กรีซไปไม่ใช่เรื่องเล็กๆหวั่นโลกเจ๊งยับ 1 ล้านล้านเหรียญ
ประเด็นระหว่างประเทศที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ คงไม่มีอะไรเกินไปกว่าชะตากรรมของกรีซ ว่าจะ “อยู่” หรือ “ไป”
โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ
ประเด็นระหว่างประเทศที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ คงไม่มีอะไรเกินไปกว่าชะตากรรมของกรีซ ว่าจะ “อยู่” หรือ “ไป” จากกลุ่มยูโรโซน ซึ่งฝรั่งกำลังเรียกว่าเป็น Grexit โดยย่อมาจาก Greece Exit
หากอยู่ต่อ ยูโรโซนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่โดยเฉพาะความยืดหยุ่น ที่คาดว่าเยอรมนีจะยอมผ่อนปรนในเชิงหลักการครั้งสำคัญ เพื่อให้กรีซยังคงอยู่ในกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันต่อไป
แต่หากต้องถอนตัว หรืออาจเรียกให้ถูกต้องมากขึ้นว่า กลุ่มยูโรโซนยอมปล่อยให้กรีซต้องออกจากกลุ่มจริงๆ โดยไม่คิดจะประนีประนอมเพื่อรั้งไว้ ผลกระทบที่ตามมาอาจไม่ต่างอะไรกับ “วันมหาโลกาวินาศ : Armageddon”
ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ “เบื้องต้น” อยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31.3 ล้านล้านบาท) หรือราว 5% ของจีดีพีกลุ่มยูโรโซน
ตัวเลขดังกล่าวนี้ เป็นเพียงแค่การประเมินคร่าวๆ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ว่าความเสียหายจริงทั้งหมดนั้นยังไม่อาจคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ และต้องขึ้นอยู่กับว่าจะให้ครอบคลุมผลกระทบในส่วนใดบ้าง แต่ที่ดูจะแน่นอนก็คือ ความเสียหายทั้งที่ประเมินได้และไม่ได้นี้ มีจำนวนมหาศาลจนอาจทำให้ยุโรปต้องรั้งกรีซเอาไว้ในที่สุด
แนวโน้มการออกจากยูโรโซน หากกรีซได้รัฐบาลฝ่ายซ้ายหลังการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงอันดับแรกต่อเจ้าหนี้ทั้งหลายของกรีซ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารในยุโรปกับสหรัฐ ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ของกรีซ เพราะกรีซจะไม่ได้รับเงินกู้จากอียูและไอเอ็มเอฟอีกต่อไป จนเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ (Default)
กลไกรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (EFSF) เป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้กรีซไปแล้วนับแสนล้านยูโร ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งถือครองตราสารหนี้กรีซไว้ประมาณ 5–5.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2–2.2 ล้านล้านบาท) ก็เสี่ยงไม่แพ้กัน และธนาคารกลางของกรีซก็ยังเป็นหนี้อีซีบี ในวงเงินอีกราว 1.04 แสนล้านยูโร (ราว 4.2 ล้านล้านบาท) จากการประเมินของธนาคารยูบีเอส ในโครงการ Target 2 หรือระบบการชำระเงินข้ามธนาคารในยุโรป
ยูบีเอสได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นของ Grexit ไว้ที่ 2.25 แสนล้านยูโร (ราว 9 ล้านล้านบาท) ส่วนธนาคารเดคาแบงก์ประเมินไว้ที่ 3.5 แสนล้านยูโร (ราว 14 ล้านล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความเสียหายที่เยอรมนีแบกรับไว้มากถึง 8.6 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.5 ล้านล้านบาท)
ในขณะที่ดักลาส แม็ควิลเลียมส์ จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศอังกฤษ ประเมินตัวเลขไว้สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31.3 ล้านล้านบาท) ในกรณีที่กรีซต้องออกจากยูโรโซนไปโดยไม่มีการวางแผนรับมือเอาไว้
นอกจากความเสียหายโดยตรงแล้ว ความเสียหายที่ไม่ได้ถูกคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่วิตกกังวลไม่แพ้กันก็คือ ผลกระทบที่จะขยายวงออกไปทั่วยุโรปและทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มยูโรโซนอย่างสเปนและอิตาลี ซึ่งจะเสียหายอย่างหนักในแง่ความเชื่อมั่นและต้นทุนการกู้ยืมในตลาดพันธบัตรที่จะพุ่งขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบในภาคการเงินการธนาคารทั่วกลุ่มประเทศยูโรโซนด้วย ทั้งในแง่ของการเป็นเจ้าหนี้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ของกรีซ และในแง่ของความเชื่อมั่นต่อค่าเงินยูโรที่ลดลง จนนำไปสู่การแห่ถอนเงิน เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วทั้งในกรีซและสเปน
“ผลกระทบต่อกลไกที่เรากังวลมากที่สุดก็คือ การแห่ถอนเงินออกจากธนาคารกันเป็นวงกว้าง หากกรีซถอนตัวออกจากยูโรโซนและกลับไปใช้เงินดรักมา ซึ่งอาจมีมูลค่าลดลงถึงครึ่งหนึ่ง แน่นอนว่าเรื่องนี้จะทำให้ผู้ฝากเงินในยุโรปประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาเศรษฐกิจ พากันคิดว่าเงินฝากของตนเองเสี่ยงไปด้วย และอาจจำไปสู่สถานการณ์การแห่ถอนเงินตามมา” สเตฟาน ดีโอ นักวิเคราะห์จากธนาคารยูบีเอส เปิดเผยกับเอเอฟพี
หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริง ซึ่งจะถือเป็นปัญหาครั้งใหญ่ในสังคม อีซีบีและรัฐบาลประเทศนั้นๆ จะต้องเข้ามาแทรกแซง และอาจต้องมีการให้เงินกู้อีกนับแสนล้านยูโรเหมือนกับที่ให้กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสไปแล้ว
แม้แต่เยอรมนี ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดและเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรปที่รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้ ก็ต้องเสี่ยงต่อความสูญเสียในวงเงินมหาศาลเกือบล้านล้านยูโร จากผลกระทบของการออกจากยูโรโซน
จึงไม่น่าแปลกใจที่ระยะหลังมานี้ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี จะย้ำถึงความต้องการให้กรีซคงอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไป ทั้งในการแถลงร่วมกับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส และในระหว่างการประชุมกลุ่มผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (จี8) ที่สหรัฐ แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากผู้นำในยูโรโซนก็ตาม ว่าถ้าให้อยู่ต่อจะมีการประนีประนอมหรือมีทางออกให้อย่างไร
แต่อย่างน้อยความเสียหายมหาศาลระดับนี้ ก็อาจส่งสัญญาณเป็นนัยได้ว่า ใครเล่าจะกล้าเสี่ยงให้เกิดขึ้น