posttoday

‘เพราะโอกาสควรเกิดกับทุกคน’ เจาะลึกที่มากว่าจะเป็นนิทรรศการสุดอุ่นใจ

09 กรกฎาคม 2566

‘ความแตกต่างเป็นเรื่องเรียบง่ายและสวยงาม’ คือบทสัมภาษณ์ของศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการ SANSIRI : LIVE EQUALLY HOUSE เติมเต็มทุกความต่าง .. ที่เราจะมานั่งพูดคุย ค้น Insight กว่าจะเป็นที่มาของภาพและคำพูดที่หากใครเข้าไป ก็ต้องออกมาด้วยความรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจ

‘How to live matter’ ไม่สำคัญว่ารูปลักษณ์ภายนอกเป็นอย่างไร แต่สำคัญว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการในช่วงที่ 2 ของห้องสีขาวแห่งนี้ คือ สองศิลปินที่มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเป็นครั้งแรกของ นิดา ชนิดา อารีวัฒนสมบัติ (chubbynida) Digital Illustrator ผู้สร้างสรรค์ภาพวาดสุดน่ารัก และ บิ๊ก อัฐพงศ์ วรรัฐพงศ์ (atta) Content Creator ที่เขินๆ ถ้าจะบอกว่าเป็นนักเขียน ผู้อยู่เบื้องหลังข้อความอุ่นๆ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับทางแสนสิริภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘How to live matter’ โดยนิดาอธิบายให้เราฟังว่า ในมุมมองของเธอคอนเซ็ปต์นี้ทำให้หวนคิดถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก

“ มีการคุยกันว่ามันคือการให้โอกาสกับหลายคนที่แตกต่างให้สามารถใช้ชีวิตได้ในรูปแบบของเขา ไม่สำคัญว่าภายนอกจะเป็นยังไง”

ในการทำงานครั้งนี้ทางทีมได้รับโจทย์มาว่าแกนของเรื่องจะพูดถึงสี่แกนสำคัญนั่นคือ อาชีพ ผู้สูงอายุ เพศ และความกล้าที่จะเดินตามความฝัน  แต่พวกเขามองว่ามันไม่สามารถพูดถึงสี่เรื่องอย่างขาดออกจากกัน

“ตอนที่ได้รับโจทย์ เรามองว่าสี่เรื่องนี้ต่างอยู่ในทุกจังหวะของชีวิต ไม่ใช่แค่เด็กหรือผู้สูงอายุ  เรื่องเพศก็สามารถอยู่ในทุกช่วงชีวิตได้ เช่นเดียวกับเรื่องความกล้าตามความฝัน ทางเราเลยเอาแกนแต่ละแกนที่ได้มาผูกกัน .. โดยพยายามเล่าเรื่องหลายมุมลงในในภาพๆ เดียว เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าคนทุกคน ทุกวัน มีหลายเรื่องราวประกอบกัน”  คุณบิ๊กอธิบายที่มาของคอนเซ็ปต์งาน

 

บรรยากาศโซนแรกหลังจากเดินเข้ามา

หากใครได้เข้าไปเยี่ยมชมนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นจะพบว่า นิทรรศการเริ่มจากอาคารกล่องสีขาว ก่อนที่จะเดินเข้าไปแล้วพบกับงานซึ่งแบ่งเป็น 3 โซน  โซนแรกคือโซนที่พูดถึงเรื่องราวในแต่ละแกนที่ทางคุณนิดาและคุณบิ๊กตีโจทย์ออกมาเป็นภาพวาดและคำพูดร้อยเรียงกันไปในแต่ละช่วงวัย เริ่มจากตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ที่วางอยู่เพื่อนำไปสู่ชุดภาพในวัยเด็ก ซึ่งทัชใจใครหลายคน

 

จุดแรกก็ทัชใจแล้ว

“ ชุดภาพเด็กได้รับตุ๊กตา คือการมองตุ๊กตาเปรียบเป็นโอกาสในทุกๆ เรื่อง  เราอยากให้ทุกคนได้รับโอกาสที่จะสำรวจตัวเองตั้งแต่ สิ่งที่จะทำ เพศ หรือสิ่งที่ชอบ  คำที่จะขมวดคีย์เวิร์ดของภาพชุดนี้ก็คือ ‘ชอบไม่ชอบ ก็เอามาบอกแม่นะ’ มันก็คือการให้เด็กได้ออกไปลองทำ ลองดู ลองเล่น ในสิ่งที่เขาอยากจะลอง”  บิ๊กเริ่มอธิบายที่มาของชุดภาพในแต่ละแกน

“ ต่อมาคือเรื่องความรักไม่จำกัดว่าคุณจะเพศอะไร ในเนื้อเรื่องเป็นเรื่องของคนที่เป็นหญิงรักหญิง แต่จู่ๆวันหนึ่งคนหนึ่งก็ดูมีความสุขน้อยลง จนอีกคนไม่สบายใจว่าเพราะมารักกับตัวเองรึเปล่า เพราะความรักที่โดนมองเข้ามาแปลกๆ จากคนภายนอกหรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เกิดความเข้าใจว่าแค่เราโตขึ้น ความเศร้ามันก็เข้ามาในชีวิตได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ด้วยกันมากกว่า จึงเป็นที่มาของประโยค ‘ที่ตรงนี้เป็นของเรา’  เพราะพื้นที่ความรักตรงนี้เป็นของพวกเขาจริงๆ ต่อให้เป็นเพศไหนก็ตาม

 

เรื่องราวของความรักที่ไม่จำกัดเพศ

ถัดมาเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ ที่ปลูกดอกไม้  เราอยากจะให้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แทนการเติบโต ทีนี้พอเกษียณเราจะโดนเปรียบเหมือนดอกไม้ที่มันร่วงโรยไป  แต่อยากจะบอกว่าถ้าผู้สูงอายุได้โอกาสในการกลับมาทำอะไรใหม่ๆ และมีความฝันอีกครั้ง มันเหมือนดอกไม้ที่ได้กลับมาผลิบาน และอาจจะกลายเป็นการผลิบานที่ใหญ่กว่าครั้งก่อนๆ ก็เป็นได้

 

กระถางดอกไม้ที่เปรียบเหมือนการเติบโตของผู้คน

ท้ายสุดคือเรื่องของผู้พิการ เราเก็บอินไซต์จากอินเทอร์เน็ต และพบว่ามีบทสัมภาษณ์หลายอันเลย ที่บอกว่าเขาไม่ค่อยได้รับโอกาส และรอโอกาสต่างๆอยู่อีกมาก เราจึงอยากให้ทุกคนที่มาอ่านได้รับกำลังใจและสู้ต่อไป โดยเชื่อมเรื่องระหว่างการรอ จากภาพคือเป็นนาฬิกากลมๆ และกงล้อของผู้พิการที่ต้องนั่งวีลแชร์ เพราะนาฬิกาเลื่อนไปทางขวา (แทนการต้องรอวันแล้ววันเล่า) แต่จริงๆ แล้วเขาสามารถผลักดันตัวเองไปด้านหน้าได้ด้วยพลังในตัวเอง .. อยากจะบอกว่าเขาพยายามด้วยตัวเองในทุกเวลาด้วยกำลังของตัวเอง เพื่อส่งกำลังใจให้ได้ใช้ชีวิตต่อ”  คุณบิ๊กอธิบายเรื่องราวของชุดภาพแต่ละชุดให้เราเข้าใจ

“ หลังจากอ่านโดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ยากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกเรื่องเวลาตีเป็นภาพออกมา สุดท้ายก็มีไอเดียว่า ตัววงกลมนาฬิกา กับวงกลมล้อวีลแชร์ เราเอามาซ้อนกัน เพื่อให้เห็นว่านาฬิกาใหญ่ๆ ด้านหลังสื่อถึงการรอคอย และตัววงล้อเหมือนวิ่งตามสิ่งที่อยากจะไป เพื่อบ่งบอกว่าให้เดินทางไปข้างหน้า” คุณนิดาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมหลังจากที่ถามว่าแล้วชุดภาพไหนที่คิดว่ายากที่สุดในการสร้างสรรค์ออกแบบ .. ซึ่งแม้จะยากแต่ภาพล้อวีลแชร์ที่ซ้อนกับภาพนาฬิกาขนาดใหญ่นี้ก็กลายเป็นภาพที่หลายคนชื่นชอบ

 

ภาพขวาล่าง คือภาพที่ยากที่สุดในมุมมองของศิลปิน

 

‘เราเองต้องทำตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสนั้นด้วยเหมือนกัน’

สำหรับโซนที่ 2 เมื่อผ่านพ้นจากโซนแรกที่เป็นชุดภาพทั้งสี่แกนแล้ว จะเป็นอีกห้องที่เต็มไปด้วยข้อความต่างๆ กลิ่นอายแรกคือคำว่า ‘โอกาส’ ที่ปะทะอย่างเต็มๆ ในทุกประโยคของการสื่อสาร

“ สำหรับบิ๊กโอกาสเป็นเหมือนประตู ได้ทำอะไรทุกอย่างในทุกแง่มุมชีวิต ไม่ว่าจะการงาน ความรัก หรือการค้นพบตัวเอง โอกาสถ้าเราได้รับมันมาเราจะได้ลองทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าตัวเราเองต้องทำตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสนั้นด้วยเหมือนกัน พราะไม่ใช่แค่ดินที่เหมาะกับเมล็ดพันธุ์ของเรา แต่เมล็ดพันธุ์ของเราก็ต้องเหมาะกับดินด้วยเหมือนกัน”

 

คำพูดของบิ๊กทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งในงานที่พบ

‘เชื่อเถอะว่าสักที่หนึ่งจะมีต้นที่เหมาะกับเมล็ดพันธุ์ของเรา’

ทั้งเป็นประโยคที่ย้ำเตือน และโอบกอดความเป็นไปได้ พร้อมทั้งให้ความหวังแก่คนที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการอย่างแท้จริง

 

“ การจัดนิทรรศการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ นิดารู้สึกว่าชอบมาก เพราะโดยปกติ Pride Month จะเน้นพูดในเรื่อง LGBTQIA+ แต่อันนี้ประกอบด้วยหลายมิติ  เรารู้สึกว่าเราสามารถสร้าง และให้โอกาสแก่คนอื่นๆ ได้ในทุกรูปแบบ ไม่จำกัดแค่เรื่องเพศ จริงๆ  แต่เป็นความแตกต่างทั้งหมดที่เกิดในสังคม ที่เราสามารถให้โอกาสแก่ทุกคนได้ ... และเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ให้โอกาสได้ และรอโอกาสนั้นได้เหมือนกัน”

 

คำพูดในโซนที่ 2 ที่พร้อมจะปลอบประโลมทุกคน

 

แม้จะเป็นศิลปินที่ฝากผลงานเป็นที่รู้จักแล้วแต่คุณนิดาก็เคยต้องพบกับทางแยก ที่เธอก็เคยรอ ‘โอกาส’ เช่นเดียวกัน

“ นิดาเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเรียน  ..  Generation ของงานเรามีเยอะมากๆเลย พอเราโตขึ้นงานเราเปลี่ยน มีช่วงหนึ่งที่เรากลัวว่าคนจะจำงานเราไม่ได้ เพราะคนจะจำว่างานเราเป็นแบบนี้ เป็นช่วงที่ทุกข์มากๆ ... เหมือนเราฟังเพลงของนักร้องสักคน เราชอบ แต่พอเขาเปลี่ยนแนว เราก็ว่า ว่านั่นไม่ใช่เขาเลย แต่จริงๆ คือเขาแค่โตขึ้น ...  ช่วงแรก นิดาวาดลายเส้นเยอะๆ ก่อนที่เราจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ก็ใช้เวลามากเหมือนกัน แต่รู้ตัวว่าไม่มีความสุขแล้ว อยากทำอย่างอื่นแล้ว อยาก Explore แล้ว แต่กลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าไม่ใช่เรา จำเราไม่ได้ แต่สุดท้ายเราก็คุยกับตัวเองว่าเราต้องโตขึ้น เปลี่ยนไปและมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดีด้วย ตอนนี้เราเลยฮึบขึ้นมา ตั้งเป้าว่าถ้าอยากจะทำก็ทำเลย โดยที่ไม่ยึดถือสไตล์ขนาดนั้นค่ะ  แต่แน่นอนว่ากลิ่นอายความเป็นเราก็ยังอยู่ และยังสื่อสารได้”

“จริงๆ ภาพลักษณ์ของเด็กรุ่นใหม่ ทุกคนมองเข้ามา อาจจะกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น แต่มีเด็กหลายๆ คนที่ตั้งคำถามกับตัวเองมากๆ ไม่แน่ใจกับเส้นทางที่เลือกมากๆ แล้วก็มีคำถามกับตัวเองทุกวัน แม้แต่คนที่กล้าลุยกล้าบุก ถึงจุดหนึ่งเราก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำเหมือนกันครับ” คุณบิ๊กให้ความเห็นเมื่อถามว่า ไม่น่าเชื่อว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาซึ่งถูกมองว่ากล้าคิด กล้าทำ จะมีความกลัวและการตั้งคำถามมากมาย

 

‘ความหลากหลาย มันเป็นเรื่องธรรมดาและสวยงามมาก’

หากใครเดินทางมาถึงโซนที่ 3 ซึ่งเป็นโซนสุดท้าย จะพบกับห้องที่ให้เราจะได้ออก Life Receipt เมื่อเราเลือกสิ่งสำคัญในชีวิตของตัวเองออกมามากที่สุด 3 อย่าง รวมไปถึงการเปิดพื้นที่เพื่อให้เขียนข้อความในใจลงบนกระจก หลายข้อความเป็นข้อความที่ส่งกำลังใจให้คนที่มาร่วมงาน และสะท้อนให้เห็นสังคมไทยที่ยอมรับและให้โอกาสกับ ‘ตัวตนของแต่ละคนที่แตกต่างและหลากหลาย’

 

บอร์ดกระจกส่งต่อกำลังใจและความในใจ

“ ผมอยากให้คนรู้สึกมีกำลังใจ จริงๆ แล้วถ้าเราพูดบนโลกความจริง คนอาจจะคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องยาก และโอกาสที่ได้มามันน้อย อยากให้ทุกคนเดินมาในเทศกาลนี้ แล้วอิ่มออกไป มีพลังที่จะกล้าทำอะไรอีกสักอย่างหนึ่ง ได้เริ่มในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ บอกตัวเองว่าสิ่งที่ทำมันดีแล้ว และสามารถขอบคุณตัวเองตอนโตขึ้นแล้วว่าดีใจที่ได้ทำ”

“ นิดาชอบประโยคที่ว่า ‘ทุกครั้งที่ได้หลงทาง แปลว่าการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว’ เราเคยจะล้มเลิกในเส้นทางของเราหลายรอบ  เราก็ยังให้โอกาสตัวเองได้ทำมันอยู่ ได้ทำมาเรื่อยๆ และพาตัวเองไปทำสิ่งต่างๆ ที่เรารู้สึกว่ามันน่าจะเพิ่มพูนสิ่งที่เราจะเป็น  ชีวิตของเราการเดินทางอาจเปลี่ยนเส้นทาง แต่ดีที่เรายังให้โอกาสตัวเองค่ะ”

“ชอบประโยคนี้เหมือนกันครับ” คุณบิ๊กโหวตอีกเสียง หลังจากที่ถามว่าชอบประโยคไหนมากที่สุดในงาน

“จริงๆแล้ว ทุกครั้งในชีวิต เวลาโอกาสเข้ามามันจะเป็นครั้งที่ไม่เคยพร้อมเลยสักครั้ง และเชื่อว่าหลายคนมีความไม่พร้อมจนกว่าจะได้ลองเร่ิมทำ  เราเลยชอบคำนี้เพราะว่า หลงทางไปเถอะ เพราะการเดินทางก็จะได้เริ่มขึ้นแล้ว อยากให้ทุกคนรู้สึกเฉยๆ กับการหลงทาง ผิดพลาด และผิดหวัง แต่มันได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดามากเลย”

 

กิจกรรม Life Receipt ภายในงาน

และนี่คือเบื้องหลังและที่มาของนิทรรศการสุดอุ่นหัวใจ ที่คอยโอบหลังทุกคน และบอกว่า

‘อย่าลืมให้โอกาสตัวเอง และให้โอกาสกับคนที่แตกต่างกับเรา’

 

 

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู นิทรรศการ SANSIRI : Live Equally House

จัดแสดงที่แสนสิริ แบคยาร์ด T77 Community

วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2566 นี้เป็นวันสุดท้าย