ผลกระทบนโยบาย 4.0 เสี่ยงทำแรงงานไร้อาชีพ
เสียงสะท้อนจาก "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" นโยบายไทยแลนด์ 4.0 อาจทำให้คนตกงานอย่างทวีคูณ ขาดการรองรับดูแลจากภาครัฐ
เสียงสะท้อนจาก "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" นโยบายไทยแลนด์ 4.0 อาจทำให้คนตกงานอย่างทวีคูณ ขาดการรองรับดูแลจากภาครัฐ
******************************
โดย...เอกชัย จั่นทอง
นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หลายคนเข้าใจความหมายว่า เป็นความทันสมัยที่มีการติดต่อสื่อสารผ่านระบบเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ลดการทำงานซับซ้อน รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้งานในสถานประกอบการทั่วไปที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลดเวลาเพิ่มคุณภาพงาน แต่อาจลืมไปว่านโยบายที่ถูกใช้นั้น อาจส่งผลทางอ้อมกับแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ส่งเสียงสะท้อนคัดค้านว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้คนตกงานอย่างทวีคูณ ขาดการรองรับดูแลจากภาครัฐ
ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) วิพากษ์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่กำลังสร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้แรงงานว่า นโยบายดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมากตกงาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานปรับตัวไม่ทันตามนโยบาย ทำให้แรงงานหลายคนได้รับผลกระทบอย่างมากและยังรวมถึงครอบครัวของผู้ใช้แรงงานอีกด้วย
เช่นเดียวกัน ยังพบแรงงานหลายคนถูกละเมิดสิทธิ ทางผู้ประกอบการเองต่างกดดันสารพัดเพื่อให้แรงงานที่ปรับตัวไม่ทันลาออก โดยที่เจ้าของกิจการไม่ต้องเสียค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ใช้วิธีกดดันอื่นๆ ลักษณะบีบบังคับกดดันให้ลาออกเอง นอกจากนี้ยังพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
“นโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีข้อดีก็เยอะ ส่วนข้อเสียก็มีเช่นกัน ข้อดีคือมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทดแทนกำลังคนที่ขาดแคลนในแรงงานต่างๆ ได้ดี มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน มีระบบ AI เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพ มีเครื่องจักรกลทันสมัยเข้ามาสู่ระบบงาน” ชาลี กล่าว
รองประธาน คสรท. ระบุด้วยว่า ส่วนข้อเสียของนโยบายดังกล่าวที่ทำอย่างทันทีแบบฮวบฮาบ คือ ไม่มีการให้เวลาแรงงานทยอยปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุดเมื่อแรงงานปรับตัวไม่ได้ก็ต้องถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก ที่สำคัญประเทศไทยประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี แต่วันนี้แรงงานหลายคนกำลังเผชิญปัญหาเสี่ยงตกงานจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คนไม่มีรายได้ ประเทศชาติจะดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าเศรษฐกิจดีต้องทำให้ประชาชนมีเงินและไม่ตกงาน และเป็นผลกระทบที่ไม่ควรเกิดขึ้น
“รัฐบาลมีกฎหมายอะไรบ้างไหมที่จะมารองรับแรงงานที่ตกงานหรือเสี่ยงตกงาน เคยมีมาตรการผ่อนปรนช่วยเหลือหาช่องทางรองรับคนกลุ่มนี้หรือไม่ ถ้าแรงงานเหล่านั้นพัฒนาตัวเองไม่ทันตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลมีอาชีพสำรองเตรียมพร้อมไว้อย่างไร หากรัฐบาลยังนิ่งเฉย เชื่อว่านโยบายดังกล่าวคงเดินต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน” รองประธาน คสรท. กล่าว
สำหรับสถานประกอบการที่ดำเนินการไปตามนโยบาย 4.0 นั้น อยากให้ย้อนไปดูว่าส่วนใหญ่กลุ่มเหล่านั้นดำเนินการมาก่อนที่จะมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงไม่แปลกที่จะปรับตัวทันกับนโยบายนี้
อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ฉายภาพสถานการณ์แรงงานว่า เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ จะเข้ามาพลิกโฉมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการผลิตและการบริการ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในบางกิจการนั้น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนได้มากกว่า 70% ประเทศที่มีค่าแรงสูงมากเกินไปและมีระบบคุ้มครองผู้ใช้แรงงานอ่อนแอจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยเทคโนโลยีอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้แทนที่แรงงานคนมากที่สุด
ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้าง และสถาบันฝึกอบรมต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเทอร์เน็ตของทุกสิ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม
อนุสรณ์ ยังหยิบยกงานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่า 44% (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80%
อนุสรณ์ ยังให้ความเห็นด้วยว่า แรงงานที่มีการศึกษาและทักษะไม่สูงจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้
นอกจากนี้ แรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆ เป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป
ท้ายที่สุดแล้ว การใช้เทคโนโลยีน้อยเนื่องจากเห็นว่ายังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่