กฟผ.ชี้ รมว.พลังงาน เบรกโปรเจกต์ขุด ขนถ่านหินแม่เมาะ ดันค่าไฟแพง
กฟผ.ชี้ รมว.พลังงาน เบรกโปรเจกต์จ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ ดันค่าไฟแพง ยันขุดเหมืองแม่เมาะ 7 พันล้าน ประมูลขนถ่านหินโปร่งใส ย้อนรอย การประมูลครั้งก่อนเป็นการเปิดประมูลทั่วไป มาสู่ วิธีพิเศษ ก่อนถูกสั่งยกเลิก หวั่นถูกร้องเรียนจากผู้เสนอราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งด่วนที่สุด ให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท จากการที่ บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลงานมูลค่าสัญญา 7,170 ล้านบาท ไว้ก่อน หลังจาก อิตาเลียนไทย (ITD) ยื่นอุทธรณ์
แหล่งข่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยอมรับว่า การรอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ อาจส่งผลต่อค่าไฟ เนื่องหากไม่สามารถส่งถ่านหินได้เพียงพอกับความต้องการของการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลง และต้องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงทดแทน เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว”
นอกจากนี้ หาก กฟผ. ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้และดำเนินการใหม่ อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส ที่ต้องการให้ผู้ที่มีข้อเสนอไม่ตรง TOR ได้เสนอราคาใหม่อีกครั้ง โดยไปตัดสิทธิ์ผู้ที่มีข้อเสนอตรงตาม TOR ทำให้มีความเสี่ยงต่อการอุทธรณ์และร้องเรียนจากผู้ที่เสนอราคาที่มีข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขใน TOR และส่งเอกสารครบถ้วนตามที่ กฟผ. กำหนด
ย้อนการประมูลจาก จากเปิดประมูลทั่วไป สู่ วิธีพิเศษ
ใน ปี 2557 สมัย นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ได้เปิดประมูลงานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่าน สัญญาที่ 8 มูลค่า 26,910 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (2559-2568) โดยมีผู้สนใจซื้อซองประมูลถึง 13 ราย แต่มีเพียง 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผ่านคุณสมบัติและยื่นซอง คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
การประมูลครั้งนั้น สหกลอิควิปเมนท์ ชนะการประมูลด้วยราคา 22,873 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางถึง 4,036 ล้านบาท หรือ 15% ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างอิตาเลียนไทยที่เสนอราคา 26,691 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 218 ล้านบาท หรือ 0.81% และ ช.การช่างที่เสนอราคา 29,580 ล้านบาท สูงกว่าราคา 9.93 %
ขณะนี้สัญญาที่ 8 ระยะเวลา 10 ปี ใกล้สิ้นสุด ในปี 2568 ในการประมูลครั้งใหม่ กฟผ. เลือกใช้ "วิธีพิเศษ" ในการจัดจ้างงานสัญญา 8/1 มูลค่า 7,250 ล้านบาท แทนการประมูลแบบเปิดเหมือนครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม การระงับ หรือการยกเลิกการประมูลครั้งใหม่ตามคำสั่งของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานฯ แหล่งข่าวจาก กฟผ. มองว่า "การยกเลิกประมูลครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อการอุทธรณ์และร้องเรียนจากผู้ที่เสนอราคาที่มีข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไข"