posttoday

คุณครูจ๋า…เมื่อไหร่จะว่างสอนหนู?

18 มิถุนายน 2557

เมื่อ 365 วันของอาชีพ "ครู" เต็มไปด้วยภาระสารพัด ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสอนลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

เมื่อ 365 วันของอาชีพ "ครู" เต็มไปด้วยภาระสารพัด ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสอนลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล เมื่อปี 2556 โดยเก็บข้อมูลจากครูทั่วประเทศ จำนวน 2,508 คน ระบุว่า "ปัญหาหนักอก" ที่ครูต้องเผชิญมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ ภาระของครูมีมากเกินไป ต้องทำหลายหน้าที่ทั้งงานบริหาร งานเอกสารและงานวิชาการ ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดเตรียมการเรียนการสอน

สอดคล้องกับการศึกษาของโครงการติดตามสภาวะการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) โดยสถาบันรามจิตติ พบว่าครูมีภาระสอนมากเฉลี่ย 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทว่าหลายคนยังต้องควบสอนทั้งลูกเสือเนตรนารี แนะแนว และวิชาอื่นๆสูงสุดถึง 10 วิชา นอกจากนั้นยังมีงานด้านธุรการ การเงิน พัสดุ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนอีกด้วย

คำถามที่เด็กนักเรียนสงสัยก็คือ "คุณครูจ๋า เมื่อไหร่จะว่างสอนหนูสักที!!!

ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจจากการลงพื้นที่พูดคุยกับครูในปัจจุบันให้ฟังว่า

"สาเหตุทั่วไปที่ครูไม่มีเวลาสอนคือ 1.ครูมีงานพิเศษต้องทำ เช่น งานการเงิน พัสดุ วิชาการ บริหารทั่วไป กิจการนักเรียน บริหารบุคคล 2.มีการอบรมบ่อยครั้ง ไม่รู้จะอบรมอะไรต่อมือะไรหนักหนา ครูบางคนทำงานหลายอย่างก็ต้องอบรมหลายครั้ง 3.ครูเอาเวลาไปทำผลงานวิชาการ อย่างมากก็แค่แจกใบงานแก่นักเรียน จึงเป็นปัญหาว่าครูมีผลงานทางวิชาการสูง แต่ผลสัมฤทธิ์นักเรียนต่ำ 4.ครูหลายคนไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครู"

ขณะเดียวกันก็ได้ยกตัวอย่างภาระหน้าที่ประจำวันของครูร.ร.มัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งว่าแต่ละวันต้องทำอะไรต่อมิอะไรต่างๆมากมาย

"มีครูรร.มัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งบอกว่าทุกๆวันต้องมาถึงโรงเรียนก่อนเด็กเข้าแถว 15 นาที คือ 7.25 น. เป็นครูพี่เลี้ยงให้นิสิตฝึกสอน (ครูที่เป็นพี่เลี้ยงนิสิตฝึกสอนได้ต้องมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 3 ปี) เตรียมการสอนคาบแรกและเริ่มสอนตอน 8.10 น. ทำแผนการสอน ที่ต้องมีทั้งปารปฐมนิเทศ ให้นร.เซ็นชื่อรับรองในแผน กำหนดเกณฑ์การให้คะแนน และบันทึกท้ายแผนหลังจากสอนครบทุกห้องแล้ว

ผลิตนวัตกรรมสื่อการสอนให้ทันสมัย  ทำวิจัยในชั้นเรียน ปฎิบัติตามโครงการวินัยเชิงบวกอย่างเคร่งครัด เป็นตำรวจโรงเรียนเดินตรวจในคาบที่ว่างตามที่ได้รับมอบหมาย ทำงานบริหารทั่วไปประจำการที่ห้องปกครอง คอยดูแลเอกสารงานฝ่ายบุคคล และอบรมตักเตือนนักเรียนที่ผิดระเบียบ ก่อนสุดท้ายจะเลิกงานกลับบ้านหลัง 17.00 น.เป็นต้นไป"

ตารางชีวิตช่างยุ่งยากชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าเสียเหลือเกิน จึงไม่น่าแปลกใจว่าที่ทำให้ครูมากกว่า 61.60 % สนใจอยากจะเออร์ลีรีไทร์ไปทำอาชีพอื่น !!!

"ครู และผู้บริหาร ในแต่ละโรงเรียนเหนื่อยกันมาก มีงานให้ทำมากมายเกินจำเป็น วันๆ ครูก็แทบจะเอาตัวเองจะไม่รอดอยู่แล้ว น่าเห็นใจเป็นที่สุด น่าแปลกที่บนภาระของครูที่มากมายนั้น ไม่ได้ทำให้เด็กเก่งหรือดีขึ้นแม้แต่น้อย ครูถูกดึงเวลาออกไปจากเด็กมากจนวันๆ แทบไม่ได้สอนหนังสือ เราน่าจะไปผิดทาง เพราะเมื่อเราเหนื่อยขึ้น งานมากขึ้น เด็กๆ กลับแย่ลง ปัญหาสังคมเยาวชน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั่วประเทศก็ตกต่ำอย่างน่าใจหาย"

คุณครูจ๋า…เมื่อไหร่จะว่างสอนหนู?

รัชนี อมาตยกุล ผู้บริหารโรงเรียนอมาตยกุล เคยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทำได้โดยง่าย ใช้เวลาสั้น แก้ปัญหาได้จริง ทั้งยังใช้งบประมาณไม่มากไว้ 10 ข้อดังนี้

1. ต้องรีบสร้าง Thailand model ให้กับทุกวิชา ทุกบท ทุกระดับชั้น ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ  ทำวิธีสอนให้ง่าย สั้น ประสิทธิภาพสูง ใช้ภาษาวิชาการให้น้อย เน้นให้ไปรวบรวมวิธีสอนแต่ละบทแต่ละเรื่องแต่ละระดับชั้นมาจากครูที่สอนดีทั่วประเทศที่ใช้วิธีการเหล่านั้นสอนและได้ผลมาแล้ว อย่าสร้างกรอบหรือเกณฑ์ในการคัดเลือกให้ยุ่งยาก มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่สอนแล้วเด็กเข้าใจเป็นพอ

2. จัดอบรมวิธีสอนแต่ละบทให้กับครูทั่วประเทศ ว่ากันเป็นบทๆ เลย   ต้องอบรมกันแบบหวังผล ไม่เน้นพิธีเปิด พิธีปิด coffee brake เน้นสาระ พิธีเปิดปิดไม่ต้องมี ว่ากันแบบประหยัดเวลา ตรงเป้า  

3. ให้รัฐจัดหาสถานที่ทำศูนย์สำหรับครู  (teacher  center)   เป็นที่สบายๆ ณ มุมใดมุมหนึ่งของจังหวัด สำหรับครู มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กัน มี 1 จังหวัด  1 ศูนย์  ที่ที่ครูสามารถมาพบปะแลกเปลี่ยนวิธีการสอน  แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ รัฐสนับสนุนเพียงสถานที่และหนังสือ  สื่อต่างๆ  นอกจากนี้ขอให้มีกฎกติกาน้อยๆ เปิดวันเสาร์ – อาทิตย์ด้วย เพราะเป็นวันที่ครูหยุด ทำแบบนี้ไม่น่าเปลืองงบประมาณสักเท่าไหร่ ดีกว่าให้ครูไปอยู่ตามศูนย์การค้า

4. จัดให้มีระบบ call center แบบ 1133  สายตรงการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาฯ เพื่อช่วยครูในเรื่องต่างๆ เช่น  ช่วยแนะนำวิธีการสอน ช่วยแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ เป็นแหล่งรวมข้อมูล ถามอะไรตอบได้ 

5. ปฏิรูปสถาบันที่สอนครูเป็นการด่วน  ให้ครูที่จบออกมาสอนได้ พูด คิด เป็น รอบรู้ ติดอาวุธให้นักศึกษาครู ให้สอนทุกบทแบบ Thailand Model ในข้อ 1 ให้ครบก่อนจบออกมา ควรนำ Thailand Model นี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกหัดครู เรียกว่าเรียนให้ตรงเป้า  จบมาทำงานได้จริง

