posttoday

ดราม่าเฌอเอม คืนไมค์ไม่ดูดวง นางงาม ความเชื่อ และสิทธิส่วนบุคคล

27 เมษายน 2566

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดกระแสดราม่าบนเวที มิสแกรนด์ไทยแลนด์ เมื่อผู้เข้าประกวดท่านหนึ่งปฏิเสธการดูดวงบนเวทีการประกวดซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางกองประกวดจัดขึ้น โดยให้เหตุผลว่านับถือศาสนาคริสต์ซึ่งห้ามการดูดวง

ในขณะเดียวกันอีกฝั่งหนึ่งได้มีการโต้เถียงว่า ทางผู้เข้าประกวดในฐานะของบุคคลที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทและคนอีกหลายกลุ่มในสังคมควรจะยอมรับในความหลากหลายที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้เพื่อจะได้อยู่ร่วมในสังคมได้ดีขึ้น ซึ่งดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ก็ได้สร้างข้อถกเถียงต่างๆ มากมายให้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่มแฟนคลับคนรักนางงาม ผู้ที่ติดตามการประกวด และกระจายไปยังประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ

 

และเมื่อส่องคอมเมนต์ของชาวเน็ตก็พบว่ามีการแบ่งฝั่งออกมาอย่างชัดเจน บ้างก็เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง บ้างก็มองว่าผิดและถูกแบ่งไปทั้งคู่  อาทิ

 

ฝั่งผู้เข้าประกวด

“ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ควรบังคับกัน"

“ศาสนาคริสต์ห้ามไม่ให้มีการดูดวงจริงตามหลักศาสนา”

“อย่าทำให้ความเชื่อเรื่องการดูดวงเป็นการทำเพื่อเข้าสังคม”

“ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้ารู้ว่ากิจกรรมนั้นเสี่ยงก็ไม่ควรจะทำ”

 

 

ฝั่งเจ้าของเวทีการประกวด

“จะเป็นมิสแกรนด์ได้ก็ต้องสามารถเบลนด์อินกับความหลากหลายของสังคมได้”

“มีข้อกำหนดก่อนขึ้นเวทีซึ่งควรจะทำตามและให้เกียรติเวที”

“กิจกรรมร่วมกัน ถ้าเลือกปฏิบัติก็ไม่ต้องเข้ากองประกวด”

“อย่าตึงเกินไป”

“คนที่ยึดติดกับความเชื่อของเขาก็อยู่ในสังคมที่หลากหลายได้โดยไม่ต้องละทิ้งความเชื่อของตนเอง”

 

ทั้งนี้ในท้ายที่สุด ทางผู้เข้าประกวดได้มีการออกมาชี้แจงเหตุผล และออกมาขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และคิดว่าน่าจะเป็นการจบดราม่าครั้งนี้

 

ภาพเหตุการณ์ที่เกิดข้อถกเถียงมากมายในเรื่องศาสนาและสิทธิส่วนบุคคล

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคม ...  บนพื้นฐานของความคิดที่หลากหลาย สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้  คือการถอดบทเรียน เพื่อจะได้สามารถเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

 

และหากพิจารณาข้อโต้แย้งที่หยิบยกขึ้นมาจะพบว่า ข้อถกเถียงทั้งหมดมีส่วนที่ไม่ได้โต้แย้งบนความเชื่อหรือค่านิยม ‘เรื่องเดียวกัน’ ซะเท่าไหร่นัก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน ...  ในขณะที่ผู้เข้าประกวดให้น้ำหนักประเด็นทางศาสนาที่ตนนับถือ ทางฝั่งเจ้าของเวทีการประกวด ก็จะเน้นไปที่กิจกรรมการประกวด และการอยู่ร่วมกันในกิจกรรมที่ตอบสนองต่อคนหลากหลายกลุ่มให้ได้ ซึ่งการจะชี้ถูกผิดในบริบทนี้หากมองแล้วจึงไม่สามารถทำได้ เพราะแต่ละคนให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ไปในทิศทางที่ต่างกัน

 

ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล

 

การนับถือศาสนาในประเทศไทยเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเลือกที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ โดยจะจำกัดที่ศาสนาหลักของโลกไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ แต่ภายใต้กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีคนอีกหลากหลายที่ไม่มีศาสนา หรือมีศาสนาที่ผสมผสาน หรือแม้แต่มีความเชื่อเป็นของตัวเอง

 

ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ศาสนาที่กรมการศาสนารับรองและมีผู้นับถือประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ ความเชื่อของศาสนาคริสต์เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดจึงเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะจะทำให้ความเชื่อของพวกเขาออกห่างจากความเชื่อในพระเจ้า อย่างไรก็ตามในปี 2019 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ออกเทศนาโดยมีประโยคหนึ่งที่ทรงตรัสถึงศาสนาและความเชื่อที่มีอยู่ทั่วโลกว่า  “สิ่งที่พระเจ้าต้องการคือความเป็นพี่น้องกันในหมู่พวกเรา ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องไม่กลัวความแตกต่าง พระเจ้าทรงอนุญาต แต่เป็นเรื่องถูกต้องที่จะกังวลเมื่อผู้คนไม่ได้กระทำสิ่งใดที่ทำให้โลกใบนี้เป็นพี่น้องกันมากขึ้น”   บทเทศนาครั้งนี้สะท้อนถึงมุมมองของวาติกันที่มีต่อความหลากหลายทางความเชื่อและศาสนาทั่วโลก ที่สามารถมีความหลากหลายได้แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง และทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์เป็นไปในทางสันติและดีงาม

 

แล้วการดูดวงล่ะ? การดูดวงมีประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปได้ไกลถึงสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจากการดูโหราศาสตร์ดูดวงดาวบนฟากฟ้า และนำมาวิเคราะห์คำทำนายทายทักให้แก่ชนชั้นสูงและชนชั้นปกครอง ต่อมาในสมัยกรีกที่อียิปต์ตกอยู่ภายใต้การปกครอง จึงทำให้อียิปต์ได้รับอิทธิพลด้วยมีการผสมผสานกับการดูดวงเข้ามากับการดูดาว และแพร่กระจายศาสตร์นี้ไปทั่วจนถึงทวีปเอเชีย

 

ต่อมาในยุคกลางซึ่งถือเป็นยุคมืดของโหราศาสตร์ คริสตจักรได้พูดชัดเจนถึงความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ว่าเป็นการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี และทำให้โหราศาสตร์เกือบล่มสลายในช่วงนั้น หลังจากที่อาณาจักรโรมันถูกทำลายโหราศาสตร์ก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง  .. .ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ โหราศาสตร์และการดูดวงได้ถูกผนวกเข้ากับการแพทย์ ดนตรีและผสมผสานกับเวทมนต์ลี้ลับ และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในการพยากรณ์ การนำความรู้ทางด้านจิตวิทยาเข้ามาผสมผสานเกิดในช่วงยุคใหม่ และแพร่หลายไปสู่ประชาชนในทุกระดับ

 

ภาพการทำนายดวงชะตาของชาวยิปซีในสมัยอดีต

 

สำหรับเอเชียธุรกิจหมอดูในตลาดเกาหลีใต้มีเงินสะพัดกว่า 1.16 แสนล้านบาทในปี 2018 หรือการทำนายในฟิลิปปินส์ที่มีการทำนายว่า นายดูเตร์เตจะได้เป็นผู้นำคนใหม่จนที่สุดได้เลือกเป็นเประธานาธิบดี ก็เป็นกระแสที่สร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบเอเชียที่ยังคงมีการดูดวงผูกติดอยู่กับวิถีชีวิตค่อนข้างมาก ส่วนประเทศไทยธุรกิจดูดวงมีเงินสะพัดกว่า 2,500 ล้านบาท โดยคนส่วนใหญ่นิยมไปดูดวงจากเหตุผลทางด้านความเครียด ความกดดันทางสังคม และการแข่งขันที่สูงขึ้น การดูดวงในสถานที่ๆ ไว้ใจได้มักจะแนะนำให้คนที่ไปดูดวงทำสิ่งต่างๆ ที่จรรโลงชีวิตได้ดีขึ้น ให้ไปทำบุญ งดทำบาป แนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ยกเว้นมิจฉาชีพที่ใช้อาชีพดูดวงเข้ามาทำร้ายผู้อื่น องค์ประกอบของการดูดวงเหล่านี้จึงสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเหนียวแน่น

 

ภาพคาเฟ่ดูดวงที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้

 

แล้วความเชื่อต่างจากศาสนาอย่างไร?

 

ศาสนาคือกลุ่มของความเชื่อที่ถูกเรียบเรียงและแชร์กันภายในกลุ่ม มีองค์กร ลำดับการปฏิบัติและกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน ในขณะที่ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล

 

ศาสนาจึงมีกฏเกณฑ์ต่างๆ นอกจากจะเพื่อกำกับจริยธรรมและคุณธรรม ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กฎของศาสนาคริสต์ที่ระบุว่าพระเจ้าไม่ให้นับถือพระเจ้าอื่นใด หากมองในแง่ของสังคม ก็คือความเชื่อที่จะรวมสังคมให้เป็นหนึ่งเดียว และมีความรักใคร่สมัครสมานกัน ... ในขณะที่ความเชื่อซึ่งไม่อยู่ภายใต้ศาสนาใดๆ นั้นเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงส่วนบุคคล ที่ทำตามความเชื่อส่วนบุคคลโดยบางครั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสังคมหรือคนอื่นๆ  จึงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล

 

ทุกวันนี้เราพบว่าคนในสังคมมีความเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น หากมองในแง่ของการนับถือศาสนา บางคนเลิกนับถือศาสนาเพราะกฏระเบียบปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะประพฤติเป็นคนไม่ดี บางคนอาจจะมีความเชื่อที่ต่างๆออกไป แต่พวกเขามี ‘ธรรม’ ในหัวใจ บางคนศรัทธาในพระเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ไม่อยู่ในกฏระเบียบของศาสนา ไม่อยากเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ก็มี  บางคนนับถือทุกศาสนา บางคนมีความเชื่อเรื่องเอเลี่ยน บางคนเชื่อหมอดูและคำนายทายทักอย่างเดียว บางคนจากที่ไม่เคยเชื่อในศาสนาก็กลับมาเชื่ออย่างหมดใจ .. สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนความหลากหลายทางความเชื่อ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับ ‘ธรรม’ ของความเชื่อนั้นว่าดีจริงหรือไม่

 

ภาพแสดงพื้นที่ความเข้มข้นของประชากรที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ ทั่วโลก

 

ถอดบทเรียน เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรเมื่อความเชื่อต่างกัน

 

ในอดีตปัญหาการอยู่ร่วมกันของความเชื่อในเมืองไทยแทบจะมีให้เห็นน้อยมาก เพราะความ ‘ชิล’ และนิสัยเกรงใจของคนไทยที่มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล จนเกิดประโยคที่ว่าการเมืองและศาสนาไม่ควรจะนำมาพูดกันบนโต๊ะอาหาร อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันที่มีความปัจเจกมากยิ่งขึ้น ความเชื่อส่วนบุคคลมีเพิ่มมากมาย และคนพร้อมที่จะออกมายืนหยัดในสิ่งที่ตนเชื่อ จึงมีโอกาสที่จะเกิดการปะทะระหว่างความเชื่อแต่ละความเชื่อได้ง่ายมากขึ้น  อย่างเช่นเหตุการณ์ดราม่าเวทีประกวดนางงาม

 

คำถามคือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?

 

สิ่งที่ควรนึกถึงคือ ต่อให้จะมีศาสนาหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่บางครั้งเมื่อเราพิจารณาถึงใจความสำคัญของความเชื่อก็จะพบจุดร่วมเดียวกัน อย่างเช่น การสอนให้คนเป็นคนดี ระมัดระวัดการไปเป็นชู้กับแฟนชาวบ้าน กตัญญูรู้คุณพ่อแม่ การเสียสละและการบริจาค  ฯลฯ

 

มีบทสัมภาษณ์หนึ่งในบทความของ Insider ในปี 2018 พูดถึงประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคู่รักคู่นึงซึ่งนับถือศาสนาต่างกัน ต่างคนต่างเคร่งครัดในศาสนาของตนอย่างสุดหัวใจ ซึ่งน้อยคู่มากที่หากเคร่งครัดต่อศาสนาเช่นนี้แล้วจะอยู่ร่วมกันได้แต่พวกเขาทำได้ด้วยการรับฟังซึ่งกันและกัน บางครั้งพวกเขาจะร่วมพิธีและพูดถึงความเชื่อของตนเองด้วยกัน   ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป เข้าร่วมพิธีกรรมของอีกฝ่ายบ้างเป็นบางครั้งเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนศาสนา และไม่หาเรื่องกับความเชื่อที่ต่างกันเพราะควรที่จะเคารพความเชื่อของกันและกันเสมอ

 

ความเชื่อของผู้คนในทุกวันนี้หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในความแตกต่างอย่างเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  และทั้งหมดทั้งมวลนี้จะผ่านไปได้โดยไร้ดราม่า หากเราเริ่มต้นด้วยการเคารพและรับฟังกันและกันมากพอ.

 

ที่มา

https://www.insider.com/dating-someone-different-religion-2018-1

http://asiatrend.ias.chula.ac.th/รายละเอียดบทความ/โหราศาสตร์ของเอเชีย__ความเชื่อ_ความศรัทธา_ในยุคเทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน