posttoday

"เก็บภาษีบ้าน" รัฐโยนภาระประชาชน

08 มีนาคม 2558

เสียงสะท้อนจากคนมีบ้าน คนขายบ้าน และคนเก็บภาษี พูดตรงกันขอให้รัฐทบทวนนโยบาย

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

ทันทีที่กระทรวงการคลังเปิดเผยรายละเอียดของอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพราะจะมีการเก็บภาษีบ้านอยู่อาศัยในอัตรา 0.1% จากเดิมที่ไม่เคยมีการเสียภาษีมาก่อน ทำให้คนที่มีบ้านมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทันที

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ รัฐบาลจะนำมาใช้ทดแทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเห็นว่าล้าสมัยทำให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ฐานราคาที่ดินที่นำมาคำนวณเก็บภาษีก็ใช้ราคาประเมินที่ดินปี 2521-2524 ทำให้เก็บภาษีได้ต่ำเกินไป

นอกจากนี้ ในกฎหมายทั้งสองฉบับมีการกำหนดเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินด้วย แต่ได้มีการลดหย่อนไม่เก็บภาษีที่ดินที่นำมาปลูกบ้านอยู่อาศัยเองตั้งแต่ 50ตารางวา-5 ไร่ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลไม่เก็บภาษีบ้านอยู่อาศัย

สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ผู้ดูแลกฎหมายเรื่องนี้โดยตรง กล่าวว่า ภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น รัฐกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บนำเงินไปพัฒนา สร้างความเจริญในท้องถิ่นตามนโยบายกระจายการบริหาร โดยมีรัฐบาลช่วยดูแล แต่ อปท.ทั้งประเทศเก็บภาษีได้ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือว่าต่ำเกินไป ทำให้รัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปอุดหนุนให้ท้องถิ่นปีละ 2.5 แสนล้านบาท

ตามแผนการกระจายอำนาจ รัฐบาลต้องกระจายเงินให้ อปท. โดยเบื้องต้นกำหนดสัดส่วนรายได้ทั้งหมดของ อปท.ต่อรายได้รัฐบาลไม่น้อยกว่า 20% และจะต้องเพิ่มเป็น 35% ในอนาคต รัฐบาลไม่ได้อะไรจากภาษีนี้ สิ่งที่ได้คือการลดภาระที่จะต้องเอางบประมาณแผ่นดินที่ควรเอาไปลงทุนด้านอื่นลงเท่านั้น

เหตุผลของการต้องรวมกฎหมายสองฉบับออกมาเป็นกฎหมายใหม่ เพราะรัฐเห็นว่ากฎหมายเดิมนั้นมีข้อบกพร่องมาก เช่น ฐานภาษีไม่มีความแน่นอน อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ประเมินภาษี มีการยกเว้นภาษีให้บ้านอยู่อาศัยไม่เป็นธรรม ไม่ได้ดูมูลค่าที่ดินและบ้านว่าแตกต่างกันมาก ทำให้เศรษฐีก็ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนคนจน เป็นต้น

ในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตราที่ 28 กำหนดอัตราภาษี 0.05% สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม และใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด

กำหนดภาษี 0.1% สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำเป็นที่พักอาศัย หรือใช้ในการทำเกษตรกรรมและใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยกว่า 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด

กำหนดภาษี 0.5% ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนอกจาก 2 ข้อข้างต้น และจะตราพระราชกฤษฎีกาให้ อปท.จัดเก็บภาษีตามที่กำหนด

กำหนดภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าในอัตราก้าวหน้า

\"เก็บภาษีบ้าน\" รัฐโยนภาระประชาชน

แต่อัตราภาษีดังกล่าวทำให้ประชาชนตกใจ เพราะจะต้องเสียภาษีรายปีสูงจนเหมือนกับการเช่าบ้านอยู่ จึงเกิดกระแสการต่อต้าน และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปทบทวนว่าอาจจะต้องมีการกำหนดยกเว้นผู้ไม่เสียภาษีเพิ่มอีกหรือไม่ เช่น บ้านหลังแรกไม่เก็บภาษี โดย พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าควรกำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสม ไม่สร้างภาระให้ผู้มีรายได้น้อย  และไม่ควรจะเก็บภาษีส่งเดช

