posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (15)

07 สิงหาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

ใครที่อยากอ่านขุนช้างขุนแผนฉบับย่อให้ไปที่วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังวิเคราะห์เรื่องขุนช้างขุนแผนไว้อีกมาก โดยเฉพาะในมุมมองด้านรัฐศาสตร์ แต่ผู้เขียนอยากจะขอพาท่านผู้อ่าน “แว้บ” ไปเปลี่ยนบรรยากาศสักเล็กน้อย เพื่อไปเที่ยวในสถานที่ที่เป็น “ที่เกิดเหตุ” ของโศกนาฏกรรมชีวิตเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น

ช่วงก่อนโควิดระบาดหนัก ผู้เขียนเกิดนึกอยากจะรับประทานกุ้งทอดเกลือเจ้าดังที่อำเภอบางปลาม้า เลยขับรถพาครอบครัวไปรับประทาน เสร็จแล้วเลยถือโอกาสไปไหว้พระที่วัดป่าเลไลยก์ ตามประวัติบอกว่าสร้างมาตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงสุโขทัย โดยพระเจ้ากาแต กษัตริย์เชื้อสายมอญ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์ใหญ่ สูง 23 เมตรเศษ (ประมาณตึก 7 ชั้น) เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบอู่ทอง (บ้างก็ว่าอาจจะเก่าแก่ถึงสมัยทวารดี) ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์”

แรกสร้างคงตั้งไว้กลางแจ้ง ต่อมาจึงได้มีการก่อพระวิหารครอบ เคยรุ่งเรืองมากในสมัยอยุธยา ในสมัยที่รัชกาลที่ 4 ยังผนวชอยู่ ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มาสักการะที่วัดนี้ ตอนนั้นยังมีสภาพเป็นวัดร้าง ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าหากได้ขึ้นครองราชย์จะมาบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว จึงให้ขุดคลองจากแม่น้ำท่าจีน(ช่วงที่ผ่านเมืองสุพรรณนี้จะเรียกว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี) เข้ามาจนถึงวัด เพื่อให้เรือบรรทุกซุงขนาดใหญ่สามารถล่องเข้ามาถึงวัด และทำการบูรณะครั้งใหญ่อย่างที่มีสภาพสวยงามมาถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ถ้ามองขึ้นไปที่หน้าบันของพระวิหาร ก็จะเห็นตราปูนปั้นเป็นรูปองค์พระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชลัญจกรณ์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่4 ประดับไว้

ผู้เขียนเคยไปวัดป่าเลไลย์มาหลายครั้ง ส่วนมากก็ไปเฉพาะไหว้หลวงพ่อโตเป็นหลัก บางครั้งก็แวะไปดูเรือนขุนช้างอันใหญ่โตโอ่อาที่ด้านหลังพระวิหาร หน้าเรือนขุนช้างตรงมุมรั้วด้านขวามือ มีศาลาไทยหลังย่อม ๆ เป็นพิพิธภัณฑานุสรณ์ “พ่อครูขุนพลเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ” ซึ่งเป็นคนสุพรรณโดยกำเนิด คุณแม่เป็นคนตำบลท่าพี่เลี้ยง ที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2513 อันเป็นปีที่พ่อครูถูกยิงเสียชีวิต อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับพ่อครูเท่าใดนัก

แต่ในสมัยเมื่อ 50 กว่าปีก่อนที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่กลางท้องนา ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง จะต้องได้ฟังเพลงของพ่อครูที่เปิดผ่านสถานีวิทยุนับร้อยในสมัยนั้นอยู่แทบจะทุกชั่วโมง เพราะไม่ว่าจะหมุนคลื่นไปสถานีไหนก็จะต้องมีเพลงของพ่อครูเปิดให้ฟังด้วยกันทั้งสิ้น

ครั้งหลังสุดที่ไปวัดป่าเลไลยก์จึงได้มีโอกาสไปเดินชมที่ระเบียงวิหารคดที่โอบล้อมพระวิหารที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโตนั้น โดยเมื่อเราเดินออกจากพระวิหารมาทางด้านซ้ายมือ จะมองเห็นระเบียงวิหารคดเป็นรูปตัวยูขนาดใหญ่ โอบไปด้านหลังพระวิหาร มีขนาดราวครึ่งสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน มุมซ้ายมือตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินชม ที่จะเป็นรูปวาดของตัวละครสำคัญ ๆ ของเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นบานแผนกแรก แต่ละภาพจะมีขนาดกว้างประมาณ3เมตร สูงถึงสองเมตรเศษ ทุกรูปจึงต้องแหงนคอดู เพื่อให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ เพราะฝีมือการวาดหลายรูปมีความสวยงามมาก เป็นภาพวาดแบบไทย

