สว.ซัดพรก.กู้ขัดหลักประชาธิปไตย
วุฒิสภาถกพ.ร.ก.2ฉบับ กิตติรัตน์ ย้ำยังไงก็ต้องใช้เงินฟื้นปท. คำนูณ ชี้ พ.ร.ก.ขัดหลักประชาธิปไตยไร้ระบบตรวจสอบถ่วงดุล-ขาดการมีส่วนร่วม
วุฒิสภาถกพ.ร.ก.2ฉบับ กิตติรัตน์ ย้ำยังไงก็ต้องใช้เงินฟื้นปท. คำนูณ ชี้ พ.ร.ก.ขัดหลักประชาธิปไตยไร้ระบบตรวจสอบถ่วงดุล-ขาดการมีส่วนร่วม
ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ.2555 และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติอนุมัติมาแล้วก่อนหน้านี้
คำนูณ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวถึงหลักการและเหตุในการเสนอพ.ร.ก.ดังกล่าวว่า ปี2554 ได้เกิดอุทกภัยทั่วประเทศก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงกระจายไปในทุกภาคส่วนทั่วประเทศทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับความเสียหายในภาคเกษตรกรรมกว่า 11 ล้านไร่สูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 4.4หมื่นล้านบาท ยังไม่นับความเสียหายในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน
"รัฐบาลตระหนักดีว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งให้เศรษฐกิจโดยรวมเกิดความถดถอย สุ่มเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย การป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ได้วางกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำ"นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการเสนอพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 เพื่อให้มีการบริหารจัดการหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทอย่างเป็นระบบและช่วยให้รัฐบาลมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอที่จะนำไปบริหารหนี้สาธารณะส่วนอื่นๆและสร้างเสถียรภาพต่อระบบการเงินการคลังของประเทศโดยรวม
นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา อภิปรายคัดค้านการเสนอพ.ร.ก.ว่า การใช้เงินของรัฐบาลลักษณะนี้เรียกว่าเป็นอาณารยะไม่ใช่อารยะ ขาดความเหมาะสมเพราะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณซึ่งควรใช้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ถึงที่สุดจริงๆเท่านั้นและต้องเป็นเงินงบประมาณในจำนวนไม่มาก
"เมื่อพูดการปกครองระบอบประชาธิปไตยของแค่การมีรัฐบาล สภา เลือกตั้ง ทั้งที่ควรคำนึงถึงหลักการถ่วงดุลการใช้อำนาจทางการเมืองระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ พร้อมกับกรอบการใช้เงินของฝ่ายบริหารว่ามีกระบวนการตรวจสอบควบคุมโดยฝ่ายนิติบัญญัติเคร่งครัดเข้มงวดเพียงใด ดังนั้น พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับละเมิดหลักการในส่วนนี้พอสมควรเพราะรัฐบาลน่าจะเป็นทำร่างพ.ร.บ.ผ่านรัฐสภาได้พร้อมๆกับการออกพ.ร.ก.อีก 3 ฉบับที่เหลือ เพื่อรักษาไว้ซึ่งกระบวนการตรากฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอและรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา ถ้ามีความจำเป็นจริงๆรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากก็พร้อมดำเนินการได้อยู่แล้ว"นายคำนูณ กล่าว
สว.สรรหา กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการสร้างอนาคตของประเทศตาามพ.ร.ก.ว่าควรเป็นไปอย่างไรในอีก 5-10ปีข้างหน้า โดยนำเสนอเป็นแผนมาให้รัฐสภาร่วมพิจารณา เราเห็นแต่กรอบการใช้เงินเพียงอย่างเดียว ทางที่ดีอยากเห็นรัฐบาลตราเป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยการสร้างอนาคตของประเทศออกมาเป็นการเฉพาะผ่านกระบวนการของรัฐสภา หรือใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อเปิดประชุมร่วมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ออกมาชี้แจงประชาชนว่าภาพรวมในอนาคตของประเทศภายใต้การดำรงตำแหน่งของรัฐบาลจนครบวาระต้องใช้เงินนอกและในงบประมาณเท่าไหรเพื่อสร้างอนาคตประเทศ
"ถ้าทำได้แบบนี้จะเป็นความงดงาม แต่การใช้เงินที่ประชาชนยังไม่รู้ทิศทางในอนาคตและกรอบการใช้เงินไม่สมควรกระทำ วันนี้ผมไม่อยากถามว่ากระบวนการตามปกติมันไม่ทันการณ์หรือมันไม่ทันกินกันแน่ กระบวนการใช้เงินนอกงบประมาณรัฐบาลอาจชี้แจงได้ว่าจะทำให้ดีที่สุด หลักการของประชาธิปไตยสามารถฟังคำสัญญาได้ แต่ฟังได้น้อยกว่าการใช้เงินที่มีกรอบมีระบบตามที่ถูกที่ควร ดังนั้น ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการใข้เงินนอกงบประมาณ" นายคำนูณ กล่าว
นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สว.สงขลา กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินจำนวนมากขนาดนี้ เพราะรัฐบาลสามารถหาวิธีเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของรัฐบาลได้ในหลายรูปแบบ เช่น การชะลอนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ไม่มีความจำเป็นออกไปก่อน เป็นต้น เพราะเชื่อว่ามีหลายนโยบายสามารถเลื่อนออกไปได้ หรือการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ถ้าทำได้แบบนี้รัฐบาลจะมีเม็ดเงินงบประมาณเหลือจำนวนพอสมควรเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเยียวยาโดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมหาศาล