"สันติ" ยืนยัน EEC ไม่ได้เอื้อแค่ทุนใหญ่
“สันติ กีระนันท์” ยืนยันกฎหมายอีอีซี ไม่ได้เอื้อเฉพาะทุนใหญ่ ชี้มีความยืดหยุ่น โดยสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการลงทุนทุกกลุ่ม ทั้งคนไทยและต่างชาติ ชี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และหนุนเกษตรกรรายย่อยใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร
ดร.สันติ กีระนันท์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสท์เฟซบุ๊ค ประเด็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
โดยระบุว่า ได้อ่านข่าวที่เกี่ยวกับแนวคิด “เขตธุรกิจใหม่” เปรียบเทียบกับ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า EEC ก็อยากแสดงความคิดเห็นโดยเก็บข้อมูลจากพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้เคยทำงานในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรมยุคที่เริ่มต้นของ EEC และช่วงที่เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้เชิญผู้บริหารของ EEC มาให้ข้อมูลอยู่หลายครั้ง
ตนขอแสดงความดีใจที่มีแนวคิดเขตธุรกิจใหม่เกิดขึ้น แสดงถึงการเห็นคุณประโยชน์ของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างจริงจัง ดังที่ตนได้พยายามนำเสนอมาโดยตลอด แต่รัฐบาลปัจจุบันก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจความจำเป็น จึงไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า EEC ยังไม่ตอบโจทย์หลายประการนั้น เช่น เน้นเฉพาะการให้แรงจูงใจด้วยการเสนอสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนเท่านั้น ไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค หรือนำเสนอชุดกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ได้จริง หรือประเด็นที่คลาดเคลื่อนว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น รวมไปถึงความเข้าใจที่ว่า EEC นั้น ไม่ได้คำนึงถึงความครบวงจรในระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเข้าใจว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการ hard code ไว้ในพระราชบัญญัติเท่านั้น
แต่หากได้อ่านพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ. ๒๕๖๑ โดยละเอียดแล้ว จะพบว่า ความเข้าใจเหล่านั้นมีความคลาดเคลื่อนเพราะจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ความยืดหยุ่น(flexibility) ในการสร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและมีการกำหนด “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” (มาตรา ๔) ไว้ โดยครอบคลุมทุกเรื่อง และหากมีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ยังกำหนดไว้ในมาตรา ๙ เพื่อเปิดช่องให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือ “ชุดกฎหมาย” ได้โดยรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกำหนด “สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ” นักลงทุนเท่านั้น
ประเด็นนี้ทำให้ EEC มีความแตกต่างจาก Eastern Seaboard อย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น EEC ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะทุนใหญ่เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า EEC มีการกำหนดเขตย่อยเป็น EEC-D (digital economy), EEC-I (innovation) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EEC-I นั้น มุ่งเน้นให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ startup ขึ้นในพื้นที่ ดังตัวอย่างที่ ปตท. ได้มีการลงทุนสร้าง วังจันทร์ valley เพื่อให้เกิด ecosystem คล้าย ๆ กับ Silicon Valley ใน California และแม้กระทั่งความพยายามส่งเสริมให้เกิดfruit corridor เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
EEC ไม่ได้ตั้งใจจะส่งเสริมเฉพาะการลงทุนจากทุนต่างประเทศเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากมาตรา ๗ (๒) ที่เขียนไว้ชัดว่าให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาใช้พื้นที่ และการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เขียนในพระราชบัญญัติเท่านั้นแต่ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สามารถกำหนดเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ด้วย
และในมาตร ๗(๑) หากอ่านให้ดี ก็จะเห็นว่า ไม่ได้เน้นเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดการพัฒนาให้เป็น smart city หรือเมืองอัจฉริยะไปพร้อมกัน ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาอย่างครบวงจร ไม่ได้จำกัดเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่าง eastern seaboard ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยและเมื่อมาขยายการพัฒนาให้ครบวงจรมากขึ้นอย่างแนวคิด EEC แล้ว หากรัฐบาลปัจจุบันเข้าใจแนวคิด และดำเนินการอย่างจริงจัง จะสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศมากเพียง
อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ก็คือกำหนดไว้เฉพาะเพียงภาคตะวันออก ๓ จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบาย อาจจะกำหนดเพิ่มเติมได้แต่หากให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าเดิม อาจจะต้องใช้แนวคิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ขยายวงให้เกิดเขตพัฒนาพิเศษในภาคอื่น ๆ ได้ โดยอาจจะใช้ EEC เป็นต้นแบบ ซึ่งกระบวนการแก้พระราชบัญญัติก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเกินไป (อย่างน้อยก็ง่ายกว่า การยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับ) โดยเรียนรู้จาก prototype อย่าง EEC
ตนแสดงความเสียดายอีกครั้งว่า รัฐบาลปัจจุบันคงไม่เข้าใจความสำคัญของแนวคิด EEC และไม่ได้สนับสนุน ผลักดัน ให้เกิดผลอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย อย่างน้อยก็ประมาณ ๓ ปีหลังมานี้ ตนมองว่า หมดยุคแล้ว ที่จะนำเสนอของใหม่โดยพยายามจะล้มล้างของเดิมที่ดีอยู่แล้วเพียงเพราะว่าตนเองไม่ได้เป็นต้นคิด เพราะจะเป็นการเสียเวลาและต้นทุนเป็นอย่างมาก แต่หากจะเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) เสียใหม่ เป็นการปรับปรุงโครงการต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่รังเกียจว่าตนเองไม่ได้เป็นคนเริ่มโครงการ น่าจะเป็นความคิดที่สร้างสรรค์มากกว่า