ดังนั้น รมว.คลัง จึงออกมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า อัตราภาษีสูงสุดจะเริ่มเก็บสำหรับบ้านอยู่อาศัย คือ  0.1% เพดานสูงสุดไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่ทางกรมธนารักษ์กำลังทำการสำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี

จากตัวเลขตัวอย่างราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใน กทม. ที่ใช้เป็นเกณฑ์คิดภาษีซื้อขาย ประชาชนคาดกันว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่กรมธนารักษ์สำรวจราคาที่ดินใหม่ โดยคาดว่าจะสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอนตามความเจริญของพื้นที่เมือง นั่นหมายถึงการเสียภาษีในอัตราที่สูงลิ่ว

กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีให้สำหรับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะคิดมูลค่าของผู้ที่มีที่ดิน 15-20 ไร่ ไม่ต้องเสียภาษี บ้านและที่ดินราคาไม่เกิน 1ล้านบาท

ขณะที่บ้านเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเสียภาษี 50% ของอัตราที่จัดเก็บ ส่วนบ้านที่เกิน 3 ล้านบาท จะเสียเต็ม 100% ของอัตราที่จัดเก็บในส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท

ยกตัวอย่างเช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท เสียภาษีครึ่งหนึ่งของ 0.1% เท่ากับเสียภาษีปีละ 1,000 บาท บ้านราคา 3 ล้านบาท เสียภาษี 1,500 บาท บ้านราคา 4 ล้านบาท 3 ล้านบาทแรกเสียภาษีครึ่งหนึ่งของ 0.1% เท่ากับ 1,500 บาท ขณะที่อีก 1 ล้านบาท จะเสียภาษีเต็ม 0.1% เท่ากับ 1,000 บาท บ้านราคา 4 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,500 บาท ขณะที่บ้านราคา 5 ล้านบาท เสียภาษี 3 ล้านบาทแรก ครึ่งหนึ่งของ 0.1% เท่ากับ 1,500 บาท ส่วน 2 ล้านบาทหลัง เสียภาษีเต็ม 0.1% เท่ากับ 2,000 บาท บ้านราคา 5 ล้านบาท จะเสียภาษีรวม 3,500 บาทต่อปี เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายไม่ได้มีแค่นี้ เมื่อตกลงใจจะซื้อบ้านและจะต้องโอนสิทธิและจดจำนองหากกู้เงินจากธนาคาร ค่าใช้จ่ายแรกที่ผู้ซื้อจะต้องเตรียมเงินสดไว้เลยคือค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมินหรือราคาขาย โดยจ่ายคนละครึ่งกับเจ้าของโครงการ หรือเสียค่าโอน 1% และค่าธรรมเนียมจดจำนองกรณีที่กู้เงินซื้ออีก 1% ของมูลค่าจำนองทรัพย์สิน

นอกจากนี้ หากผ่อนบ้านในระดับราคาเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป เงินค่างวดจะเริ่มต้นที่ 8,000-10,000 บาทขึ้นไป ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ากองทุนส่วนกลาง  ค่าประกันอัคคีภัย เป็นต้น หากจะต้องเสียภาษีบ้านเป็นรายปี ล้านละ 1,000 บาท ก็เป็นภาระไม่ใช่น้อยสำหรับคนจน

แม้รัฐบาลจะอธิบายอย่างไร ก็คงไม่สร้างความกระจ่างแจ้งให้กับประชาชนได้ ว่าการเก็บภาษีบ้านจะลดความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวยได้อย่างไร เพราะบ้านคือปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อชีวิต บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อจะผ่อนบ้านสักหลังไว้อยู่อาศัย การกู้เงินซื้อบ้านปกติจะผ่อนกันตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจนถึง 30 ปี คนเป็นหนี้ค่อนชีวิต บางรายไม่เคยย้ายถิ่นที่อยู่ เวลานานไปที่ดินและบ้านแพงขึ้น กลายเป็นต้องเสียภาษีสูง

ที่แย่กว่านั้นคือ กลุ่มคนเกษียณอายุแล้วไม่มีลูกหลาน อาศัยเงินยังชีพจากดอกเบี้ยเงินฝากลำพังจะใช้จ่ายรายวันก็ลำบาก ต้องมาเสียเงินส่วนนี้อีก ยิ่งทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้น

ดังนั้น ข้อยกเว้นให้กับผู้ที่ไม่ต้องเสียภาษี กระทรวงการคลังอาจจะต้องคิดให้ละเอียด ไม่ให้ผู้มีรายได้น้อยลำบากจริงๆ หากรัฐบาลคิดทำให้ดีพอ อาจจะต้องไปชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เมื่อกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งสนช.คงได้รับกระแสร้องเรียนจากชาวบ้านมาไม่มากก็น้อย

เสียงจากท้องถิ่น : แนะรัฐบาลทบทวนใหม่

สมพงษ์ ศรีอนันต์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ชุมชนใหญ่ชานกรุง ซึ่งมีหมู่บ้านใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น หมู่บ้านเมืองเอก บอกว่า ประชาชนวิตกเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะเสนอการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จนเกิดกระแสคัดค้าน ไม่เห็นด้วยค่อนข้างหนาหู โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ต่างแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่เห็นว่า ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่มีบ้านและที่ดินเป็นการเพิ่มรายจ่าย ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม และมองว่าอัตราภาษีใหม่กระทบคนชั้นกลางมากกว่าคนรวย โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายจ่ายต่อเดือนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รัฐบาลควรมีความชัดเจน ควรมีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย แต่หากรัฐบาลยืนยันที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ ผู้บริโภคและประชาชนคงต้องมีการปรับตัว เพราะจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก

สำหรับเมืองใหญ่ที่เศรษฐกิจอยู่ในระดับแถวหน้าของประเทศ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยอดขายบ้านรวมทั้งคอนโดมิเนียมสูงอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง จ.ภูเก็ต สมใจ สุวรรณ
ศุพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า หากรัฐบาลมีนโยบายเช่นนี้ เทศบาลนครภูเก็ตก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ข้อคำนึงที่สำคัญคือ การเก็บภาษีเพิ่มจะต้องไม่กระทบกับประชาชน แต่ถ้ามีการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดี ทำการค้าได้ดี การเก็บภาษีต่างๆ ก็จะดีตามขึ้นไปด้วย แต่ทั้งนี้ การขึ้นภาษีจะต้องเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ถ้าวันนี้รัฐบาลให้อำนาจท้องถิ่นเก็บภาษีที่อยู่อาศัยเราก็จะเก็บ แต่คงไม่เก็บในอัตราแบบก้าวกระโดด เพราะคงเกิดผล
กระทบแน่ๆ คนไม่มีเงิน รายได้น้อยลง ไปเก็บภาษีเขาเพิ่มอีก ต้องเกิดผลกระทบแน่ๆ แต่เราจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นก็ไม่น่าจะเกิดผลกระทบ”

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต บอกว่า ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตมีภารกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้านทั้ง การศึกษา สาธารณสุข เพื่อสู่การเป็นเมืองนานาชาติ ส่วนด้านเศรษฐกิจสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวในเขตตัวเมืองเก่า เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมเป็นบ้านที่อยู่อาศัยอย่างเดียว ไม่เก็บภาษี แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น คนก็หันมาเปิดบ้านเป็นร้านขายของมากขึ้น เทศบาลก็เข้าไปเก็บภาษีได้โดยไม่มีผลกระทบ

“แม้ท้องถิ่นจะมีอำนาจการจัดเก็บภาษีโรงเรือน แต่เราก็ทำแบบเป็นขั้นตอนแบบนี้อยู่แล้ว เราช่วยตัวเองมาตลอด แม้เทศบาลนครภูเก็ตจะจัดเก็บรายได้เอง 27% ของงบประมาณที่ใช้ในแต่ละปี แต่ก็ไม่เพียงพอกับการแก้ไขเรื่องโครงสร้าง

