posttoday

เรื่องเล่าความขัดแย้งกับความกลัว

09 เมษายน 2564

โดย...โคทม อารียา

*******************

เหตุการณ์เข่นฆ่านักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้คิดถึงเรื่องเล่าความขัดแย้งและความเกลียดชัง ที่ระดมผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะวิทยุยานเกราะ คิดถึงการจัดตั้งเตรียมการของกองกำลังนอกระบบที่เรียกว่าขวาพิฆาตซ้าย คิดถึงเหตุการณ์จุดชนวนเมื่อมีหนังสือพิมพ์นำภาพที่เติมแต่งไปลงว่าภาพนั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังเหตุการณ์ ทหารก็ยึดอำนาจ เรื่องเล่าความขัดแย้งอาจนำไปสู่ความกลัวและความเกลียด เพราะมักจะมองและเล่าว่าอีกฝ่ายหนึ่งคืออวตารแห่งความชั่วร้าย เมื่อเกลียดมาก ๆ เข้า จะลงมือทำร้ายโดยอ้างว่าการทำร้ายคือการช่วยกำจัดความชั่วร้ายอันเป็นสันดานของคนที่ถูกกำจัดนั่นเอง อันที่จริง เรื่องเล่าที่มาจากความกลัวนั้น ก็จริงบ้างจินตนาการขึ้นมาบ้างใช่หรือไม่

มีคนส่งบทความบทหนึ่งมาทางเฟสบุ๊ก พร้อมคำขึ้นต้นว่า “นักเรียน นักศึกษากลุ่มม็อบสามนิ้วต้องอ่านนะครับ... คนไทยทุกคนก็ต้องอ่านนะครับ... เขียนได้ตรงประเด็น มีเหตุผล ได้ความจริง เยี่ยมมาก ๆ ... อยากให้ส่งต่อกันไปให้มาก... เพื่อประเทศไทยที่รักของเรา” บทความนั้นตั้งชื่อว่า “โลกวิปริตหรือคนสิ้นคิดกันแน่

ผู้เขียนวางตนเป็นผู้เฉลยคำถามที่ตนตั้งไว้ เช่น คำถาม: ทำไมต้องสลายม็อบ คำตอบ: ทำไมต้องก่อม็อบผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน

คำถาม: ทำไมตำรวจต้องรุนแรง

คำตอบ: เขาเตือนอย่างสุภาพให้เลิก ทำไมไม่เลิก เขาดำเนินการอย่างละมุมละม่อม แต่นักการเมืองชั่วบิดเบือนใส่ร้ายตำรวจ

คำถาม: ทำไมพวกก่อม็อบถึงเรียกร้องประชาธิปไตย

คำตอบ: เพราะมีนักการเมืองขี้โกงและแพ้เลือกตั้งอยู่เบื้องหลัง สมคบกับม็อบก่อความวุ่นวาย

คำถาม: ทำไมจึงอยากแก้รัฐธรรมนูญ

คำตอบ: เพราะเป็นกฎหมายปราบโกง นักการเมืองขี้โกงจึงไม่เอา

คำถาม: ทำไมเศรษฐกิจถึงไม่ดี

คำตอบ: เพราะคนรุ่นใหม่หันไปซื้อขายออนไลน์ ห้างร้านปิดตัว เก็บภาษีไม่ได้ ถ้ารัฐขาดรายได้ เราจะได้เรียนฟรี รักษาฟรี ข้าราชการจะมีเงินเดือนไหม

คำถาม: ทำไมถึงไล่นายกฯ

คำตอบ: นายกฯรับมือโควิดได้ดี คนสองสามหมื่นคนที่คิดไล่เป็นคนสิ้นคิด

คำถาม: ทำไมม็อบถึงวิจารณ์ระบอบกษัตริย์

คำตอบ: ระบอบนี้คอยช่วยเหลือประชาชนรากหญ้า มีโครงการกว่า 1,000 โครงการ นอกจากเกาะประเทศนี้กิน ม็อบทำอะไรให้ประเทศนี้บ้าง

คำถาม: ทำไมคน 2% ต้องการเอาชนะคนส่วนใหญ่ 98%

คำตอบ: เพราะเป็นขี้ข้านักการเมืองชั่ว ที่ยุแยงแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์อย่างไม่ลืมหูลืมตา

คำถามกลับถามม็อบ: ทำไมถึงเป็นขี้ข้าตะวันตก ทำไมต้องให้ประเทศนี้ฉิบหายเพราะม็อบชั่วทำลายชาติและนักการเมืองชั่วบ้าอำนาจไม่กี่คน

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายขวาตกขอบมุ่งเป้าไปที่นักศึกษาที่ถูกมองว่าตกเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ ตอนนี้ฝ่ายขวาบางคนกลับเห็นว่าคอมมิวนิสต์จีนหรือเวียดนามดีกว่าประชาธิปไตยเสรีของตะวันตก

ผมพยายามครุ่นคิดว่า ฝ่ายขวาตกขอบกลัวอะไร กลัวฝ่ายที่เขาอ้างว่าต้องการล้มเจ้าที่มีอยู่ 2% หรือกลัวว่าเยาวชนจะมาทำลายเศรษฐกิจ หรือกลัวนักการเมืองฝ่ายค้านที่บ้าอำนาจ หรือกลัวการคอรัปชั่นที่นักการเมืองผู้แสวงประโยชน์กำลังกอบโกยอย่างไม่ลืมหูลืมตา (อันที่จริง คนที่โกงมักมีอำนาจในทางราชการประจำหรือราชการการเมือง โดยร่วมมือกับคนมีเงินมิใช่หรือ) หรือกลัวเยาวชนจะไม่รู้เท่าทันนักการเมืองที่คอยยุแยง

แต่ผมเดาว่า ความกลัวที่พออ่านได้จากบทความทิ่อ้างถึงนั้น แม้ดูผิวเผินและอ้างขึ้นลอย ๆ ก็ตาม แต่อาจบ่งบอกถึงความกลัวและความหวั่นวิตกว่าบ้านเมืองกำลังเดินผิดทาง (ไปสู่ทุคติ) กลัวว่าเยาวชนที่กำลังตั้งข้อกังขาจะไม่คล้อยตามสิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนบอกให้เชื่อ (บอกด้วยความ “รักในขนบธรรมเนียมประเพณี”)

อันที่จริง เป็นธรรมดาที่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์จะขัดแย้งกันในเชิงความคิดและการดำเนินนโยบาย เราจึงควรมีเวทีที่เป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้าง ให้ความเห็นต่าง ๆ มาถกแถลง มีเหตุผลและข้อมูลเชิงประจักษ์มาหักล้างกัน มิใช่มาชี้หน้าประณามแล้วบอกว่า เรื่องเล่าของฉัน “มีเหตุผล ได้ความจริง เยี่ยมมาก ๆ” ที่ฟังดูคล้ายการปลุกระดมมากกว่า เราต้องระวังมิให้ความกลัวนำไปสู่โศกนาฏกรรมดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้ว

โศกนาฏกรรมของการสังหารหมู่ครั้งใหญ่อันเนื่องมาแต่ความกลัวเคยเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาสองครั้งแล้ว คือการสังหารคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียโดยกองกำลังของซูฮาร์โต ในปี พ.ศ. 2508-09 ที่มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน

อีกโศกนาฏกรรมหนึ่งเนื่องมาแต่การขับไล่คนออกจากเมืองใหญ่ ๆ ของกัมพูชาในสมัยเขมรแดงในปี พ.ศ. 2522 ครั้งนั้น มีการประมาณว่าผู้เสียชีวิตอาจมีมากถึง 2 ล้านคน

ส่วนเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นที่รวันดาในปี พ.ศ. 2537 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้วนั้น ประมาณว่ามีชาวทุตซีและชาวฮุตตูที่ไม่สุดโต่งเสียชีวิตราว 0.8 ล้านคนภายใน 100 วันโดยมีรัฐบาลฮุตตูนำการสังหาร และมีทหารอาสาสมัครอินเตราฮัมเว กับทหารอาสาสมัครอิมปูซามูกัมบี เป็นผู้ลงมือสังหารหมู่

กรณีของรวันดามีประเด็นน่าคิดคือ เวลาเรากล่าวถึงชาติพันธุ์ จะนึกถึงภาษาและศาสนาอันเป็นอัตลักษณ์ที่ต่างไปจากชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้กัน แต่ชาวฮุตตูและตุตซีพูดภาษาเดียวกัน ต่างก็ถือศาสนาคริสต์ และแต่งงานระหว่างกัน เดิมดูเหมือนว่าจะให้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในการจำแนก คือชาวตุตซีมีฐานะดีกว่านั่นเอง

ในตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือเบลเยี่ยมมาเป็นเจ้าอาณานิคมแทนเยอรมัน เพื่อความสะดวกในการปกครอง ชาวเบลเยี่ยมได้เพิ่มเกณฑ์ทางกายภาพในการจำแนกคือ คนที่ตัวสูงและผอม จะจัดเป็นชาวตุตซี และคนที่เตี้ย อ้วนเป็นชาวฮุตตู

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นประมาณกลางกลางคริสตศตวรรษที่ 20 คือ การเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ชาวฮุตตู ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้นตามลำดับจนใกล้เคียงกับชาวตุตซี ในทางการเมือง ชาวฮุตตูที่มีจำนวนมากกว่า มักได้อำนาจการปกครอง แต่ชาวตุตซียังดำรงตำแหน่งสำคัญในทางราชการและการทหาร อย่างไรก็ดี เกิดการตาลปัตรคือ ชาวตุตซีกลับถูกเลือกปฏิบัติ ความตึงเครียดและการสู้รบเกิดขึ้นเนือง ๆ

ในต้นทศวรรษ 1990 ตอนนั้นประธานาธิบดีเป็นชาวฮุตตู องค์การสหประชาชาติได้เข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับแนวร่วม RDF (Rwanda Democratic Front) ซึ่งเป็นของชาวตุตซีและมีฐานที่มั่นในยูกานดา ที่ซึ่งมีชาวตุตซีอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง รัฐบาลกับ RDF เจรจากันที่ทานซาเนียและบรรลุข้อตกลงที่เรียกชื่อว่าข้อตกกลงอารูชา ขณะที่เครื่องบินของประธานาธิบดีบินกลับเมืองหลวง ก็ถูกยิงและทุกคนในเครื่องเสียชีวิตลง

นี่คือเหตุการณ์จุดชนวน แม้ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนยิงเครื่องบิน เพราะอาจเป็นฝ่ายฮุตตูกันเองที่มองว่าประนาธิบดีทรยศ หรืออาจเป็นฝีมือของชาวตุตซี อย่างไรก็ดี การปูทางแห่งความกลัวได้ดำเนินมาหลายปีแล้ว โดยคำโฆษณาชวนเชื่อว่า RDF เป็นกองกำลังต่างด้าว ที่มีเจตนาฟื้นฟูมหากษัตริย์ตุตซีและจับฮุตตูมาเป็นทาส ความกลัวนี้ประกอบกับความแค้นที่มีมายาวนาน ทำให้การฆ่าล้างชาวตุตซีเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นหลังเครื่องบินตก และดำเนินไปอย่างเป็นระบบโดยการสนับสนุนของรัฐบาลและโดยทหารอาสาที่ตั้งขึ้น

ระหว่างนั้นอดีตเจ้าอาณานิคมต่างนิ่งเฉย เวลาผ่านไปหนึ่งร้อยวัน RDF โดยการสนับสนุนของยูกานดาจึงเคลื่อนกองกำลังเข้ารวันดา ทำให้ชาวฮุตตูกว่าล้านคนต้องลี้ภัยไปอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

กว่าบาดแผลทางจิตใจจากการฆ่าฟันและการสู้รบจะเบาบางลง และพลเมืองหันมายึดถือความเป็นชาวรวันดามากกว่าชาวฮุตตูและชาวตุตซี ที่ถูกสมมุติให้เป็นชาติพันธุ์ที่แยกห่างอย่างเลื่อนลอยเพื่อความสะดวกในการปกครองของชาวเบลเยี่ยมนั้น ก็ต้องใช้เวลาร่วมสองทศวรรษ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวไทย จะไม่หลงเชื่อเรื่องเล่าความขัดแย้งดังในตัวอย่างบทความที่ยกมาอ้างข้างต้น ความขัดแย้งย่อมมีอยู่ แต่เรื่องเล่าความขัดแย้งแบบตัดเชือกและแบบกล่าวหาอย่างเร้าอารมณ์นั้น ไม่ช่วยให้เราเข้าใจความคิดความเห็นที่ต่างกัน เยาวชนย่อมคิดต่างจากผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่ย่อมคิดต่างได้เช่นกัน ใครมีอำนาจ ใครรังแกใครก็พอเห็นกันอยู่ อย่าปลุกความกลัวให้เบียดเบียนกันมากขึ้นเลย

ถ้าสู้กันทางสื่อ ทางกฎหมาย ทางกำลัง ฯลฯ เยาวชนย่อมไม่มีทางสู้ ไม่จำเป็นต้องโทษนักการเมืองชั่วเลย เพราะนักการเมืองคือบุคคลสาธารณะที่นั่งอยู่ในรัฐสภาและใน ครม. พวกเขาจะเป็นคนดีเฉพาะที่เป็นพวกเราเท่านั้นหรือ อย่าอ้างความดีแล้วตัดสินคนอื่นอย่างสุดโต่งเลย อย่าให้เรื่องเล่าความขัดแย้งคราวนี้สร้างบาดแผลขึ้นมา จนกลายเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและต้องเยียวยากันอีกนาน