ทุเรียนไทยเนื้อหอม อี-คอมเมิร์ซจีนเปิดศึกนำเข้า
คึกคักสุดๆ สำหรับตลาดทุเรียนไทยปีนี้ หลังจาก 2 ยักษ์ใหญ่ อี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีนอย่างอาลีบาบา และเจดีดอทคอม ออกมาประกาศรับซื้อทุเรียนไทย เพื่อนำไปจำหน่ายผ่านเว็บไซต์
โดย...จะเรียม สำรวจ
เรียกได้ว่าคึกคักสุดๆ สำหรับตลาดทุเรียนไทยปีนี้ หลังจาก 2 ยักษ์ใหญ่ อี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีนอย่างอาลีบาบา และเจดีดอทคอม ออกมาประกาศรับซื้อทุเรียนไทย เพื่อนำไปจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง เนื่องจากผู้บริโภค ชาวจีนมีความชื่นชอบทุเรียนไทยเป็น อย่างมาก ทำให้นำเข้าไปขายเท่าไรก็ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะนอกจากจะบริโภคแบบสด แบบแช่แข็ง และแบบไอศกรีมแล้ว ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนยังมีการนำทุเรียนไปประกอบอาหารในเมนูต่างๆ เช่น ข้าวต้ม ซูชิ และชาบู เป็นต้น
จากจำนวนประชากรของจีนที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้ความต้องการทุเรียนจากประเทศไทยยังคงมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกทุเรียนไป ต่างประเทศกว่า 100 ตู้/วัน เฉลี่ย ปริมาณตู้ละ 20 ตัน รวมทั้งหมด 2,000 ตัน/วัน โดยในส่วนของทุเรียนที่ทำการส่งออกไปจะมีน้ำหนักเฉลี่ยลูกละประมาณ 3 กิโลกรัม (กก.) ซึ่งตลาดหลักที่ส่งออกไปยังคงเป็นประเทศจีน
สำหรับอาลีบาบาหลังจาก แจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายทุเรียนกับประเทศไทยมูลค่า 3,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำทุเรียนไปจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ Tmall.com โดยทุเรียนล็อตแรกที่จะส่งออกไปในวันที่ 7 พ.ค.นี้ มีประมาณ 1.3 แสนลูก ใช้เวลาประมาณ 120 ชั่วโมง จะส่งถึงประเทศจีนและจัดส่งถึงมือผู้บริโภคจีนภายใน 24 ชั่วโมง
ในส่วนของทุเรียนที่ทำการจัดส่ง ไปนั้นบริษัท เซี่ยงไฮ้ วิน ชิน ซัพพลาย แมเนจเมนต์ ในเครืออาลีบาบา ได้เจรจากับสหกรณ์ 3 แห่งในภาคตะวันออก คือ สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จ.ระยอง สหกรณ์การเกษตรมะขาม จ.จันทบุรี และสหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จ.ตราด
ด้านเจดีดอทคอม ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายทุเรียนกับ บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต ผู้ดำเนินธุรกิจตลาดไท ซึ่งในส่วนของปีนี้เจดีดอทคอมวางเป้าหมายไว้ว่าจะนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ตันจากปีก่อน 2,500 ตัน เพื่อให้มีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 20% ด้วยการนำเข้าทุเรียนไปทำตลาดจำนวน 80 ตู้คอนเทนเนอร์ จากจำนวนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 400 ตู้ในปีที่ผ่านมา
เจมส์ เย่ ประธานกรรมการ บริษัท เจดี เฟรซ บริษัทในกลุ่มเจดีดอท คอม กล่าวว่า จากความต้องการทุเรียนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาทุเรียนในประเทศจีนมีการปรับราคา เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2559 ราคาขายทุเรียนในจีนจะอยู่ที่ 300 หยวน/18 กก. หรือประมาณ 1,500 บาท/18 กก.
ต่อมาในปี 2560 ปรับเพิ่มเป็น 500 หยวน/18 กก. หรือประมาณ 2,500 บาท/18 กก. และในปี 2561 นี้ปรับราคาเพิ่มเป็น 800-900 หยวน/18 กก. หรือประมาณ 4,000-4,500 บาท/18 กก. ซึ่งหากความต้องการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์กันว่าราคาทุเรียนก็จะยังปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
นอกจากจะให้ความสนใจรับซื้อ ทุเรียนจากประเทศไทยแล้ว เจดีดอทคอมยังมีแผนที่จะรับซื้อผลไม้จากประเทศไทยอีกหลายรายการ เช่น มังคุด ลำไย และมะพร้าว ซึ่งถือเป็นผลไม้ 2 ชนิด ที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจมากที่สุด
เจมส์ กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีผลไม้ ไทยจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 4 เท่าและในปีนี้ก็คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งผลไม้ที่มี ยอดขายเติบโตสูงที่สุด คือ ทุเรียน เพราะหลังจากที่บริษัทได้นำทุเรียนมาจำหน่ายในเว็บไซต์เจดีดอทคอมในช่วงปีที่ผ่านมา มียอดขายสูงถึง 2,500 ตัน โดยหลังจากจับมือร่วมกับบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต เพื่อนำเข้าทุเรียนเข้าไปจำหน่าย ในประเทศจีน ภายในไตรมาส 2 นี้บริษัทก็มีแผนที่ขยายความร่วมมือไปยัง กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เพื่อสั่งซื้ออาหารสดเข้าไปจำหน่ายในประเทศจีนเพิ่มเติม
จากความต้องการทุเรียนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในประเทศจีน ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าคนไทยอาจซื้อผลไม้ไทยในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่หันไปส่งออกผลไม้มากกว่าการขายในประเทศ และผลไม้ที่ขายในประเทศเพื่อให้คนไทยได้บริโภคอาจมีเกรดที่ต่ำลง
กาญจนา แย้มพราย ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต ผู้ดำเนินธุรกิจตลาดไท กล่าวว่า ราคาทุเรียนที่ขายในประเทศนับจากนี้จะไม่ได้เห็นราคาทุเรียนหน้าสวน กก.ละ 20-30 บาทอีกต่อไป เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน ส่งผลให้ราคาขายมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกปีที่ 10%