posttoday

ทางเลือก-ทางรอดใหม่ วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล โดยคนไทย

22 กรกฎาคม 2566

โครงการวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล จากคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ อีกหนึ่งทางเลือก - ทางรอดของการรักษามะเร็งที่แม่นยำมากขึ้น เท่าทันการกลายพันธุ์ของโรคที่ยังไม่มีทางรักษาได้ในปัจจุบัน และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงการรักษาได้

PostToday พาไปพบกับบทสัมภาษณ์สุด Exclusive ของ อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล  หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ริเริ่มและดูแลโครงการวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และการพัฒนายา Antibody เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องใช้ควบคู่กันเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ทางเลือก-ทางรอดใหม่ วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล โดยคนไทย

2 โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการรักษามะเร็งในไทยด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด

 

การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เป็นแนวทางการรักษาแบบใหม่ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ลงมือวิจัย แบ่งออกเป็น 3 โครงการหลักๆ คือ การพัฒนายาแอนติบอดีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และการรักษาด้วย CAR- T Cell  ทั้งสามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่วงการแพทย์ระดับโลกตื่นตัวและอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในต่างประเทศมาหลายสิบปี  สำหรับยาแอนติบอดีและการรักษาด้วย CAR-T Cell นั้นได้ถูกนำมาใช้รักษาในคนแล้วสำหรับต่างประเทศ  แต่วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลเป็นเทคโนโลยีใหม่ แม้จะเกิดขึ้นในฝั่งอเมริกามานานนับ 10 ปี แต่ก็ถือว่าพัฒนามาได้ไม่นาน และยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวบนโลก

อย่างไรก็ตาม อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพราะวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลมีขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่ในอนาคตจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยรักษามะเร็งได้เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งหากประเทศไทยไม่ทำการวิจัย ก็จะต้องพึ่งพาแต่ต่างประเทศซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของประชาชน

นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัย ‘วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล’ ที่พัฒนาควบคู่ไปกับยาแอนติบอดีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องใช้ควบคู่กัน

 

“การทำงานในภาพรวมของวิธีการรักษาแบบนี้คือ กระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวรู้จักมะเร็ง เพื่อที่จะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยไม่ไปทำลายเซลล์ปกติของเรา  เพราะการรักษามะเร็งในปัจจุบันคือการให้ยาเคมีและการฉายแสง ผลข้างเคียงที่จะพบคือ การรักษาไม่ได้ระบุลงไปเฉพาะแค่เซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์ปกติจะถูกพิษของเคมีหรือการฉายแสงที่รักษาด้วย  เพราะโดยปกติการทำงานของยาเคมีก็จะไปฆ่าเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว แต่ในร่างกายเรามีเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วได้อีกหลายประเภท เช่น ผม เยื่อบุในปากและในลำไส้ ซึ่งเซลล์เหล่านั้นจะสูญหายไปด้วย บางคนจึงมีอาการผมร่วง หรือท้องเสีย เป็นอาการข้างเคียงระหว่างการรักษา

เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การรักษาเฉพาะไปที่เซลล์มะเร็ง  จริงๆ แล้วมันก็มีนวัตกรรมและวิธีการรักษาแบบใหม่เช่น ยาพุ่งเป้า ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหานี้คือไม่ฆ่าเซลล์ปกติ  วิธีการรักษาของยาพุ่งเป้า คือเราจะดูว่ามะเร็งมีการกลายพันธุ์แบบไหน และให้ยาที่เหมาะสมกับการกลายพันธุ์แบบนั้น  แต่ปัญหาของยาพุ่งเป้าก็คือยังมีผลข้างเคียงอยู่ เพราะยายังไม่ได้ออกฤทธิ์ได้จำเพาะมากขนาดนั้น  ยังมีผลข้างเคียงกับเซลล์อื่นๆ อยู่บ้าง

แต่การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นแนวทางใหม่ ที่เรียกว่าเลียนแบบกลไกธรรมชาติ  ... ปกติแล้วร่างกายเราจะมีภูมิต้านทานไม่ใช่แค่เฉพาะเชื้อโรค แต่มีภูมิต้านทานเซลล์มะเร็งด้วย  เพราะฉะนั้นคนที่แข็งแรง มีสุขภาพดี จะไม่เป็นมะเร็ง เพราะหากเซลล์เริ่มเป็นมะเร็งภูมิต้านทานในร่างกายก็จะสามารถจัดการได้”  อ.นพ.ไตรรักษ์ อธิบาย

 

ภาพการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ‘ทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้ภูมิต้านทานแข็งแรงมากขึ้นและสามารถฆ่ามะเร็งได้’

 

“พูดง่ายๆ คือ เราต้องสอน ภูมิต้านทานก็เหมือนทหาร เราต้องสอนทหารให้รู้จักศัตรู เมื่อทหารรู้จัก ก็ต้องฝึกว่าจะรบกับศัตรูยังไงให้ชนะ และมีการเกณฑ์กองกำลังทหารให้เพียงพอที่จะไปสู้กับข้าศึก และออกไปสู้รบ ระบบภูมิต้านทานก็แบบนั้นเลยครับ"

 

 

ไขข้อข้องใจ เมื่อเอ่ยคำว่า ‘วัคซีน’ คนอาจจะเกิดความสับสน

 

“วัคซีนมะเร็งมี 2 แบบครับ วัคซีน ‘ป้องกัน’ มะเร็งที่เรารู้จักกันทั่วไป คือทำให้ภูมิต้านทานรู้จักไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

แต่วัคซีนอีกแบบที่เราทำอยู่คือ วัคซีนที่เราทำเพื่อ ‘รักษา’ มะเร็ง ซึ่งหลายคนไม่คุ้น คำว่า ‘วัคซีน’ คือสารที่เอาไปกระตุ้นภูมิได้ สิ่งที่เราทำคือพอป่วยเป็นโรคและเราไปกระตุ้นภูมิให้โรคดีขึ้นได้ ก็สามารถเรียกว่าวัคซีนได้เหมือนกัน  เราเรียกวัคซีนนี้ว่า ‘Therapeutic Vaccine’  หลักการของมันคือทำให้รู้จักเป้าหมายหลังการเกิดโรคแล้ว เพราะถ้าเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อไวรัส เราไม่สามารถป้องกันได้ และตัวมะเร็งจะมีการกลายพันธุ์ในร่างการของเรา เราจึงต้องรู้จักมะเร็งหลังการเกิดโรคก่อนเพื่อจะได้รู้ว่าควรใช้วัคซีนตัวไหนรักษาแล้วเห็นผล”

 

กราฟฟิกแสดงวิธีการที่ภูมิคุ้มกันเข้าไปจับเซลล์มะเร็ง

 

อ.ไตรรัตน์อธิบายเพิ่มเติมถึงการกลายพันธุ์ของมะเร็งว่า สามารถกลายพันธุ์ได้หลายร้อยรูปแบบ และแต่ละคนก็อาจจะพบการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันเฉพาะบุคคล จึงเป็นสาเหตุที่ต้องพัฒนาวัคซีนเฉพาะบุคคล ที่มีตัวฤทธิ์ไม่เหมือนกันแตกต่างไปตามอาการเฉพาะของผู้ป่วย อีกทั้งยังต้องมีการพัฒนายาแอนติบอดีควบคู่กันไปด้วย เพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา

 

“มะเร็งมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิต้านทานได้หลายกลไกมากๆ จะเรียกว่าฉลาดและเอาตัวรอดได้ดี เหมือนกับผู้ร้ายที่ชอบพรางตัวไม่ให้ทหารจับ พอทหารจับได้ก็จะมีวิธีการอื่นอีกเช่นเอาโล่มาป้องกันและใส่เกราะไม่ให้ทหารฆ่าได้ มันมีหลายวิธีที่จะหลบเลี่ยงภูมิต้านทาน วัคซีนที่เราทำทำให้รู้จักศัตรู รู้ว่าศัตรูอยู่ตรงไหน หน้าตาเป็นอย่างไร แต่เมื่อทหารจะทำลาย กับพบว่าศัตรูนำเกราะมาป้องกันอีก แต่ถ้าเรามียาแอนติบอดีมันจะไปขวางศัตรูไม่ให้ใส่เกราะกำบัง และทำให้วัคซีนสามารถเข้าไปทำลายมะเร็งได้ในที่สุด"

 

การพัฒนาวัคซีนจึงต้องทำควบคู่ไปกับยาแอนติบอดี ซึ่ง ณ ขณะนี้ทั้งสองโครงการอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย สำหรับวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลประสบความสำเร็จในเฟสที่ 1 ซึ่งทดลองกับผู้ป่วย 12 คนเป็นที่เรียบร้อย โดยวิจัยกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแบบก้อน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งผิวหนัง เพื่อดูความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย และกำลังเข้าสู่เฟสที่ 2 คือการดูเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน

ส่วนยาแอนติบอดีได้ทดสอบในลิงเป็นที่เรียบร้อย และผ่านในด้านความปลอดภัยทั้งหมด และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในมนุษย์ ซึ่งคาดการณ์ว่าเร็วที่สุดที่ยาแอนติบอดีจะสามารถขึ้นทะเบียนได้คือภายในระยะเวลา 3 ปี

ภาพการทดลองวัคซีนในผู้ป่วย

เพราะมีคนไทยแค่เพียง 1% ที่สามารถเข้าถึงการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดได้ เราจึงต้องทำวิจัย

 

อ.นพ.ไตรรักษ์ เล่าให้ฟังเมื่อถูกถามถึงเหตุผลของการเริ่มต้นงานวิจัยเพื่อคนไทยในครั้งนี้ว่า การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเริ่มในอเมริกาเมื่อหลายสิบปีก่อน แม้จะมีการนำมาใช้ในประเทศไทยแล้วแต่กลับมีราคาที่สูงมาก

 

“การเข้าถึงการรักษาใหม่ๆ เหล่านี้ในประเทศไทย ในแง่ค่าใช้จ่าย เราต้องการทำให้ถูกลง อย่างเช่นยาแอนติบอดี ปกติค่ารักษาจะอยู่ที่เข็มละ 2 แสน และให้ทุก ๆ สามสัปดาห์เป็นระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี รวมทั้งหมดประมาณ 34 เข็ม การรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านต่อคนเป็นอย่างน้อย ซึ่งคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้เพียง 1% ของประชากร

เราจึงอยากให้ยาในกลุ่มนี้เข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างมากขึ้น  ตอนนี้ยาแอนติบอดีไม่ใช่ยากลุ่มพิเศษ จะอยู่ในขั้นการรักษามะเร็งมาตรฐานอยู่แล้ว ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็จะมียาเหล่านี้ให้บริการ แต่ถ้าหากเราสามารถทำยาที่มีความคล้ายคลึงได้  อธิบายง่ายๆ  เช่น ยาพาราเซตามอล ถ้าเป็นยาแบรนด์นอกจะแพง แต่เรามียาพาราเซตามอลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าเราพัฒนายาที่มีฤทธิ์คล้ายคลึงกันก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ ... 

ถ้าให้ประเมินคิดว่าจะถูกกว่าเมืองนอกแน่ๆ เราอยากพัฒนาไปจนถึงจุดที่รัฐบาลและงบประมาณในการประกันสุขภาพช่วยชดเชยได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้มากขึ้น”

 

ทางเลือก-ทางรอดใหม่ วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล โดยคนไทย

 

อาจารย์หมอยังอธิบายเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคถ้ามีคนไทยแค่ 1% ที่สามารถจ่ายเงินรักษาได้ก็คือ ประเทศไทยก็จะไม่มียาตัวใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามา เปรียบเหมือนการตลาดที่ไม่มีลูกค้า คนขายก็ไม่เห็นโอกาสที่จะขาย  ทั้งๆ ที่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดและได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

 

“ในส่วนของวัคซีนเฉพาะบุคคลในต่างประเทศบางบริษัทประสบความสำเร็จในเฟส 2 แล้ว แต่กว่าจะเข้าเฟส 3 กว่าจะขึ้นทะเบียนที่ต่างประเทศและกว่าจะเข้าไทย ก็คาดว่าน่าจะใช้เวลาเป็นหลัก 10 ปี เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าควรรีบพัฒนาวัคซีนภูมิคุ้มกันบำบัดเองเพื่อนำมาใช้ในไทยให้ได้เร็วมากขึ้น .. เพราะเราเห็นแล้วว่าในเชิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ มันสมเหตุสมผลมากๆ ยังไงการรักษาแบบนี้ก็ต้องเกิดขึ้น”

 

แนวคิดการสร้างวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ยังตอบแนวทางการรักษาที่เรียกว่า การแพทย์แบบแม่นยำ ซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมากในปัจจุบัน  แนวคิดดังกล่าวได้พูดถึงความเจ็บป่วยของผู้คนที่ไม่เหมือนกัน หมายถึงผู้ป่วยเป็นโรคเหมือนกัน อาการหรือความผิดปกติสามารถแตกต่างกันได้  เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุว่าให้ยาประเภทเดียวกันแต่บางคนอาจจะหายหรือบางคนอาจจะไม่ดีขึ้น   ด้วยเหตุดังกล่าวการวินิจฉัย  ควรวิเคราะห์ให้ได้ครอบคลุมมากกว่าการตอบว่าเป็นโรคอะไร แต่จะวิเคราะห์ั้งสภาพร่างกาย พันธุกรรมและพฤติกรรม เพื่อที่จะแนะนำว่าควรกินยาอะไรและควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพิ่มเติม

 

มะเร็งไม่ใช่เรื่องของ ‘โชคร้าย’ แต่คือเรื่องของ ‘พฤติกรรรมและสิ่งแวดล้อม'

 

อาจารย์หมอถามขึ้นมากลางวงสัมภาษณ์ว่า รู้ไหมว่าโรคอ้วนเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในปัจจุบัน

“อัตราการเกิดมะเร็งตอนนี้เป็นปัญหา เพิ่มขึ้นทุกปี และอายุน้อยลงด้วย ด้วยปัจจัยด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยการเกิดมะเร็งกว่า 10 ชนิด ไม่ใช่เรื่องโชค เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องโชคร้ายอัตราการเกิดคงไม่เพิ่มขึ้นในทุกปี และเมืองไทยตอนนี้น่าจะมีคนอ้วนมากขึ้น หรือเรื่องอาหารซึ่งบางคนรับประทานอาหารไม่มีความหลากหลาย ไม่บริโภคผักและผลไม้ ก็เป็นปัจจัยเกิดได้ หรือคนที่เป็นโควิดในบางกรณีก็ทำให้ภูมิต้านทานแย่ลง ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ด้วย ...

อีกเรื่องคือด้านสิ่งแวดล้อมเช่น ฝุ่น pm2.5 ที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งปอด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะการรักษาตอนนี้ไม่ทันกับอัตราการเกิดมะเร็ง  จะแก้ที่ปัญหาปลายเหตุไม่ได้ อย่างเช่นในผู้ชายมีโอกาสการเกิดมะเร็ง 50% ส่วนผู้หญิงมีโอกาสเกิดมะเร็งที่ 30% ในช่วงชีวิตที่สามารถเป็นมะเร็งได้ ทำให้เห็นว่ามะเร็งนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก การพัฒนาวิธีการรักษาที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในฐานะหมอก็อยากจะให้ทุกคนดูแลและป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดโรคด้วย นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเหมือนกัน"

 

 

ขอขอบคุณ

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล  หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

สำหรับท่านที่ประสงค์จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา

สามารถร่วมสมทบทุนผ่าน E-donation ข้อมูลการบริจาคของท่านจะส่งตรงไปยังกรมสรรพากรทันที โดยไม่ต้องขอรับใบเสร็จ เพียงใช้แอปพลิเคชั่นธนาคารสแกน QR-code และกดยินยอมให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลแก่กรมสรรพากร

ทางเลือก-ทางรอดใหม่ วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล โดยคนไทย

หรือบริจาคผ่าน บัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย
ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)
เลขที่บัญชี 045-304669-7 (กระแสรายวัน)

ท่านสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยติดต่อขอรับใบเสร็จได้ที่ Inbox เพจ CU Cancer Immunotherapy Fund

ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการระยะยาวนี้ จะมีคุณประโยชน์แก่ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมาก