posttoday

‘แผนน้ำ-แผนเงิน’ ชัด แต่โอกาส ‘เข้าลิ้นชัก’ ยังมีสูง

09 มกราคม 2555

หลังจากอดทนรอกันพักใหญ่ ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ฤกษ์คลอดออกมาเสีย สำหรับแผนลงทุนน้ำระยะยั่งยืนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาวงเงิน 3 แสนล้านบาท

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

หลังจากอดทนรอกันพักใหญ่ ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ฤกษ์คลอดออกมาเสีย สำหรับแผนลงทุนน้ำระยะยั่งยืนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาวงเงิน 3 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่รอการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้

เป็นการออกควบคู่กับ พ.ร.ก.กู้เงินอีก 4 ฉบับที่จะมีวงเงินในการใช้จ่ายฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วม 7.6 แสนล้านบาท

ถือว่าเป็นเงินก้อนมหึมาที่สุด เพราะหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยระหว่างเดือน ก.ค.ธ.ค. 2554 ซึ่งว่ากันว่า เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอันดับ 3 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2548 คือ พายุเฮอริเคนแคทรินา แผ่นดินไหวและสึนามิญี่ปุ่น และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่

ดังนั้นการฟื้นฟูเหตุการณ์และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศจึงเป็นภารกิจเร่งด่วน

แน่นอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์คาดหวังอย่างสูงว่าแผนลงทุนน้ำฉบับนี้ จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและประชาชนได้ โดยเฉพาะเมื่อมองจากท้องฟ้าจะพบว่าพื้นที่ 1 ใน 3 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือคิดเป็น 3.5 หมื่นตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง (Floodplain) มีการใช้ประโยชน์ที่ดินหนาแน่นอน และมีประชากรอาศัยกว่า 18 ล้านคน

“หัวใจ” การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และซัพพลายเชนของโลกล้วนอยู่ที่นี่

แผนการลงทุนระยะยาวที่ประกอบด้วย 8 แผนงาน ได้แก่ แผนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

‘แผนน้ำ-แผนเงิน’ ชัด  แต่โอกาส ‘เข้าลิ้นชัก’ ยังมีสูง

 

แผนงานจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก แผนงานฟื้นฟูและโครงสร้างพื้นฐานน้ำ แผนงานระบบพยากรณ์ เตือนภัย แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ แผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง แผนงานจัดตั้งองค์กรจัดการน้ำ และแผนงานสร้างการยอมรับ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ล้วนแล้วแต่โดนในความรู้สึก

เฉพาะแผนลงทุนน้ำระยะยาว กำหนดโซนเขตเศรษฐกิจที่ปลอดจากน้ำท่วมทุกกรณี ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยาอ่าวไทย ที่มีการกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อแก้มลิง กำหนดทางน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) นอกพื้นที่เศรษฐกิจหลัก 2 เส้นทาง ได้แก่ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ใครที่เห็นแผนในหน้ากระดาษคงโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง

ขณะที่โครงการด้านสิ่งก่อสร้างมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกลาง และใหญ่ โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำยม ที่ กยน.มองว่าเป็นสาเหตุของน้ำท่วม “เขื่อนแก่งเสือเต้น” จะต้องเกิดขึ้นเพื่อปิดจุดอ่อนนี้

แต่ทว่าในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันโครงการนี้ถูกต่อต้านอย่างหนัก

นอกจากนี้ ต้องมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเสนาธิการและสั่งการการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จทั้งยามปกติและยามฉุกเฉิน

ส่วนการจัดหาแหล่งเงินที่นำมาลงทุนตามแผนน้ำไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีการออกร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อลงทุนด้านน้ำ มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการลงทุนเพื่อไม่ให้โครงการซ้ำซ้อนและมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินผลโครงการเพื่อให้มั่นใจว่าเงินที่ลงทุนไปเกิดมรรคผลตามแผนที่วางไว้

เมื่อแผนน้ำ “ชัด” แผนเงิน “ชัด” น่าจะเพิ่มระดับความมั่นใจให้นักลงทุนในพื้นที่ได้อย่างน้อย 70-80% เมื่อประกอบกับแผนลงทุนสร้างเขื่อนป้องกันนิคมอุตสาหกรรมภายใต้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความ “เชื่อมั่น” การย้ายฐานการผลิตเพราะปัจจัย “น้ำท่วม” คงเป็นปัจจัยรองลงมา เมื่อเทียบกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทของรัฐบาล

ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการ “ปฏิบัติ” แต่เส้นทางเดิน คงไม่ได้สวยหรูโรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นแผนที่ร่างไว้บน “กระดาษ” แน่นอน

ทั้งนี้เพราะในการทำงานนั้นยังมีปัญหาในการดำเนินงานที่รัฐบาลจะต้องฝ่าฟันอีกไม่น้อยและแต่ละปมก็หินทั้งสิ้น

1.การต้องปฏิบัติตาม ม.67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้การลงทุนโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้องทำอีไอเอ เอชไอเอ และการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ถือเป็นการเวที “การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม” ที่ถือว่ายากเย็นแสนเข็ญจนอาจทำให้โครงการลงทุนตามแผนไปไม่ถึงฝั่งฝัน

2.การขุดลอก คูคลอง และการจัดการกับสิ่งที่กีดขวางทางน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ก็จะกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญเช่นกัน

เพราะต้องยอมรับว่าแม่น้ำหลายสาย คลองหลายคลองถูกบุกรุกโดยประชาชนจำนวนมากตลอดลำน้ำ มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในลำน้ำ

ดังนั้นการย้ายสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ออกไปเพื่อสร้างระบบป้องกันน้ำจะต้องยุ่งยากมากมายและไม่ง่ายเลย ที่จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า

เพราะสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นของผู้ทรงอิทธิพลและมีผลในทางการเมืองทั้งนั้น

3.ความขัดแย้งกับระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวบ้าน โดยเฉพาะกรณีการกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเป็น “แก้มลิง” ยามน้ำมาก

ในขณะที่พื้นที่ที่ถูกเสนอให้จัดทำแก้มลิงมีมากถึง 2 ล้านไร่ นั้นแน่นอนว่าคงไม่มีชาวบ้านในพื้นที่ใดหรือใครที่อยากอยู่ในฐานะ “พลเมืองชั้นสอง” ต้องรับน้ำแทนพื้นที่อื่น

4.ความล่าช้าในการลงทุนของหน่วยงานรัฐที่ต้องยอมรับมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับต่ำ เพราะในทางปฏิบัตินั้นหลายกรณีพบว่าหน่วยงานเสนอโครงการแล้ว กันงบประมาณไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง บ้างก็เสนอของบโดยที่โครงการไม่มีความพร้อม ขณะที่ความรั่วไหลการใช้งบฯอยู่ในระดับสูง ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่รัฐบาลต้อง “ยอมรับ” ว่าเป็นจุดอ่อนในการนำนโยบายและแผนงานไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์

และ 5.การจัดตั้งองค์กรกลางที่มีหน้าที่จัดการน้ำในรูปแบบ Single Command ที่ กยน.ออกมาในรูป พ.ร.บ.เพื่อยืมอำนาจที่กระทวง ทบวง กรมเคยมีอยู่ มาไว้ที่องค์กรนี้ เพื่อหวังให้การจัดการน้ำมีเอกภาพ การขัดแย้งในระดับองค์กรจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะวันนี้หน่วยงานที่ดูแลจัดการน้ำมีไม่น้อยกว่า 4 แห่ง ที่ล้วนแล้วแต่ต้องการอำนาจในการสั่งการ และต้องการงบประมาณในการขับเคลื่อน

นอกจากเหตุผลหลัก 5 ประการนั้นแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ การขาดความเชื่อถือในความแม่นยำและระบบพยากรณ์ด้านน้ำของรัฐ

ในขณะที่ “ข่าวลือ” กลับได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านมากกว่าข้อมูลของหน่วยรัฐ เห็นได้ชัดเจนจากวาทะแห่งปี “เอาอยู่”

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้มุมมองว่า “กยน.บอกว่าต้องมีระบบข้อมูลน้ำที่ถูกต้อง มีเอกภาพ และการพยากรณ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เราต้องเอาชนะ “หมอดู” ให้ได้ ซึ่งต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูกต้องและสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น”

ขณะที่ปัจจัยที่ละเลยไม่ได้ คือ “นักการเมือง” และ “ทุนการเมือง” เพราะเงินลงทุนก้อนใหญ่ 3 แสนล้านบาท และงบจิปาถะอีกก้อนใหญ่นั้นกลายเป็นทองที่ทุกคนต่างหมายตา

ดังนั้นแผนลงทุนน้ำที่กำหนดไว้จึงอาจเกิดขึ้นได้ไม่เต็ม 100% ของแผนทั้งหมดที่วาดไว้ และถึงตอนนี้งบลงทุนจากเงินกู้ก็จะถูกผ่องถ่ายไปลงทุนในโครงการที่นักการเมืองต้องการ กรณีกิน “เปอร์เซ็นต์ส่วนต่าง” และ “หัวคิว”

นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า แผนงานที่สำคัญอาจต้องเก็บไว้ใน "ลิ้นชัก" เช่นเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น หากการลงทุนตามแผนสัมฤทธิ์ในการปกป้องเขตเศรษฐกิจภาคกลางตอนล่างได้อย่างแท้จริง พื้นที่ในเขตปลอดน้ำท่วมจะกลายเป็น "แผ่นดินทอง" ทันที

นี่เป็นผลประโยชน์พลอยได้ "มหาศาล" ของบรรดา "แลนด์ลอร์ด" ที่ต้องรัฐบาลต้องเข้าไปจัดการผลประโยชน์กันใหม่