posttoday

Smart World: ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตัวของเราสร้างได้ด้วยอะไร?

09 กันยายน 2566

Smart World ชวนคุณตั้งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนที่อาจได้คำตอบหลากหลายมิติ จากตัวจริงด้านความยั่งยืนในงาน “Sustrends 2024 I 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก” ในขณะที่เราจะมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อของ UNDP

 

Smart World: ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตัวของเราสร้างได้ด้วยอะไร?

 

คำถามแรกก็คือ แล้วตอนนี้สังคมของเรา ประเทศไทยของเราเรียนรู้ “เรื่องความยั่งยืน” กันแบบไหน? เพราะส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเทรนด์ที่โลกกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางนี้

 

คุณโตมร สุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ (OKMD) ได้แสดงมุมมองต่อคำถามข้อนี้ไว้ว่า 

“เวลาพูดถึงเทรนด์มันอันตรายนิดนึงตรงที่มันมักจะมีคนสองกลุ่มที่อยู่ในเทรนด์นั้น คือคนที่เห็นว่าเทรนด์เป็นแค่เทรนด์ แล้วก็เลยเข้ามาใช้เทรนด์เพื่อทำอะไรบางอย่างซึ่งก็ไม่ได้ผิด เพราะว่า มันก็ช่วยทำให้เทรนด์นั้นๆ เป็นที่พูดถึงมากขึ้น แพร่กระจายไปในวงกว้างแล้วก็เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเทรนด์นั้นๆ ขึ้นมา กลับอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจเรื่องนั้นจริงๆ โดยที่อาจจะไม่สนใจว่าเรื่องนั้นมันเป็นเทรนด์หรือเปล่า”

 

คุณโตมรมองว่า คนสองกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยจะได้เชื่อมกันเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเรื่อง Sustainability โดยยกตัวอย่างว่า

 

“สมมติถ้าเราบอกว่าเรื่อง SDGs ที่ UNDP สนับสนุน ถ้าหากว่าถึงปี 2030 แล้วเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น เรายังจะสนใจเรื่องของ SDGs อยู่ไหม? เพราะว่าข้อแรกของ SDGs ก็คือ เรื่องของการขจัดความยากจน เป็นเรื่องที่ถ้าหากไม่มีการพูดถึง SDGs แล้ว เราจะทิ้งเรื่องนี้ไปเลยหรือเปล่า จริง ๆ  แล้วมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะจริงๆแล้ว เป้าหมายทั้ง 17 ข้อของ SDGs นั้นสำคัญมากๆ  จริงๆ มันเป็นกระบวนการที่ on going อยู่ มันก็ดีแล้วที่มันมีการพยายามทำให้มันเป็นเทรนด์ขึ้นมา หรือว่าสร้างเม็ดเงินจากสิ่งเหล่านี้ หรือว่าสร้างอุตสาหกรรม สร้างธุรกิจจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะ 

 

แต่คำถามก็คือว่า ถ้ามันพ้นไปจากนี้แล้ว เราเห็นว่ามันสำคัญเพราะมันเป็นเทรนด์ หรือเราเห็นว่ามันสำคัญเพราะมันเป็นเรื่อง Sustainability จริงๆ”

 

Sustainable Development Goals : SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals)

 

คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า “คิดในแง่ดีก็คือ สังคมตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น สังเกตได้จากการที่บริษัทต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ ใช้คำว่า “ยั่งยืน” หรือคำว่า “รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบแคมเปญไม่ว่าจะเป็นแคมเปญด้านการตลาดหรือว่าการออกแบบ product ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าการที่บริษัทต่างๆ จะทำสิ่งนี้ได้เค้าก็ต้องเห็นว่า ผู้บริโภคสนใจและเป็นที่ต้องการ

 

ถ้าพูดถึงความตื่นตัวเราตื่นตัวกันมากกว่าแต่ก่อนมาก เพียงแต่ว่า ยุคนี้ก็น่าจะเป็นยุคที่ต้องตั้งคำถามกันมากขึ้นเพราะว่าในเมื่อทุกบริษัทพูดคล้ายๆ กันหมด แล้วเราจะแยกแยะได้ยังไงระหว่างบริษัทที่ทำจริงกับบริษัทที่ทำไม่จริง ตรงนี้ก็เลยต้องมีจุดที่เป็นเรื่องของมาตรฐาน เรื่องของตัวชี้วัด เรื่องของความโปร่งใสของข้อมูลต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนหนึ่งก็คาดหวังกับหน่วยงานที่กำกับดูแลด้วย เช่น ก.ล.ต. ที่เป็นผู้ที่กำหนดเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน แล้วก็อยากเห็นกระบวนการหรือกลไลที่จะทำให้ทุกคนช่วยประเมินคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยได้มากขึ้น แล้วก็ควรจะมีการส่งเสริมระบบนิเวศน์ของนักประเมิน คนที่มีหน้าที่ตรวจสอบเช่น สมมติว่ามีบริษัทออก Bond (พันธบัตร) แล้วอ้างว่าเป็น Green Bond มันเป็นกรีนมากน้อยแค่ไหน คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาการต่อไป"

 

Smart World: ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตัวของเราสร้างได้ด้วยอะไร?

 

การเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนที่ยั่งยืนที่สุด?

คุณโตมรพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า

“การเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนจริงๆ ต้องเริ่มจากข้างในของเรา ผ่านกระบวนการทั้ง Meta Learning, Ultra Learning และสร้าง Micro Learning ที่เหมาะสมกับตัวเองขึ้นมา คือจักรวาลการเรียนรู้เล็กๆ ของตัวเองที่เชื่อมโยงไปถึงจักรวาลใหญ่"

 

Micro Learning คือ?

"สมมติถ้าเปรียบเทียบ Meta learning คือเดินอยู่บนทางเดินสะพานลอยฟ้าสวนเบญจกิติ แล้วมองลงมาเห็นว่า“ภาพใหญ่คืออะไร” Ultra Learning คือกระโดดลงมา แล้วขุดลึกลงไปว่า "สนใจเรื่องนี้" แต่เมื่อขุดลึกลงไปแล้วบางทีมันแคบ สมมติว่า เราสนใจแค่เรื่องต้นหูกวาง เราก็จะอยู่แต่กับต้นหูกวางอย่างเดียว แต่ Micro Learning คำว่า Micro มันอาจจะเล็ก แต่มันคือการสร้างจักรวาลรายล้อมสิ่งเหล่านั้น

 

อย่างที่เราชอบพูดกันว่า รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว จริงๆ แล้วทุกวันนี้มันก็ไม่พอจริงๆ นะ มันต้องรู้สิ่งที่เป็น Core เป็นแก่น แล้วก็ต้องมีเรื่องที่รายรอบด้วย แต่ความรายรอบเนี่ย เราไม่สามารถรายรอบไปรู้ได้ทั้งสวนเพราะฉะนั้นเราต้องลองดูว่า Micro Learning หรือว่า Micro cosm หรือ จักรวาลเล็กๆ ของเราที่อยู่รอบๆ มันใหญ่ได้แค่ไหน ถ้าหากมันใหญ่ได้ไม่มาก ก็ไม่เป็นไร แต่เรารู้แหละว่าในความใหญ่นั้น เนื่องจากเราเห็นป่าทั้งป่ามาแล้ว เราจะรู้ว่าในความเล็กของมัน มันเชื่อมกับตรงนั้น ตรงนี้ ตรงนู้น ยังไง โดยที่เราอาจจะไม่ต้องไปรู้ทั้งหมดก็ได้ เพราะฉะนั้น Micro Learning เป็นกระบวนการที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง

 

แต่ว่า พอเราพูดถึงกระบวนการเรียนรู้แบบ Personalized Learning ในแบบปัจจุบัน เราจะชอบแบบว่า เดี๋ยวเราจะเปิดคอร์สที่ Personalized ให้คุณ ซึ่งมันเป็นความรู้ที่มาจากข้างนอก ถามว่าเรียนดีมั้ย ดี แต่ว่าบางทีมันก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเราเสมอไป ต่อให้ไปเรียนแบบที่เรียกว่าPersonalized หรือ Micro Learning สุดท้ายก็ต้องกลับไปดูว่า มันเป็นหนึ่งใน Meta Learning หนึ่งในวิธีเรียนวิธีสอนที่เราชอบ หรือ ไม่ชอบ ถ้าเราชอบมันก็จะไหลลื่นลงไปสู่ Ultra Learning เลย"

 

เรื่องนี้คุณสฤณีกล่าวว่า “พอเราได้ยินคำนี้เยอะๆ มันก็จะหลุดลอยจากหลักการพื้นฐานของมัน จริงๆ คิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักการของมันเลยจริงๆ ก็คือ เราดูแลหรือเราใส่ใจคนรุ่นหลังมากน้อยแค่ไหน มันเป็นการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียม ประเด็นเรื่องของความยุติธรรม ประเด็นที่ว่า เวลาเราออกแบบอะไรก็ตาม 

 

ควรมองให้ชัดว่า ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ มีคนกลุ่มไหนที่เสียประโยชน์มากเกินควรหรือว่า ประโยชน์มันตกแบบไม่ทั่วถึงไหม คิดว่าบางทีเราอาจจะต้องกลับมาดูคำถามพื้นฐานพวกนี้เป็นจุดตั้งต้นก่อน เพราะว่าตอนนี้ก็เริ่มเป็นกระแสที่ว่าพอเราทำอะไรเราก็จะแปะคำนี้ไปด้วย"

 

Cr.www.tgo.or.th/
การฟอกเขียวและการมีส่วนร่วมของตลาดคาร์บอนเครดิต

คุณสฤณีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “จริงๆแล้วทุกอย่างมันก็มีหลักการของมัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันตั้งต้นอยู่ที่ ถ้าเราตั้งต้นให้ชัดเจนที่รากฐานของมันจริงๆ มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นได้ อย่างเรื่องของตลาดคาร์บอนเครดิต ถ้าเราทำความเข้าใจก่อนว่า หลักการใหญ่ของตลาดนี้เลยก็เพื่อที่จะให้บริษัท องค์กร หรือประชาชนมีบทบาทในการช่วยลดโลกร้อน โดยการซื้อเครดิตในส่วนที่ตัวเองลดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจตนาของคาร์บอนเครดิตก็ควรเป็นว่า เราพยายามลดการปล่อยคาร์บอนเท่าที่เราลดได้ก่อน แล้วส่วนที่เราลดไม่ได้ก็ค่อยเอาเงินไปซื้อ ทีนี้โครงการที่จะเอาเงินไปซื้อมันก็ควรจะตรงตามหลักการ คือเป็นโครงการใหม่ ที่ไม่ใช่อย่างเช่น ชุมชนที่อยู่กับป่ามา 20-30 ปีเค้าดูแลป่ามาตลอดไม่ว่าจะมีหรือไม่มีตลาดคาร์บอนเครดิต แล้วการที่จะมาเคลมว่าป่าที่เค้าดูแลมานานเนี่ยเอาไปขายเป็นเครดิต นี่ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าในหลักการมันต้องเป็นส่วนเพิ่ม เป็นส่วนของคาร์บอนที่ดูดซับเพิ่มขึ้น เพราะมีตลาดนี้เกิดขึ้น เรื่องนี้ก็ต้องเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเองต้องใส่ใจ มันก็เป็นประเด็นเรื่องของการ Valadiation กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการยืนยัน กระบวนการรายงานติดตามผล"

 

โอกาสของประชาธิปไตยด้านพลังงาน?

"คิดว่าจริงๆ ประชาธิปไตยด้านพลังงานเรามีโอกาส ในแง่ที่ว่าตอนนี้ประชาชนก็ตื่นตัว โดยเฉพาะในท้องถิ่นตื่นตัวกันมากโดยเฉพาะในเรื่องของการกระจายอำนาจ..คิดว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็น่าจะไม่สามารถที่นะหยุดยั้งกระแสความตื่นตัวที่ว่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นโจทย์ที่ภาคประชาสังคมเองรวมทั้งนักสิ่งแวดล้อมก็ต้องไปเชื่อมโยงให้เห็นภาพ เรื่องของ ประชาธิปไตยในพลังงานเรื่องของการจัดการสิทธิ์ในชุมชนเรา มันไปด้วยกันได้กับเรื่องของการกระจายอำนาจ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน"

 

นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate policy) ของประเทศไทย

(ตอนนี้ไม่ใช่โลกร้อน หรือ Global Warming ธรรมดาๆ แล้วนะ แต่มันคือ "โลกเดือด" - Global Boiling และประเทศไทยเราก็ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของวิกฤตโลกเดือด!)

 

คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทยได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าคิดว่า 

“นโยายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในด้านหนึ่ง ถือว่าเรามีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจน การที่เรามีองค์ประกอบต่างๆไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอนนี้เรามีกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 

เพียงแต่ว่าถ้าเราไปดูในเนื้อหาสำคัญของนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเราจะพบว่า ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแต่หากกลับไปมองในอีกบางมุม เช่นเรื่องที่เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มันทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเน้น เรื่องเราจะจัดการยังไงกับความสูญเสียและความเสียหายที่เราเรียกว่า lost&damaged ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว เราสูญเสียทั้งที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก lost&damaged ที่เป็นผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤติโลกเดือดเป็นนับแสนล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ลงมือทำ

 

นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมันไม่มีตรงนี้อยู่ หรือมันอาจจะไปแฝงอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วมันจะต้องขยายออกมา มันจะต้องทำให้มีความชัดเจนขึ้น แล้วเราก็ทุ่มเททรัพยากรที่จะไปจัดการกับเรื่องตรงนั้นด้วย นอกเหนือจากการที่จะไปมีบทบาทสำคัญแต่เพียงอย่างเดียวในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก อันนั้นคือสิ่งที่ผมเรียกว่ามันไม่ได้สัดส่วน

 

คือถ้ามันได้สัดส่วนเราก็ต้องพูดถึงในมิติที่มันเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่แค่มีสัดส่วนนี้มาก มีสัดส่วนนี้น้อย หรือไม่มีเลย

 

ประเด็นที่สอง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่ง ก็คือนโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ไม่มีการพูดถึงเรื่องของความเป็นธรรม ความเป็นธรรมในแง่ของการที่จะรับรองหรือรับประกันสิทธิชุมชนในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ทั้งในระดับต่างๆ อาจจะเป็นพื้นที่ก็ได้ 

 

หรือว่า มีการส่งต่อนโยบายที่ปฏิบัติการที่ชุมชนทำไว้ดีแล้วและมีบทเรียน สำคัญๆ หลายอย่าง ที่สามารถร่างออกมาเป็นนโยบายระดับชาติได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นช่องว่างที่ใหญ่มาก ซึ่งผมคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่านโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อาจจะต้องมีการยกระดับ ต้องมีการปรับเปลี่ยน ต้องมีการก่อรูปก่อร่างใหม่ แล้วก็เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน องค์กรธุรกิจ หรือว่าคนกลุ่มต่างๆที่ขยันขันแข็งที่จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ 

 

เพราะเป็นเรื่องที่มันไม่สามารถรวมศูนย์ได้ มันจะต้องเป็นการจัดการแบบกระจายศูนย์ แล้วก็สร้างความเป็นธรรมให้กับกลุ่มคนต่างๆที่มีความเสี่ยง และเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน วิกฤติโลกเดือดมากที่สุด"


Smart World: ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตัวของเราสร้างได้ด้วยอะไร?

 

เราจะคาดหวังอะไรจาก COP28 ได้บ้าง?

COP28 จะเป็นการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 12 ธันวาคม 2023 ที่ Expo City ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า "การเจรจาโลกเดือดครั้งแรกของประวัติศาสตร์" ที่ชาวโลกจะต้องหาทางจัดการกับภาวะขาลงของแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผลิตไปแล้ว และ Climate Policy ที่ทรงพลังที่สุดและเรียบง่ายที่สุดก็คือ การหยุดขุดเจาะแหล่งพลังงานฟอสซิลใหม่รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของมันด้วย

 

คุณธาราพูดถึงเรื่องนี้ว่า “การประชุมเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ที่จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เป็นการประชุมที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศในตะวันออกกลางเป็นเจ้าภาพและเป็นประธาน คำถามที่สำคัญมากๆก็คือเรื่องของ ความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ เพราะว่า ประธานที่ทำหน้าที่ดำเนินการ COP28 ก็คือหัวหน้าของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นั่น เพราะฉะนั้นก็มีคำถามใหญ่จากภาคประชาสังคม ว่าการเจรจาที่จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้หน้าตามันจะออกมาเป็นยังไง?

 

แล้วก็รู้สึกว่า ความคาดหวังมันก็ดูเหมือนจะถอยหลังกลับไป อาจจะถอยหลังกลับไปก่อนที่จะมี COP26 ที่สหราชอาณาจักรด้วยซ้ำไป”

 

“เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นความวิตกกังวล ของหลายๆ คนไม่ใช่เฉพาะภาคประชาสังคม แต่เป็นผู้กำหนดนโยบาย หรือว่ารัฐภาคีต่างๆ ที่จะเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอะไรที่เราต้องจับตาดู แล้วความคาดหวังก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ มันอาจจะหยุดนิ่ง หรือว่าอาจจะถอยหลังด้วยซ้ำไป”