โมโกจู : จากนรกสู่สวรรค์
มีโอกาสไปปีนเขา 3 ลูก ภายในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันนัก ลูกแรกคือ “คินาบาลู” ซึ่งเป็นเขาหินที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรา
มีโอกาสไปปีนเขา 3 ลูก ภายในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันนัก ลูกแรกคือ “คินาบาลู” ซึ่งเป็นเขาหินที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรา
โดย...จำลอง บุญสอง
มีโอกาสไปปีนเขา 3 ลูก ภายในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันนัก ลูกแรกคือ “คินาบาลู” ซึ่งเป็นเขาหินที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรา เขาลูกนี้มีความสูง 4,292 เมตร ที่สองคือ “ภูกระดึง”.จุดสูงสุดคือ 1,316.เมตร ครั้งนี้คือ “โมโกจู” ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ความสูง 1,439 เมตร
ก่อนหน้านั้นเคยไป “อินทนนท์” ยอดเขาที่สูงที่สุดของเราที่เชียงใหม่ สูง 2,565 เมตร แต่ก็ไปด้วยรถยนต์ “ซาปา” ความสูง 1,650 เมตร ก็ด้วยรถยนต์ หิมาลัยเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลกที่เนปาลก็ไปแค่ “ตีนเขา” แถวๆ โภคราเพื่อดู “ยอดเขา” สีทองของมันยามเย็นเท่านั้น คิดว่าถ้าขึ้นสูงไปกว่านั้นก็คงลำบาก
เขาหนึ่งที่เขาว่าเป็นลูกๆ ของหิมาลัยสูงมากและมีหิมะตกด้วยอยู่ในพม่า เขานี้ผมยังไม่ได้ไป หวังว่าคงได้มีโอกาสไปกับเขาเข้าสักวัน
เพื่อนนักข่าวหลายคนที่ร่วมทริปโมโกจูกับผมครั้งนี้ น่าจะได้รายงานเรื่องราวของการปีนเขาลูกนี้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไปแล้วบ้าง แต่ท่านที่ยังไม่ได้อ่าน ก็ถือโอกาสรายงานการขึ้นโมโกจูให้ท่านทราบ เผื่อท่านใดที่จะกระหายใคร่ปีนจะได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้เพื่อการตัดสินใจ ส่วนท่านใดที่ปีนขึ้นไปแล้วก็จงรับเอาผมเป็น “รุ่นน้อง” เข้าไปอีกคนก็แล้วกัน
ไป “เดินป่าระยะไกล” ครั้งนี้ก็ด้วยความอนุเคราะห์ของ ททท.สำนักงานสุโขทัย โดยมี “บิ๊กบัง” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องร้านอาหารอร่อยๆ ในหลายๆ พื้นที่เป็นผู้นำไป
ทั้งที่ได้ยินกิตติศัพท์มาแล้วว่า การจะพิชิตยอดเขา “โมโกจู” ได้นั้นมีความยากลำบากเพียงใด สำหรับคน “วัยโรย” อย่างผม แต่พอมาคิดว่าเมื่อเคยเดินขึ้น “คินาบาลู” อันแสนโหดมาได้แล้ว เขาสูงในประเทศอีกสักลูกก็น่าจะเดินขึ้นได้ คิดเสียว่าถ้าวัยของเรา “ร่วงโรย” มากไปกว่านี้ ก็คง “ไม่มีโอกาส” เมื่อโอกาสเดินมาหา ทำไมเราจะไม่ไขว่คว้า “หาความลำบาก” มาลองเล่นกันเล่า
ก่อนที่จะเดินขึ้นเขา พวกเราหรือคณะใดๆ ก็ต้องไปรับฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่กันก่อน เจ้าหน้าที่ก็จะบรรยายว่าอุทยานแห่งนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ กินพื้นที่เท่าใด ติดกับอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าใดหรือชุมชนใด มีปัญหาอย่างไรบ้างในการรักษาความเป็นอุทยานเอาไว้ มีสัตว์ป่าอะไรบ้าง วันแรกต้องเดินทางเท่าไหร่ จะไปเจอกับอะไรบ้าง และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างการเดินทางระยะไกล ซึ่งก็ไม่พ้นเรื่องการขนขยะกลับหรือการไม่ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า ฯลฯ การบรรยายสรุป เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับทุกกลุ่มที่เดินทาง ถึงแม้บางคนอาจจะมาแล้ว แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน สิ่งที่ไม่คาดคิดก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุเช่นนี้ ทุกครั้งที่นั่งเครื่องบินจึงต้องฟังการบรรยายการปฏิบัติตัวยามฉุกเฉิน และการสาธิตการใช้ “ชูชีพ” อะไรทำนองนั้น
สิ่งที่ผมต้องเตรียมไปทุกครั้งนอกจากเครื่องใช้ไม้สอย เสื้อผ้าชนิดบางเบาและยาแก้ไข้ แก้ท้องเสียแล้ว สิ่งที่ผมต้องไม่ลืมก็คือถุง “ถุงกันน้ำ” แบบที่เอาไปใช้ในทะเลหรือยามล่องแก่งนั่นแหละครับ โธ่...จะไม่ให้เอาไปได้อย่างไร บ้านเราฝนตกมีปี่มีขลุ่ยซะที่ไหน ตัวเราเปียกยังไม่เป็นไร เพราะอาบน้ำ เอาเสื้อเอารองเท้าไปย่างเวลาหุงข้าวได้ แต่ “กล้อง” ตัวโปรดและไม่โปรด ซึ่งเป็นอุปกรณ์หากินหรือปัจจัยที่ 6 เสียหายนี่สิ เดินขึ้นไปก็เสียเวลาเปล่า หาหลักฐานยืนยันอะไรไม่ได้ว่าเรามาทำงานจริง ชิมิๆ...
ถ้าไม่มีถุงกันน้ำก็เอาถุงขยะดำๆ นั่นครับช่วยแก้ไขปัญหา จะซื้อมาจากห้างไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน เจ้าถุงดำนี่ไม่เพียงแต่กันน้ำได้เท่านั้น มันยังสามารถช่วยกันลมและกันหนาวได้ดีด้วยการเอามาตัดใส่แบบเสื้อ TShirt นั่นแหละ แต่ก่อนที่จะเอามาใช้งานก็ควรเอาออกมาผึ่งลมให้ “กลิ่น” พลาสติกหายไปกับสายลมเสียก่อนนะครับ ถุงขยะไม่ว่ายี่ห้อไหนๆ ก็เหม็นระเบิดเหมือนๆ กัน
เริ่มการเดินป่าระยะไกลครั้งนี้ด้วย “มอขี้แตก” ครับ “มอ” นี้เป็นมอทดสอบกำลังใจและสมรรถนะของร่างกาย อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “มอ” สำหรับ “วอร์มอัพ” ร่างกายก่อนเจอ “นรก” ก็ได้ มอนี้ระยะทางไม่ไกลครับถ้าวัดกันทางอากาศ แต่เวลาเดินจริงๆ มันทั้งยาวและขึ้นๆ ลงๆ กว่าจะพ้นมอนี้ก็นาน อย่างน้อยก็ชั่วโมงหรือสองชั่วโมงขึ้นไป วัยโรยอย่างผมเจอเจ้ามอนี้ “ขี้ไม่แตก” หรอกครับ แต่สติแทบจะแตก ดีแต่ว่าภาวนา “คินาบาลูๆๆๆ” เอาไว้ ไม่งั้นก็ถอดใจเหมือนกัน
เรียกว่า “มอขี้แตก” นี่ยัง “จิ๊บๆ” นะครับ วันแรกที่ “ทุกกลุ่ม” ที่ขึ้นโมโกจู “จำต้อง” เดินก็คือ 16 กิโลเมตรของการขึ้นเขาลงเขา แม้การเดินขึ้นเดินลงบนเขาแรกๆ จะไม่สูงนักก็ตาม แต่ผมก็เห็น “หมดสภาพ” ไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะแข็งแรงมากหรือน้อย อาบน้ำในคลองน้ำใสๆ ลูกหาบหุงข้าวผัดผักกูด ปลากระป๋องให้กินเสร็จ ก็เรียกหายาแก้ไข้ ยาคลายกล้ามเนื้อ นอนปวดเมื่อยกันตั้งแต่ทุ่มสองทุ่มเลยแหละครับ อุจจาระที่ใครคิดว่าจะแตก ก็เป็นอันเลิกคิดได้ (ยกเว้นท้องเสีย) เพราะการเดินทางไกลทุกครั้ง ร่างกายจะใช้พลังงานไปมากถึงมากที่สุด ดังนั้นอย่าหวังเลยว่า อาหาร (ทั้งอร่อยและไม่อร่อย) ที่กินเข้าไป จะกลายมาเป็นกากออกมาตามเส้นทางที่เคยออกได้ง่ายๆ เพราะมันเข้าไปเป็นพลังงานและขับออกมาทางเหงื่อในแต่ละวันเกือบหมด ดังนั้นถ้าใครมีปัญหาเรื่องท้องผูกมาก่อนก็จงเอายาถ่ายติดตัวไปด้วย ขนาดผมซึ่งไม่เคยมีปัญหาท้องผูกมาเลยทั้งชีวิต วันแรก วันสอง วันสาม ก็ไม่ถ่ายเลยครับ อึดอัดแทบตาย ไม่ใช่เกี่ยงเรื่อง “ห้องน้ำ” ในป่าว่าไม่ดีอะไรนะครับ เพราะผม “ได้” ทุกสถานที่ ชอบมากที่สุดก็คือในป่าละเมาะนั่นแหละ แต่ถ้าไม่จำเป็น (ห้องน้ำเต็ม) ก็อย่าทำตามผมเลยครับ เพราะอาจจะเจอ “ทาก” หรือ “เห็บ” ติดก้นมาได้
คืนนั้นเราพักกันที่แคมป์แม่กระสา เข้านอนตอน 18.40 น.
ตื่นเช้ามาวันที่สองด้วยความเมื่อย นกร้องจิ๊บๆ จั๊บๆ อยู่ในราวป่ารอบๆ ตัว คว้าแปรงได้ก็เดินไปที่ริมธารน้ำใส ควักน้ำบ้วนปากไปพลาง ชื่นชมกับธรรมชาติไปพลางด้วยความสุข กลับมาก็ถ่ายรูปเต็นท์ที่ยังกางท่ามกลางควันไฟที่ลอยขึ้นสู่ยอดไม้เป็นลำยาวตามแสง นานๆ เราจะได้บรรยากาศดิบๆ แบบนี้ จะกดชัตเตอร์มากก็ไม่ได้ เพราะทั้งแบตเตอรี่และการ์ดกล้องมีอยู่อย่างจำกัด (นักเล่นกล้องที่ไปเที่ยวป่าก็ควรเตรียมอุปกรณ์ที่ว่าให้มากๆ นะครับ)
วันที่สองเดินทางไม่ไกลนะครับ แค่ขึ้นไปดูน้ำตกแม่กระสาแล้วก็กลับมานอนที่เดิม วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันพักก่อนจะไปเจอนรกในวันรุ่งขึ้น น้ำตกแม่กระสาสูงประมาณ 100 เมตร จะว่าไม่สวยก็ไม่ได้ เอาเป็นว่า น้ำตกแห่งนี้ไหลกระโจนลงมาจากหน้าผาลงสู่แอ่งน้ำใสข้างล่างแบบหลายที่ก็แล้วกัน น้ำในอ่างนั้นเย็นยะเยือกดีครับ ผมไม่ได้ลงไปอาบเพราะมัวแต่ถ่ายรูป ส่วนพรรคพวกเห็นน้ำใสไหลซู่ก็ถอดกางเกงนอกออกเหลือแต่กางเกงในโดดเล่นกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางความหนาวเย็น โดยไม่เกรงกลัวสายตาใคร (เพราะมีผู้หญิงคือ “หญิงนิ” จากกรุงเทพธุรกิจไปด้วยเพียงคนเดียว)
วันที่สามซึ่งถือได้ว่าเป็นวันที่ “นรก” ได้ “เปิดอ้า” ออก ให้ “คนบาป” อย่างผมได้เดินผ่านไปสู่สวรรค์ การเดินทางในวันนี้เป็นการเดินทางที่เราทุกคนต้องเดินขึ้นเขาทั้งวัน อาการเหนื่อยล้าที่ถูกปรับสภาพจากการพักในวันที่ผ่านมาเริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า บั้นเอว ที่ระบมจากวันที่แล้วเริ่มออกอาการอีกครั้ง สนับทั้งหลายกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนบางคน สำหรับผมไม่ต้องใช้ ที่ไม่ต้องใช้ก็เพราะไม่มีใช้นั่นเอง
การเดินทางระยะไกลนั้นนอกจากยาคลายกล้ามเนื้อซึ่งจะต้องกินทันทีหลังอาหาร (เพราะมีผลต่อตับและกระเพาะ) แล้ว สนับทั้งหลายก็จำเป็นเช่นกัน มันช่วยได้ในกรณีที่ขาและข้อขาอักเสบ ขาและข้อเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับคนเดินป่า ถ้า “ขาป่วย” เสียแล้ว ถือว่าเป็นการเดินทางที่ทุกข์ทรมานที่สุด นักเดินป่าจึงต้องรักษาขาเอาไว้ให้ดีที่สุดสำหรับการเดินทาง “เล็บเท้า” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ขา” ที่ใช้จิกดินก็จำเป็นที่ต้องดูแลนะครับ เล็บยาวไปก็มีโอกาสฉีกได้ เล็บสั้นไปเนื้อก็เยิน ต้องตัดให้พอดีๆ แต่พอดีขนาดไหนก็ต้องกะกันเอาเอง ผมไปครั้งนี้ตัดเล็บเสียสั้น เนื้อเท้าก็เลยลำบากเวลายันขึ้นยันลงเขา
ไม้เท้าเดินป่า หรือ Walking Stick ที่แข็งแรง เบาๆ มือก็ช่วยได้มากนะครับ ฝรั่งเขาไม่มีป่าให้ตัด เขาก็ทำด้วยโลหะเบาๆ ส่วนบ้านเราไม้รวกแก่ๆ มีถมเถ ไม่ต้องไปตัดหรอกครับ คนเดินทางคนก่อนๆ เขาทิ้งเอาไว้ให้เราตามทางเยอะแยะไป ไม้นี้ที่คินาบาลูเขาขายกันอันละ 100 บาทเชียวนะครับ
ช่วงนี้แหละครับที่ผมอยากจะเทียบกับคินาบาลูให้ท่านได้ทราบ ส่วนจะเปรียบเทียบกับภูกระดึงก็ไม่น่าเปรียบเทียบ เพราะภูกระดึงเมื่อเทียบกับทางขึ้นโมโกจูหรือคินาบาลูแล้วเทียบกันไม่ได้เลย ผ่านคินาบาลูหรือโมโกจูแล้ว ภูกระดึงแค่เป็นหลานๆ ของสองเส้นทางนี้เลยครับ
ทางขึ้นโมโกจูช่วงสุดท้ายนั้นสูงนะครับ หนำซ้ำยังเป็น “เขาดิน” เสียอีก เดินดีไม่ดีก็ไหลลงมาเฉยเลย สูงชัน แต่ก็ก้าวเอาตามใจหรือตามกำลัง (หน้า) ขาของเรา ไหลหรือล้มลงมาก็ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ แต่ที่คินาบาลูนั้นเป็น “เขาหิน” ครับ ก้าวแต่ละก้าวต้องระวัง ต้องวางจังหวะให้เหมาะและก็อย่าให้พลาด เพราะพลาดแล้วตัวหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายจะไปกระแทกกับหิน ถ้าหิน “ไม่บิ่น” ตัวเรานั่นแหละจะ “เยิน” ที่คินาบาลูฝนตกแทบจะทุกวัน อากาศของที่นั่นเป็นแบบนั้น การเดินทางจึงต้องมีเสื้อฝนและถุงกันน้ำติดเอาไปด้วย แมลงรบกวนที่บ้านเขาไม่ค่อยมีหรอกครับ ส่วนป่าบ้านเราถ้าหนาวไม่วิปริตก็ไม่ต้องกลัวเรื่องฝน แต่ต้องกลัวเรื่อง เห็บ คุ่น และทาก ทากถึงแม้จะน่า “หยะแหยง” แต่ก็ไม่น่ากลัวเท่าเห็บ บางคนแพ้เห็บถึงกับเป็นไข้ไปเป็นเดือนเป็นปีเลยก็มี ส่วนคุ่นนั้นใครแพ้ก็ผื่นแดงถึงขั้นไปหาหมอก็มี เวลาโดนเห็บกัดก็อย่าลืมเอาคีมคีบปากที่มันฝังอยู่ในเนื้อเราออกด้วยนะครับ พยายามอย่านั่งบนตอไม้ผุๆ เป็นดีที่สุด เพราะเป็นที่อาศัยของเห็บ ส่วน “คุ่น” ที่แม่วงก์มีเป็นล้านๆ ตัวนะครับ