แต่เป็นไทยร่วมสมัยที่ดูมีชีวิตชีวา เพราะจิตรกรสามารถวาดแสดงสีหน้าท่าทางของตัวละครต่าง ๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่ไม่สามารถจดจำชื่อจิตรกรได้ทั้งหมด และสำหรับผู้เขียนที่ชื่นชอบบ้านไทย เพราะเคยไปนอนอยู่ที่บ้านไทยในซอยสวนพลู ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนที่ไปทำงานอยู่ที่บ้านสวนพลูนั้นกว่าสิบปี จึงดื่มด่ำกับภาพวาดเรือนไทยแบบต่าง ๆ ในหลาย ๆ ภาพ ซึ่งจิตรกรได้ตั้งใจใส่รายละเอียดต่าง ๆ ลงไปในภาพได้อย่างวิจิตรบรรจง อันแสดงถึงความรู้ความเข้าใจของจิตรกรในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตไทยและความเป็นไทย รวมถึงศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมไทยทั้งหลายนั้นได้เป็นอย่างดี

รูปภาพทั้งหมดมีอยู่ราว 50 ภาพ ตลอดความยาวเกือบ 200 เมตรของระเบียงวิหารคดนั้น แต่ละภาพจะมีกลอนจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เขียนประกอบวางไว้ข้างใต้ภาพเพื่อให้ทราบเรื่องราวไปอย่างต่อเนื่องในทุกภาพเหล่านั้น ที่สำคัญทำให้เราซึมซับอารมณ์กวีได้เป็นอย่างดี เพราะมีทั้งรูปภาพและร้อยกรองที่สอดคล้องส่งเสริมกัน ทำให้พวก “ขุนแผนอิสซึ่ม” อย่างผู้เขียนได้รับความอิ่มเอม ทั้งทางสายตาและจิตใจอย่างเต็มที่ เสียดายที่มีเวลาไม่มาก แต่กว่าจะเดินถ่ายรูปภาพวาดเหล่านั้นทุกรูป เพื่อกลับเอามาอ่านภายหลัง ก็ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง แม้เมื่อเดินออกมาจะกลับกรุงเทพฯ ก็ยังเหมือนว่าเรายังเดินอยู่ในเมืองสุพรรณบุรีในยุคขุนช้างขุนแผนด้วยความดื่มด่ำ เพราะภาพและเรื่องราวต่าง ๆ ยังคงติดตาติดใจ อย่างกับว่าทุก ๆ ภาพนั้นได้ถูกบันทึกเป็นไฟล์ดิจิตอลไว้ในความทรงจำที่มิอาจจะลบเลือนได้

ในตอนที่ไปวัดป่าเลย์ไลยก์ในครั้งนั้น ยังไม่มีการประกาศให้วัดในประเทศไทยงดขายสิ่งของเกี่ยวกับพระพุธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า “พุทธพาณิชย์” ผู้เขียนจึงได้เดินไปชมและเช่าพระเครื่องบางแบบมาบูชาที่ศาลาด้านหน้าพระวิหารหลวงพ่อโต โดยตั้งใจจะไปเช่าพระขุนแผนแบบเคลือบ ซึ่งว่ากันว่ามีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ใครเห็นใครรัก ใครเห็นใครชอบ แต่ความจริงผู้เขียนชอบเพราะเอามาเก็บไว้เป็นที่ระลึกนั้นมากกว่า

และของดีอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาในครั้งนั้นก็คือ “สาลิกา” ที่ซื้อมาก็เพราะเห็นใจในความอุตส่าห์พยายามของคนทำ ที่น่าจะเป็นศิลปินอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะต้องเอามีดเล็ก ๆ ขนาดปลายนิ้วก้อย ค่อย ๆ แซะเข้าไปในท่อนไม้ดำ ๆ (ทราบว่าต้องใช้ไม้กาฝากเท่านั้นจึงจะขลัง) ขนาดแท่งดินสอตัดสั้น ๆ สักท่อนละ 2 เซนติเมตร สักครู่ราว 5 นาทีก็เกิดเป็นรูปนกสีขาวดำ เพราะส่วนที่เป็นเปลือกไม้จะไม่ถูกแกะ แค่ส่วนที่เป็นปาก ขอบตา และลายขนนกนั้นจะถูกถากเปลือกออกและแกะลายจนเห็นเป็นเส้นสีขาว ซึ่งต้องใช้ความชำนาญมาก จึงจะทำให้มองเห็นเป็นนกตัวจิ๋วพร้อมกับความละเอียดสวยงามนั้น แต่ละตัวนี้จำหน่ายในราคา 20 บาทเท่านั้น

ผู้เขียนจึงซื้อมาด้วยความชื่นชมในฝีมือและความพยายามดังกล่าว โดยได้ผลพลอยได้เป็นความรู้สึก “พองเต็มอก” เหมือนว่าได้มีของดีประจำตัว อย่ากับได้เป็น “ขุนแผน” ขึ้นมาทันที เพราะสาลิกาหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “สาลิกาลิ้นทอง” นี้ ว่ากันว่ามีสรรพคุณด้านเมตตามหาเสน่ห์ พูดอะไรออกไปก็มีคนเชื่อถือและเคารพนับถือ

ไม่ใช่แค่พูดหาแฟนหรือให้สาว ๆ ชอบ แต่อาจจะพูด “เอาบ้านเอาเมือง” ได้เลยทีเดียว ถ้าไม่เชื่อก็ไปถามนักการเมืองที่เมืองสุพรรณนั้นดูได้