posttoday

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล (2)

10 มกราคม 2564

โดย อุทัย มณี

******************* 

เมื่อตอนที่แล้วผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า ไปอบรม "โคก หนอง นาโมเดล" ไปเจออะไร ได้รับอะไรมาบ้าง เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชีวิตตนเองและครอบครัว

ต้องยอมรับก่อนว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ท่ามกลางทางสามแพร่ง คือ ทางหนึ่ง เป็นสื่อมวลชนรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวมาจากตรงนี้ ทางที่สอง เป็นนักศึกษาสันติวิธี ของ มจร ซึ่งยังต้องศึกษาและต้องใช้เวลาพอสมควร และสาม ทำเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว

ในสามทางนี้หากถามว่าทางไหนอยากเดินที่สุดต้องตอบว่า “เกษตรกร” เป้าหมายหลักยามตกงานหาเงินในเมืองไม่ได้หรือยามสูงวัยต้องยึดอาชีพนี้ วางแผนชีวิตไว้แบบนี้ จึงเลือกเข้าร่วมโครงการ โคก หนองนาโมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวมหาดไทย

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล (2)

ผู้เขียนเลือกที่จะไปอบรมที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี โดยความอนุเคราะห์ของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ส่งตัวไปอบรม 4 คืน 5 วัน ระหว่างวันที่ 21 -25 ธันวาคม 2563

เมื่อผู้เขียนไปถึงได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากผู้อำนวยการศูนย์ในฐานะมิใช่ผู้อบรมโดยตรงแต่ให้อยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์

ก่อนไปผู้เขียนเตรียมหมอน ผ้าห่ม ไปเต็มที่เพราะคิดว่าไปพักสถานที่ราชการคงมีสภาพโทรม ๆ เก่า ๆ แต่เมื่อไปถึงผิดคาดศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี มีอาคารพักดังโรงแรม 3 อาคาร มีหอประชุม มีเรือนครัว เทียบได้กับโรงแรมประเภท 3 ดาว สะอาด มีแปลงโคกหนองนา ทั่วในพื้นที่ มีสระน้ำในพื้นที่มีจักรยานให้ออกกำลังกาย  ร่มรื่นเหมือนกับรีสอร์ททั่วไป

ตารางอบรมตื่นตั้งแต่ตีห้าจนถึงสามทุ่ม แน่นเอี้ยดไปด้วยกิจกรรมเสริมความรู้

คนของกระทรวงมหาดไทยเป็นที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่งคือ พูดเก่ง ทำงานตื่นตัวตลอดเวลา มิใช่เพราะผู้เขียนเข้าร่วมโครงการนี้แล้วมาพูดเอาใจ มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คนมหาดไทยอยู่กระทรวงไหนมักทำงานว่องไว พูดเก่ง เข้าถึงประชาชนเสมอ  เพราะนักรัฐศาสตร์ นักพัฒนาชุมชน ส่วนใหญ่ถูกสอนให้ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล (2)

ผู้เขียนเห็นเจ้าหน้าที่ ที่นี่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ปรับตัวมาเป็นพิธีกร ทำกิจกรรม ร้อง เต้น อบรมให้ความรู้ ถ่ายทอดการทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำยาซักผ้า จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือกระทั้งนำผลิตภัณฑ์จากเกษตรมาต่อยอดทำผลิตภัณฑ์โอทอป เป็นงานทุกท่าน

แอบถามเจ้าหน้าที่บางคนว่า เคยทำแบบนี้มาก่อนหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่เนื่องจากเป็นนโยบายต้องปฏิบัติและเรียนรู้ บางส่วนก็ไปอบรมผ่านหลักสูตรมาทั้งโครงการจิตอาสาและโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของอาจารย์ยักษ์

คนมาอบรมส่วนใหญ่ผู้ใหญ่หน่อย ปราชญ์ด้านเกษตรดี ๆ นี่เอง มีภูมิและองค์ความรู้อยู่แล้ว ส่วนน้อง ๆ อีกกลุ่มคือ นักพัฒนาพื้นที่หรือลูกจ้างตามโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล (2)

ก่อนวันสุดท้ายมีรุ่นพี่เครือข่าย “ฅ.ยั่งยืน”  มาเป็น “ครูพาทำ” คือ สอนวิธีทำโคกหนอง นา โมเดล สอนวิธีออกแบบโคกหนองนาโมเดล

ยุคการแพร่ระบาดของโควิดนี้ คงไม่มีอะไรยั่งยืนไปกว่า การสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับตนเองและครอบครัว และคำตอบของความยั่งยืน คือ โคก หนองนาโมเดล หรือการทำงานเกษตร ปลูกทุกอย่างที่กินได้ และกินทุกอย่างที่ปลูก

และหลาย ๆ คนคิดว่า การทำโคก หนองนาโมเดล นี้ไม่สามารถนำไปสู่ความ “มั่งคั่ง”ได้ ความจริงคิดผิด ตอนนี้หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจ หันมาทำโคก หนอง นาโมเดลกันมาก ต่อยอด เป็นเชิงพาณิชย์ ทั้งอาหารปลอดสารพิษและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

สมัยนี้ใครไม่ทำโคก หนอง นาโมเดล ตกยุคและล้าหลัง..!!!

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล (2)