“โชห่วย”ไปได้สวย“โชสวย”ไม่เข้าท่า
เคยมีร้านโชห่วยพยายามแต่งร้านให้ดูดี ลงทุนติดแอร์จัดวางสินค้าเป็นระเบียบเหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่สุดแล้วก็เจ๊ง
โดย... ทีมข่าวในประเทศ
รากศัพท์จีนกลาง “ชู-ฮั่ว” หมายถึง ร้านขายของชำที่มีสินค้าหลากหลาย ชาวจีนฮกเกี้ยนออกเสียง “โช-ฮ่วย” หรือ “ชุก-ห่วย” เวลาต่อมาศัพท์ถูกแผงกลายเป็น “โชห่วย” หมายถึง ร้านสะดวกซื้อสารพัดสิ่ง ซึ่งมักตั้งอยู่ในตึกแถวหนึ่งห้อง กิจการมีขนาดเล็กระดับครัวเรือน
นี่คือข้อสันนิษฐานแรก
อีกความเป็นไปได้หนึ่ง ตามที่ อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ อาจเป็นไปได้ที่ “โช-ห่วย” เกิดจากการผสมคำระหว่างคำว่า “โชว์” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่าแสดง กับคำว่า “ห่วย” ในภาษาไทย ที่แปลว่า ไม่ดี แย่ เลว
ความน่าจะเป็นอย่างหลัง สอดรับกับแนวคิดของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแผนปรับเปลี่ยนชื่อคำว่าโชห่วยมาเป็น “โชสวย”
“คนในปัจจุบันไม่ทราบแล้วว่าโชห่วยมีความหมายว่าอะไร การเรียกเช่นนี้จะทำให้คนเข้าใจว่าโชห่วยหมายความว่าเป็นร้านที่จัดโชว์สินค้าห่วย ไม่มีความสวยงาม แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นร้าน โชสวย แล้วปรับปรุงหน้าร้าน ชั้นวาง รูปแบบการบริหารจัดการ ก็จะทำให้ดูดีขึ้น” รัฐมนตรีรายนี้ยืนยันว่า จะเริ่มดำเนินการทันที โดยแต่งตั้งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นประธาน
สำหรับการพัฒนาร้านโชสวย จะมีการฝึกอบรมผู้ประกอบการให้บริหารจัดการร้านทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงประสานผู้ผลิตและสหกรณ์ให้สนับสนุนสินค้าราคาถูก รวมถึงเตรียมหารือกับธนาคารรัฐเพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนในการพัฒนาร้าน
คำถามคือ นโยบายสุดบรรเจิดของ ณัฐวุฒิ ตรงใจผู้ประกอบการ “โชห่วย” มากน้อยเพียงใด
“มันจะยิ่งห่วยลงสิไม่ว่า โชสงโชสวยอะไรเลอะเทอะ” ยุทธพงศ์ เจ้าของร้านโชห่วยย่านดอนเมือง แสดงความเห็นอย่างเหนื่อยหน่าย“จะเรียกร้านอะไรก็เรียกไปเถอะ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ชื่อ มันอยู่ที่ทุกวันนี้สินค้ามันแพง กำไรมันหด หนำซ้ำยังมีร้านมินิมาร์ทล้อมอีก มันต้องไปแก้ตรงนี้ ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อเป็นโชสวย มันช่วยอะไรไม่ได้” เขากล่าวจริงจัง
ยุทธพงศ์ บอกว่า ทุกวันนี้กิจการยังดำเนินไปได้ด้วยดี มีปัญหาเพียงแต่ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ลูกค้าก็ยังอยู่ครบ สำหรับข้อดีของร้านโชห่วยคือ เข้าถึงสินค้าง่าย ไม่ต้องรอคิว มีสินค้านอกเหนือจากที่มินิมาร์ทวางขาย เป็นกันเอง และสินค้าบางอย่างก็ราคาถูกกว่า
สอดคล้องกับความเห็นของ พนิดา เจ้าของร้านโชห่วยย่านคลองเตย ที่เชื่อว่า ไม่มีลูกค้าคนไหนตัดสินใจซื้อของเพียงเพราะชื่อร้านโชห่วยหรือโชสวย ลูกค้าเดินมาซื้อของก็มองว่าเป็นร้านค้าร้านหนึ่ง คำว่าโชห่วยมันเป็นคำที่รู้กันลึกๆ เอาไว้เรียกร้านค้า ไม่มีใครสนใจความหมายสักเท่าใด
“ปัญหาหลังจากนี้คือถ้าเปลี่ยนเป็นร้านโชสวยจริง ถามว่าอะไรคือสวย ต้องเปลี่ยนร้านให้สวย ต้องจัดสินค้าให้สวยเพื่อเอามาโชว์ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้นจริงมันจะยิ่งวุ่นวาย ความเป็นจริงหรือคนมาซื้อของเท่านั้น ไม่เห็นต้องว์อะไร มันเป็นของที่ขายทั่วไปอยู่แล้ว” พนิดา ระบุ
แม้จะอยู่ในต่างจังหวัด แต่ สมร เจ้าของร้านโชห่วย จ.อ่างทอง ก็มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน
“การเปลี่ยนชื่อไม่มีประโยชน์ การฝึกอบรมหรือให้กู้เงินก็ยิ่งไม่มีประโยชน์ เราไม่ต้องฝึกอบรมอะไรก็อยู่ได้มาเป็น 20-30 ปี หรือหากจะให้กู้เงินก็คงเอาเงินไปใช้อย่างอื่น ไม่มีใครเอามาพัฒนาร้านหรอก เชื่อเถอะ”
สมร บอกอีกว่า ร้านโชห่วยตามชนบทหรือหมู่บ้านไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตหรือมินิมาร์ทเป็นคู่แข่ง แต่ถึงมีก็ไม่ใช่ปัญหา นั่นเพราะสเน่ห์ของร้านโชห่วยคือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีการให้เครดิตลูกค้า จ่ายเงินเป็นรายเดือน มั่นใจว่าลูกค้าก็ยังเลือกซื้อสินค้ากับโชห่วยต่อไป
“เคยมีร้านโชห่วยพยายามแต่งร้านให้ดูดี ลงทุนติดแอร์จัดวางสินค้าเป็นระเบียบ มันเหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มองแล้วสะอาดตา แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่สุดแล้วก็เจ๊ง ต้องปิดกิจการไป นั่นเพราะลูกค้าไม่กล้าเข้า มันไม่คุ้น กลัวแพง เขาเหล่านั้นเลือกที่จะซื้อของร้านโชห่วยต่อไป” สมรให้ภาพอย่างชัดเจน
ดูท่าโยบาย “โชสวย” จะไม่สวยอย่างที่วาดฝัน