posttoday

เตือนเอเชียโตสะดุด วิกฤตสหรัฐ-ยุโรปฉุด ต้องรับมือ

30 พฤศจิกายน 2554

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2554 บทวิเคราะห์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างพร้อมใจกัน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2554 บทวิเคราะห์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างพร้อมใจกันประเมินและลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2554 นี้ ความร้อนแรงของเอเชีย-แปซิฟิก จะเป็นพระเอกช่วยฉุดรั้งประคับประคองเศรษฐกิจโลกที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยให้ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง

ทว่า ผ่านมาเกือบจะครบปีขาดอีกเพียง 30 วันเศษเท่านั้น การคาดการณ์ดังกล่าวดูจะอยู่นอกเหนือจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

เพราะสถานการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปและสหรัฐกลับไม่ได้กระเตื้องขึ้นตามที่บรรดาผู้นำของภูมิภาคให้คำมั่นไว้ และดูเหมือนว่าจะเลวร้ายหนักยิ่งขึ้นไปอีก

บรรดาผู้นำในกลุ่มยูโรโซนยังคงไม่สามารถหามาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้ร่วมกัน ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดก็ส่งผลให้การแก้ไขปัญหายืดเยื้อบานปลาย

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ 3 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ฟิทช์ เรทติ้งส์ เอสแอนด์พี ที่พร้อมใจกันหั่นอันดับประเทศในกลุ่มยูโรโซนทั่วหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งโปรตุเกส ฮังการี และเบลเยียม

เตือนเอเชียโตสะดุด วิกฤตสหรัฐ-ยุโรปฉุด ต้องรับมือ

ขณะเดียวกัน ฟากสหรัฐก็ไม่น้อยหน้า แม้ว่าบรรยากาศช่วงปลายปีจะทำให้การค้าปลีกกลับมาคึกคัก แต่ปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังไม่สามารถเคาะมาตรการตัดลดการขาดดุลงบประมาณซึ่งพุ่งขึ้นทะลุ 150% ของจีดีพี และปัญหาการว่างงานที่ยังสูงเกิน 9% ก็ส่งผลให้ฟิทช์ต้องมาปรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในเชิงลบ

หรือเรียกได้ว่า ความน่าเชื่อถือของประเทศที่อยู่ในระดับ AAA มีสิทธิพิจารณาโดนหั่นลดได้ทุกเมื่อ

สภาวะที่ยังคงไม่เห็นทางออกจากปัญหาของยุโรปและสหรัฐ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภูมิภาคดังกล่าวลดลง จนกระเทือนต่อปริมาณความต้องการสินค้า และกลายเป็นต้นเหตุกระทบการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย

เพราะเมื่อตลาดการส่งออกอันเป็นหัวใจหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซบเซา การผลิตภายในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย ก็ย่อมต้องชะลอตามไปด้วย เนื่องจากไม่รู้จะผลิตสินค้าขึ้นมาเพื่อขายใคร

เรียกได้ว่า นอกจาก เอเชีย-แปซิฟิก จะไม่ได้รับบทฮีโร่ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังแล้ว บรรดานักวิเคราะห์ต่างต้องตบเท้าออกมาเตือนภูมิภาคเอเชียทั่วหน้าให้เร่งหามาตรการเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในเอเชียอย่างเต็มที่ก่อนที่จะโดนพายุเศรษฐกิจจากฟากตะวันตกพัดถล่มจนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคย่ำแย่ตามไปด้วย

ทั้งนี้ บรรดาสถาบันการเงิน องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไล่เรียงตั้งแต่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ออกมาระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียโดยเฉลี่ยในปี 2554 นี้จะอยู่ที่ 6.3% และในปี 2555 จะอยู่ที่ 6.7% ซึ่งต่ำกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงเดือน เม.ย. ปีนี้ที่อยู่ที่ 6.8% และ 6.9% ตามลำดับ

ด้านธนาคารโลกเองก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกจะมีอัตราเติบโตของจีดีพีที่ 8.2% ในปีนี้ และจะเติบโตที่ 7.8% ในปี 2555 ซึ่งลดลงจาก 9.7% ในปี 2552

ขณะที่องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศล่าสุดที่ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียในปี 2555 ที่กำลังจะมาถึง

โออีซีดี เตือนว่า เศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 6 ประเทศในภูมิภาคน้องเล็กอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จะมีการเติบโตชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดและเห็นได้ยาว คือกินเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555–2559 ซึ่งเศรษฐกิจของทั้ง 6 ประเทศจะเติบโตเพียง 5.6% เท่านั้นในช่วงดังกล่าว

ดังนั้น คงไม่มีทางออกไหนที่ดีกว่าการให้บรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเร่งหามาตรการตัวอื่นเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยจำเป็นต้องลดการที่จะมุ่งแต่พึ่งพาการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐ ที่ขณะนี้ ก็กำลังหาทางเอาตัวรอดอยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งธนาคารโลกและโออีซีดีต่างมองว่า ด้วยพื้นฐานของภูมิภาคเอเชียที่มีความอุดมสมบูรณ์และพร้อมด้วยฐานการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็ง ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เติบโตผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเดินหน้าเข้าสู่ความเลวร้ายยิ่งกว่าต่อจากนี้ไปได้

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่สุดในเอเชียในขณะนี้ก็คือการเร่งลงทุนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศขนานใหญ่ และปฏิรูปด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข ภาคการเกษตรและภาคแรงงานอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการหามาตรการป้องกันบรรเทาปัจจัยเสี่ยงอย่างภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่นเดียวกัน

แน่นอนว่า เมื่อวิกฤตเลวร้ายถึงขั้นสุด ก็เป็นไปไม่ได้ที่ภูมิภาคเอเชียจะไม่ได้รับผลกระทบ

แต่หากมีการเตรียมการรับมือป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว วิกฤตที่เกิดขึ้นย่อมมีโอกาสให้เดินต่อได้เสมอ