posttoday

เข็ม กับ ด้าย และหัวใจรัก ของ อาเคมิ ชิบาตะ

25 มกราคม 2554

เชื่อได้เลยว่า ถ้าเป็นสาวกงานเย็บปักถักร้อยที่ชื่นชอบ “ศิลปะการต่อผ้า” ที่เรียกว่า แพตช์เวิร์ก (Patchwork) และ ควิลต์ (Quilt) ต้องเคยตกหลุมรักผลงานของเธอคนนี้... อาเคมิ ชิบาตะ

เชื่อได้เลยว่า ถ้าเป็นสาวกงานเย็บปักถักร้อยที่ชื่นชอบ “ศิลปะการต่อผ้า” ที่เรียกว่า แพตช์เวิร์ก (Patchwork) และ ควิลต์ (Quilt) ต้องเคยตกหลุมรักผลงานของเธอคนนี้... อาเคมิ ชิบาตะ

โดย... สวลี ตันกุลรัตน์

 

เข็ม กับ ด้าย และหัวใจรัก ของ อาเคมิ ชิบาตะ

เชื่อได้เลยว่า ถ้าเป็นสาวกงานเย็บปักถักร้อยที่ชื่นชอบ “ศิลปะการต่อผ้า” ที่เรียกว่า แพตช์เวิร์ก (Patchwork) และ ควิลต์ (Quilt) ต้องเคยตกหลุมรักผลงานของเธอคนนี้... อาเคมิ ชิบาตะ

เพราะฉะนั้นในช่วงที่เธอเดินทางมาถึงประเทศไทย เพื่อเปิดสอนในเวิร์กช็อป ที่จัดขึ้นโดย “PakKaPao House” คงจะปล่อยให้โอกาสดีๆ แบบนี้หลุดลอยไปไม่ได้

และถือเป็นความโชคดี เพราะนอกจากจะได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองแบบส่วนตั๊วส่วนตัว ผ่านล่ามกิตติมศักดิ์ อ.ผุสดี นาวาวิจิต (นักแปลภาษาญี่ปุ่น ผู้แปล โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง และอื่นๆ อีกมากมาย) แล้วยังมีโอกาสเป็นลูกศิษย์หลังห้องของอาเคมิอีกคนหนึ่งด้วย

ชั้นเรียนเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่วันอาทิตย์และกว่าจะไปเสร็จสิ้นก็ล่วงเข้าเวลาอาหารเย็น แต่ทั้งนักเรียนและคุณครู (รวมทั้งล่าม) ดูจะไม่เหน็ดเหนื่อยกันเลย เพราะทั้งสนุกและได้ความรู้ ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นเรียนในวันนั้นคงจะรับรู้ได้เหมือนๆ กันว่า ชิอาเคมิเป็นมากกว่า “ผู้หญิงที่ชอบเย็บผ้า”

ชิบาตะเป็นทั้งศิลปินที่ใช้เข็มกับด้ายเป็นเครื่องมือ โดยผลงานของเธอตีพิมพ์เป็นหนังสือฮาวทู (Howto) ด้านงานฝีมือ สร้างแรงบันดาลใจให้กับควิลเตอร์เมืองไทยหลายๆ คน

แต่สำหรับอาเคมิ ศิลปะการต่อผ้า โดยเฉพาะในสไตล์อเมริกัน ไม่ได้เป็นแค่แรงบันดาลใจ แต่เป็นทั้งรักแรกพบและรักยืนยงมากว่า 20 ปี

เช่นเดียวกับต้นกำเนิดของศิลปะการต่อผ้า ที่อาเคมิ บอกว่า ก่อกำเนิดจากความรัก โดยเธอเล่าถึงที่มาของงานฝีมือประเภทนี้ว่า เกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน หมอสอนศาสนาชาวอังกฤษและครอบครัว รวม 102 คน โดยสารเรือเมย์ฟลาวเวอร์มาถึงเมืองพรีมัธ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่มีฤดูหนาวที่แสนจะโหดร้าย จนทำให้มีคนล้มตายไปกว่าครึ่ง เพราะความเหน็บหนาว

แต่เป็นเพราะความรักของผู้หญิงที่เป็นทั้งแม่และภรรยา นำผ้าที่ติดตัวมาด้วยมาเย็บเป็นผ้าห่มชนิดพิเศษที่ยัดไส้ด้วยฟางข้าวและกระดาษ เพื่อให้คนในครอบครัวรอดพ้นจากภัยหนาว จนกลายเป็น “อเมริกัน แพตช์เวิร์ก”

“เพราะฉะนั้น อเมริกัน แพตช์เวิร์ก จึงเป็นงานฝีมือที่เกิดจากความรักของผู้หญิง ที่ต้องการให้ครอบครัวรอดพ้นจากความหนาวของอากาศ มันคือความอบอุ่น”

ครั้งแรกที่เธอมีโอกาสรู้จักกับอเมริกัน แพตช์เวิร์ก ก็เป็นช่วงเวลาที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างแสนสาหัสเช่นเดียวกัน

“ลูกชายไม่สบายมาก จึงต้องลาออกจากงานประจำมาดูแลลูก ในตอนนั้นทั้งเป็นห่วงลูก ทั้งยังรู้สึกไม่สบายใจที่ไม่ได้ช่วยงานในครอบครัว ซึ่งเพื่อนคงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก จึงชวนไปดื่มชาที่บ้าน และเมื่อไปบ้านเพื่อนก็ไปเห็นผ้าแต่งผนัง ซึ่งเป็นอเมริกัน แพตช์เวิร์ก สีฟ้าขาว ขนาด 40x40 เซนติเมตร ที่ดูธรรมดามากๆ แต่กลับทำให้รู้สึกปลอดโปร่งสบายใจในทันที และตั้งปณิธานว่าจะต้องทำให้ได้”

จาก “แม่บ้านญี่ปุ่น” ที่แสนจะท้อแท้ กลายเป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเอง เธอเข้าชั้นเรียนงานฝีมือด้านนี้อย่างจริงจังจนกระทั่งได้คุณวุฒิครูสอนศิลปะการต่อผ้า จากกระทรวงศึกษาธิการประเทศญี่ปุ่น และเริ่มเปิดสอนตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น จนถึงวันนี้อาเคมิมีชั้นเรียนมากกว่า 50 แห่ง

“ผู้หญิงหลายคนในประเทศญี่ปุ่นมีความทุกข์แบบเดียวกัน เลยอยากให้ผู้หญิงมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยศิลปะการต่อผ้า ทำให้มีความมั่นใจในตัวเอง และมีความสุขที่ได้ทำงานผ้า เพราะฉะนั้นเวลาสอนจะไม่เข้มงวดกับนักเรียน แต่จะคอยให้กำลังใจว่า ไม่เป็นไร คุณทำได้”

และถ้าใครมีโอกาสได้เข้าชั้นเรียนที่อาเคมิเป็นคุณครูแล้วละก็ จะได้ยินประโยคภาษาญี่ปุ่นที่เธอมักจะพูดกับลูกศิษย์อยู่ตลอด คือ “ได โจ บุ” (ไม่เป็นไร)

อาเคมิยังมักจะพูดอยู่เสมอว่า “เข็มเล่มเล็กๆ สามารถสร้างบ้านได้” เพียงแค่มีหัวใจรัก