posttoday

“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก

02 พฤษภาคม 2566

“ราชวงศ์วินด์เซอร์” สัญลักษณ์ของอังกฤษ ชื่อของครอบครัวที่อยู่ในสายตาชาวโลกมายาวนาน ใครจะรู้ว่า กว่าจะได้ชื่อนี้มา มีเรื่องราวสำคัญ ซับซ้อนและแยบยลเช่นไรซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ ก่อนที่กษัตริย์พระองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ จะเข้าพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้

ตราประจำราชวงศ์วินด์เซอร์

 

แม้ว่าราชวงศ์อังกฤษจะมีอายุสืบเนื่องกันมานับพันปีแล้ว แต่ House of Windsor หรือ “ราชวงศ์วินเซอร์” นั้นค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 หรือเมื่อราว 105 ปีที่ผ่านมานี้เอง และเกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางการเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อราชสำนักต้องการให้ชื่อราชวงศ์ดูเป็นอังกฤษแทนที่จะเป็นเยอรมัน อันเป็นรากเหง้าบรรพบุรุษ..

 

สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมาจากความรู้สึกต่อต้านเยอรมันของชาวสหราชอาณาจักรทำให้ราชสำนักอังกฤษจัดการเปลี่ยนแปลงพระนามของราชวงศ์จากภาษาเยอรมัน ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เยอรมัน “ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา” (Sachsen-Coburg und Gotha) รวมทั้งพระอิสสริยยศสมาชิกราชวงศ์จากภาษาเยอรมันให้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ขณะที่ประเทศกำลังต่อสู้กับเยอรมนีในเวลานั้น

 

ส่วนอีกเหตุผลสำคัญก็คือ เพื่อความอยู่รอดของราชวงศ์ในยุคเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของยุโรปที่บรรดาราชวงศ์ต่างๆ ทยอยถูกล้มล้างไป

 

“ราชวงศ์วินด์เซอร์” ก่อตั้งโดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยพระราชโองการ พระองค์ทรงประกาศให้ลูกหลานชายของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียซึ่งเป็นพลเมืองอังกฤษทุกคนใช้นามสกุลว่า “วินด์เซอร์” 

 

พระเจ้าจอร์จที่ 5 ผู้ตั้งพระนาม “ราชวงศ์วินเซอร์” ในปี พ.ศ.2460

 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ในที่ประชุมคณะองคมนตรี พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงประกาศว่า

 

“ผู้สืบเชื้อสายในสายเลือดชายของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรแห่งนี้ นอกจากผู้สืบสายโลหิตหญิงที่แต่งงานแล้ว จะต้องแบกรับนาม วินด์เซอร์” ซึ่งได้กลายเป็นนามสกุลของครอบครัวมาจนถึงวันนี้

 

ว่ากันว่า ความรู้สึกต่อต้านเยอรมันมาถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 เมื่อเจ้า Gotha GIV เครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถบินข้ามช่องแคบอังกฤษได้ เริ่มทิ้งระเบิดถล่มกรุงลอนดอนและกลายเป็นชื่อที่ชาวอังกฤษทุกคนคุ้นเคยและหวาดหวั่น

 

ยิ่งกว่านั้น การสละราชสมบัติของซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิแห่งอาณาจักรรัสเซีย ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์จอร์จแห่งอังกฤษ ได้ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อการล้มเลิกระบอบกษัตริย์ทั้งหมดในยุโรป ทำให้กษัตริย์ต้องเปลี่ยนชื่อสกุลรวมทั้งชื่อในภาษาเยอรมันทั้งหมดมาเป็นภาษาอังกฤษ

 

จากนั้นมา นามว่า “วินด์เซอร์” นี้จึงมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับระบอบราชาธิปไตยในอังกฤษ ทั้งจากชื่อเมืองและปราสาท-พระราชวังวินด์เซอร์ 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พระราชโองการดังกล่าวของกษัตริย์จอร์จที่ 5 หมายรวมถึงเฉพาะรัชทายาทในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่สืบเชื้อสายมาจากบุรุษเท่านั้น

 

“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก

 

ทำให้ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2495 หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้แก้ไขข้อขัดแย้งของชื่อราชวงศ์ โดยได้ประกาศต่อคณะองคมนตรีว่า พระนางมีความปรารถนาที่จะให้พระองค์เอง พระราชโอรส และพระราชธิดาใช้ชื่อราชวงศ์วินด์เซอร์ รวมทั้งรัชทายาทของพระองค์เมื่ออภิเษกสมรส และรัชทายาทลำดับถัดไปใช้ชื่อของราชวงศ์วินด์เซอร์ ไม่เช่นนั้น ลูก ๆ ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะมีนามสกุลของเจ้าชายฟิลิป พระสวามี คือ “เมานต์แบ็ตเทน” (Mountbatten)

 

หลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศพระราชโองการเพื่อยืนยันว่า พระองค์และพระราชโอรสและธิดาทั้งสี่เป็นสมาชิกของราชวงศ์วินด์เซอร์ ส่วนรัชทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากชายอื่น ๆ (ยกเว้นผู้ที่เป็น HRH, เจ้าชาย และเจ้าหญิง) จะใช้นามสกุล เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์ (Mountbatten-Windsor)


 

ที่มาของการรีแบรนด์ครั้งสำคัญ

 

มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ทรงเตรียมการที่จะไปชมละครของเช็กสเปียร์ เรื่อง The Merry Wives of Windsor แต่เมื่อทรงทราบว่า พระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องได้เปลี่ยนชื่อพระราชวงศ์อังกฤษไปเป็น “วินด์เซอร์” พระองค์ได้กล่าวล้อเลียนว่า ทรงเตรียมที่จะไปชมละครเรื่อง The Merry Wives of Saxe-Coburg-Gotha ไม่ใช่ The Merry Wives of Windsor

 

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองล้มล้างระบอบกษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรป บวกกับกระแสสังคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประชาชนอังกฤษเกลียดชังเยอรมันนั้น นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ราชวงศ์อังกฤษสายเลือดเยอรมันต้องเผชิญ ถึงขั้นชี้เป็น-ชี้ตายอนาคตของราชวงศ์ และเป็นเหตุให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ต้องหาทางออกให้ราชวงศ์อยู่รอด

 

และสิ่งที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ต้องตัดสินพระทัยทำในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ.1917)  ก็คือการตัดใจไม่ช่วยเหลือลูกพี่ลูกน้อง ญาติสนิทอย่างพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดยให้รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธคำขอลี้ภัย หลังการปฏิวัติในรัสเซีย โดยมีทั้งจากกระแสเกลียดชังรัสเซียและความเบื่อหน่ายสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ของประชาชน แม้ว่าอังกฤษกับรัสเซียจะอยู่ฝ่ายเดียวกันก็ตาม ส่งผลให้ครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องอยู่ในรัสเซียต่อไป และถูกสังหารในที่สุด

 

และแม้จะกรีดเลือดเยอรมันในตัวทิ้งไม่ได้ แต่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็เกิดความคิดว่า การเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากชื่อเยอรมันให้เป็นชื่ออังกฤษน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พระองค์จึงคิดสรรหาชื่อราชวงศ์ใหม่ ก่อนจะพอพระทัยกับชื่อว่า “วินด์เซอร์” ในท้ายที่สุด

 

ชื่อใหม่นี้มาจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีเรื่องราวมากที่สุดชิ้นหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษ นั่นคือ Windsor Castle ที่ตั้งอยู่นอกกรุงลอนดอน จากข้อมูลของ Royal Collection Trust ปราสาทวินด์เซอร์ถูกสร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิตในศตวรรษที่ 11 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เป็นที่พำนักของกษัตริย์อังกฤษ 39 พระองค์ 

 

“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก

 

ในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ปราสาทวินด์เซอร์เป็นสถานที่พักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ของควีนตลอดรัชสมัยของพระองค์

 

น่าสนใจว่า วินด์เซอร์ไม่ใช่ชื่อเดียวที่อยู่ในการพิจารณา ข้อมูลจากซีรีส์สารคดี 6 ตอนเรื่อง "The Royal House of Windsor" กษัตริย์จอร์จที่ 5 จ้างให้ลอร์ดสแตมฟอร์ดแฮม ราชเลขานุการส่วนพระองค์สรรหาชื่อ เขาสำรวจหนังสือประวัติศาสตร์มากมาย และยังสังเกตเห็นว่าชื่อบางชื่อที่มีชื่อเสียงที่สุดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เช่น Tudor (ราชวงศ์ทิวเดอร์ หรือ ทูเดอร์เป็นราชวงศ์ซึ่งมีเชื้อสายระหว่างเวลส์กับฝรั่งเศส ครองอังกฤษช่วงปี ค.ศ. 1485-1603 ,) Plantagenet (นามราชวงศ์แพลนแทเจอนิต หรือ แพลนแทจินิต(อังกฤษ: House of Plantagenet) เป็นราชวงศ์ที่กำเนิดขึ้นในดินแดนอ็องฌู (Anju) ของประเทศฝรั่งเศส ปกครองอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1154) และ Stuart (นามราชวงศ์สทิวเวิร์ต หรือ สตูเวิร์ต บางคนอ่านสจวต) ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่โชกโชนด้วยการนองเลือดและการบั่นศีรษะ แต่ในที่สุดลอร์ดสแตมฟอร์ดแฮม ก็คิดชื่อนี้ขึ้นมาได้ ในขณะที่ทำงานอยู่ภายในปราสาทวินด์เซอร์นั่นเอง ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประวัติศาสตร์…

 

ส่วนการปรับเปลี่ยนยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การโน้มตัวลงมาหาประชาชนมากขึ้น เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 5 เริ่มเสด็จออกเยี่ยมประชาชน ซึ่งก่อนหน้านั้นราชวงศ์ไม่เคยทำมาก่อน

 

ว่ากันว่า การ “รีแบรนด์” ราชวงศ์ครั้งสำคัญของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ไม่เพียงแต่นำพาราชวงศ์ให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ แต่ยังทำให้ราชวงศ์วินด์เซอร์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวอังกฤษอย่างท่วมท้น


 

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย


สายสกุลจากเยอรมนี

น้อยคนจะรู้ว่า ควีนวิกตอเรีย เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮันโนเฟอร์แห่งเยอรมนีที่ปกครองสหราชอาณาจักรและดินแดนในยุโรป

 

ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Sachsen-Coburg und Gotha) ราชวงศ์เชื้อสายเยอรมันอีกตระกูล และเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) 

 

ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์นั้นปกครองเกาะบริเตนใหญ่มาเป็นเวลานาน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1714-1901) ต่อมาเมื่อควีนวิกตอเรียอภิเษกกับเจ้าชายอัลเบิร์ต จึงต้องเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ของพระองค์เป็น “ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา” ของพระสวามี ตามธรรมเนียมของยุคนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ไม่ใช่นามสกุลของเจ้าชายอัลเบิร์ต แต่เป็นชื่อของดินแดนในเยอรมนีที่ตระกูลของพระองค์ปกครอง นามสกุลของพระองค์คือ เว็ททีน (Wettin) ดังนั้นชื่อ “เว็ททีน” จึงถูกแทนที่ด้วย “วินด์เซอร์” และกลายมาเป็นชื่อของราชวงศ์ จากพระราชโองการที่ประกาศโดยพระเจ้าจอร์จที่ 5

 

กษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์ฮันโนเฟอร์พระองค์แรกที่ปกครองสหราชอาณาจักร ขึ้นครองราชย์หลังการปฏิวัติอังกฤษในปี ค.ศ. 1689 คือ พระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่ (George I of Great Britain) ปกครองบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (ระหว่างปี ค.ศ. 1714 -1727) ว่ากันว่า พระองค์ไม่นิยมชมชอบในอังกฤษมากนัก เนื่องจากทรงตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเยอรมัน

 

ราชวงศ์นี้ยังปกครองรัฐฮันโนเฟอร์ในเยอรมนี อันเป็นดินแดนที่ราชวงศ์นี้เป็นเจ้าของ มีชื่อเรียกราชวงศ์นี้ในอีกชื่อว่า ราชวงศ์เบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค สายฮันโนเฟอร์ (House of Brunswick and Lüneburg, Hanover line)

 

“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก
 

ราชวงศ์กับความเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติอังกฤษ

การปฏิวัติครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อังกฤษที่มีชื่อเรียกสวยหรูว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (Glorious Revolution) หรือที่เรียกว่า "การปฏิวัติปี 1688" และ "การปฏิวัติที่ปราศจากเลือด" เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1688 ถึง 1689 ในอังกฤษ โค่นล้มกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ของพวกคาทอลิก จากนโยบายด้านศาสนา ที่สร้างความไม่พอใจให้กับพวกขุนนางฝ่ายการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับฝรั่งเศสและการเข้ารีตนิกายคาทอลิกของพระองค์ จนนำไปสู่การโค่นล้มราชบัลลังก์ ว่ากันว่าแรงจูงใจในการปฏิวัติมีความซับซ้อนและมีทั้งความกังวลทางการเมืองและศาสนา แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีการปกครองของอังกฤษได้ในท้ายที่สุด ส่งผลให้รัฐสภามีอำนาจเหนือสถาบันกษัตริย์มากขึ้น และนับเป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์การเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยทางการเมือง 

 

การปฏิวัติจบลงด้วยความสำเร็จส่งผลให้เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์-นัสเซา (William III of Orange-Nassau) เจ้าชาวดัตช์ ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเป็น พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ ร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ ผู้เป็นพระชายาของพระองค์ 

 

ว่ากันว่า จุดวิกฤตที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้น คือการที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ให้กำเนิดพระราชโอรสนามว่า เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต กลางปี 1688 ซึ่งพระโอรสพระองค์นี้ได้กลายเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงในทันที แทนที่เจ้าหญิงแมรี ทายาทที่เป็นโปรเตสแตนต์

 

การที่ตำแหน่งรัชทายาทตกไปสู้เจ้าชายเจมส์ผู้เป็นคาทอลิกโดยกำเนิด ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสถาปนาราชวงศ์ในจารีตโรมันคาทอลิกขึ้นปกครองราชอาณาจักรอังกฤษขึ้นมาอีกครั้ง บรรดาผู้นำขุนนางทอรี่ผู้มีอิทธิพลสูงบางกลุ่มจึงร่วมกับขุนนางจากพรรควิกทำการทูลเชิญเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์มายังอังกฤษ


“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก


บทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์และบทบาทราชวงศ์ยุคใหม่

นับตั้งแต่ก่อตั้ง “ราชวงศ์วินด์เซอร์” มีพระมหากษัตริย์มาแล้ว 6 พระองค์ ซึ่งรวมถึง King Edward VII (1901-1910), King George V (1910-1936), King Edward VIII (1936), King George VI (1936-1952), Queen Elizabeth II (1952-2022) และล่าสุด “สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3” (King Charles III) กษัตริย์ราชวงศ์วินด์เซอร์องค์ปัจจุบัน ที่กำลังจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ใหม่ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นี้ 

 

“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก

 

และจะเป็นวันผู้คนทั่วโลกจะได้ชมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่หาชมได้ยาก ซึ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี หรือเกือบหนึ่งศตวรรษเลยทีเดียว บีบีซีระบุว่า “แม้พิธีการส่วนใหญ่จะเป็นไปตามธรรมเนียมในยุคโบราณ ทั้งรายละเอียดว่าด้วยสิ่งของและวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ในพระราชพิธีแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่พระราชพิธีนี้ยังคงมีความสำคัญและมีความจำเป็นยิ่งยวดต่อสถาบันกษัตริย์ในสังคมยุคใหม่”

 

“วินด์เซอร์” ราชวงศ์อังกฤษขวัญใจชาวโลก

 

ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า มีการแจกการ์ดประมาณ 2,000 ใบ น้อยกว่าสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีการเชิญแขกราว 8,000 คน ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายและภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ 

 

ราชวงศ์วินด์เซอร์ได้รับเครดิตในการนำราชวงศ์เข้าสู่สายตาของสาธารณชนตลอดศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ราชวงศ์อังกฤษเริ่มเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น จนได้รับการยกย่องว่า ทรงทำให้ราชวงศ์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ประสบความสำเร็จในการนำอังกฤษก้าวผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปไปได้อย่างงดงาม และสถาบันกษัตริย์ก็เริ่มก้าวหน้ามากขึ้นภายใต้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยทรงมีส่วนร่วมกับสาธารณชนบ่อยขึ้นและพยายามที่จะปรากฏพระองค์ให้ผู้คนพบเห็นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นัยว่า เพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ไปต่อในโลกที่ระบอบกษัตริย์ไม่ได้เป็นรูปแบบการปกครองที่มีความสำคัญหรือเป็นที่ต้องการมากที่สุดอีกต่อไป… 


 

อ้างอิง:

 

https://www.townandcountrymag.com/society/a20736482/british-royal-family-tree/

https://www.history.com/topics/european-history/glorious-revolution

https://www.silpa-mag.com/history/article_92787

https://www.windsor.gov.uk/ideas-and-inspiration/royal-connections/the-house-of-windsor

https://www.britannica.com/topic/house-of-Windsor

https://www.royal.uk/house-windsor