6. เปิดช่องทางอนุญาตให้ผู้ที่จบสาขาอื่น เช่น วิศวกร แพทย์ นักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานมาจนอิ่มตัวแล้ว รอบรู้มาก มาเป็นครูได้ง่ายกว่าปัจจุบัน  เช่น  จัดอบรมวิธีสอนตามข้อ 1 ใครซ้อมสอนตาม Thailand model ได้ ก็ได้ใบประกอบวิชาชีพ ดีกว่าจัดให้สอบแบบทุกวันนี้ เพราะคนที่สอบผ่าน ก็อาจจะสอนไม่เป็น ตัวข้อสอบเอง ก็ไม่ได้วัดความสามารถในการสอน

7. เมื่อวิธีการสอนได้รับการปรับปรุงแล้ว วิธีการประเมินก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน  เปลี่ยนข้อสอบให้เหมาะสม อย่าออกข้อสอบกำกวม  มีหลายคำตอบ แล้วแต่จะคิดหรือข้อสอบที่ตอบแล้ว ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

8. ถ้าจะยังจะมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อยู่อีก ให้ลดตัวชี้วัดของสมศ.ลง ให้เหลือ 4 ตัวชี้วัดก็พอ  สมศ. ควรมาประเมินร.ร.ตามสภาพจริงที่ร.ร.เป็น ควรมีตัวชี้วัดง่ายๆ 4 ตัว ได้แก่ ครูตั้งใจและสอนดี เด็กดี  อาคารสถานที่ดี การบริหารงานดี ก็พอแล้ว อย่าต้องให้โรงเรียนเก็บตัวเลขอะไรมากมายมายแบบทุกวันนี้ 

9. รัฐสามารถช่วยลดภาระงานของครูลงได้โดยจ่ายเงินในโครงการต่างๆ ให้กับผู้ปกครองโดยตรง ทั้งเงินเรียนฟรีในโครงการ เงินอุดหนุนรายหัว  ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นคนทำหน้าที่นี้แทนครู  จะใช้ระบบภาษี เป็นค่าลดหย่อน หรือแบบคูปองการศึกษาก็ได้ ไม่ต้องผ่านโรงเรียน ครูจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่ากว่า

10. การปฏิรูปการศึกษา ควรให้ครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนจริงเป็นแกนนำ  ไม่ควรให้ครูเป็นผู้ปฏิบัติตามเท่านั้น เพราะผู้นำในการปฏิรูปควรสัมผัสปัญหาทั้งหมด เพื่อที่จะรู้ว่าควรจะปฏิรูปอะไร การปฏิรูปจะได้ตรงเป้าและประสบผลสำเร็จ

ผศ.ดร.พรทิพย์ ทิ้งท้ายในประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยว่า

"สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือครูต้องสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย ครูต้องเป็น Friend กับเด็กให้ได้ ถึงแม้เขาจะมีกรุ๊ปอะไรของเขาก็ตาม  คุณต้องไปทำความเข้าใจชีวิตเขา เข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นว่าความต้องการของเขาคืออะไร สนใจอะไรชอบอะไรไม่ชอบอะไร ครูต้องเข้าไปโต้ตอบ พูดคุยกับเด็ก ไม่ใช่ว่าเข้าไปเห็นเด็กพูดจา สนุกคึกคะนองกับเพื่อนๆ แล้วเราไปตำหนิ เพราะเขาจะบล็อคคุณทันที แต่ครูควรจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มกับเด็กให้ได้อย่างเข้าใจและเปิดเผย"

ขณะที่การปฏิรูปกำลังเป็นวาระของประเทศ และหนึ่งในนั้นคือเรื่องการศึกษา ฉะนั้นการปฏิรูปครูผู้สอนและภาระต่างๆที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ 365 วันใน 1 ปี คุณครูจะได้มีเวลาให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มที่