posttoday

สถานะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย

07 ตุลาคม 2556

โดย...ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

โดย...ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อ 3-4 เดือนก่อน หลายท่านคงกังวลว่าเงินบาทจะแข็งไปถึงเท่าไหร่ เนื่องจากเวลานั้นเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมั่นดีขึ้นมาก เศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง กระแสเงินจากต่างประเทศไหลบ่าเข้ามายังตลาดเงินในภูมิภาคเอเชีย

แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มออกมาให้สัญญาณว่าอาจจะทยอยถอนมาตรการ QE ภายในปีนี้ บรรยากาศในตลาดเงินก็ได้เปลี่ยนไปคนละด้าน ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง กระแสเงินทุนกลับทิศทาง ไหลออกจากภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงต่อเนื่อง จากนั้นไม่นานเงินบาทก็แข็งค่าสลับกับอ่อนค่า จนยากจะคาดเดาได้

สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมกำลังเปลี่ยนแปลงไป ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจหลักกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตในความเร็วที่แตกต่างกันมาก เศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างกลุ่ม BRICS ที่เติบโตเร็วและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นมากกลายมาเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทำให้มีการค้าและการลงทุนระหว่างเศรษฐกิจเกิดใหม่กันเองขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกิดเป็นขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกใหม่ควบคู่กับเศรษฐกิจหลัก

ภายใต้สภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะลดความผันผวนหรือหลบหลีกความเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทำตัวเราให้แข็งแรงพอที่จะรับมือกับความผันผวนได้ และแข็งแรงพอที่จะฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เราต้องการเห็นประเทศไทยแข็งแรงใน 4 ด้าน

ความแข็งแรงที่ผมกล่าวถึงนี้เป็นอย่างไร สำหรับประเทศไทย ผมมองว่าเราต้องการเห็นความแข็งแรงใน 4 ด้าน

ด้านแรก เราต้องการเห็นผู้ประกอบการไทยเก่ง ไม่ใช่เก่งเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เราต้องการเห็น SMEs ไทยมีศักยภาพด้วย เพราะประเทศจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งจริงต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ผู้ประกอบการต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมากพอที่จะสามารถออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้ มีสินค้าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนต่างๆ

ด้านภาครัฐ ภาครัฐที่แข็งแรงต้องมีวินัยทางการเงินดี สามารถทำหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น Hub เศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

ด้านสถาบันการเงิน สถาบันการเงินที่แข็งแรงต้องมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจเหมือนวิกฤตการเงินปี 2540 หรือวิกฤตการเงินหลายๆ ครั้งในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจได้ดี

ด้านสุดท้าย เราต้องการเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่มีความแตกต่างด้านรายได้เกินไป ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีสุขภาพดี

การที่จะเห็นประเทศไทยแข็งแรงทั้ง 4 ด้านจะต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่า ตอนนี้เราแข็งแรงแล้วแค่ไหน มีภูมิคุ้มกันพอหรือยัง

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้สร้างภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งขึ้นมาแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการ พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะผ่านมรสุมมามากมายหลายรูปแบบ นับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป วิกฤตการเมืองในประเทศ รวมถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยังยืนหยัดได้ ถ้าเราไปดูในกลุ่มผู้ส่งออก เห็นว่า มีการขยายตลาดไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านในอาเซียน ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งมีการส่งออกสินค้าที่หลากหลายขึ้นด้วย ทำให้เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราก็จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก

ในส่วนของผู้ทำนโยบาย ในฐานะของแบงก์ชาติ นับจากวิกฤตการเงินปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เราเองได้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็น Inflation Targeting และดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น รวมถึงได้ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้แบงก์ชาติมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น

ดังนั้น ก็ถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความผันผวนต่างๆ ดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องพัฒนาขีดความสามารถเชิงรุกในการแข่งขันกับต่างประเทศ

นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทำหน้าที่คล้ายกับการเหยียบหรือผ่อนคันเร่งให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่านโยบายการเงินจะไม่มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ แต่อย่างน้อยต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างเช่น บทเรียนวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐได้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนานเกินไป อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินในที่สุด

สำหรับนโยบายการคลัง มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ จึงควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาวควบคู่กันไป

ที่ผ่านมาเราเห็นนโยบายภาครัฐมุ่งเน้นแต่การเพิ่มรายได้ กระตุ้นรายจ่ายของครัวเรือน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้มีข้อจำกัด คือ 1) ไม่ยั่งยืน 2) เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ 3) บิดเบือนกลไกตลาดและไม่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตัวเอง เหมือนคนที่ถูกอุ้มชูอาจจะได้ความสุขสบาย แต่ขณะเดียวกันก็จะอ่อนแอลง เพราะไม่ได้ยืนด้วยกำลังของตัวเอง โดยธรรมชาติร่างกายและสติปัญญาของคนจะแข็งแรงขึ้นเมื่อได้ใช้งาน การทำนโยบายแบบอุ้มชูจะทำให้ศักยภาพภาคเอกชนล้าหลังในระยะยาว

นโยบายภาครัฐที่ดีสำหรับประเทศไทยเวลานี้ ควรเน้นที่ด้าน Supply โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่หลายด้าน ทั้งระบบการขนส่งและด้านตลาดแรงงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่

หากเปรียบประเทศไทยเป็นเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในทะเล วันนี้เรือลำนี้ได้เดินทางมาไกลพอสมควร แต่ยังต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะถึงเป้าหมายที่ได้วาดไว้ ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นจุดหมายเองด้วยตา เพราะที่ผ่านมาการเดินทางของเราสะดุดระหว่างทางกับมรสุมต่างๆ ที่พัดผ่านมา ทำเราเสียสมาธิออกนอกเส้นทางในบางครั้ง และเผลอคลุกตัวอยู่กับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้เสียเวลาและทรัพย์สินไปบ้าง แต่ขอแค่เรามีสติกลับมาที่เสาหลัก กางใบออกเต็มที่ นำพาเรือลำนี้มุ่งหน้าอย่างมีทิศทาง เมื่อนั้นเราจะไม่อ่อนไหวต่อมรสุมต่างๆ ข้างหน้า และจะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง