posttoday

Animal testing การทดลองในสัตว์ ความโหดร้ายที่จำเป็น

02 กันยายน 2565

Animal testing หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญกับการทดลองในสัตว์ ทั้งในแง่ความจำเป็นและการทารุณกรรมสัตว์ ที่ยังคงตั้งคำถามกันมาจนปัจจุบัน วันนี้เราจะมาดูเหตุผลของทั้งสองฝ่ายว่าเหตุใดจึงเกิดข้อโต้แย้งมายาวนาน

การทดลองในสัตว์ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาภายในแวดวงวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็นคำเรียก หนูทดลอง ในภาษาไทย ด้วยหนูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำมาใช้งานบ่อยครั้งที่สุด เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เทคโนโลยีหลายด้านของมนุษย์เราก้าวหน้า จะบอกว่าการทดลองกับสัตว์ภายในห้องปฏิบัติการ เป็นรากฐานสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ก็ไม่ผิด

 

          แต่นั่นย่อมตามมาด้วยข้อโต้แย้งเกี่ยวกับชีวิตและชะตากรรมของสัตว์ทดลองจำนวนมาก เราทราบดีว่าการทดลองเหล่านี้มีอันตรายอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน และในแต่ละปีมีสัตว์ทดลองในโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นับล้านชีวิต แม้แต่ในประเทศไทย เอกสารจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังระบุว่า มีสัตว์ทดลองถูกใช้ในงานวิจัยหลายสิบล้านชีวิต

 

          ปัจจุบันจึงเริ่มมีกระแสเรียกร้องในเรื่องชีวิตของสัตว์ทดลองที่น่าสงสารเหล่านี้ขึ้นมาแล้วเช่นกัน

Animal testing การทดลองในสัตว์ ความโหดร้ายที่จำเป็น

ทำไมคนจึงต่อต้านการทดลองในสัตว์

 

          หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดคนจึงมีแนวคิดแบบนี้ขึ้นมา ในเมื่อหน้าประวัติศาสตร์เทคโนโลยีของมนุษย์เรา ความก้าวหน้ามากมายเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้สัตว์ทดลอง เหตุใดจึงเริ่มมีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดไปจนการณรงค์ให้ยุติการทดลองในสัตว์มากขึ้น

 

          ถ้าเป็นในช่วงปีที่ผ่านมากระแสนี้เกิดขึ้นจากคลิปอนิเมชั่น Save Ralph ความยาว 4 นาทีบน Youtube ที่ได้ผู้กำกับชื่อดัง Taika Waititi มาร่วมงาน ด้วยเรื่องราวในมุมของกระต่ายน้อยที่เป็นหนูทดลองผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ จนเริ่มมีการณรงค์ให้ยกเลิกการใช้สัตว์ภายในห้องทดลอง

 

          แต่อันที่จริงปัญหานี้ได้รับการพูดถึงและเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 แล้ว

 

          ข้อโต้แย้งจากฝ่ายอนุรักษ์สัตว์ต่างรู้สึกสงสาร เห็นใจ และอยากช่วยเหลือสัตว์ทดลองทั้งหลาย จนถึงขั้นมีบางส่วนต้องการให้การวิจัยทุกชนิดในสัตว์ยุติลงโดยสิ้นเชิง นำไปสู่ข้อโต้แย้งจากนักวิจัยว่า การทดลองในสัตว์ก็ช่วยให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้มากมายเช่นกัน

 

          แน่นอนสำหรับคนรักสัตว์หรือมองในแง่มนุษยธรรมนี่อาจเป็นเรื่องโหดร้าย ภาพที่เราได้เห็นจากอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วว่าการใช้งานสัตว์ทดลองผลิตภัณฑ์ถือเป็นเรื่องน่าเศร้า ไม่แปลกที่จะเริ่มมีการต่อต้านผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดลองประเภทนี้

Animal testing การทดลองในสัตว์ ความโหดร้ายที่จำเป็น

ข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับสัตว์ทดลองในปัจจุบัน

 

          สัตว์ทดลองส่วนมากถูกสร้างขึ้นมาต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดลองโดยเฉพาะ เพราะการขยายหรือเพาะพันธุ์ต้องได้รับการควบคุมเพื่อรักษาสายพันธุ์และควบคุมตัวแปรให้มากที่สุด ได้รับการดูแลเข้มงวดเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

 

          สถิติจากทั่วโลกคาดการณ์ว่าในปี 2015 มีสัตว์ 192.1 ล้านตัวถูกใช้ในการทดลองประเภทต่างๆ จำนวนเหล่านี้ไม่มีทีท่าลดลงและรังแต่จะมีจำนวนมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการรณรงค์ให้ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการทดลองในสัตว์ลงบ้างแต่ยังไม่ได้ผลนัก

 

          ชนิดของสัตว์ที่ถูกนำไปทดลองมีหลากหลาย ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ หนูชนิดต่างๆ จากความง่ายในการควบคุมตัวแปร เพาะเลี้ยง ไปจนสังเกตการณ์ นอกนั้นยังมีลิง, สุนัข, แมว, สัตว์ฟันแทะ, กระต่าย, หมู และอื่นๆ ซึ่งถูกใช้เป็นตัวทดลองในงานวิจัยสาขาต่างๆ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ไม่มีสถิติตัวเลขแน่ชัดว่าสัตว์แต่ละชนิดถูกใช้เป็นจำนวนเท่าไหร่

 

          ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้งานสัตว์ทดลองมากที่สุด หนีไม่พ้นประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง จีน เนื่องด้วยการวางขายผลิตภัณฑ์หลายชนิดโดยเฉพาะเครื่องสำอางและยา หากต้องการนำมาวางขายในประเทศ จะต้องได้รับการทดลองกับสัตว์เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น และด้วยความที่มีตลาดขนาดใหญ่ จีนจึงเป็นผู้ใช้งานสัตว์ทดลองสูงสุดในโลก

 

          ดังนั้นจนปัจจุบันคาดว่าน่าจะยังมีสัตว์ทดลองนานาชนิดที่ยังต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันนี้ต่อไป

Animal testing การทดลองในสัตว์ ความโหดร้ายที่จำเป็น

 

          วัสดุทดแทนการทดลองจากสัตว์ ตัวเลือกที่ไม่ต้องทำร้ายอีกต่อไป

 

          มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นมากมายภายใต้การทดลองในสัตว์ เมื่อปัจจุบันมีการเปิดเผยขึ้นมาไม่น้อยว่า การทดลองในสัตว์หลายครั้งได้ผลลัพธ์ไม่ตรงต่อความต้องการ หลายครั้งแม้จะทดสอบประสบความสำเร็จในสัตว์ทดลองแต่กลับไม่ได้ผลในมนุษย์ รวมถึงโรคหลายชนิดที่พบในมนุษย์ก็ไม่พบในสัตว์ ข้อมูลจึงมีความคลาดเคลื่อนพอสมควร

 

          จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่าการทดลองทางคลินิกในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นมนุษย์ล้มเหลวถึง 92% แม้จะผ่านการทดลองมาแล้วในสัตว์มาแล้วก็ตาม อีกทั้งผลข้างเคียงร้ายแรงหลายชนิด ก็มักปรากฏขึ้นในขั้นการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ ไม่สามารถนำข้อมูลจากสัตว์ทดลองอ้างอิงได้ทั้งหมด

 

          ปัจจุบันจึงเริ่มมีการมองหาแนวทางทดสอบแทนการใช้สัตว์ทดลองเพื่อความแม่นยำยิ่งกว่า เช่น

 

          - Organs-on-chips ชิปสามมิติขนาดเล็กสร้างขึ้นจากเซลล์และเนื้อเยื่อของมนุษย์ มีหน้าที่ทำงานเหมือนอวัยวะขนาดเล็ก นำมาใช้ตรวจสอบการตอบสนองต่อยาหรือสารเคมีต่างๆ ของมนุษย์ได้ สามารถจำลองอวัยวะต่างๆ ทั้งหัวใจ ตับ ไต ปอด และเชื่อมต่อกันเป็นร่างกายเพื่อประเมินผลกระทบต่อภาพรวมได้ด้วย

 

          - ใช้การจำลองของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อปัจจุบันคอมพิวเตอร์ทันสมัยและได้รับการพัฒนามากขึ้น จึงสามารถคาดการณ์ผลกระทบตากยาหรือสารเคมีแต่ละชนิดที่จะส่งผลกระทบต่อคนเราได้แม่นยำยิ่งขึ้น

 

          - เนื้อเยื่อ 3 มิติ อาศัยการพิมพ์เนื้อเยื่อจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างอวัยวะขนาดจิ๋วที่มีโครงสร้างแบบเดียวกัน แล้วนำมาใช้ในการทดสอบยา

 

          แน่นอนว่าในจำนวนนี้หลายเทคโนโลยีอยู่ในขั้นทดลองแต่มีบางส่วนเริ่มการใช้งานไปแล้ว เช่นชิปสามมิติจำลองอวัยวะกับการใช้ยา Empagliflozin เพื่อป้องกันอาการไตวายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการบำบัดทางเคมี และช่วยให้สามารถข้ามขั้นตอนการทดสอบในสัตว์โดยไม่ต้องทดสอบในสัตว์ทดลองเพิ่มเติม

 

          แต่นั่นหมายความว่าเราจะสามารถเลิกใช้สัตว์ทดลองได้โดยสิ้นเชิงอย่างนั้นหรือ?

 

 

          ประโยชน์ในการใช้งานสัตว์ทดลองกับการควบคุม

 

          ถ้าจะให้พูดในปัจจุบันการยกเลิกใช้สัตว์ทดลองจากระบบโดยสิ้นเชิงคงเป็นไปได้ยาก เมื่อการทดลองในสัตว์ยังจำเป็นในหลายขั้นตอน แม้มีการคิดค้นอุปกรณ์และเทคโนโลยีทดแทนขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเราได้ประโยชน์จากการทดลองในสัตว์มากมาย เช่น

 

          - การวิจัยนำตับอ่อนออกจากสุนัขที่มีชีวิตช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นำไปสู่การค้นพบอินซูลินที่รักษาชีวิตผู้ป่วยเบาหวานหลายล้านคน

 

          - วัคซีนโปลิโอ พัฒนาขึ้นหลังการทดสอบกับสัตว์ และช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตและพิการจากโรคนี้ได้นับล้าน

 

          - เซรุ่มแก้พิษงู ถูกนำมาสกัดจากเลือดของม้าที่ถูกฉีดพิษชนิดเดียวกันเข้าไปในร่างกาย

 

          - วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี สามารถเกิดขึ้นได้จากการทดสอบในลิงชิมแปนซี

 

          - ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านม, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มาลาเรีย, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ไปจนอาการบาดเจ็บทางสมองหลายแขนง อาจเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่มีวันเกิดขึ้นได้หากไม่มีการทดลองในสัตว์

 

          - วัคซีนโควิด-19 ด้วยการสังเกตอาการจากหนูที่ติดเชื้อ จึงสามารถผลิตวัคซีนรวมถึงยาต้านไวรัสขึ้นมาได้สำเร็จ

 

          นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงไม่สามารถยุติการใช้งานสัตว์ทดลองได้เสียทีเดียว ด้วยบางครั้งมันเกี่ยวพันกับชีวิตคนและสามารถรักษาชีวิตได้นับล้าน ที่ถึงไม่อยากยอมรับแต่ในความจริงยารักษาโรคหลายชนิดตามท้องตลาด ก็ล้วนประสบความสำเร็จจากการทดลองในสัตว์ทั้งสิ้น

 

          แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราทำอะไรไม่ได้ ปัจจุบันหลายประเทศทยอยร่างกฎหมายควบคุมการทดลองในสัตว์ ประเทศไทยเองก็มีการออก พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ 2558 หรือ พรบ.สัตว์ทดลอง เพื่อให้มีการใช้สัตว์ทดลองถูกต้องตามหลักวิชาการ และควบคุมคุณภาพการดูแลสัตว์ทดลอง ไม่ให้มีความเจ็บป่วยทรมานเกินจำเป็น

 

          ความเคลื่อนไหวนี้ก็สร้างผลกระทบตามมาในหลายประเทศ ปัจจุบันประเทศในสหภาพยุโรป 27 ประเทศ, อิสราเอล อินเดีย, นอร์เวย์, และไต้หวัน ได้ประกาศให้การทดลองเครื่องสำอางในสัตว์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้แต่จีนเองยังเริ่มมีการผ่อนปรนข้อบังคับ เพื่อลดการใช้งานสัตว์ทดลองบ้างแล้วเช่นกัน

 

 

          ในอนาคตเราอาจไม่สามารถทำให้การทดลองในสัตว์หมดไปได้ก็จริง แต่ลดจำนวนลงให้เหลือน้อยเท่าที่จำเป็น น่าจะเป็นทางประนีประนอมแก่ทั้งสองฝ่ายมากที่สุด และลดกระทบที่เกิดต่อสัตว์ทดลองและมนุษย์ลงมากที่สุดด้วย

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/politic/report/415864

 

          https://www.bangkokbiznews.com/business/934134

 

          https://www.iflscience.com/first-drug-developed-using-no-animal-testing-submitted-for-fda-approval-59030

 

          https://www.the101.world/animal-testing/

 

          https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2694108

 

          https://www.efpia.eu/news-events/the-efpia-view/blog-articles/fitting-vaccine-research-into-one-year-were-animals-used/

 

          https://crueltyfreeinternational.org/about-animal-testing/facts-and-figures-animal-testing

 

          https://www.humanesociety.org/resources/animals-used-experiments-faq#kinds