมบูรณ์ที่ชาวต่างประเทศชอบเดินศึกษาป่าธรรมชาติมาก และมีแพที่พักกลางน้ำในเขื่อนรัชชประภา ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ปัจจุบันนอกจากมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเป็นกลุ่มหลักแล้ว ระยะหลังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนและเอเชียเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นเมื่อเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจะส่งผลดีต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีแน่นอน ” นายวิชวุทย์ กล่าว
น.ส.นันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผอ.ททท.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เมื่ออุทยานแห่งชาติเขาสกจะถูกประกาศเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ถือเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอนเพราะเท่ากับเป็นการประกาศยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของ จ.สุราษฎร์ธานี และก่อนสถานการณ์โควิด-19ที่มีปิดอุทยานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562-มีนาคม 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 239,003 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ จากนี้ไปจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวจังหวัดซึ่งมีนักท่องเที่ยวทยอยมาแล้ว
นายสมเชาว์ โกศล นายกสมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก กล่าวว่า การเสนอให้อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ถือเป็นผลดีให้มีการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาร่วมดูแลรักษาให้ความสำคัญและจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของคนในท้องถิ่นตกทอดสู่รุ่นลูกหลาน ร่วมสืบทอดรักษาไว้ไม่ใช่เพียงมรดกอาเซียนแต่จะเป็นมรดกโลกต่อไป
ประเทศไทย มีพื้นที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแล้ว 6 แห่ง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เมื่อปี 2527 กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา และกลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) เมื่อปี 2546 อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เมื่อปี 2562 และอีก 2 อุทยานในปี 2563 อุทยานแห่งชาติเขาสก และอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง นี่คือความภาคภูมิใจคนไทยที่มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการประกาศเป็นมรดกแห่งอาเซียน