posttoday

กำแพงพัง-น้ำทะลัก-ชาวบ้านทำใจ

12 กันยายน 2555

ความในใจชาวสุโขทัยทำใจอยู่กับน้ำท่วม กำแพงกั้นน้ำเก่าไร้การซ่อมบำรุง ไม่คาดหวังรัฐแก้ปัญหาระยะยาวได้

โดย...ศุภชาติ เล็บนาค

ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพี่น้องชาวเทศบาลเมืองสุโขทัย เพราะจนถึงขณะนี้แม้จะวางกล่องลวดบรรจุหิน(เกเบียน)และวางบิ๊กแบ็คเพื่อโอบรอบเทศบาลเมืองและรักษาระดับน้ำให้เท่ากันเสร็จแล้ว แต่กระบวนการสูบน้ำออกก็ยังไม่เสร็จสิ้นท่ามกลางความกังวลว่าระดับน้ำอาจสูงขึ้นมาอีกและทำลายพนังกั้นน้ำในส่วนอื่น แม้ว่าปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะยืนยันแล้วว่าระดับน้ำในแม่น้ำยมจะไม่สูงกว่านี้ ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนี้ต้องลุ้นกันต่อไปว่าแผนการของรัฐบาลที่ใช้กับพื้นที่นี้จะสำเร็จอย่างที่คุยไว้หรือไม่

กำแพงพัง-น้ำทะลัก-ชาวบ้านทำใจ

มองไปถึงต้นเหตุของสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวที่รัฐบาลย้ำนักย้ำหนาว่าไม่ใช่น้ำที่ล้นข้ามตลิ่ง แต่เกิดจากน้ำที่ลอดท่อเข้ามาในเมืองสุโขทัยนั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าของพื้นที่หลายสมัยแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า กำแพงดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2544 นั้นเกิดจากความพยายามป้องกันเมืองที่อยู่ติดแม่น้ำยมแห่งนี้อย่างถาวรให้คลายกังวลว่าจะไม่ถูกน้ำท่วมอีกในอนาคต แต่จนแล้วจนรอดน้ำก็ยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องขยายกำแพงให้สูงขึ้นอีกด้วยฐานเดิม แต่ด้วยความที่กำแพงแห่งนี้ก่อสร้างมาราว 10 กว่าปีแล้วและแต่ละตำบลก็สร้างกำแพงของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงถูกน้ำจากแม่น้ำทะลักข้างใต้เข้ามาอย่างไม่คาดฝัน

ถามไปว่าในอนาคตจะต้องดูแลหรือตรวจสอบกำแพงอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก สมศักดิ์ตอบทันทีว่า ตราบใดที่ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำยมไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำยมบน ยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อชะลอน้ำไม่ให้เข้าสู่ จ.สุโขทัยเร็วและรุนแรงขึ้นแบบนี้ คนสุโขทัยก็ยังต้องหวาดผวากับกระแสน้ำยมอีกต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำตามขั้นตอนเพื่อให้เกิดเขื่อนเร็วที่สุด

ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ สมศักดิ์ยังแนะไปยังรัฐบาลอีกว่ารูปแบบของแม่น้ำยมที่เข้าสู่สุโขทัยนั้นไม่ใช่น้ำที่มารวดเดียวแล้วไปเหมือนกับลำน้ำอื่น แต่คือน้ำที่มาเป็นระลอก หากคุมด้านเหนือไม่ได้ สุโขทัยก็ต้องรับเต็มๆ ซึ่งแต่ละปีน้ำอาจจะมาระลอกเดียวหรือ 12 ระลอกก็เป็นได้ ซึ่งขณะนี้เพิ่งจะเข้าสู่ระลอกที่ 2 เท่านั้น หากไม่เร่งวางแท่งเกเบี้ยนให้เสร็จน่ากังวลว่าน้ำที่เข้ามาใหม่อาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ขึ้นหรือถ้าคิดแบบเลวร้ายที่สุดก็อาจทำลายกำแพงกั้นน้ำริมแม่น้ำจนพังลงและเพิ่มความยุ่งยากอย่างไม่สิ้นสุดให้กับรัฐบาล

กำแพงพัง-น้ำทะลัก-ชาวบ้านทำใจ

ขณะเดียวกัน ประสพสุข สุขสวรรค์ ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองสุโขทัย ยังกังวลกับระดับน้ำจากอ.ศรีสัชนาลัย และอ.สวรรคโลกที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองในค่ำคืนนี้ เนื่องจากระดับน้ำทั้งสองแห่งยังคงสูงอยู่และอาจส่งผลกระทบกับความพยายามเอาน้ำออกเขตเมืองด้วยแท่งเกเบียนและบิ๊กแบ็ค แต่ก็หวังว่าระบบคูคลองที่อยู่ก่อนถึงเมืองจะช่วยตัดยอดน้ำออกไปได้

แหล่งข่าวภายในเทศบาลเมืองสุโขทัย ระบุว่า กำแพงกั้นน้ำที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2544 นั้นเดิมเป็นกำแพงที่ตั้งเป้าว่าจะรับน้ำได้เพียง 1 เมตร ต่อมาก็ยกขึ้นเป็นกำแพงสูง 2 เมตร และ 3 เมตรตามลำดับ แต่ฐานของกำแพงคือฐานที่ยกขึ้นจากพื้นถนนเลียบแม่น้ำยมไม่ได้มีการเจาะเสาเข็มลงไปในแม่น้ำยมหรือเพิ่มขนาดของฐานให้กว้างขึ้นเท่ากับความสูงของกำแพงประกอบกับจุดดังกล่าวเป็นโค้งของแม่น้ำพอดีทำให้น้ำกัดเซาะเข้ามาด้านใต้และผุดเข้ามาตามท่อเข้าสู่ตลาดริมน้ำในที่สุด

ชาวบ้านเขตตลาดทำใจได้อย่างเดียว

อารี บุญประดับ ชาวบ้านชุมชนวิเชียรจำนงค์ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองระบุว่า ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงกว่าน้ำท่วมเมื่อปี 2548 มาก และมีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่าในอดีต โดยการแจ้งเตือนนั้นแทบจะเป็นเวลาเดียวกับที่น้ำทะลักเข้าสู่เมืองแล้ว ทำให้ไม่สามารถเตรียมเก็บของได้ทัน โดยอาชีพค้าขายที่อารีและเพื่อนๆทำอยู่นั้นแทบจะเสียหายทั้งหมด ในขณะที่การช่วยเหลือนั้นยังยากลำบากเนื่องจากกระแสน้ำยังไหลแรง ทำให้ต้องฝ่ากระแสน้ำมาต่อคิวรับด้วยตัวเองที่วัดราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เช่นเดียวกับชาวตลาดสุโขทัยคนอื่นๆ

ส่วนคำมั่นที่รัฐมนตรีให้ไว้ว่าจะพยายามดำเนินการให้เสร็จและสูบน้ำออกได้ภายใน 2-3 วันนั้น อารีบอกว่าไม่เชื่อเนื่องจากเมื่อ 2-3 วันก่อนรัฐบาลก็พูดอย่างนี้เช่นเดียวกันว่าจะเอาอยู่ แต่สุดท้ายน้ำก็ทะลักเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงทำใจแล้วว่าจะต้องทนอยู่กับน้ำไปอย่างน้อย 1 อาทิตย์หรืออย่างมากที่สุดอาจนานถึง 1 เดือน

กำแพงพัง-น้ำทะลัก-ชาวบ้านทำใจ ธนพร

ด้านธนพร โถน้อย เจ้าของร้านขายของชำ"เจี๊ยบ"บริเวณสี่แยกบุญศิริ ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่น้ำยมทะลักเข้ามามากที่สุดระบุเช่นเดียวกันว่า ระบบการเตือนภัยและระบบสั่งการมีปัญหาไม่น้อย เนื่องจากในจุดที่ธนพรอยู่ห่างจากแม่น้ำไม่มากทำให้มีเวลาไม่ถึง 15 นาที จึงเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงไม่ทัน

ธนพรบอกว่าจุดที่มีปัญหานั้นไร้การซ่อมบำรุงรักษามานานหลายปี จึงไม่แปลกใจที่อาจมีน้ำรั่วซึมเข้าสู่พื้นที่ แต่ไม่คิดว่าจะลุกลามไปทั่วเขตเทศบาลเมืองมากขนาดนี้ อย่างไรก็ตามยังกังวลว่ากำแพงอาจเกิดรั่วซึมในจุดอื่นและอาจพังทลายเข้ามา ซึ่งอาจทำให้เมืองจมลงโดยไม่มีทางออก ธนพรไม่คาดหวังอะไรกับการแก้ปัญหาโดยรัฐ เพราะเธอก็เพิ่งทราบมาว่าปัญหาที่จ.พระนครศรีอยุธยาที่รัฐบาลอ้างว่าน้ำท่วมโดยอุบัติเหตุนั้นก็ดูไม่จืดเช่นเดียวกัน

"ในฐานะที่อยู่ที่นี่มานานกว่า 40 ปี บอกได้เลยว่าทำใจแล้ว เนื่องจากน้ำในแม่น้ำยมเต็ม รวมถึงอัดเข้าเมืองทุกปี แต่ไม่เคยเกิดรุนแรงแบบนี้เท่านั้น พอท่วมครั้งหนึ่งก็พูดถึงเขื่อนยมบน ยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น แต่พอมีคนมาทักท้วงหน่อย ก็เงียบไป เพราะฉะนั้น ไม่มีหนทางอื่นนอกจากอยู่กับน้ำต่อไปหรือหัดย้ายของขึ้นที่สูงให้เร็วกว่านี้" ธนพรกล่าว

กำแพงพัง-น้ำทะลัก-ชาวบ้านทำใจ