posttoday

"รบกับหญ้าฆ่ากับมด" พลทหารบริการ...ใบแดงนี้เพื่อนาย?

30 สิงหาคม 2558

หลากหลายความเห็นในสังคมกับประเด็นที่พลทหารไปบริการ "นาย" ตามบ้าน

โดย วรรณโชค ไชยสะอาด

ข่าวพลทหารบริการรายหนึ่งเข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีโดยอ้างว่าถูกนายทหารนอกราชการลงโทษด้วยการใส่กุญแจมือล่ามโซ่ติดกับยางรถยนต์ ปรากฎต่อสาธารณชน ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคำถามที่ว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีพลทหารไว้คอยบริการผู้บังคับบัญชา

บรรทัดต่อจากนี้เป็นเสียงจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง พลทหาร, นักวิชาการ และ ผู้บังคับบัญชาที่ให้ความเห็นที่น่าสนใจในหลายมุมถึงประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น...

บกับหญ้าฆ่ากับมด

สำนวน "รบกับหญ้าฆ่ากับมด" เป็นที่รู้กันในหมู่ทหารเกณฑ์ทุกยุคทุกสมัย หมายถึง การเป็นทหารที่ผ่านการฝึกหนักทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อเตรียมจับปืนรับใช้ชาติในยามศึก กลับกลายเป็นว่า ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ก้มงกๆซักผ้ากับตัดหญ้าให้นายอยู่กับบ้าน

ปอนด์ ทหารเกณฑ์รายหนึ่ง เล่าถึงความสมัครใจยกมือเป็นทหารรับใช้ให้ฟังว่า หลังผ่านการฝึกเบื้องต้นเรื่องระเบียบวินัย คำสั่ง ท่าใช้อาวุธ การเดินเเถว เเละการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายในช่วง 2-3 เดือนแรก จ่ากองร้อยจะประกาศว่า ใครอยากไปอยู่บ้านนายบ้าง?

"ถ้าบ้านนายอยู่ในพื้นที่ใกล้กับบ้านตัวเอง หลายคนก็อยากที่จะไปทั้งนั้นแหละครับ เพราะอยู่กรมน่าเบื่อ สู้ไปอยู่บ้านนาย ทำความสะอาด ดูแลสวน ตัดหญ้า พรวนดินดีกว่า ไม่ได้รู้สึกเสียศักดิ์ศรีอะไรเลย เพราะเป็นทหารมีหน้าที่ต้องทำตามผู้บังคับบัญชาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องผลประโยชน์ก็ได้ปกติ เงินเดือนเท่าเดิม เผลอๆถ้าทำหน้าที่ดี นายก็อาจจะให้เพิ่มพิเศษให้ด้วย เพื่อนทหารบางคนที่จำเป็นต้องกลับไปอยู่บ้านจริงๆ สามารถแจ้งต่อผู้บังคัญบัญชา เพื่อให้ทำการจำหน่ายตัวกลับบ้านแต่คงชื่อไว้ แลกกับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงทั้งหมดของตัวเอง"

ขณะที่ เป้ อดีตทหารเกณฑ์อีกราย บอกว่า พลทหารคนไหนโชคดีก็เจอนายใจดี ดูแลเหมือนลูกเหมือนหลาน คนไหนโชคร้ายก็เจอนายโหด ก็เจองานหนักไม่ต่างอะไรจากอยู่กองร้อย

"ที่กองร้อยจะมีบ้านระดับนายพลอยู่หลายหลัง ติดทะเลบ้าง อยู่บนเขาบ้าง แต่ละบ้านก็จะมีทหารเกณฑ์หมุนเวียนไปรับใช้ นายบางคนที่โหดๆ เปลี่ยนพลทหารรับใช้เป็นว่าเล่น เพราะอยู่กันได้ไม่นานก็หนี เจอใช้งานหนักหยั่งกะทาส ถามว่าได้อะไรบ้างจากการเป็นทหาร ผมน่าจะเป็นแค่เรื่องความแข็งแกร่งของร่างกาย แต่เรื่องอื่นๆสำหรับผมถือว่าเสียเวลามาก ส่วนตัวไม่ได้อยากเป็นทหาร เเต่ดันจับได้ใบเเดง เราควรจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่อยากทำมากกว่า เพราะงานอย่างอื่นมันก็มีส่วนพัฒนาประเทศได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร"

ลองไปดูตารางชีวิตของทหารรับใช้รายหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ตื่นตีห้าครึ่ง เช็ดรถที่มีทั้งหมด 5 คันในบ้าน ทั้งรถผู้การ ภรรยา ลูกๆหลานๆ จากนั้นกวาดขยะกวาดใบไม้ ถ้าคุณนายตะโกนเรียกใช้ไปซื้อของจ่ายตลาด ก็ต้องรีบไปรีบกลับ ต่อด้วยซักผ้ากองใหญ่ แต่เครื่องซักผ้าที่มีไม่ได้ถูกอนุญาตให้ใช้ โดยให้เหตุผลว่าซักมือสะอาดกว่า แถมยังได้ออกกำลังกายไปในตัว สายๆหลังจากสมาชิกในบ้านออกไปทำงาน ก็เข้ามาปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดภายในบ้าน พักเที่ยงกินข้าวกินปลา งีบเอาแรงสักพัก บ่ายสองก็ตื่นมารีดผ้า รดน้ำต้นไม้ ดูแลความเรียบร้อยรอบบ้าน ตกเย็นภรรยาผู้การกลับมาก็เจอใช้ไปจ่ายตลาดอีกรอบ ล้างจาน กว่าจะถึงเวลาพักผ่อนก็ราวๆสี่ทุ่ม

“สบายไหม มันก็มีทั้งสบาย ทั้งลำบาก คนละแบบกับตอนอยู่กองร้อย เพราะงานที่น่าเบื่อที่สุดตอนอยู่กองร้อยคือการเข้าเวร อยู่บ้านนายไม่ต้องเข้าเวร แต่อึดอัด ไม่ได้เฮฮากับเพื่อนฝูงเหมือนอยู่กองร้อย อีกอย่างคือถ้าเจอนายนิสัยดี เห็นใจเราก็ดีไป ยิ่งถ้าอยากรับราชการเป็นนายสิบต่อ นายบางคนอาจพอช่วยเหลือหรือบอกลู่ทางเราได้ ตรงกันข้าม ถ้าไปเจอนายคนไหนที่นิสัยแย่ๆ ใช้งานเราโขกสับเยี่ยงทาส  อันนี้ซวย เพื่อนผมโดนมาแล้วจนต้องหนีกลับมาอยู่กองร้อย”เขาหัวเราะขมขื่น

\"รบกับหญ้าฆ่ากับมด\" พลทหารบริการ...ใบแดงนี้เพื่อนาย?

ระบบไพร่ที่ยังตกค้าง

ธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้พลทหารเข้าไปรับใช้นายทหารผู้บังคับบัญชาตามบ้าน ในมุมมองของนักวิชาการอิสระอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า เป็นเรื่องของระบบไพร่ที่ยังตกค้างอยู่ในสังคมไทย

นิธิบอกว่า การรับใช้หรือการบริการไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมทหาร เพียงแต่สังคมทหารค่อนข้างจะชัดเจน กว้างขวาง และแพร่หลายกว่าในสังคมหรือองค์กรอื่น

“เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศในโลกนี้ ผมเชื่อว่าองค์กรหรือบริษัทอื่นๆในไทยก็มีหลายที่ที่ให้ลูกน้องไปรับใช้นายตามบ้าน ทั้งหมดนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระบบไพร่ในประเทศนี้นั่นเอง และอาจจะซับซ้อนกว่าแค่เรื่องของมูลนายกับไพร่ เพราะหากลูกของมูลนายด้วยกันถูกเกณฑ์ทหารและไม่อยากให้นายสิบมันเตะก้นก็อาจจะไปบอกเพื่อนว่า ช่วยเอาลูกกูไปเป็นทหารรับใช้มึงหน่อยสิ งานก็ไม่ต้องทำ ส่งกลับบ้านไปเลย นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบไพร่”

นิธิ บอกต่อว่า เมื่อไม่มีทางยกเลิกความคิดเรื่องระบบไพร่ไปได้ในทันที ก็ควรปรับวิธีการเกณฑ์ทหารเสียใหม่

"อย่าลืมว่าเวลานี้ระดับการศึกษาของคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ 2 ปีของการรับราชการทหาร ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นทหารเกณฑ์บางคนยังไม่รู้จักซ้ายหันขวาหัน ต้องเอาผ้าผูกแขนไว้ด้วยซ้ำ ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานขนาดนั้นก็ได้ ควรปลดประจำการอย่างรวดเร็ว เช่น 6 เดือน เหมือนในบางประเทศ เพื่อฝึกให้รู้จักใช้อาวุธและยุทธวิธีทางทหารขั้นพื้นฐาน จากนั้นก็ปลดประจำการกลายเป็นทหารกองเกิน หากเกิดภาวะตรึงเครียดที่เสี่ยงต่อการรบก็เรียกทหารกองเกินเหล่านี้กลับมาเพื่อฝึกใหม่อีกครั้ง"

นักวิชาการอิสระ เสนอแนะว่า แทนที่จะส่งกำลังพลมากมายไปควบคุมสถานที่ทางราชการต่างๆเช่นปัจจุบัน ควรหันมาความสนใจกับการฝึกทหารให้มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยกองบัญชาการรักษาดินแดน อาจเป็นปัจจัยสำคัญของกองทัพสมัยใหม่ที่ควรส่งเสริมพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

\"รบกับหญ้าฆ่ากับมด\" พลทหารบริการ...ใบแดงนี้เพื่อนาย?

"ทหารบริการ" ไม่ใช่ "ทหารรับใช้"

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการส่งพลทหารเข้าไปทำหน้าที่รับใช้อำนวยความสะดวกที่บ้านผู้บังคับบัญชา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกก็ออกมายืนยันว่า พลทหารที่ไปทำงานรับใช้ผู้บังคับบัญชาล้วนแต่สมัครใจทั้งสิ้น และที่สำคัญ คำว่า "ทหารรับใช้" นั้นหมดไปนานแล้ว เปลี่ยนมาใช้คำว่า "ทหารบริการ" แทน

คนที่มาทำงานตรงนี้ต้องสมัครใจ เพราะแต่ละแห่งจะมีความเป็นอยู่ก็จะแตกต่างจากที่กองร้อย ขอยืนยันว่าพลทหารทุกนายได้รับการดูแลที่ดีจากผู้บังคับบัญชา ส่วนงานนั้นก็เป็นลักษณะเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร ผู้บังคับบัญชาเสียอีกที่ต้องการให้ทหารบริการมีสวัสดิการที่ดี ดูแลจนไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันการได้อยู่กับผู้ใหญ่จะได้รับความรู้ และมุมมองต่างๆที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลังจากปลดประจำการ

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำกระทรวงกลาโหม ไขข้อข้องใจถึงบทบาทหน้าที่ของทหารบริการให้ฟังว่า ภาพรวมการปฎิบัติงานของกองทัพนั้น ประกอบไปด้วย หน่วยรบ หน่วยสนับสนุนการรบ หน่วยสนับสนุนการช่วยรบ และหน่วยบริการ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยที่สุด

“ตำแหน่งพลทหารบริการนั้นมีในกองทัพ อยู่ในส่วนของกองบังคับการทั้งในยามปกติและในสนาม ซึ่งการปฎิบัติงานในสนามจำเป็นต้องมีการตั้งกองบังคับการ โดยมีทหารบริการไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งและการดำเนินงานของฝ่ายอำนวยการนั่นเอง ถ้าไม่มีหน้าที่ทหารบริการ เวลารบจริง แล้วจะใช้ใครในตำแหน่งนี้ จะไปดึงทหารในหน่วยรบหรือสนับสนุนการช่วยรบมา ก็ไม่ได้

สำหรับนโยบายการส่งพลทหารไปบริการตามบ้านพักของผู้บังคับบัญชา เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

"ไม่ใช่ลักษณะประจำ เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ทหารบริการในยามปกติสามารถไปอำนวยความสะดวกให้กับผู้บังคัญบัญชาหรือหน่วยงานอื่นได้เป็นครั้งคราว ซึ่งโดยปกติแล้วบ้านของผู้บังคับบัญชาก็จะอยู่ในค่ายทหาร เป็นบ้านหลวงอยู่แล้ว การจะไปอำนวยความสะดวกเป็นครั้งคราวจึงสามารถทำได้ ยกตัวอย่างถ้าเป็นอดีต ผบ.ทบ.ที่เกษียณไปแล้ว ท่านเป็นถึงผู้ใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้กับกองทัพมากมาย เราก็อาจจะส่งนายทหารไปช่วยดูท่านบ้างตามความเหมาะสมและความจำเป็น”

พล.ต.คงชีพ ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมไม่มีนโยบายให้ผู้บังคับบัญชารับเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงของเหล่าทหารเกณฑ์ เพื่อเเลกกับการปล่อยตัวกลับบ้าน โดยไม่ต้องเข้ารับราชการเเต่อย่างใด

"ถ้ามีใครแอบอ้างแบบนี้ ก็ขอให้เอาหลักฐานมายืนยัน เพราะถือเป็นเรื่องความผิดทางวินัย"

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของพลทหารไม่ว่าจะอยู่หน่วยใดก็ตาม หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องทุกข์ได้ตามสายการบังคับบัญชา ขึ้นไปถึง 2 ระดับ เช่น หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชากองร้อย ก็สามารถร้องต่อผู้บังคัญกองร้อยได้โดยตรง หรือร้องเหนือขึ้นไปได้อีกสองระดับ คือ ระดับกองพันและกรมทหารซึ่งผู้บังคับบัญชาจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด

\"รบกับหญ้าฆ่ากับมด\" พลทหารบริการ...ใบแดงนี้เพื่อนาย?