posttoday

โมเดลความร่วมมือ AWC ที่ ททท. บอกว่านี่คือต้นแบบท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

12 ตุลาคม 2566

ในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง AWC กับ ททท. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จนเกิดโครงการ ‘AWC Stay to Sustain’ ผู้ว่าฯ ททท. ถึงขั้นเอ่ยปากว่านี่คือต้นแบบโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์เทรนด์ท่องเที่ยวโลก และความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน แล้วโมเดลนี้มีหน้าตาอย่างไร?

เที่ยวก็ช่วยโลกได้กับ  “AWC Stay to Sustain”

 

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผุดโครงการสานต่อความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมผนึกกำลังกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) มีจุดเริ่มต้นมาจากการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์กรอบการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 3BETTERS ของ AWC ทั้ง BETTER PLANET BETTER PEOPLE และ BETTER PROSPERITY โดยการดำเนินงานภายใต้ 3 เสาหลัก 9 มิติ ได้แก่

  • Better Planet คือ มุ่งให้ความสำคัญกับโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน การจัดการทรัพยากรน้ำ การดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และความหลากหลายทางชีวภาพ
  • Better People คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และยกระดับการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน
  • Better Prosperity คือ สังคมที่มั่นคง รุ่งเรืองด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เน้นด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีส่วนสนับสนุนการสร้างมูลค่าในระยะยาวเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและกรุะตุ้นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

 

โครงการ “AWC Stay to Sustain” เป็นหนึ่งในโครงการตามกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ AWC (3BETTERs)  นี้ โดยมีจุดเด่นของโครงการคือ

  • ทุกการเข้าพัก 1 คืนในโรงแรมเครือ AWC แขกผู้เข้าพักจะได้ร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน พิทักษ์ความหลากหลายชีวภาพ และส่งเสริมรายได้ให้ชุมชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีผ่านความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
  • โครงการ “AWC Stay to Sustain” ตั้งเป้าร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในแต่ละปีประมาณ 500,000 ต้น กว่า 5,000 ไร่ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางระบบนิเวศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 ควบคู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม
  • AWC ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สรรหาผลิตภัณฑ์หลากหลายจากกว่า 230 ชุมชนมาเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์ในโรงแรมชั้นนำระดับโลกในเครือ AWC เปิดโอกาสให้งานฝีมือคนไทยได้มีโอกาสแสดงสู่สายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และจำหน่ายในร้าน เดอะ Gallery ทั่วทุกโครงการของ AWC 

 

โมเดลความร่วมมือ AWC ที่ ททท. บอกว่านี่คือต้นแบบท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้    นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “AWC ได้สืบสานนโยบายการท่องเที่ยวยั่งยืนของ ททท. ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ‘จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก’ ร่วมกับพันธมิตรแบรนด์โรงแรมที่บริหารโรงแรมทั้ง 22 แห่งของ AWC ทั่วประเทศ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และร่วมสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนให้ประเทศไทย  โดยมุ่งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับแขกผู้เข้าพักในโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวคุณภาพสำหรับนักเดินทางที่มองหาทางเลือกการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่เข้าไปท่องเที่ยว”

 

(เรียงจากซ้ายไปขวา) คุณวัลลภา คุณฐาปนีย์ หม่อมหลวงดิศปนัดดา

 

ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนคือเทรนด์ของโลกในทุกวันนี้ และเนื่องจากที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยเน้นตลาดกลุ่มใหญ่มาโดยตลอด จนเมื่อไม่นานมานี้ได้เห็นถึงตลาดที่เป็นกลุ่ม Sub-culture คือกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกันและสื่อสารกันเสมอในสังคมออนไลน์ เช่น กลุ่ม LGBTQIA+  รวมไปถึงกลุ่มที่มีความสนใจจะท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่สามารถสร้าง Soft Power และเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เช่นกัน จึงทำให้ ททท.เล็งเห็นความสำคัญและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย  ทั้งนี้ ทาง ททท. ก็ได้เปิดโครงการ STAR Rating ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการมอบดาวให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนต่างๆ

 

จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สานต่อ 'คนอยู่ได้ = ป่ายั่งยืน'

 

ด้าน หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาเรื่องธรรมชาติที่คน เพราะเราเชื่อว่าธรรมชาติไม่ได้ทำลายตนเองแต่เพราะคนเข้าไปใช้พื้นที่อย่างไม่มีทางเลือก จนเกิดคำพูดที่ว่า เพราะคนหิวป่าจึงหาย ดังนั้นมูลนิธิจึงเริ่มจากการปลูกคน

อย่างไรก็ตามเมื่อมีโอกาสที่เอกชนอยากจะขับเคลื่อนความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงอยากจะสร้างชุมชนที่คนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ จึงเกิดเป็นโครงการ คนอยู่ได้ = ป่ายั่งยืน โดยปรับพฤติกรรมจากการตัดไม้เป็นการดูแลผืนป่าเพื่อความอยู่รอดแทน

 

ทั้งนี้ เพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและโลกไปในคราวเดียวกัน มูลนิธิฯ จึงจะนำรายได้สนับสนุนจากโครงการ “AWC Stay to Sustain” ไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุนเพื่อชุมชนสองประเภท คือ กองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ในขณะเดียวกันปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

 

โดยแหล่งชุมชนที่ถูกคัดเลือกนั้นจะคัดเลือกจากสภาพความสมบูรณ์ของป่า โดยเน้นการแก้ไขแหล่งป่าเสื่อมโทรมให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รวมไปถึงดูเรื่องความพร้อมของชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้โครงการของมูลนิธิฯ มีจำนวนผืนป่าอยู่ทั้งหมดกว่า 140,000 ไร่ คลอบคุลม 11 จังหวัดและ 140 ชุมชน ซึ่งจะเตรียมขยายพื้นที่ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

 

โมเดลความร่วมมือ AWC ที่ ททท. บอกว่านี่คือต้นแบบท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน