posttoday

ธปท. ลั่นมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ชัดเจนก่อนสิ้นปี 67

26 พฤศจิกายน 2567

ธปท. ส่งซิกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน พักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี รวมถึงอัตราการลดเงินนำส่ง FIDF ชัดเจนก่อนสิ้นปี 67 ส่วนสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 3/67 หดตัว 2% ครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 53 ขณะที่ไตรมาส 4/67 คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

          นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน พักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี คาดจะเห็นความชัดเจนก่อนสิ้นปี 2567 โดยปัจจุบันมาตรนี้อยู่ระหว่างทยอยหาข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจน และมีบางส่วนที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบก่อนด้วย

          “มาตรการนี้เป็นการทำร่วมกันระหว่าง ธปท. กระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์ โดยเน้นเจาะไปยังกลุ่มที่มีปัญหาจริงๆ ส่วนการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.46% นั้นเป็นแหล่งเงินส่วนหนึ่งที่กำลังคุยกันอยู่ แต่การลดเงินนำส่ง FIDF ครั้งนี้ จะแตกต่างจากที่เคยลดในปี 2563 ตอนนั้นแบงก์ไม่แข็งแรง แต่ตอนนี้แข็งแรง ดังนั้นจะต้องมีส่วนหนึ่ง Contribute มาจากแบงก์ด้วย” นางสาวสุวรรณี กล่าว 

          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าถ้ามีการลดเงินนำส่ง FIDF ลงครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.46% จะกระทบต่อระยะเวลาการชำระหนี้ยาวขึ้น เช่น ถ้าลด 1 ปี ทำให้ระยะเวลาการชำระหนี้ยาวขึ้นครึ่งปี 

          สำหรับภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2567 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 3/2567 หดตัวที่ 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน 

          การหดตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2567 หลักๆ จากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ แม้การให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สินเชื่อในภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

          “สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/2567 หดตัวที่ 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2567 เห็นเดือน ต.ค.ดีขึ้นเล็กน้อย คาดว่าสิ้นไตรมาส 4/2567 น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” นางสาวสุวรรณี กล่าว 

          ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ในไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 553.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.97% (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ปรับลดลง) สูงสุดนับไตรมาส 4/2566 จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง

          สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ โดยธุรกิจยังสามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 

          ด้านผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/2567 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลง โดยหลักจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล แม้ค่าใช้จ่ายสำรองปรับลดลง 

          อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ NPL ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) 

          โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลงสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคการผลิต