ทำไมการพัฒนาถึงไม่ยั่งยืน?
โดย ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน
จากปัญหาไวรัสโควิด 19 ระลอก 3 ที่ติดง่าย ติดไว ไม่แสดงอาการ และรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา วัคซีนที่มีก็แค่บรรเทาความรุนแรงของโรค วัคซีนที่ป้องกันได้ผลอย่างมั่นใจ ก็ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่ง ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างทั่วโลก บางธุรกิจตั้งตัวไม่ทัน ต้องหยุดชะงัก ขาดความยั่งยืน หลายธุรกิจต้องล่มสลาย และมันจะมีผลกระทบไปอีกหลายปี การกลับสู่ภาะปกติไม่ง่ายและไม่เหมือนเดิม ที่สำคัญ ไวรัสตัวนี้ มันไม่ได้ไปไหน มันกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน
ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นหัวใจสำคัญ แต่ละประเทศรวมทั้งองค์กรธุรกิจต่างๆ ต่างทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาล ตลอดจนทรัพยากรบุคลากรเพื่อยื้อชีวิตมนุษย์และกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยอย่างหนัก การลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรจึงมีความสำคัญ แต่ผลที่ได้มักต่ำกว่าที่คาดหวัง อีกทั้งยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม บางปัญหาเกิดซ้ำๆ แก้กี่ครั้งก็ไม่จบ พอแก้ปัญหานี้จบ ปัญหาใหม่ก็เข้ามาอีก และบ่อยครั้ง มันเป็นปัญหาเดิมๆ หมุนวนเวียนเช่นนี้ อะไรทำให้องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ และไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เราพบว่า
1. เพราะบุคคลยังยึดติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ภาพความสำเร็จเก่าๆ ที่เน้นเพียงเพิ่มความมีประสิทธิภาพ แต่ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่มุมมองเชิงองค์รวมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งให้คุณค่าและความหมายที่สูงกว่าในการดำเนินธุรกิจ
2. เพราะไม่เข้าใจว่าบุคลากรคือมนุษย์ องค์กรมีชีวิต และชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย การพัฒนาในปัจจุบันจึงมักให้ความสำคัญแต่ด้านทักษะการบริหารจัดการ (Hard Skills) ที่เน้นความสำเร็จด้านรูปธรรมอย่างสุดโต่ง คิดว่าทุกอย่างต้องวัดและประเมินได้ แต่ละเลยการพัฒนาด้านทักษะชีวิต (Soft Skills) ที่เป็นแรงขับเคลื่อนความสำเร็จ ที่ตั้งอยู่บนฐานของคุณค่าและความหมาย ความสุข ความสำเร็จที่แท้จริง การพัฒนาจึงขาดความสมดุล ไม่อาจนำไปสู่ความยั่งยืนได้
3. เพราะขาดความเข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ทำให้การพัฒนาจึงไม่ครอบคลุมทุกมิติชีวิต (จิตใจ ปัญญา อารมณ์ และภาะผู้นำ) กล่าวคือ
- จิตใจ เพราะบุคคลยังติดอยู่กับมุมมองและทันคติเชิงลบ ขาดเป้าหมายชีวิต ขาดการนำตนเอง จึงไม่สามารถเล่นเชิงรุก อีกทั้งทีมงานก็มีภาพเป้าหมายคนละภาพหรือไม่ชัดเจน การดำเนินงานจึงไม่ไปในแนวเดียวกัน
- ปัญญา เพราะขาดการคิดเชิงระบบ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน อีกทั้งขาดมุมมองเชิงองค์รวมจึงไม่สามารถพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ที่แตกต่าง จึงขาดนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ
- อารมณ์ เพราะไม่เห็นคุณค่าตนเอง จึงทำให้ขาดความเชื่อมั่น ขาดภูมิต้านทาน ขาดความมั่นคงภายใน และไม่เห็นคุณค่าผู้อื่น ไม่เห็นคุณค่าในความแตกต่าง ทีมงานจึงขาดศรัทธา ไม่เข้าใจกัน ไม่ไว้วางใจกัน จึงเล่นไม่เป็นทีม ทีมงานไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถระเบิดศักยภาพออกมาได้อย่างมีพลังร่วม
- ภาวะผู้นำ เพราะผู้นำไม่เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของทีมงาน ไม่เข้าใจว่ามนุษย์คือชีวิตที่ต้องการคุณค่าและความหมาย จึงขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน ทำให้ขาดภาวะผู้นำ ทีมงานจึงขาดการมีส่วนร่วม ขาดความร่วมมือ ไม่เสียสละ ไม่เกื้อกูล ไม่ยืนมือ จึงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและนำองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกันได้
4. เพราะบุคลากรและองค์กรต้องการเห็นผลเร็ว จึงมักเน้นแค่การปรับแต่งพฤติกรรมซึ่งเป็นเรื่องผิวเผิน ฉาบฉวย ชั่วคราว เพราะมิได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ฐานรากของชีวิต นั่นคือ กรอบความคิด หรือ Mindset จึงขาดความตระหนักรู้ต่อความสำคัญของการเปลี่ยนที่แท้จริงจากภายใน การพัฒนาจึงไม่ยั่งยืน เพราะความรู้ มิใช่ความรู้สึก
5. เพราะขาดความเข้าใจว่าปัญหาต่างๆ มันต้องแก้ด้วยแนวคิดเชิงระบบที่เกิดจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ และด้วยเหตุที่ปัญหาต่างๆ มันมีความแตกต่าง การรับมือกับความท้าทายดังกล่างจึงต้องพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ด้วยความรู้ที่เหนือกว่าเดิม ด้วยการเชื่อมโยงที่แตกต่างขององค์ประกอบที่หลากหลาย และที่สำคัญปัญหาใดๆ มันเป็นระบบซ้อนระบบ ปัญหาทับซ้อนปัญหา และปัญหาแต่ละระดับ มันเชื่อมโยงกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ การรับมือกับปัญหาจึงต้องเปิดมุมมองใหม่ โดยต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อนเชิงรุก แต่ในปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่ยังรับมือกับปัญหาในลักษณะของเส้นตรงเชิงเดี่ยว แยกส่วน การแก้ปัญหาจึงไม่ยั่งยืน
6. ในขั้นตอนการแก้ปัญหา บุคคลโดยทั่วไปมักข้ามขั้นตอนและชอบจะจดจำแต่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่ขาดการวิจัย พัฒนา และการศึกษาเชิงลึกถึงรากของปัญหาเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงไม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง
7. เพราะคนเรานั้นขาดความตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ อีกทั้งชีวิตกับการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน ดำเนินไปคู่กันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ ดังนั้น การเรียนรู้จึงต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เชื่อมโยงกับประเด็นในชีวิตจริง
8. และทั้งหมดนี้ก็เพราะบุคลากรขาดการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตได้ หากปรับตัวเอาชนะภาวะนั้นได้เรื่อยๆ เรียกว่า สมดุล หากรักษาสมดุลนั้นได้เรื่อยๆ เรียกว่า เข้มแข็ง หากรักษาความเข้มแข็งนั้นไว้ได้เรื่อยๆ เรียกว่า มั่นคง หากรักษาความมั่นคงนั้นได้เรื่อยๆ เรียกว่า ยั่งยืน
ไม่ว่าหลังไวรัสโควิด 19 จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ นั่นไม่สำคัญ เพราะยังไงวิกฤติใหม่ๆ ก็จะเข้ามาอีก เพราะตัวไวรัสเองก็ไม่อยู่เฉย มันพัฒนาตัวเองเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือ องค์กรธุรกิจต้องปรับตัว พัฒนา และยกระดับศักยภาพองค์กรอย่างไร จึงจะสามารถรับมือกับความท้าทายนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืน