บริวารของดาวเคราะห์น้อย
ปลายเดือน พ.ค. 2556 ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งได้ผ่านเข้ามาใกล้โลก การสังเกตด้วยเรดาร์พบว่ามันมีดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กติดสอยห้อยตามมาด้วย
ปลายเดือน พ.ค. 2556 ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งได้ผ่านเข้ามาใกล้โลก การสังเกตด้วยเรดาร์พบว่ามันมีดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กติดสอยห้อยตามมาด้วย ซึ่งบางคนอาจเข้าใจว่านี่เป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่พบว่ามีดาวบริวาร เนื่องจากไม่เคยทราบมาก่อนว่าวัตถุขนาดเล็กที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างดาวเคราะห์น้อยก็มีดาวบริวารกับเขาด้วย ความจริงแล้วนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่มีดาวบริวารมาแล้วมากกว่า 200 ดวง
ดาวเคราะห์น้อย 1998 คิวอี 2 (1998 QE2) ค้นพบเมื่อปี 2541 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ โดยมีจุดหนึ่งผ่านใกล้วงโคจรของโลก ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.7 กิโลเมตร ถือว่าค่อนข้างใหญ่สำหรับดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก หากชนโลกด้วยความเร็วสูง สามารถก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามมันเข้าใกล้โลกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556 ที่ระยะไกลถึง 5.8 ล้านกิโลเมตร (ราว 15 เท่า ของระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกดวงจันทร์) และจะไม่เข้ามาใกล้มากกว่านี้อีกภายในระยะเวลา 200 ปีข้างหน้า จึงยังไม่มีความเสี่ยงที่จะชนโลกในอนาคตอันใกล้
นักดาราศาสตร์ใช้โอกาสที่ 1998 คิวอี 2 ผ่านใกล้โลกครั้งล่าสุดนี้ สังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุในเครือข่ายดีปสเปซที่โกลด์สโตน รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อวัดขนาด รูปร่าง การหมุน ลักษณะของพื้นผิว และปรับปรุงวงโคจร พวกเขาพบของแถม เมื่อภาพเรดาร์เผยให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีวัตถุขนาดราว 600 เมตร โคจรอยู่โดยรอบ การค้นพบนี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจ เพราะก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยพบบริวารของดาวเคราะห์น้อยมาแล้วหลายดวง
ปี 2532 องค์การนาซาส่งยานกาลิเลโอออกเดินทางจากโลก เพื่อไปสำรวจดาวพฤหัสบดี วันที่ 28 ส.ค. 2536 ยานกาลิเลโอได้ผ่านใกล้ดาวเคราะห์น้อยไอดา (243 Ida -- ตัวเลขข้างหน้าเป็นลำดับในบัญชีรายชื่อดาวเคราะห์น้อย) โดยใกล้ที่สุดที่ระยะห่าง 2,390 กิโลเมตร ระบบเสาอากาศกำลังสูงบนยานกาลิเลโอที่ไม่สามารถกางออกมาใช้งานได้ ทำให้ภาพถ่ายไอดาถูกส่งกลับมาถึงโลกล่าช้าไปถึงเดือน ก.พ. 2537 เป็นเวลาที่นักดาราศาสตร์ได้พบว่าไอดาเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีรูปร่างไม่เป็นทรงกลม ด้านยาววัดได้ 54 กิโลเมตร ที่พิเศษคือมันมีวัตถุขนาดเล็กอยู่ใกล้ๆ วัดขนาดได้ประมาณ 1.4 กิโลเมตร ตั้งชื่อว่าแด็กทิล (Dactyl) นับเป็นดวงจันทร์บริวารดวงแรกของดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการยืนยันว่ามีอยู่จริง
ปี 2541 มีการค้นพบบริวารของดาวเคราะห์น้อยยูจีเนีย (45 Eugenia) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เป็นการค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก ต่อมาในปี 2544 ก็ค้นพบดาวบริวารรอบดาวเคราะห์น้อยพาโทรคลัส (617 Patroclus) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มทรอย (ดาวเคราะห์น้อยที่โคจรนำหน้าและตามหลังดาวพฤหัสบดีเป็นมุม 60 องศา) เป็นครั้งแรก แม้แต่ดาวเคราะห์น้อยที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป ก็ค้นพบว่ามีดาวบริวาร เช่น ดาวเคราะห์น้อย 1998 ดับเบิลยูดับเบิลยู 31 (1998 WW31)
หลังจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลกำหนดนิยามของ “ดาวเคราะห์” เมื่อปี 2549 ทำให้ในปัจจุบันพลูโตจัดเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งในบรรดาดาวเคราะห์น้อยหลายแสนดวงที่ถูกค้นพบแล้วในระบบสุริยะ โดยมีสถานภาพเป็นดาวเคราะห์แคระอีกสถานะหนึ่งด้วย หากพลูโตไม่เคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 มาก่อน มันก็อาจได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่พบว่ามีดวงจันทร์บริวาร
วันที่ 22 มิ.ย. 2521 หรือเดือนนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว เจมส์ คริสตี นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐ ค้นพบแครอน (Charon) ดาวบริวารดวงแรกของดาวพลูโต นอกจากแครอนแล้ว ปี 2548 มีการค้นพบบริวารของพลูโตอีก 2 ดวง คือนิกซ์ (Nix เดิมสะกด Nyx แต่เปลี่ยนเป็น Nix เพื่อไม่ให้ซ้ำกับดาวเคราะห์น้อยชื่อเดียวกัน) และไฮดรา (Hydra) ต่อมาในปี 2554 และ 2555 ก็พบบริวารของพลูโตเพิ่มอีก 2 ดวง รวมเป็นทั้งหมด 5 ดวง และคาดว่าจะพบเพิ่มอีกเมื่อยานนิวเฮอไรซอนส์เดินทางถึงพลูโตในปี 2558
ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อย 231 ดวง ที่พบแล้ว หรือมีหลักฐานจากการสังเกตการณ์ที่บ่งบอกว่ามีดาวบริวารอย่างน้อยหนึ่งดวง แบ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกจำนวน 46 ดวง ดาวเคราะห์น้อยใกล้ดาวอังคารจำนวน 18 ดวง ดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี) จำนวน 84 ดวง ดาวเคราะห์น้อยทรอย จำนวน 4 ดวง และดาวเคราะห์น้อยที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปอีกจำนวน 79 ดวง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือพลูโต
ข้อมูลจากนาซา ระบุว่า ร้อยละ 16 ของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่มีขนาดตั้งแต่ 200 เมตร ขึ้นไป ตรวจพบแล้วว่ามีดวงจันทร์บริวารอย่างน้อยหนึ่งดวง ดาวเคราะห์น้อยบางดวงในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักไม่ได้มีบริวารเพียงดวงเดียว แต่มีถึง 2 ดวง เช่น ดาวเคราะห์น้อยซิลเวีย (87 Sylvia)
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เราจึงได้ข้อสรุปว่า การที่ดาวเคราะห์น้อยมีดาวบริวารนับเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถพบได้ทั่วไป ไม่ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นจะโคจรอยู่บริเวณใดของระบบสุริยะ
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (16–23 มิ.ย.)
เวลาหัวค่ำมีดาวพุธและดาวศุกร์อยู่ทางทิศตะวันตกกับดาวเสาร์อยู่ทางทิศตะวันออก ดาวพุธและดาวศุกร์อยู่เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยดาวพุธกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นและต่ำลง ต้นสัปดาห์อยู่สูงกว่าดาวศุกร์เล็กน้อย ค่ำวันที่ 20 มิ.ย. ดาวพุธกับดาวศุกร์จะอยู่ใกล้กันที่ระยะห่าง 1.9 องศา โดยดาวพุธอยู่ทางซ้ายมือของดาวศุกร์
ดาวเสาร์อยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ในกลุ่มดาวหญิงสาว แต่ละคืนดาวเสาร์จะเคลื่อนสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าทิศใต้ที่มุมเงย 60-70 องศา ในเวลา 2 ทุ่มครึ่ง แล้วตกลับขอบฟ้าราวตี 2 ครึ่ง ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาววัว อาจสังเกตได้ในเวลาเช้ามืด โดยอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก
ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในคืนวันที่ 16 มิ.ย. เข้าสู่ชั่วโมงแรกของวันที่ 17 มิ.ย. พลบค่ำวันอาทิตย์จึงเห็นดวงจันทร์อยู่สูงเกือบกลางฟ้า จากนั้นเคลื่อนต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืน ดวงจันทร์มีส่วนสว่างเพิ่มขึ้นทุกวัน วันที่ 18 และ 19 มิ.ย. ดวงจันทร์จะผ่านใกล้ดาวรวงข้าวและดาวเสาร์ ตามลำดับ สว่างเต็มดวงในช่วงสุดสัปดาห์
วันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันครีษมายัน ระยะเวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืนมากที่สุดในรอบปีสำหรับซีกโลกเหนือ เนื่องจากดวงอาทิตย์มีตำแหน่งเยื้องไปทางทิศเหนือมากที่สุด ตามการเอียงของแกนหมุนของโลก เราจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นบนซีกฟ้าตะวันออกโดยเยื้องไปทางซ้ายมือจากทิศตะวันออกจริงมากที่สุดในรอบปี หลังจากวันนี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นจะค่อยๆ ขยับไปทางขวามือมากขึ้น ส่วนตำแหน่งดวงอาทิตย์ตกจะกลับกัน