posttoday

มหาราชาแห่งราชัน

26 มิถุนายน 2554

“เจ้าใหญ่นี่แหละจะเป็นผู้เชิดชูวงศ์สกุลและเป็นที่พึ่งของญาติทั้งปวงในวันหน้า”

“เจ้าใหญ่นี่แหละจะเป็นผู้เชิดชูวงศ์สกุลและเป็นที่พึ่งของญาติทั้งปวงในวันหน้า”

โดย..สวัสดิ์ จงกล

ความข้างต้นเป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว “เจ้าใหญ่” นั้นทรงหมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พระราชปิโยรสในพระเชษฐาธิบดีของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำรัสเชิงปรารภที่อัญเชิญมาข้างต้น กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับกันทั้งพระราชอาณาจักรสยามและนานาประเทศทั่วโลกว่าเป็นความจริงทุกประการ

มหาราชาแห่งราชัน

จากการศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิบัติตลอดรัชสมัยของพระองค์ คนไทยและชาวต่างประเทศต่างยอมรับตรงกันว่าพระปิยมหาราชทรงวางพื้นฐานของความเจริญก้าวหน้าของสยามประเทศทุกด้าน หลังเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติไม่นานนักก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้พระเจ้าน้องยาเธอพระโอรสของพระบรมวงศานุวงศ์ และลูกหลานข้าราชการได้ศึกษาเล่าเรียน ยิ่งกว่านั้นยังทรงจัดให้พระเจ้าน้องยาเธอศึกษาวิชาสำหรับขัตติยนารีรวมทั้งวิชาหนังสือ จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อเด็กและเยาวชนเริ่มจากในกรุงเทพฯ แล้วขยายไปทั่วราชอาณาจักร นับเป็นส่วนหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นพระราชญาณทัศน์ (Vision) ตลอดจนเป็นการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ สมาชิกราชสกุลรวมถึงเด็กและเยาวชนไทยให้มีพื้นฐานที่มั่นคงของชีวิต รวมถึงสร้างเสริมความรู้ความสามารถซึ่งจะช่วยกันทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติต่อไป จึงขอนำเสนอพระปรีชาสามารถด้านบุคคลพอเป็นสาระสังเขปให้ทราบและอาจนำไปใช้ประโยชน์ด้านวิชาการต่อไปดังนี้

1.การพัฒนาพื้นฐานสมรรถภาพและคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างโรงเรียนเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างเป็นระบบ (Formal Education) นับเป็นพระบรมราโชบายที่สำคัญยิ่งดังพระราชดำรัสที่ว่า

“...วิชาหนังสือเปนวิชาที่น่านับถือ และเปนที่สรรเสริญมาแต่โบราณ ว่าเปนวิชาอย่างประเสริฐ ซึ่งผู้ที่เปนใหญ่ยิ่ง นับแต่พระมหากษัตริย์เปนต้น ตลอดจนราษฎรพลเมืองสมควรแลจำเปนจะต้องรู้ เพราะเปนวิชาชีพที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จไปได้...”

มหาราชาแห่งราชัน

นอกจากนั้นยังทรงตระหนักถึงความสำคัญของความคิด พฤติกรรมของคนไทยว่าควรต้องมีทั้งคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป ดังใจความในพระราชหัตถเลขาที่ถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก ว่าให้ทรงศึกษาและจัดการศึกษาอบรมให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณธรรมและจริยธรรม เพราะ “...คนที่รู้หนังสือ ยิ่งรู้มากมีโอกาสมาก ก็โกงมาก พิสดารมาก...” จึงจำเป็นต้องอบรมขัดเกลาให้มีทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม

2.ทรงรู้จักคนและใช้คนได้เหมาะกับความรู้ ความสามารถ และเหมาะสมกับงาน

จะเห็นได้จากได้ทรงมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอทุกพระองค์ทรงปฏิบัติงาน พระองค์ใดทรงไม่เก่งก็จะทรงมอบหมายให้ทรงปฏิบัติงานกับพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงเก่งงาน บางกรณีก็ทรงจัดข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานช่วยพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงไม่ค่อยเก่ง ทั้งยังทรง “กำกับ นิเทศ ประเมิน ผล” การปฏิบัติงานของพระเจ้าน้องยาเธอให้ทรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากบ้านเมืองยังขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง จึงทรงจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา จะเห็นว่าชาวต่างประเทศส่วนใหญ่จะทำงานเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงหลายคนไม่กลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่อยู่ในเมืองไทยตลอดชีวิต ลูกหลานเป็นคนไทยรับใช้บ้านเมืองให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างยิ่ง บางกรณีมีข้าราชการผู้ใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าอย่าจ้างบุคคลนั้นเลย เพราะมีนิสัยไม่ดีคือชอบยกตนข่มท่าน เกรงจะเคยตัวยกตนข่มพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาตอบข้าราชการผู้ใหญ่ผู้นั้นว่า พระองค์ทรงทราบข้อด้อยของบุคคลผู้นั้นดี แต่จุดแข็งของบุคคลผู้นั้นคือ เมื่อบุคคลผู้นั้นพูดในบางเรื่องจะ “เข้าหู” นายกรัฐมนตรี และมีความเป็นไปได้สูงที่ข้อความนั้นจะ “เข้าพระกรรณ” ของพระมหากษัตริย์ ประเทศนั้น พระปิยมหาราชจะทรงยอมให้บุคคลผู้นั้นข่มพระองค์ แต่ประโยชน์สูงสุดคือ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์ “ถึงพระมหา กษัตริย์ของประเทศนั้น”

มหาราชาแห่งราชัน

3.ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ครั้งหนึ่งผู้แทนประเทศอังกฤษที่สิงคโปร์ยื่นคำขาดต่อประเทศสยามให้เสียค่าชดใช้ต่อข้อพิพาทระหว่างสยามกับอาณานิคมอังกฤษด้านมลายูและสิงคโปร์ ขณะเดียวกันผู้แทนประเทศฝรั่งเศส “วางเฉย” ไม่เรียกร้องกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส พระปิยมหาราชได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้งยังทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เยอรมนีใจความว่า พระองค์ทรงทราบดีว่าฝรั่งเศสจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายเช่นเดียวกับอังกฤษและจะเรียกมากกว่าด้วย พระองค์ไม่สนพระราชหฤทัยเรื่องนี้ แต่จะนำประเด็นนี้ไปรับสั่งกับรัฐบาลฝรั่งเศสในการเสด็จประพาสยุโรป

4.ทรงสนับสนุนให้บุคลากรพัฒนาตนเองและหน่วยราชการที่รับผิดชอบให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น

ในการเสด็จประพาสต้นหรือเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรและทรงติดตามการปฏิบัติงานของข้าราชการในหัวเมืองต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพิจารณาว่าพระบรมราโชบายที่ทรงประกาศไปแล้ว ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้ปฏิบัติตามหรือไม่เพียงใด หากทรงพบข้อบกพร่องก็จะพระราชทานข้อที่ควรแก้ไข หากเป็นปัญหามากโดยเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการบกพร่องก็จะทรงย้ายข้าราชการที่ทำงานเก่งมาปฏิบัติราชการแทนจากข้อเขียนของนักเรียนเก่าโรงเรียนมหาดเล็ก ตลอดจนคำบอกกล่าวของนักเรียนเก่า นิสิตเก่าอาวุโสในเวลามีการสัมมนากันจะพบว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงติดตาม นิเทศ กำกับประเมินผลความรู้ความสามารถของข้าราชการที่เป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนมหาดเล็ก ใครมีความรู้ความสามารถและปฏิบัติงานได้ผลดี เมื่อเสด็จนิวัตพระนครก็จะทรงหารือกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้เลื่อนตำแหน่งหรือปูนบำเหน็จแก่นักเรียนเก่าผู้ทำงานดี หรือทรงย้ายผู้ที่ทำงานด้อยประสิทธิภาพไปปฏิบัติหน้าที่อื่น

มหาราชาแห่งราชัน

ข้อมูลที่นำมาเสนอข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น ยังมีข้อมูลที่มีคุณค่าที่ควรศึกษาและนำมาใช้ปรับปรุงตนเองและการทำงาน การปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บทความที่จะได้ศึกษาต่อไปเป็นรายละเอียดผลงานวิจัยที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง