Live to Live: เรื่องเล่าสุดขีดใจ สู่ยอด “เอเวอเรสต์” ขุนเขายะเยือก…
บทสัมภาษณ์สุดพิเศษ “แพทย์หญิง มัณฑนา ถวิลไพร” คนไทยคนที่ 5 - หญิงไทยคนที่ 2 ที่ปีนถึงจุดสูงสุดบนโลกอย่าง “เอเวอเรสต์” ได้สำเร็จ เรื่องราวการเดินทาง “ที่สุด” ในทุกเรื่องก่อนถึงปลายฟ้า จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงไม่จบสิ้น และนี่คือคุณหมอนักปีนสาวที่เขียนหนังสือได้สนุกชะมัด!
แรงจูงใจในการผจญภัยของมนุษย์หนึ่งคนมีมากมาย และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หลายคนผจญภัยอยู่ในเมือง บนถนน บนฟ้า ในน้ำ และบนภูเขา แม้ในหลายครั้งอาจต้องนำชีวิตไปเสี่ยง แต่ในหลายร้อยหลายพันเหตุผลมักจะมี“ความสุขในชีวิต” ร่วมอยู่ด้วยเสมอในวินาทีเหล่านั้น…
พวกเขาค้นพบอะไร ใช่ไหม? ที่เรามักสงสัยกัน ในวันที่เราไม่ได้ไปเหยียบยืนร่วมอยู่ในวินาทีเหล่านั้นกับพวกเขา เราจะไปหาคำตอบกัน
ขุนเขายะเยือกในที่นี้ ไม่ใช่ “ขุนเขายะเยือก” (บทกวีของผู้สันโดษฮั่นชาน) หรือ Cold Mountain- ของ Burton Watson จากตำนานอันลือเลื่องของ ฮั่นชาน กวีนักพรตซึ่งอาศัยอยู่บนหุบเขาเทียนไท้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นหุบเขาที่มีความหนาวเย็นตลอดทั้งปี แต่หมายถึง ความยะเยือกเย็นของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ส่งผลถึงทุกชีวิตที่กำลังไต่ตะกายข้ามเขตปลดปล่อยความฝันของตัวเอง
แต่สำหรับใครบางคน การเดินทางที่ยากเย็นที่สุดเส้นทางหนึ่งของโลกอาจเริ่มต้นจากความสนใจศึกษา “เรื่องสรีระวิทยาของร่างกายและความเจ็บป่วยบนที่สูง” ถึงขั้นหมกมุ่นก็เป็นได้!
เรื่องราวต่อไปนี้มาจากบันทึกการเดินทางและการพูดคุย อันมีที่มาจากเรื่องเล่าแสนสนุกบนเพจที่ชวนให้ติดตามเธอไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ด้วยกัน และในชั่วพริบตา ประโยคยืดยาวเหล่านั้นที่ทำให้ใครหลายคนหยุดอ่านไม่ไหว ก็ทำให้ใครบางคนถึงกับน้ำตาปริ่มในที่สุดของที่สุดกับ "พญ.มัณฑนา ถวิลไพร" คุณหมอกุ๊กไก่ หรือ คุณหมอ กก ที่นักปีนมากมายรู้จัก
ด้วยวัย 35 ปี กับประสบการณ์ปีน The eight thousanders มาแล้วหลายยอด (OMG!) และที่สุดของที่สุด แม้ไม่ใช่ลูกที่ปีนยากที่สุดแต่มันคือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก และอันตรายในระดับที่พาให้นักปีนมากมายจากทั่วโลกต้องไปจบชีวิตลงที่นั่น
เผื่อใครไม่รู้ “The eight thousanders” คือเจ้าแห่งภูเขา 14 ยอด ที่มีความสูงเกินกว่า 8,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลและทั้งสิบสี่ยอดนี้ล้วนอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาคาราโกรัมในทวีปเอเชียจ้ะ (เอเวอเรสต์ก็รวมอยู่ใน 14 ยอดนี้) และยังถูกจัดเวลในระดับภูเขามรณะ หรือเป็น Death Zone ทั้งหมด คือมนุษย์ปกติอยู่ไม่ได้ อาจถึงแก่ชีวิต
แต่ครั้งนี้คือการพยายามปีนเอเวอเรสต์ครั้งที่ 2 ของคุณหมอ กก และนี่คือเสียงเล่าของคนที่ไปถึงตรงนั้น จุดสูงสุดบนพื้นโลก ธรณีปราการด่านสุดท้าย!
>“มันคือ 8848.86 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลมาตรฐาน จุดที่สูงที่สุดในโลก แม้จะมาถึงด้วยความทุลักทุเลและด้วยเทคโนโลยี กระป๋องออกซิเจน เชอร์ปาซัพพอร์ต และเชอร์ปาที่หนีไป ดิฉันน้ำตาไหลออกมา “เธอจะร้องให้ทำไมเนี่ย” “ฉันจะทำให้พ่อภูมิใจ…รอให้เขารู้ซะก่อนเถอะ” นายสุมานวิทยุลงไปที่เบสแคมป์ แจ้งว่า “สุมาน กูรุง และมัณฑนา ถวิลไพร ถึงยอดเขาแล้ว ณ เวลานี้ รวม 2 คน ณ เวลานี้”
>”เฮ่ เดี๋ยวก่อนสิ พวกนายจะถึงกันแค่ 2 คนไม่ได้ ต้องนับฉันด้วย ต้องเป็น 3 คน ถึงพร้อมกัน” พ่อครัวที่ปีนตามขึ้นมาทีหลังตะโกน (ดิฉันพึ่งรู้ว่าพ่อครัวปีนตามขึ้นมา นึกว่าลงไปตั้งแต่ฮิลลารี่ เสต็ป)
>”ตกลง ตกลง ณ เวลานี้ สุมาน กูรุง, มัณฑนา ถวิลไพร, อัง ริต้า เชอร์ปา ถึงยอดเขาในเวลาเดียวกันจำนวน 3 คน” กลายเป็นเวลาที่บันทึกไว้คือ 8 นาฬิกา 15 นาที ตามเวลาท้องถิ่นประเทศเนปาลซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง 15 นาที”
(เรื่องเล่าบางส่วนจากโพสต์ในเฟซบุ๊ก Montana Tawinprai และเพจ มัณฑนา ปีนเขา Montana.Climb)
วันที่คุณหมอ กก ปีนถึงยอดเอเวอเรสต์คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566
หลายคนอาจรู้ว่า การปีนเอเวอเรสต์ในรอบหลายปีมานี้ปีนยากขึ้น จากวิกฤตอากาศที่อุ่นขึ้นจนทำให้หิมะไม่เกาะตัวพาลถล่มลงมาพาชีวิตนักปีนและผู้ช่วยชาวเชอร์ปาหล่นหายไปได้ง่ายๆ
สภาพอากาศที่เลวร้าย วิกฤติขาดแคลนเชอร์ปา อาการป่วยไข้บนที่สูง การเดินทางที่ไม่เป็นไปตามแผน เพื่อนร่วมทางที่ (เผลอ) ขโมยของสำคัญในเต็นท์ไปอีก ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณหมอกุ๊กไก่ ต้องเจอรหะว่างการปีนสู่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ทั้งหมดนี้ถูกเล่าเรียงประหนึ่งมีเสียงหัวเราะและน้ำตาแทรกอยู่ในทุกบทตอน แต่ใครจะรู้ว่าที่มาของการปีนเอเวอเรสต์ครั้งนี้มาจากไหน
“ทุกคนมีแพสชั่นของตัวเองไม่ว่าจะเลือกทางไหน แล้วเราพยายามมาสเตอร์ (ทำได้ดี/ชำนาญ) ในสิ่งที่เราชอบ ทุกอย่างมันมาสเตอร์ได้หมดเลยไม่ว่าจะเป็น การเขียนหนังสือ การทำอาหาร การวาดรูป หรือ การทำธุรกิจ คือทุกคนมีแพสชั่นของตัวเอง คืออะไรก็ได้ที่ตัวเองสามารถจะมาสเตอร์ แล้วก็เก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จะขึ้นไปถึงจุดที่ดีกว่าของตัวเอง ในวันนี้ก็คืออยากจะเป็นคนที่ดีขึ้นในอนาคตในทางที่ตัวเองชอบ” คุณหมอเล่าถึงแรงจูงใจสำคัญของตัวเอง
เผื่อใครไม่รู้ ภูเขาเอเวอเรสต์คือภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่สุดในโลก คือ 8848.86 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สูงประมาณระดับเครื่องบินพาณิชย์บิน มีชื่อในภาษาถิ่นทิเบตคือโชโมลุงม่า ภาษาถิ่นเนปาลว่า ซากามาตา
เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (29 พฤษภาคม 1953) ยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกพิชิตโดยมนุษย์เป็นครั้งแรกโดย เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ชาวนิวซีแลนด์ (Sir Edmund Percival Hillary) และ เทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปา (Tenzing Norgay) คู่กาย
เรื่องของคุณหมอยังไม่จบแค่นั้นเพราะเรื่องราวหลังจากนั้น การปีนกลับลงมาและอาการเจ็บป่วยที่ตามมาคือเรื่องราวสุดๆ อีกเหมือนกัน เพราะเมื่อคุณหมอพบว่า เท้าทั้งสองข้างของตัวเองเป็นหิมะกัดระดับลึก…และต้องรักษาตัวเองอีกยาวๆ กว่าจะกลับไปปีนสู่ฟ้าได้อีกครั้ง
“เคยปีนมานาสลูก่อนในปี 2021 เรียกว่ามี “ตราบาป” ในใจ” คุณหมอเริ่มเล่าถึง painpoint ว่าตอนนั้นเข้าใจว่าปีนถึงยอดแล้ว แต่เมื่อมีการพิสูจน์ทางวิชาการภูเขาหลังจากนั้นพบว่า ยังห่างจากยอดจริงๆ อีกตั้ง 10 กว่าเมตร!! (ในแนวตั้ง) กลายเป็นว่า บรรดานักปีนอีกหลายพันคนก่อนหน้านี้ที่ปีนกันมากว่ายี่สิบปีก็ไปไม่ถึงยอดสักคน!!
เผื่อใครไม่รู้ มานาสลู (Manaslu) เป็นภาษาเนปาล บ้างทับศัพท์เป็น มนัสลู เป็นภูเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับแปดของโลกมีความสูง 8,163 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นส่วนหนึ่งของมานสิริหิมัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยอยู่ในประเทศเนปาล
- จุดเริ่มต้นของการปีนเขามาจากไหน
สนใจเพราะว่าบนภูเขาจะมีการเจ็บป่วยชนิดที่ไม่สามารถเจอได้บนระดับน้ำทะเลที่คนทั่วไปอาศัยอยู่กัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะศึกษาเกี่ยวกับสรีระวิทยาของร่างกาย ทำยังไงถึงจะมีชีวิตอยู่บนนั้นได้ เพราะว่าวิวัฒนาการของมนุษย์ทำมาเพื่ออยู่ในระดับน้ำทะเล ก็เลยอยากจะศึกษาเพิ่มว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีชีวิตรอดบนนั้น
ร่างกายเราจะปรับตัวยังไง รวมทั้งอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นบนที่สูงอันนี้เป็นความสนใจส่วนตัวก็เลยสนใจด้านการปีนเขาสูง
ก่อนที่มันจะกลายเป็นความหมกมุ่นก็เพราะว่าเรา บังเอิญสาขาที่เรียน (เวชศาสตร์ฉุกเฉินและเวชบำบัดวิกฤต) หมอที่เรียนสาขานี้จะต้องเรียนเกี่ยวกับ การเจ็บป่วยจากการขึ้นที่สูง ซึ่งสาขาอื่นอาจไม่ได้เรียนมากเท่าสาขานี้ พอเราอ่านปั๊บก็พบว่า ประเทศไทยมันไม่มีที่สูงนี่นา มันไม่มี high altitude คือ ประเทศไทยถือว่าไม่มี high altitude เราก็อยากรู้เพราะว่า เราไม่เคยเอาตัวเองขึ้นไปอยู่ในที่สูงขนาดนั้น เราก็อยากรู้ว่า ร่างกายตัวเองจะเป็นยังไง อยากรู้ว่า ตัวเราจะเป็นยังไง เราจะรู้สึกยังไง คนไข้จะเป็นยังไง ก็เลยลองไปในประเทศที่มีที่สูงดู ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดทีละนิด พอเราทนได้เราก็ไปต่อสูงขึ้นเรื่อยๆ ประมาณนั้นค่ะ
ความหมกมุ่นเลยก็คือ สรีระวิทยาของร่างกาย แล้วก็ความเจ็บป่วยบนที่สูง อันนี้คือสิ่งที่สนใจมากๆ
- เรียกว่าเอาตัวเองเข้าไปทดสอบ?
ไม่ได้อยากเอาตัวเองเข้าไปนะคะ แต่ถ้าเราไม่เข้าไปอยู่จุดนั้นเราจะไม่เข้าใจ ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึก หรือจะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถ้าเราอ่านแค่หนังสือหรืองานวิจัยต่างๆ
คือมันเคยมีนักวิทยาศาสตร์มีคุณหมอแล้วก็นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เคยถึงขั้นไปตั้งแคมป์บนแคมป์ 2 เอเวอเรสต์เพื่อทำวิจัยเป็นเดือนๆ ด้วย ก็คือเราอ่านวิจัยอ่านหนังสือของคนเหล่านี้
แล้วเราเกิดแรงว่า เฮ้ย เค้าถึงขั้นไปอยู่ไปทำวิจัยได้เลยนะ ไปปั่นจักรยาน ไปวัด CO2 max ไปเจาะเลือดกันตรงนั้นน่ะเออ คนพวกนั้นทั้งแข็งแรงทั้งมีแรงใจ เราอ่ะอยากเป็นแบบนั้น แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่ดีพอ ยังไม่ดีพอที่จะทำอย่างนั้นได้เราอยากจะเป็นคนที่ดีพอที่จะเป็นนักศึกษาเกี่ยวกับสรีระวิทยาบนที่สูง
เอาจริงๆก็คือเป็นเด็กเรียน เป็นเนิร์ด เราอยากศึกษาเรื่องพวกนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์
- แรงจูงใจอย่างอื่นมีอีกไหม
แรงจูงใจอย่างอื่นก็น่าจะเป็นเรื่องของความสุขที่ได้จากการปีน ความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการปีนเขา ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติอันสวยงามที่เราไม่สามารถเห็นได้จากที่อื่น หรือลักษณะที่คล้ายๆ กับการไปแสวงบุญในศาสนาต่างๆ
แต่ว่ามันอาจเป็นศาสนาของคนปีนเขา คือ ศาสนาปีนเขา คือมันเหมือนเป็น inner peace (ความสงบสุขภายใน)
เราได้ Inner Peace ที่เพิ่มขึ้น จากความสุขจากการเดินทางและการปีน คือความสุขที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นกินอาหารถิ่น เรียนรู้ภาษาเค้า เรียนรู้วัฒนธรรมเค้า มันเหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เรา แลัวก็เป็นการกลับสู่ธรรมชาติ
(เมื่อถามว่าคุณหมอ กก มีแรงจูงใจอื่น เช่น The Seven Summits (ยอดเขาที่สูงที่สุดใน 7 ทวีปทั่วโลก ไล่ตั้งแต่เอเชีย อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ แอฟริกา ยุโรป แอนตาร์คติค ออสเตรเลีย) ของบรรดานักปีนเขาไหม เธอตอบอย่างมั่นใจว่า “ไม่เลยค่ะ”)
- คาดหวังว่าจะทำอะไรต่อไปหลังจากนี้
คาดหวังข้อแรกก็คือการกลับมาเดินได้ก่อนค่ะ เพราะว่าตอนนี้ยังเดินได้แค่ไม่กี่ก้าว หลังจากเดินได้ก็อยากจะกลับไปทำงาน แล้วก็กลับไปปีนถ้าปีนได้ แต่เราก็ต้องดูว่า เท้าเรามันเหลือแค่ไหนจะปีนลูกยากได้ไหม หรือว่ามันปีนลูกยากไม่ได้แล้ว แล้วมันก็มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่จะทำให้เราอาจทนความเย็นได้ไม่เท่าเดิม ก็คงต้องดูว่าสภาพร่างกายที่เหลือปีนได้แค่ไหน
แต่แน่นอนว่าการปีนเขาเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนที่อยากให้เรามีชีวิตอยู่ต่อ…ก็อยากจะกลับไปปีนให้มากที่สุด
- มีเป้าหมายไหมว่า ถ้าร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิมอยากไปที่ไหน
อยากกลับไปปีนยอดที่เป็นภูเขาสูง อยากกลับไปปีนอย่างน้อยลูกประมาณ 7,000 ให้ได้ ถ้าได้นะคะ 7,000 ก่อนถ้าได้ก็ค่อยๆ ขยับไปมากขึ้น
- ตอนนี้ค้นพบหรือยังว่ามนุษย์เราสามารถอยู่บนที่สูงขนาดนั้นได้หรือเปล่า
ได้ไหม สำหรับมนุษย์มันก็มีการสำรวจวิจัยต่างๆ คือมนุษย์จะอยู่อย่างถาวรได้ที่ระดับความสูงประมาณ 5,000 เมตรเพราะว่าถ้าอยู่ในระดับที่สูงนานๆ ก็จะทำให้ร่างกายมันเริ่มรวน ระบบต่างๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ไม่ดูดซึม เป็นต้นทำให้คนที่อยู่บนที่สูงนานๆ อยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นพวก permanent residence อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าเมตรถึง4,000 เมตร อย่างเช่นในอเมริกาใต้ หรือ ว่าเนปาลก็จะมีคนที่อาศัยอยู่ถาวรในระดับ 3,000-4,000 เมตรได้ แต่ว่าที่5,000 ยังไม่ได้ ต้องมีการลงมาค่อนข้างบ่อยทีเดียว จะอยู่ทั้งปีไม่ได้
มันมี observational study (การศึกษาเชิงสังเกต) อยู่ว่าคนสามารถอยู่ถาวรได้ที่ระดับความสูงเท่าไหร่ แต่สำหรับการปีนเขาคนอยู่นานไม่นาน ตั้งแต่สมัยโบราณก็มีการเรียกว่า death zone ก็คือที่ที่อยู่นานไม่ได้ ก็เพราะว่าถ้าอยู่นานมักจะตาย
- Death Zone ของ Everest อยู่จุดไหน
อยู่ที่ประมาณ 7,900 เมตร ถ้าเลย 7,900 เมตรขึ้นไปเรียกว่า Dead Zone ทุกภูเขา
- ทำไมต้องเป็น Everest?
เอาจริงๆ ก็คือเราอยากปีนภูเขาสูงและ Everest ก็เป็นประตูด่านหนึ่งที่เราต้องผ่านไป ถ้าเราผ่านได้เราก็จะปีนลูกที่ยากขึ้นได้ Everest ไม่ใช่ลูกที่ยากที่สุด เพราะฉะนั้นเราผ่านด่านนี้แลัวเราก็จะต้องมุ่งไปด่านที่อาจจะยากขึ้นหรือว่าท้าทายมากขึ้น
อย่างเช่น คันเต็งจังก้า (Kangchenjunga 8,586 เมตร) นังกาพาร์บัต (Nanga Parbat 8,126 เมตร)
- ความรู้สึกแรกที่ปีนขึ้นไปถึงจุดที่สูงที่สุดของ Everest มันเป็นความรู้สึกแบบไหน
ความรู้สึก….โล่งใจ ต้องบอกว่าโล่งใจ เป็นความโล่งใจเพราะว่าเรามีความรู้สึกเหมือน guilt (ความรู้สึกผิด) ที่มันอยู่ในใจเรามานานสะสมมาหลายปี guilt แรกก็คือมานาสลู ปีนไม่ถึง summit เพราะว่าเขา fixed rope (การขึงเชือกยึดอยู่กับที่) ไม่ถึง summit มันเป็น guilt ที่ใหญ่มากเพราะว่า ตอนนั้นเราได้ announce ไปว่าเราได้ปีนถึงยอด summit แต่ว่าที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะว่ามันมันมีการพิสูจน์แล้วว่ามันจริง ก็คือเราปีนไม่ถึง summit มีนักปีนเป็นพันๆ คนเลยที่ไม่มีใครถึง มันก็เป็น guilt ของเราตั้งแต่ปี 2019
Guilt ต่อมาก็คือปี 2022 ที่เราไม่สามารถปีนไปถึงยอดเอเวอเรสต์ได้ มันเหมือนความผิดพลาด เหมือนเฟเรียที่เราไม่สามารถก้าวข้ามได้ พอเราก้าว ข้ามได้มันก็เกิดความโล่งใจว่า เราสามารถมองหาเป้าหมายที่มันมากกว่านี้ได้ไหม
- แล้วจะกลับไปซ้ำไหมที่มานาสลู
ไม่ค่ะ เพราะว่ามันใช้เงินเยอะค่ะ เราต้องมองเป้าหมายต่อไป
(เยอะกว่า Everest ไหม) ไม่ค่ะ ไม่ได้เยอะกว่า แต่ว่าการปีนภูเขาลูกหนึ่ง ลูกที่ไม่ใช่ลูกดังๆ เนี่ย อาจจะใช้เงินประมาณสองล้านบาท เพราะฉะนั้นสองล้านบาทเราก็ไปปีนลูกอื่นดีกว่า เพราะว่าเราปีนแล้ว แล้วก็ใกล้ถึง summit แล้ว รู้สึกว่าเห็นมาพอแล้ว
- อย่าง Everest ใช้เงินประมาณเท่าไหร่
ค่าทัวร์ 45,000 ยูเอสดอลลาร์ (ราว 1,594,800 บาท) ส่วนค่าเฮลิคอปเตอร์รอบละ 800 ยูเอสดอลลาร์ (ราว 28,350 บาท)
(คุณหมอกุ๊กไก่บอกว่า คนไทยที่เคยขึ้นไปถึงยอดเอเวอเรสต์ตอนนี้มี 5 คน คุณหมอเป็นคนที่ 5 แต่อาจมีคนที่ใช้สัญชาติไทย-จีน หรือว่าอาจจะมีชาวต่างชาติที่ถือสองสัญชาติอีกจำนวนเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นสัญชาติไทยเท่าที่ทราบก็มี 5 คน)
- เล่าถึงวิกฤติขาดแคลนชาสเชอร์ปาหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น
ชาวเชอร์ปาจะมีความเชื่อทางศาสนาค่อนข้างรุนแรง จากประสบการณ์การอยู่กับชาวเชอร์ปามาหลายปี ก็จะรู้ว่า เค้าจะมีความเชื่อที่ค่อนข้างรุนแรงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ก็คือ ชาวเชอร์ปาสามคนจากหมู่บ้านเดียวกันเสียชีวิตจากน้ำแข็งถล่มทับ ก็เลยมีความเชื่อว่าปีนี้หมู่บ้านของเราโชคร้ายหรือเปล่า ถ้างั้นเชอร์ปาจากหมู่บ้านนี้ทั้งหมดก็เลยถอนตัวซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ส่งเชอร์ปาไปปีนเขาจำนวนมาก เพราะว่าเค้าทั้งอยู่ใกล้เอเวอเรสต์แล้วก็มีความแข็งแรงเพราะว่าอยู่ใกล้ที่สูงตลอดปี ก็คือถอนตัวหมดเลย
- เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างของ Everest เช่น จากภาวะโลกร้อน เราสัมผัสได้บ้างไหมว่ามันมีสภาพอากาศอย่างไร หากเทียบจากเมื่อก่อน
มีค่ะ ก็คือ ในช่วงหลายปีมานี้คือเท่าที่ฟังจากนักปีนที่เค้าปีนเอเวอร์เรส เค้าให้เหตุผลว่า สมัยนี้มันปีนยากกว่าสมัยก่อน เนื่องจากน้ำแข็งละลายแล้วทำให้บริเวณที่เรียกว่า ธารน้ำแข็งคุมบู หรือ Kumbu Icefall มันเกิดสภาพที่เรียกว่าpopcorn filed หรือว่า ทุ่งป๊อบคอร์น ซึ่งทำให้ปีนยากว่าสมัยก่อนมาก อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพียงแค่10-15 ปีนี้เอง จากการที่ขึ้น Kumbu Icefall สมัยก่อนขึ้นง่ายกว่านี้มาก ตอนนี้ขึ้นยากและมีอันตรายมากขึ้น แล้วก็พอโลกมันร้อนมันก็จะทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นมันเกาะตัวกันไม่ดีก็จะทำให้เกิดน้ำแข็งถล่ม หิมะถล่มง่ายขึ้นก็จะเป็นอันตรายในการปีน
- สถิตินักปีนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วยไหม
เทรนด์อาจจะยังไม่ชัดขนาดนั้น แต่ปริมาณมันเพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้วตั้งแต่ปี 2014 เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากโลกร้อน (อันนี้คิดเอาเองนะคะ) เพราะว่า อันตรายที่เกิดขึ้นได้แก่หิมะถล่ม ที่มันถี่ขึ้น คือหิมะถล่มมันจะเกิดขึ้นจากช่วงที่ อากาศมันอุ่นมากขึ้นก็จะเกิดหิมะถล่มขึ้นได้ เพราะว่ามันไม่เกาะตัวกัน ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ เทรนด์การเสียชีวิตเกิน 10 คนทุกปี เกือบๆ ทุกปี ก็ถือว่ารุนแรง
- บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ
มอริส แอร์ซอก (Maurice Herzog) เป็นนักปีนคนแรกที่ปีนภูเขาระดับแปดพันเมตรได้ในโลก คนนี้เขียนเรื่องอันนาปุระนะ (Annapurana) หนังสือเล่มนี้ดังมาก อีกคนคือคุณพ่อเรซ่า (นักปีนเขาชื่อดังของอิหร่าน) ชาวอิหร่านที่เป็นคนที่พาเราเข้าสู่วงการปีนเขา เหมือนเป็นเมนทัลคอยให้คำแนะนำ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ประเทศเดียวกัน แต่ก็ให้คำแนะนำมาตลอดจนเราสามารถปีนยอดแปดพันได้ ก็เป็นเพราะคุณพ่อเรซ่าที่ค่อยๆ ปูทางให้
- หมายความว่านอกจากร่างกายที่จะต้องแข็งแกร่งแล้ว ต้องใช้ใจนำร่างกาย?
ที่จริงแล้วการเอาใจนำร่างกายมันเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เวลาที่เราปีนเขาเราจะต้องมอนิเตอร์ร่างกายเราตลอด ว่าเราแบบไหวไหม หรือมันมีอะไรที่ผิดปกติไหม คือถ้าเกิดเมื่อไหร่ที่ร่างกายเราบอกว่า เราไปไม่ได้ เราก็ต้องหยุด การใช้ใจนำมันค่อนข้างเสี่ยง คือร่างกายมันมีลิมิตมันเหมือนว่า พอไปถึงจุดหนึ่ง มันอันตราย
- มันอาจทำให้เราตัดสินใจผิด?
ใช่ค่ะ มันอาจทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด อย่างรอบนี้ก็คือไม่รู้ตัวว่า ตัวเองเป็น frostbite (หิมะกัด) คือถ้าตัวเองรู้ตัวแม้แต่สักนิด คงไม่ไปต่อ แต่มันไม่รู้ตัวเลยรอบนี้ เพราะว่ามันไม่มีความรู้สึก พอเราเป็น frostbite เนี่ยความรู้สึกมันจะหายไป ความเจ็บก็จะไม่มี มันชา เราเลยไม่รู้ว่าเป็น Frostbite คือ เอาจริงๆ คือไม่แนะนำให้ใช้ใจปีน แล้วก็เท่าที่เคยคุยกับนักปีนเขาที่เขาเป็นคนที่มีประสบการณ์สูง เช่น คุณราฟ ที่เป็นนักปีนเขาชื่อดังชาวเยอรมัน เขาก็แนะนำว่า ไม่ควรใช้ใจปีน ควรจะต้องเอาร่างกายปีนแต่ว่า ใช้สติในการควบคุมสิ่งต่างๆ
- คุณพ่อเรซ่ามีส่วนสำคัญยังไง
ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีคนที่ปีนเขาจริงจัง คือถ้าเรามีคนที่เข้าใจกระบวนการ เข้าใจว่าจะต้องฝึกยังไงเพื่อที่จะไปถึงจุดที่เราอยากปีนก็คือภูเขา 8000 คือเป็นโค้ชให้เรา ก็จะทำให้เราไม่หลงทาง คือเราจะเลือกภูเขาแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้เลือกลูกยากเกินไปมาใส่ไว้ก่อน คือ เหมือนเราค่อยๆ ผ่านทีละด่าน ไปด่านที่ยากขึ้นแล้วเค้าก็จะคอยมอนิเตอร์ว่า สิ่งที่เราทำมันถูกไหม คำแนะนำว่าเราควรจะซ้อมแบบไหน
- ตอนนี้เรามีความมั่นใจมากขึ้นไหม เราได้พบอะไรบ้างตอนนี้ หลังจากผ่านเอเวอร์เรสต์มาแล้ว
คือความมั่นใจก็คือเรารู้วิธีแล้วว่า ทำยังไงเราถึงจะมีชีวิตรอดบนที่สูง เราก็มีความมั่นใจว่าถ้าเกิดเท้าเรากลับมาปีนได้นะ เราก็มีความมั่นใจที่จะกลับไปปีนภูเขาสูงได้ หรืออาจจะเลือกภูเขาที่มันมีความท้าทายมากกว่าเอเวอเรสต์ได้ ในกรณีที่เท้ากลับมานะคะ แต่ถ้าไม่กลับ ก็คงไม่ปีนลูกสูงแบบนั้น
- แต่ไม่รู้สึกเฟลใช่ไหม
ไม่ได้รู้สึกเฟลเลยค่ะ ไม่มีเลย เหมือนมันยกเอาความผิดพลาดความเสียใจในอดีต มันถูกยกออกไปหมด
- ถ้าไม่ได้ปีนเขาคิดว่ามีอะไรที่มันท้าทายเราอีก ในเรื่องของการใช้ชีวิต
ถ้าถามว่ามีมั้ย ก็คงจะเป็นเรื่องของงานเขียนค่ะ เพราะว่าชอบเขียนบทความไม่ว่าจะบทความสั้นหรือบทความยาวหรือหนังสือก็ตาม
- ตอนนี้กลับมาแล้ว “ตัวเอง” มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมนอกจากร่างกาย จิตใจ?
เรียกว่ามีความหวั่นไหวบ้างนะคะ หวั่นไหวเพราะว่าเราไม่ได้ไปทำงานเพราะว่า เราเดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แต่ก็มีพลัง…
เรียกว่า มีความหวั่นไหวแล้วกันค่ะ แต่ว่าเป้าหมายไม่ได้อะไรเปลี่ยนแปลง แม้ความแข็งแรงของร่างกายจะลดลงมากตั้งแต่เราป่วย รักษาได้ไหมคือต้องดูกันในระยะยาว ว่าเราสามารถเก็บเนื้อเยื่อได้แค่ไหน
ทิ้งท้ายด้วยคำตอบสั้นๆ ชัดเจนว่า “เป้าหมายก็คืออยากจะเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต”
ขอบคุณภาพถ่ายและข้อมูลจาก“แพทย์หญิง มัณฑนา ถวิลไพร” (คุณหมอกุ๊กไก่)