posttoday

เปิดแผนเซ็นเซอร์โซเชียล "เราคุมเกมเหนือ กูเกิล-ไลน์"

07 กุมภาพันธ์ 2559

"สิทธิเสรีภาพให้สิทธิคุณทำได้ทุกอย่างแบบไม่มีข้อจำกัดเลยใช่หรือไม่ ผมว่ามันไม่ใช่ แต่สิทธิและเสรีให้ได้ตามกรอบของกฎหมาย เมื่อใดที่คุณใช้สิทธิเกินเลยไปกระทำผิดกฎหมาย ผมเอาผลจากการกระทำมาเอาผิด"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ, ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

เป็นข่าวครึกโครมหลังจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เตรียมผลักดันมาตรการปฏิรูปการใช้สื่อออนไลน์จนถูกวิจารณ์ว่าพยายามควบคุม ลิดรอนเสรีภาพประชาชน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการฯ หัวหมู่ทะลวงฟันในการควบคุมการใช้สื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย โดยเชิญตัวแทน Google  (กูเกิล) ของสหรัฐมาหารือในกรรมาธิการฯ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เพื่อขอร้องให้ถอดคลิปหมิ่นสถาบัน และสื่อที่เป็นภัยต่อความมั่นคงบนเว็บ YouTube (ยูทูบ)

ไม่เท่านั้น พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยังระบุผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า รัฐบาลจะขอให้ Facebook (เฟซบุ๊ก) และ LINE (ไลน์) ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลให้ถอดเนื้อหาที่คิดว่าจะเป็นอันตรายต่อความสงบและความเรียบร้อย โดยกรรมาธิการฯ เตรียมหารือผู้บริหารทั้งสองบริษัทในอีก 3 เดือนข้างหน้า

กระทั่ง ไลน์ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ว่า ได้รับทราบการขอตรวจเช็กข้อมูลการใช้บริการผ่านไลน์ ซึ่งทางบริษัทยังคงยืนยันในเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน หากทางไลน์ ประเทศไทย ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ ทางบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือและพิจารณาเพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศไทย

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ไม่ใช่ใครอื่นไกล ก่อนมานั่งเก้าอี้สมาชิก สปท. เขาดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ได้รับฉายาว่า “มือปราบคุมไลน์” “มือปราบแฮ็กเกอร์” หลังเกษียณอายุราชการปี 2556 โยกมานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที ตามด้วยสมาชิก สปท.ในปัจจุบัน

“เรื่องที่ควรทำ แต่ไม่มีใครกล้า ผมนี่แหละกล้า ไม่กลัวเสียงวิจารณ์ พร้อมตอบคำถามทุกสื่อ”

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันกับทีมงานโพสต์ทูเดย์ ก่อนจะอธิบายผลสรุปของกรรมาธิการฯ เรื่องทิศทางปฏิรูปสื่อออนไลน์ว่า

“เอาให้เคลียร์เลยนะ ผมเอาผลของการกระทำ ผมไม่ได้เอาผิดตอนที่คุณกระทำ ผมถามกลับหน่อยว่า สิทธิเสรีภาพให้สิทธิคุณทำได้ทุกอย่างแบบไม่มีข้อจำกัดเลยใช่หรือไม่ ผมว่ามันไม่ใช่ แต่สิทธิและเสรีให้ได้ตามกรอบของกฎหมาย เมื่อใดที่คุณใช้สิทธิเกินเลยไปกระทำผิดกฎหมาย เกินเลยคนอื่น ละเมิดสถาบันเบื้องสูง กระทบความมั่นคงของรัฐ สิ่งนี้คุณมีสิทธิทำได้หรือ ผมตอบให้เลยว่าไม่ได้ ดังนั้นผมเอาผลจากการกระทำมาเอาผิด คุณอยากทำอะไรก็ทำไป แต่ถ้าเห็นว่ามันละเมิด ผมก็จะทำเรื่องถอดถอนข้อความนั้นออก”

อึ้ง จนท.ไอทีซี คุมเน็ตทั่วประเทศมีแค่ 10 คน

คำยืนยันจากคำถามแรกของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ชัดเจนว่า สิทธิในการทำอะไรทุกอย่างบนโลกออนไลน์ยังอยู่ที่มือของประชาชน แต่เมื่อเป็นข้อความ เนื้อหา คลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง ที่ไปกระทบต่อชาติ ความมั่นคงของรัฐ และสถาบันเบื้องสูง ถือว่ายอมไม่ได้ และจำต้องถอดเนื้อหานั้นออกจากสารบบโลกออนไลน์ทันที

ปัญหาของสื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ได้ศึกษามาอย่างลงลึก ตั้งแต่สมัยเป็น ผบก.ปอท. โดยพบว่าปัญหานี้สะสมมานานถึง 5 ปี นับตั้งแต่ที่โซเชียลมีเดียได้เข้ามาทักทายคนไทย ต่างจากสื่ออื่น ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่จะมีระบบคัดกรองก่อนออกสู่สาธารณะ ขณะที่สื่อออนไลน์แพร่กระจายที่ตรง รวดเร็ว และขาดการยั้งคิด ขณะเดียวกัน ประชาชนที่นอกจากเป็นผู้รับสื่อออนไลน์แล้ว ยังสามารถเป็นผู้เผยแพร่ได้เองอีกด้วย

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ อธิบายว่า พื้นฐานความคิดการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยกับชาติตะวันตกมีความแตกต่างกัน คนไทยจะสนใจแต่เพียงว่า รู้ก่อนคือเท่ และพร้อมจะเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องออกไปโดยไม่ยั้งคิด อีกทั้งไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะตามมา และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นคือความจริงหรือความเท็จ และผลที่ว่าก็สร้างความเสียหายให้กับความมั่นคงของชาติหรือสถาบันได้ นำมาสู่การปฏิรูปสื่อออนไลน์ เป็นโจทย์ที่ สปท.คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจ และใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญคือไม่กระทบต่อชาติ สังคม และสถาบัน

ปัญหาที่ปวดหัวรัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่องการต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ และการกระทำบางอย่างที่เข้าข่ายกระทบความมั่นคง และสถาบันหลักของชาติ แน่นอนว่า คสช.ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะข้อความหรือข่าวสารที่แพร่ออกสู่โลกออนไลน์อาจจะสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาลได้ง่ายๆ

ที่ผ่านมา พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยอมรับว่า เคยมีการร้องขอให้ผู้ให้บริการต่างประเทศช่วยเหลือในด้านนี้ ด้วยการถอดเนื้อหาที่ คสช.ไม่ต้องการ หรือเนื้อหานั้นอาจผิดกฎหมายออกไป แต่ต้องเข้าใจว่าบริบทระหว่างกฎหมายไทยและต่างชาตินั้นต่างกัน

“เราขอความร่วมมือผู้ให้บริการต่างประเทศ และขณะนี้ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก แต่เดิมอาจเป็นเพราะไม่มีการพูดคุยกัน เขา (ผู้ให้บริการต่างประเทศ) ถึงไม่ให้ความร่วมมือ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา กฎหมายไทยไปควบคุมเขาไม่ได้ อาจจะผิดของเราแต่ไม่ผิดตามความคิดของเขา การถอดเนื้อหาใดๆ จึงเป็นเรื่องยาก เช่น เรื่องความผิดอาญามาตรา 112 และทัศนคติขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยและต่างชาติไม่เหมือนกัน ต่างประเทศอาจจะวิจารณ์ประมุขของประเทศได้อย่างปกติ เพราะถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วไม่ใช่ เป็นสิ่งที่คนไทยรับไม่ได้”

เปิดแผนเซ็นเซอร์โซเชียล \"เราคุมเกมเหนือ กูเกิล-ไลน์\"

กูเกิลขอปลดล็อก พรบ.คอมพิวเตอร์

อดีต ผบก.ปอท. กล่าวว่า ผู้ให้บริการเห็นความสำคัญของสมาชิกเป็นหลัก และแข่งขันกันด้วยคำว่าสิทธิเสรีภาพ แน่นอนว่า หากบริษัทไหนเอาข้อมูลสมาชิกส่งให้รัฐ คนอื่นก็ต้องเทไปยังผู้ให้บริการรายใหม่แทน มันจึงไปขัดนโยบาย เมื่อเป็นเช่นนั้น ความยากลำบากจึงเกิดขึ้น เช่น คลิปวิดีโอที่ปรากฏบนยูทูบ แต่ผิดกฎหมายของไทย ที่ผ่านมาเราเคยร้องขอไปทางผู้ให้บริการนับร้อยๆ ครั้งเพื่อให้ถอดออก แต่การตอบสนองกลับมาก็ไม่ถึง 10% อีกทั้งยังช้า บางคลิปใช้เวลาถึง 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะถอดออก ขณะที่คลิปก็ได้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างแล้ว

ปัญหาจะคลี่คลายได้ต้องเกิดจากการพูดคุยและเจรจากันเท่านั้น เมื่อ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เห็นดังนั้นจึงเดินหน้าประสานไปยังกูเกิลที่มีสาขาอยู่ที่สิงคโปร์ ครั้งแรกเป็นการเชิญอย่างไม่เป็นทางการ โจทย์ที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ต้องการคือความร่วมมือจากเจ้าของเสิร์ชเอนจิ้นเบอร์หนึ่งของโลกรายนี้ ให้ช่วยเหลือถอดคลิปที่ผิดกฎหมายไทยบนยูทูบให้ “รวดเร็ว” ยิ่งขึ้น ขั้นแรกกูเกิลยอมรับฟังปัญหาตามที่กรรมาธิการฯ เสนอ

ครั้งต่อมาเมื่อเดือนที่แล้ว สปท.เชิญอย่างเป็นทางการ ให้กูเกิลมาชี้แจงที่รัฐสภา เพื่อพูดคุยถึงกระบวนการความร่วมมือตามที่ได้เสนอ และครั้งนี้เองที่กูเกิลยินยอมตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯ

“กูเกิลยังมีข้อเสนอกลับมาให้ไทยว่า มีโครงการที่จะทำให้คนใช้สื่อได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งโครงการนี้ใช้ทำทั่วโลก และยินดีที่จะนำโครงการนี้มายังประเทศไทย รูปแบบคือการอบรมให้เด็กเยาวชนในทุกระดับรู้จักอินเทอร์เน็ตและใช้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเราก็ยินดี”พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกถึงผลเจรจา

สำหรับการขอตรวจสอบข้อมูลทางไลน์นั้น พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ขยายความว่า กรรมาธิการฯ ถือว่าการคุยในกลุ่มปิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ไม่ถือว่าเป็นความลับเพราะสมาชิกแต่ละคนสามารถแชร์คลิป กระจายข้อมูลที่อาจผิดกฎหมายได้ ตรงนี้กรรมา
ธิการฯ ก็อาจขอความร่วมมือจากบริษัท ไลน์ แต่ย้ำว่าเราจะเน้นเฉพาะคลิป หรือข้อความที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยต่อความมั่นคงเท่านั้น

“อย่างเรื่องไลน์ ประชาชนกังวลกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐมาแอบส่องในที่ที่เราพูดคุยกันหรือเปล่า ผมบอกเลยว่าเราทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่เมื่อไหร่ที่ผมเห็นข้อความมันแพร่ออกมาสู่สาธารณะ ผมก็จะเอาผิดเหมือนกัน และร้องขอให้ถอดข้อความนั้นออกไป ผมทำที่ผล ไม่ได้ทำที่เหตุ ผมไม่ไปแตะส่วนนั้นที่คุณกังวลกัน อีกทั้งการเข้าถึงก็ต้องมีกฎหมายให้อำนาจพนักงานในการตรวจสอบสำหรับการเรียกดูข้อมูล ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ให้อำนาจไว้เช่นกัน แต่เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องเข้าไปจัดการเอง ไม่ใช่หน้าที่ของผม”

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกว่า เรื่องสำคัญคือไทยเป็นตลาดใหญ่ที่มีคนใช้อินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผู้ให้บริการต่างประเทศก็มองเห็นอนาคตของการลงทุน การทำธุรกิจ แต่ยังไม่กล้าเพราะติดขัดปัญหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ที่ระบุว่า เมื่อมีผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้ให้บริการอาจจะต้องรับผิดชอบด้วยหากรู้เห็นเป็นใจ ผู้ให้บริการจึงรู้สึกว่ามันไม่เอื้อต่อการลงทุน กรรมาธิการฯ ก็รับฟังและพร้อมสนับสนุนด้วยการเสนอต่อรัฐบาลว่าทำอย่างไรเพื่อจะแก้ไขกฎหมายตรงนี้เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน

ถกสรรพากรหามาตรการภาษีบีบ

สปท.ผู้นี้ยืนยันอีกว่า คลิปหรือข้อความข่าวสารที่ขอร้องให้ผู้ให้บริการต่างประเทศนั้นจะเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น การยุยง ก่อการร้าย ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายของบ้านเมือง อะไรก็ตามที่สร้างผลกระทบด้านความมั่นคงของชาติ หรือของสถาบัน ส่วนเรื่องใดที่ละเมิดสิทธิกันส่วนบุคคลภายในประเทศ อันนี้เราไม่กังวลเพราะเป็นเรื่องของบุคคลและอยู่ภายใต้กฎหมายไทย เราไม่ได้ขอเขาทุกเรื่อง แต่ขอเฉพาะเรื่องที่ซีเรียสเท่านั้น

“เขารับไปแล้วเราก็ดูผลตามมา และคำตอบคือได้ผลตอบรับที่ดีมาก จากเดิมที่เคยบอกไว้ว่าขอให้ถอดใช้เวลานานถึง 6 เดือน ทุกวันนี้เดือนเดียวเขาถอดข้อความที่เราไม่ต้องการออกให้แล้ว มันก็ดีขึ้นมาราว 30% สปท.ไปผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นเท่านั้น และที่จะสานต่อคือหน่วยงานของรัฐ”

ส่วนที่ว่าทำอย่างไรให้ยั่งยืน ในอนาคตอาจมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันระหว่างรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ โดย สปท.เป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมให้ ที่ผ่านมาอาจมีการดำเนินการไปบ้าง แต่อาจติดขัดในปัญหาต่างๆ เมื่อ สปท.มาแล้วก็จะเดินหน้าให้ ติดขัดตรงไหนขอให้บอก ทั้งข้อกฎหมายอยากแก้เราก็จะเสนอให้ เพราะ สปท.ไปถึงคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ย้ำถึงการตอบรับจากกูเกิลที่รับลูกกับรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว เพราะกูเกิลถือเป็นพี่เบิ้ม หลังจากนั้นเมื่อพูดคุยกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ก็คงจะไม่ยุ่งยากเท่าใดนัก อีกทั้งแอพพลิเคชั่นไลน์ได้ประกาศออกมาแล้วทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ขอไปว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่ต้องอยู่บนความรับผิดชอบบนสิทธิเสรีภาพด้วย ซึ่งตรงนี้เข้าใจดี

กระนั้นแม้การพูดคุยเดินหน้าได้ดี แต่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยืนยันว่าประเทศไทยมีอำนาจต่อรองกับกูเกิลและไลน์ก็คือการใช้มาตรการทางภาษี 

เขาอธิบายว่า ทุกอย่างพูดคุยกันได้เพราะอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ ผู้ให้บริการต่างประเทศดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ขององค์กร สปท.ก็ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ทุกคนมันอยู่ได้เพราะผลประโยชน์ แต่เมื่อไรที่กำไรของผู้ให้บริการเหล่านี้หดตัวลง องค์กรต่างประเทศก็ต้องกระเทือน และผลกำไรก็มาจากการโฆษณาทั้งนั้น แต่ละปีคนไทยต้องเสียเงินค่าจ้างโฆษณาแบบยิงตรงไปยังองค์กรเขาปีละกว่าหมื่นล้านบาทโดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาหักภาษี ตรงนี้เราเห็นช่องว่าจัดเก็บได้ ก็อาจจะเข้ามาจัดการ

“สมมติว่าค่าโฆษณาที่คนไทยต้องจ่ายให้เขาครั้งละ 100 เหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมาผู้ให้บริการรับเต็มๆ 100 เหรียญสหรัฐ แต่หากผมบอกว่า ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายภาษี ณ ที่จ่าย 30% ก็จะทำให้เงินที่จะไปถึงผู้ให้บริการเหลือเพียงแค่ 70% ตรงนี้เขาสะเทือนนะ นี่เป็นแนวคิดที่ผมกำลังจะดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือจะเรียกกรมสรรพากรมาหาแนวทางจัดการ สิ่งนี้คืออำนาจต่อรองของเราที่จะขอให้เขาช่วยปกป้องความมั่นคงของชาติ เราอาจจะละเว้นให้และเขาก็ได้กำไรให้องค์กร

“สรรพากรต้องทำได้สิ ผมเสนอแนวทางเช่นนี้ ก็ให้ไปคิดกันดูว่าทำได้หรือไม่ เอาคำตอบมาให้ผมชื่นใจหน่อย หากทำไม่ได้หรือติดขัดอย่างไรให้บอกผมกลับมา ผมจะขับเคลื่อนให้ต่อได้ นี่คือแนวทางที่จะทำต่อไป”พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ผู้ให้บริการให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการฯ ด้วยดี เพราะคงมองว่าประเทศไทยเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่อยากจะเข้ามาลงทุน ด้วยว่ามีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่ในอัตราสูงอันดับต้นๆ ของโลก

“เขาก็สนใจสิ ใครเข้าก่อนก็ได้เปรียบ ต่อไปอะไรทุกอย่างจะมาอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด ดังนั้นเราขอความร่วมมืออะไร
ไป เขาก็ต้องนำไปพิจารณาและยินยอม แต่อย่างที่บอกยังติดปัญหาของกฎหมายบางอย่าง ทั้งนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เราก็เอาความเห็นของเขาเสนอต่อรัฐบาลไปผ่าน สปท. เช่น หากเข้ามาก็อาจจะมีออปชั่นด้านภาษีให้ เป็นต้น มันมีอะไรหลายอย่างที่ใช้พูดคุยกันได้ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็ต้องอยู่ในกฎหมายไทย ตรงนี้เราถึงอยากให้เขาเข้ามาเพราะเราก็กำกับดูแลเขาได้ง่ายภายใต้กฎหมายของไทย”พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ทิ้งท้าย

เปิดแผนเซ็นเซอร์โซเชียล \"เราคุมเกมเหนือ กูเกิล-ไลน์\"

เส้นทาง มือปราบไซเบอร์  เดินหน้าชน ไม่มีคำว่ากลัว

กว่า 7 ปีบนหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ในตำแหน่งผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ แม้วันนี้จะเกษียณจากตำแหน่งไปแล้ว 3 ปี แต่เจ้าตัวก็ยังขลุกอยู่กับเรื่องปัญหาทางเทคโนโลยีอยู่ไม่สร่าง

เส้นทางก่อนจะมาเป็น “มือปราบโลกไซเบอร์” ผู้การพิสิษฐ์ จบ นรต.28 ติดยศร้อยตรีมาประจำที่ สน.บางซื่อ ก่อนขยับเป็นรองสารวัตร สารวัตรใหญ่ และผู้กำกับ จนชีวิตหักเหถูกย้ายมาอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากร พอดีมีทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ตำรวจไทยที่สนใจจะไปศึกษาเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ คือตำรวจไทยนายนั้นที่ได้รับโอกาส

แม้ขณะนั้นจะไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่อาศัยว่าเป็นนักสืบเก่าจึงนำประสบการณ์นั้นมาต่อยอด จากญี่ปุ่นก็เป็นประตูที่เปิดผ่านไปสู่การอบรมแทบทั่วโลก ทำให้จากนายตำรวจที่ไม่ช่ำชองงานเทคโนโลยี กลายเป็นเสือเล็บคมบนโลกออนไลน์

“ผมก็ใช้มือถือสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวนะ ยี่ห้อดังจากสหรัฐนี่แหละแต่มือถือผมจะพิเศษตรงที่มันสามารถเชื่อมโยงไปยังทุกคอมพิวเตอร์ของผมได้ ผมจะเรียกข้อมูลต่างๆ ที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์มาดูได้ผ่านมือถือเลย ง่ายคือเราต้องรู้จักเลือกใช้ของให้เป็น รู้ว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีคืออะไร สิ่งไหนเหมาะสมกับเรา”

แล้วเสืออย่าง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เคยถูกมือดีทางเทคโนโลยีมากระตุกหนวดหรือเปล่า พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบตามตรงว่าเคย มีครั้งหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งเป็นสารวัตรที่ สน.พญาไท ช่วงนั้นเมืองไทยเพิ่งจะความรู้จักกับโทรศัพท์มือถือ และมือถือของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ก็ถูกแฮ็กจนได้จากร้านมือถือย่านมาบุญครอง ที่แฮ็กเข้ามาเพื่อต้องการใช้โทรศัพท์ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกว่า จับสัญญาณได้พอดี จากนั้นเลยเอากำลังไปตามกวาดล้างตู้มือถือทั้งห้างมาบุญครอง

อีกครั้งขณะที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กำลังออกกำลังกาย มือถือได้หล่นหายไปและมีคนเก็บได้แต่แล้วก็ไม่ได้นำมาคืนกลับเอาไปขายต่อที่ตู้มือถือแห่งหนึ่ง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ก็สืบเสาะจนรู้ว่ามือถือตัวเองอยู่ที่ไหน จึงแจ้งไปยังร้านรับซื้อว่าให้เอามาคืนภายใน 1 วัน หากให้ไปเอาเอง รับรองได้ว่าเดือดทั้งร้านแน่นอน

กระทั่งมาจับงานชิ้นใหญ่ที่รัฐบาลภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ขับเคลื่อน คือการปฏิรูปสื่อออนไลน์ ด้วยความช่ำชองชำนาญด้านนี้ของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ จึงถูกมอบความรับผิดชอบให้จัดการงานใหญ่ชิ้นนี้

เมื่อถามว่ารัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งที่ สปท.ชุดนี้กำลังเดินหน้าปฏิรูปสื่อออนไลน์ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกว่า รัฐบาลสั่งให้เดินหน้าอย่างเต็มที่ และทุกขั้นตอนที่ดำเนินการก็ควบคู่ไปกับการรายงานให้รัฐบาลทราบมาโดยตลอด หากสิ่งใดที่รัฐบาลเห็นว่าดีก็ให้ทำต่อ หรือสิ่งไหนเห็นว่าอาจจะยังไม่เหมาสม สปท.ก็จะหยุด

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตมีใช้ทุกพื้นที่ แน่นอนว่าการเข้าถึงของประชาชนคนไทยก็ต้องมากขึ้น ปัจจุบันมีคนใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ราว 37 ล้านคน คือเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ และภายในปี 2559 อาจมีคนใช้มากถึง 80% ของประชากรทั้งประเทศ เพราะระบบ 4จี มันเข้าถึงในทุกพื้นที่แล้ว พี่น้องเกษตรกรที่เคยใช้ระบบ 2จี เดิมก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบ 4จี โดยอัตโนมัติ เพราะว่าเครื่องมือถือไม่รองรับแล้ว นั่นคือสิ่งที่จะถึงตัวเขาในท้องไร่ท้องนา

“อินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ที่รัฐบาลทุ่มงบไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะเข้าถึงในชุมชน และไปถึงทุกส่วนของประเทศ คนใช้ก็ย่อมมากขึ้นตามจาก 37 ล้านคน อาจจะกลายเป็น 60 ล้านคน อย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ถูกต้องจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเช่นกัน หากรัฐไม่เริ่มแก้ไข”

จำแนกปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยอย่างไม่ถูกต้อง ตามที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ได้ศึกษาจะพบว่ามีอยู่ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.กฎหมายที่ใช้ควบคุม คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ใช้มาเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งต่างจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่ตลอด ประสิทธิภาพของการบังคับใช้ไม่ทันกับเทคโนโลยี ดังนั้นต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วน

2.หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ขณะนี้มีอยู่ 2 หน่วย คือ ก.ไอซีที และ บก.ปอท. พบว่าการกับดูแลโครงสร้างมีปัญหา เริ่มจากไอซีทีก่อน ศูนย์เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่าผู้คุมเครือข่ายเว็บไซต์ต่างๆ มีแค่ 10 คน ที่จะต้องดูแลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ 37 ล้านคน ในอนาคตจะมีการยกภารกิจเฝ้าระวังมาให้ตำรวจบก.ปอท.แทน แต่ทั้งนี้ตำรวจก็ต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้รองรับภารกิจที่มากขึ้นเช่นกัน

3.การทำให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ใช้อย่างสร้างสรรค์ มีจิตสำนึก เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องทำปลูกฝังตั้งแต่เด็กและเยาวชนให้รู้จักการใช้งานอินเทอร์เน็ต อะไรคือสิ่งที่เหมาะสม อะไรคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย สาเหตุที่คนกล้าทำผิดในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะมีความรู้สึกว่าอยู่ในที่ลับ อำพรางตัวได้ คนเราเมื่อรู้สึกว่าอยู่ในที่ลับ หรือไม่มีใครรู้ว่าคุณเป็นใคร ก็เลยกล้าทำผิดกฎหมายหรือทำได้ทุกอย่าง

4.การแสวงหาความร่วมมือผู้ให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ชี้แจงว่า ในประเทศไม่มีปัญหาเพราะอยู่ภายใต้กฎหมายไทย แต่ผู้ให้บริการต่างประเทศทั้ง YouTube Google Facebook Twitter หรือ Line ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย และบังคับไม่ได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือ

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เล่าย้อนถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ฟังว่า วิธีการมอนิเตอร์ หรือการตรวจสอบข้อมูลจะมีซอฟต์แวร์ในการเฝ้าระวัง รวมถึงใช้โปรแกรมค้นหาตามปกติเพื่อหาเว็บไซต์ หรือข้อความที่เป็นภัย เช่น หากใช้คำว่า “กษัตริย์” ซอฟต์แวร์ก็จะค้นหาข้อมูลต่างๆ มาให้ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ดีและง่ายร้าย แต่บอกตรงๆ ซอฟต์แวร์ตัวนี้ตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว

“สมัยเป็นผู้บังคับการ ปอท. คดีละเมิดสิทธิทางเทคโนโลยีมีจำนวนมาก ผมเห็นปัญหามาโดยตลอด ก็คิดอยู่ตลอดว่าสิ่งใดที่จะเพิ่มอำนวยความสะดวกให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างรวดเร็วและกระชับ สิ่งใดกฎหมายบกพร่องหรือมีปัญหาเป็นช่องว่างอยู่ เราก็ต้องแก้ ต่อไปตำรวจ หรือข้าราชการที่ทำหน้าที่นี้ จะพูดไม่ได้แล้วว่าถอดข้อความนั้นออกไม่ได้ หรือแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ เพราะเซิร์ฟเวอร์ให้บริการอยู่ที่ต่างประเทศ ถ้าพูดแบบนี้ก็หมายความว่าคุณไม่ทำอะไรเลยใช่มั้ย จะปล่อยประเทศให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้หรือ ผมว่ามันไม่ใช่ มันไม่ควรจะจบแบบนี้”

ส่วนผู้ที่ละเมิด มีไม่เยอะ มีอยู่ไม่มีกี่กลุ่มกี่คนที่ละเมิด แต่เทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้ดูเหมือนว่ามีคนละเมิดจำนวนมาก เพราะการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง เรื่องนี้เราต้องตัดต้นตอ ทำอย่างไรให้คนใช้อย่างสร้างสรรค์ คนผิดก็ต้องดำเนินคดีโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ตรงนี้คนจะกลัวและไม่กล้าทำ รวมถึงความร่วมมือของผู้ให้บริการด้วย ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

“หลายคนบอกว่าไม่มีใครหรอกที่จะมาคิดทำแบบผม ผมตอบไปว่าก็ใช่สิ ไม่มีคนกล้าจะทำไง เพราะมีแต่คนกลัว สำหรับผมไม่มีคำว่ากลัวนะ เพราะผมทำเพื่อประเทศชาติ ใครจะด่าอะไรก็เชิญ ไม่สนใจ เพราะผมทำสิ่งที่ถูกต้องและพร้อมจะชี้แจงได้ทุกอย่างกับทุกคน”