พื้นฐานใหญ่ได้ เพราะภูเก็ตเป็นเมืองที่มีการเติบโตก้าวกระโดด งบประมาณที่ได้นับรายหัวของประชากรที่ลงทะเบียนราษฎรเท่านั้น ทั้งที่มีประชากรแฝงเข้ามาจำนวนมากเช่นกัน งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนมาให้นั้นถือว่าไม่ยุติธรรม ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเข้ามา 12 ล้านคน เราจึงต้องใช้งบประมาณอย่างประหยัด ขณะเดียวกันเราก็ต้องช่วยตัวเอง เพื่อต้องการให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพแข็งแรง สิ่งแวดล้อมดี เมื่อเป็นเช่นนี้ การเก็บภาษีก็ได้เพิ่มขึ้นแน่นอน ไม่ได้คาดหวังจะรอรับของรัฐอย่างเดียว” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าว

\"เก็บภาษีบ้าน\" รัฐโยนภาระประชาชน อิสระ บุญยัง

บ้านจัดสรร-คอนโด เจอภาษีซ้ำซ้อน

การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านและอาคารชุดในคอนโดมิเนียม จะเจอค่าใช้จ่าย 2 เด้งจากการเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สินส่วนกลาง คือค่ากองทุนส่วนกลาง (Sinking Fund) ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ต้องจ่ายล่วงหน้า 1 ปี  ค่าใช้จ่ายส่วนกลางคอนโดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 40 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยถ้าเป็นคอนโดเกรดเอจะอยู่ที่ประมาณ 50 บาทขึ้นไปต่อตารางเมตร  ส่วนเกรดบีอยู่ที่ 45 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ขณะที่บ้านเดี่ยวค่าใช้จ่ายส่วนกลางอยู่ที่ประมาณ 35-50 บาท/ตารางวา ซึ่งอย่างต่ำเสียกันปีละเกินหมื่นบาทแล้วแต่ขนาดของพื้นที่ และเมื่อมาเจอการเสียภาษีเพิ่ม ก็จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก

อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สมาคมได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ยกเว้นการไม่เก็บภาษีจากสาธารณูปโภคและทรัพย์ส่วนกลางในโครงการบ้านและคอนโด ไม่เช่นนั้นผู้ซื้อบ้านจะต้องเสียภาษีจากบ้านและที่ดินของตัวเอง และภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางถือเป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน

ผู้ที่จะต้องมารับภาระตรงส่วนนี้ก็คือ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งก็คือผู้อยู่อาศัยในโครงการนั้นนั่นเอง ค่าส่วนกลางที่ต้องเสียให้กับนิติบุคคลบ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลอาคารชุดทุกเดือนอยู่แล้ว เพื่อนำไปดูแลสาธารณูปโภค ความสะอาดเรียบร้อย ความปลอดภัยในโครงการ ขณะที่ภาษีบ้านส่วนหนึ่งท้องถิ่นก็ต้องนำมาดูแลความสะอาดเรียบร้อยในท้องที่เช่นกัน ถ้าหากต้องเสียภาษีบ้านและยังต้องจ่ายส่วนกลางจะถือว่าซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ไม่เช่นนั้นท้องถิ่นต้องจัดให้มีบริการเข้ามาดูแลในหมู่บ้านเพื่อจะลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางลง

ขณะที่เจ้าของบ้านจะเจอปัญหาความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงิน เมื่อนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ คนซื้อบ้านใหม่ก็เจอปัญหาจากภาษีตัวนี้ด้วยเช่นกัน เพราะต้นทุนที่ดินดิบของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเพื่อการพาณิชยกรรม แม้ว่าภาคเอกชนจะขอให้กระทรวงการคลังพิจารณายกเว้นที่ดินที่ขอใบอนุญาตเพื่อก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยแล้วว่าไม่ต้องเสียภาษี แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการยกเว้นหรือไม่ 

ไล่รัฐเก็บภาษีคนรวย

จากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นของประชาชนในเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยรัฐจะยกเว้นภาษีให้สำหรับคนที่มีบ้านมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ได้รับเสียงสะท้อนในทางลบทั้งหมด

