posttoday

The Crown - ราชินีผู้ทรงพระปรีชาแห่งราชวงศ์อังกฤษ

20 กันยายน 2565

หากจะกล่าวถึงสหราชอาณาจักร นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว อีกหนึ่งสิ่งที่อดนึกถึงไม่ได้เลยคือกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” จนเกิดกระแสซีรีส์ The Crown ที่ถูกพูดถึงในวงกว้างขึ้น

 

          หากจะกล่าวถึงสหราชอาณาจักร หรือชื่อเป็นทางการว่า สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ บทสนทนาคงหนีไม่พ้นการเอ่ยอ้างถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงาม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่เลื่องชื่ออย่างพระราชวังบักกิงแฮม (พระราชวังเก่าแก่ เป็นที่ประทับทางการของราชวงศ์อังกฤษ) และที่ท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างสโตนเฮนจ์ (1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลาง) รวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณีที่เรียบหรูของผู้คน จนคนไทยถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “เมืองผู้ดี หรือผู้ดีอังกฤษ” และอีกหนึ่งบทสนทนาที่ขาดเสียมิได้ในการเล่าถึงสหราชอาณาจักร นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามแล้ว กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรที่ทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามและมีพระปรีชาสามารถในการปกครองยังได้รับการกล่าวขานเสมอมา ในทีนี้กำลังจะกล่าวถึง “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” ควีนที่ทรงอุทิศพระชนมชีพในการปฏิบัติภารกิจต่อพระราชบัลลังก์และพสกนิกรของพระองค์

The Crown - ราชินีผู้ทรงพระปรีชาแห่งราชวงศ์อังกฤษ

 

          ซีรีส์ The Crown เป็นซีรีส์ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรโดยเน้นที่เรื่องราวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ซีซั่น ๆ ละ 10 ตอน รวมแล้ว 40 ตอน เผยแพร่ทาง Netflix โดยซีซั่นแรกสตรีมมิ่งเมื่อปี 2016, ซีซั่นที่ 2 และ 3 ในปี 2019 และซีซั่นล่าสุดในปี 2020 ซีรีส์เรื่องนี้ได้ ปีเตอร์ มอร์แกน (Peter Morgan) นักเขียนบทมากความสามารถ เจ้าของบทภาพยนตร์ The Deal (2003) และ The Queen (2006) ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของบุคคลรวมถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และในซีรีส์ The Crown ในครานี้ ปีเตอร์ มอร์แกน ก็ได้มานั่งเก้าอี้เป็นผู้เขียนบท จนสามารถนำซีรีส์ The Crown เข้าสู่เวทีอันทรงเกียรติอย่างเวทีรางวัลลูกโลกทองคำ และแน่นอนว่า The Crown ก็ได้รับรางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่าประจำปี 2016 ในที่สุด นอกจากบทซีรีส์ที่ยอดเยี่ยม นักแสดงจากซีรีส์เรื่องนี้ก็น่ายกนิ้วให้ไม่แพ้กัน เมื่อแคลร์ ฟอย (Claire Foy) ผู้รับบท เจ้าหญิงเอลิซาเบธและราชินีเอลิซาเบธที่ 2  ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในเวทีรางวัลลูกโลกทองคำประจำปี 2016 เช่นกัน ถือได้ว่า The Crown เป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่ครบเครื่อง ทั้งบทและนักแสดง ควรค่าแก่การรับชมเป็นอย่างยิ่ง

 

The Crown - ราชินีผู้ทรงพระปรีชาแห่งราชวงศ์อังกฤษ

ทำไมซีรีส์ The Crown ถึงควรค่าแก่การรับชม? 

 

          เหตุผล คือ เพราะ 1. สะท้อนความจริง  2. อิงประวัติศาสตร์  3. แสดงถึงความเก่งกาจกษัตริย์

1.สะท้อนความจริง

          ตลอด 4 ซีซั่น ซีรีส์ The Crown ได้สะท้อนความจริงต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเป็นกษัตริย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ที่พระองค์มิได้ทรงปรารถนาที่จะมีชีวิตในพระราชวังบักกิงแฮมเยี่ยงกษัตริย์ ทรงอยากมีชีวิตเรียบง่ายในบ้านพักส่วนพระองค์กับครอบครัว แต่ด้วยหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ได้บีบบังคับให้พระองค์ต้องสวมมงกุฎในฐานะควีนของสหราชอาณาจักรที่เต็มไปด้วยปัญหาวุ่นวายตลอดเวลาทั้งเรื่องการเมืองภายในรัฐสภาอังกฤษ และความสัมพันธ์กับเหล่าเครือจักรภพ ยังไม่หมดแค่นั้นยังมีปัญหาภายในราชวงศ์ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคร่งครัดสืบต่อกันมายาวนานที่ต้องลงมือต่อกร

 

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะทรงใช้นามสกุลวินด์เซอร์ที่มีกฎ ข้อบังคับที่กษัตริย์และพระราชวงศ์ต้องทรงปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยความที่พระองค์ทรงมีความรักให้แก่ ดยุคแห่งเอดินบาระ พระสวามีและเจ้าหญิงมาร์กาเรต เคานท์เตสแห่งสโนว์ดอน พระขนิษฐาการกระทำของพระองค์บางอย่างจึงขัดต่อโบราณราชประเพณี และพระองค์ทรงทำไปโดยไม่สนคำวิจารณ์ใดใด   เห็นได้ว่าภายใต้ความเป็นกษัตริย์บนบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรที่มีพระราชอำนาจในมือ ชี้ขาดได้ มิทำให้พระราชปณิธานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ไม่ต้องการมีชีวิตอย่างกษัตริย์ หายไปเลย นี่คือความจริงที่ปรากฏอย่างเงียบ ๆ ในซีรีส์ทั้งออกมาจากคำพูด สีหน้า แววตา ซึ่งฟอยและโคลแมน สามารถแสดงออกมาได้อย่างน่าประทับใจ 

The Crown - ราชินีผู้ทรงพระปรีชาแห่งราชวงศ์อังกฤษ

2.  อิงประวัติศาสตร์

 

          ซีรีส์ The Crown เรียกได้ว่าทุกองค์ประกอบล้วนแล้วแต่อิงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรทั้งสิ้น แอบกระซิบว่าคนเขียนบทซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่มีความสามารถ ชนิดที่ว่าใกล้เคียงกับเรื่องจริงของวงในเลยทีเดียว เลยไม่แปลกใจที่การเก็บรายละเอียดเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  พระราชวงศ์ และบุคคลสำคัญต่าง ๆ จะไม่ขาดตกบกพร่อง ที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ คือ ฉากและเครื่องแต่งกายของตัวละคร ที่วิจิตร ประณีต ใกล้เคียงกับบรรยากาศยุคศตวรรษที่ 20 ที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ที่น่าว้าวที่สุด คงหนีไม่พ้นเครื่องแต่งกายของเลดี้ไดอาน่า ที่ขับให้คอร์ลิน นักแสดงที่รับบทนี้ สวยสดไม่แพ้พระองค์จริงในช่วงวัยรุ่น อีกทั้งยังมีการซ่อนสัญลักษณ์ไว้ในชุดแต่งงาน แสดงให้เห็นถึงบทสรุปความสัมพันธ์ของเลดี้ไดอาน่าและเจ้าฟ้าชายชาร์ลในท้ายที่สุด ถือเป็นกลวิธีที่น่าสนใจของวงการซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ที่ไม่มีที่ติเลย 

The Crown - ราชินีผู้ทรงพระปรีชาแห่งราชวงศ์อังกฤษ

3. แสดงถึงความเก่งกาจกษัตริย์

 

          หนึ่งในแก่นเรื่องของซีรีส์ คือ การแสดงถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เนื้อหาซีรีส์ไม่ได้ฉายพระราชกรณียกิจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่หากแสดงถึงส่วนลึกภายในพระราชหฤทัยที่เข้มแข็งของพระองค์ที่ทรงต้องปฏิบัติภารกิจทั้งในฐานะกษัตริย์ ฐานะพระชายา และฐานะพระชนนี ซีนที่น่าประทับใจคงจะต้องยกให้ซีนที่พระองค์เสด็จกลับลอนดอน หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงเข้าไปกราบพระบรมศพเพียงพักเดียวโดยไม่มีน้ำพระเนตรไหลออกมา ก่อนจะก้าวออกมา และเดินเข้าสู่ห้องทรงงานอย่างเด็ดเดี่ยว

 

          นอกจากจะทรงมีพระทัยแน่วแน่ต่อหน้าที่กษัตริย์ ซีนที่พระองค์ทรงมีบทสนทนากับวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรี ก็มีความท้าทายสายตาผู้ชมไม่แพ้กัน เพราะตัวนายกรัฐมนตรีคนนี้ถือว่าเก่งและช่ำชองเรื่องการเมืองการปกครองมาก ถึงแม้พระองค์จะเพิ่งมีสนทนาครั้งแรกกับเขา แต่ดันต่อรองผลประโยชน์ชนะแถมแทงใจดำนายกฯรุ่นเดอะ จนต้องยอมจำนน จะเห็นว่าพระองค์ไม่เพียงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง แต่ทรงมีพระสติปัญญาที่เฉียบแหลมอีกด้วยดังเช่นตัวตนของพระองค์ที่แท้จริง ถือว่า ซีรีส์ The Crown สร้างสรรความเป็นตัวตนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้อย่างสมพระเกียรติเลยทีเดียว

 

         เห็นแล้วหรือยังว่า ทำไมซีรีส์ The Crown ถึงควรค่าแก่การดู วันว่าง ๆ ลองมาจัดกันสัก 1 ซีซั่นไหมล่ะ