posttoday

วิกฤตอุดมศึกษา มหา’ลัยล้น-ห้องเรียนร้าง

24 สิงหาคม 2561

ปีนี้ มหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้เปิดเทอมใหม่ท่ามกลางบรรยากาศยินดีเหมือนสถาบันอื่น เพราะมีผู้เรียนน้อยจนความเงียบเหงาเข้าปกคลุม

โดย..ธเนศน์ นุ่นมัน

ฤดูเปิดภาคเรียนใหม่ เริ่มขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความยินดี เพราะเป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้โอกาสนี้แนะนำตัวเองกับนักศึกษาใหม่หรือที่เรียกกันติดปาก ว่า “เฟรชชี่” ผู้ที่มีแววตาเปี่ยมไปด้วยความยินดี ความหวัง จากการที่จะได้เข้ามาใช้ชีวิตในสถาบันที่วาดหวังไว้ตั้งแต่แรก ที่นี่เปรียบเสมือนโลกใบใหม่ ที่ต้องฝากอนาคตไว้

แต่ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว ดูเหมือนปีนี้ จะเป็นปีแรกๆ ที่ต่างออกไป เพราะมีรายงานว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้เปิดเทอมใหม่ท่ามกลางบรรยากาศยินดีเหมือนสถาบันอื่น เพราะมีผู้เรียนน้อยจนความเงียบเหงาเข้าปกคลุม

“เท่าที่ทราบ ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง ที่มีนักศึกษาทุกชั้นปี รวมกันทั้งสถาบันไม่ถึง 200 คน บางแห่งซึ่งตั้งอยู่ในทำเลทองของกรุงเทพฯ ก็เตรียมที่จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น เอาที่ดินไปสร้างคอนโดมิเนียม เพราะมองว่าคุ้มค่ากว่า บางแห่งถึงกับเตรียมขายกิจการ

แน่นอน กรณีที่มีเด็กหรือผู้เรียนที่ลดลง กำลังส่งผลต่อมหาวิทยาลัยหลายแห่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเมื่อประกอบกับปัญหาที่นั่งเรียนที่มีมากกว่าผู้เรียนก็ยิ่งเห็นปัญหานี้ชัดเจน ปีนี้ที่นั่งเรียนทั้งหมดประมาณ 9 แสนที่ แต่เด็กที่สอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามีเพียง 3 แสนคน มีที่ว่างถึง 6 แสนที่

จำนวนดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งกลายเป็นมหาวิทยาลัยเปิดไปโดยปริยาย เด็กเลือกที่จะเรียนบางสาขาก็ได้ การแข่งขันกันสอบเข้าบางคณะที่เคยคึกคักก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด” ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ และนักวิชาการด้านการศึกษา สะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยของไทยใน พ.ศ.นี้

ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ ระบุอีกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ผลพวงจากจำนวนผู้เรียนที่ลดลง จะส่งผลไปถึงคุณภาพการเรียนการสอนอีกด้วย

“ปีนี้ ทราบมาว่ามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบางแห่ง ซึ่งเคยมีนักศึกษาทุกชั้นปี รวมกันถึง 1.4 หมื่นคน แต่ปีนี้ลดลงเหลือเพียง 7,000 คน เรื่องนี้จะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เพราะอย่าลืมว่างบประมาณแต่ละปีของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปนั้น จะถูกกำหนดให้มาจากค่าเล่าเรียนหรือค่าเทอมเพียง 1 ใน 3 ส่วน อีก 2 ส่วนมาจากงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุน และรายได้ที่มาจากการทำงานวิจัย งานด้านวิชาการ หรือการหารายได้จากด้านต่างๆ ที่แต่ละแห่งดำเนินการ แต่สัดส่วนงบประมาณของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหลายแห่งกลับไม่เป็นเช่นนั้น บางแห่งงบประมาณผูกกับรายได้จากค่าเล่าเรียนถึง 80% เมื่อผู้เรียนลดลงก็ประสบปัญหาเรื่องงบประมาณในการบริหารทันที” ศ.สมหวัง กล่าว

นอกจากที่เล่ามา นักวิชาการด้านการศึกษาท่านนี้ ยังบอกด้วยว่า เด็กวัยเรียนในปัจจุบันมีสำนึกในการเรียนเพื่อให้มีงานทำมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่เรียนมหาวิทยาลัยเพื่อต้องการทำงานราชการ และหลายคนทราบดีว่าระบบราชการแทบทุกแห่ง เริ่มปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ ลดจำนวนข้าราชการลง ปัจจุบันหลายคนหันไปเลือกเรียนสายอาชีพเพื่อเลี่ยงตกงาน วางแผนชีวิตแบบทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยต่างชาติระดับโลกมาเปิดหลักสูตรออนไลน์ เพื่อดึงนักศึกษาสร้างทางเลือกให้คนวัยเรียนมากขึ้น

“ระบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ได้พยายามตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ เช่น บางสถาบันที่มีชื่อเสียงมากของสิงคโปร์ถึงกับดึงดูดผู้เรียนทุกกลุ่มด้วยการเปิดโอกาสว่าสามารถเรียนได้ โดยไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาจบชั้นมัธยม ใครก็ได้ที่ต้องการเรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจนครบจบการศึกษาได้ มีระบบออกแบบไว้รองรับ หลายประเทศมีการเรียนออนไลน์ที่แพร่หลาย เพราะตอบโจทย์คนวัยทำงาน สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีบางสถาบันจัดหลักสูตรนี้อยู่ ซึ่งยังต้องมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลและรับรอง” นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าว

ศ.สมหวัง กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยไทยต้องมาทบทวนเป้าหมายกันใหม่ ว่าจะมุ่งเน้นความโดดเด่นทางด้านไหน เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ต้องมุ่งเน้นการส่งเสริมท้องถิ่นที่เป็นจุดแข็ง แต่ที่ผ่านมาเปิดสาขาที่หลากหลาย ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับผลกระทบหนักก็ต้องมีจุดเน้นจุดแข็งของตนเอง การแข่งขันในเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอน โดยในอนาคตมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป

“ที่ผ่านมา อุดมศึกษาของเรา เราไม่เน้นคุณภาพ เน้นธุรกิจกันมากไปมีการเปิดสอนนอกสถานที่กันมาก มีหลักสูตรพิเศษต่างๆ ที่เน้นแต่ปริมาณหารายได้จากค่าเล่าเรียน พอนักศึกษาลดลง ดีมานด์ก็ย่อมลดลงเป็นปกติ ในหลายประเทศการจะขออนุมัติเปิดหลักสูตรไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ญี่ปุ่น ถ้าจะขอเปิดปริญญาเอกสาขาใดสาขาหนึ่งรัฐบาลต้องอนุมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางต่างๆ

แม้หลายประเทศจะมีอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง เช่น ญี่ปุ่น แต่เขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องการปิดตัวของมหาวิทยาลัย นั่นเป็นเพราะมีจำนวนมหาวิทยาลัยที่พอดี ไม่ได้มากเกินไปเช่นเดียวกับไทย การปรับตัวแข่งขันในด้านคุณภาพ การสร้างจุดแข็ง กลับไปเน้นอัตลักษณ์ที่เคยโดดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย ถือเป็นทางรอดที่จะตอบโจทย์ให้หลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้” ศ.สมหวัง กล่าว