ฉัตรชัย จิตรไพบูลย์รักษ์ พนักงานบริษัทเอกชน ลูกบ้านหมู่บ้านชวนชื่น เรสซิเด้นท์ 3 ย่านวัชรพล บอกว่า รัฐบาลจะเก็บภาษีควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในแต่ละกลุ่มว่าจะจัดเก็บเท่าไหร่ อย่างไร และตอบคำถามประชาชนได้ว่าจัดเก็บไปแล้วคนไทยจะได้อะไรเพิ่มเติมบ้าง

“นโยบายนี้จะกระทบต่อคนชั้นกลางที่มีรายได้ปานกลางพอหาเลี้ยงชีพได้ แต่ต้องแบกภาระภาษีเพิ่ม รัฐบาลต้องเข้ามาวิเคราะห์รายละเอียดอย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่ว่าเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมายแล้ว จะมุ่งหาแนวทางการจัดเก็บส่วนอื่นเพิ่มเติมแต่ไม่ดูความเหมาะสม” ฉัตรชัย กล่าว

เขาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า ปัจจุบันจัดเก็บภาษีคนรวยเพียงพอแล้วหรือไม่ หรือมีช่องทางใดที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมก่อนที่จะมาถึงคนชั้นกลางและคนในภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งจำนวนคนมากกว่าแบบเทียบกันไม่ได้ คนที่มีบ้านราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ได้เป็นผู้ที่ร่ำรวยแต่บ้านถือเป็นปัจจัยสี่ขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิต ซึ่งเชื่อว่าหากนโยบายนำมาใช้จริงจะทำให้วิถีชีวิตคนไทยนั้นเก็บกดและถูกบีบคั้นด้านเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะชีวิตหลังวัยเกษียณที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่ม รวมถึงคนในต่างจังหวัดที่จะลำบากมากขึ้น

น.ส.มัธนา เมนแก พนักงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีบ้าน แต่ควรขยับราคาขั้นต่ำของบ้านจาก 2 ล้านบาท เป็นราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเงินจริง บ้าน 2 ล้านบาท เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้พอเลี้ยงชีพเท่านั้นไม่มีเงินเหลือออม ส่วนใหญ่ต้องกู้เงินมาซื้อบ้านและต้องผ่อนในระยะยาว หากมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มถือเป็นการสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้กับคนไทย

ปรเมศ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กระปุกดอตคอม เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องโครงสร้างภาษีที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ ควรเป็นภาษีที่จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า เมื่อผู้ที่มีที่ดินหรือบ้านหลังใหญ่ควรเสียภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งการกำหนดเช่นนี้จะทำให้ผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก ต้องกระจายการถือครองที่ดินไปโดยอัตโนมัติหรือหากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างในอัตราสูงด้วยจะทำให้เกิดการกระจายที่ดินไปใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดได้ ส่วนการลดภาระของคนที่มีรายได้น้อย ควรกำหนดอัตราขั้นต่ำ เพื่อยกเว้นการเก็บภาษีที่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ ราคาบ้านทุกวันนี้ส่วนใหญ่ประมาณ2ล้านบาททั้งนั้น แทบจะเป็นราคาเกือบทุกหลังแล้ว คนซื้อบ้านส่วนใหญ่มีภาระเรื่องของการผ่อนบ้าน จ่ายค่าส่วนกลาง ค่าจัดเก็บขยะ  ถ้ามีเรื่องภาษีเข้ามาเพิ่มจะจะกลายเป็นภาระมากขึ้นอีก

จึงอยากให้กำหนดขยับราคาบ้านขึ้นไปอีก โดยเริ่มเก็บที่ราคา 5ล้านบาท แต่หากใครที่มีบ้านราคา 100 ล้านบาทก็ควรเสียภาษีในอัตราสูง การเสนอเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะรัฐจะได้ภาษีจากคนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากมาชดเชยแทน

“บ้านผมราคาเกินกว่า 2ล้านบาทอยู่แล้ว การเสนอเช่นนี้ไม่ได้เสนอเพื่อตัวผมเอง แต่ต้องการเสนอให้รัฐบาลขยายการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าก่อนแล้วดูว่าคำนวนเงินออกมาแล้วได้ภาษีตามเป้าที่ต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ตรงตามเป้า การเปลี่ยนมาจัดเก็บภาษีบ้านราคาต่ำกว่า 2ล้านบาท ก็ไม่ว่ากันเพราะประชาชนทุกคนพร้อมจะช่วย แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ประกาศจะเก็บภาษีเช่นนี้ ทำให้ประชาชนตั้งคำถามตามมา” ปรเมศ กล่าว

อ้อทิพย์ ราษฎร์นิยม คณบดีสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การเก็บภาษีบ้านราคา 2ล้านบาทจะกระทบต่อมนุษย์เงินเดือนอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่กำลังผ่อนชำระบ้านในราคานี้อยู่ ซึ่งยุคสมัยปัจจุบันบ้านราคา 2 ล้านบาทถือว่าเป็นบ้านราคาถูกที่หาได้ยากมากในพื้นที่กทม. อีกทั้งคอนโดมิเนียมราคา 1 ล้านบาทก็แทบไม่มีแล้ว

“คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายภาษีเงินเดือนไปส่วนหนึ่งแล้ว จากนั้นมาออมเงินในรูปทรัพย์สินเป็นบ้านสามารถเพิ่มมูลค่าได้ แตกต่างจากออมเงินในรูปเงินสดอาจถูกนำไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ฉะนั้นการเก็บภาษีจะยิ่งทำให้คนที่มีรายได้น้อย หรือปานกลางแทนที่ความเป็นอยู่ในอนาคตจะดีขึ้น มีบ้านเป็นของตัวเอง กลายเป็นการกระตุ้นให้นำเงินไปใช้จ่ายไม่ตรงวัตถุประสงค์ได้ ตัวอย่างเช่น ดิฉัน ก็เป็นคนชั้นกลาง มีบ้านเป็นของตัวเองที่เมื่อก่อนนี้ซื้อมาราคาไม่แพง แต่ทุกวันนี้ราคาที่ดินปรับตัวขึ้นกลายเป็น 10 ล้านบาท ตายสิ! แล้วอย่างนี้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายภาษี”

คณบดีสำนักวิชาเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่เชื่อว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน เนื่องจากเคยพบ นักการเมืองเส้นใหญ่ไม่ต้องจ่ายภาษี ผิดจากการปฏิบัติต่อชาวบ้านแทบจะตั้งโต๊ะรอเลย และยิ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บด้วยแล้ว แน่ใจได้อย่างไรว่าจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเป็นญาติ พี่น้องหรือนักการเมืองจะถูกเก็บภาษีหรือไม่ ดังนั้น ภาพรวมประชาชนเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีบ้านเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ กระจายรายได้ที่เป็นธรรม ไม่ให้คนถือทรัพย์สินมากเกินความจำเป็น แต่ที่สำคัญต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ

สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ สะท้อนความเห็นว่า ถือเป็นความกล้าหาญของรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประเทศควรทำมานานมากแล้ว แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องมีคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนอย่างไร การจัดเก็บภาษีสามารถลดหย่อนลงมาได้อีกหรือไม่ จึงไม่อยากให้คนตื่นตระหนก

ในด้านของการจัดเก็บภาษีจากบ้านราคาสูง เพราะต้องใช้สาธาณูประโภคมากกว่า บ้านใหญ่ใช้พลังงาน และก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่า ฉะนั้นคนที่แข็งแรงกว่าควรรับผิดชอบในเรื่องภาษีที่ต้องจ่าย คนที่มีกำลังต้องช่วยสังคม ถึงเวลาที่คนไทยต้องเสียสละในส่วนนี้และอย่าคิดรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะภาษีชนิดนี้เป็นเรื่องที่คนจน คนรวย ต้องจ่ายเหมือนกันอย่างยุติธรรม

“บ้านราคา 2-3ล้านบาท ต้องเสียภาษี 50%ของอัตราเก็บถือว่ารับได้ ไม่ได้มากจนเกินไป แต่ถ้าบ้านราคาเกิน 3 ล้านไปแล้วจัดเก็บที่อัตรา 0.1% คนที่เป็นเจ้าของถือว่ามีกำลังที่สามารถจ่ายได้แล้ว”สมบูรณ์ กล่าว