posttoday

การซ้อมรบเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6

09 มีนาคม 2557

ภาพเสือป่าถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2557 ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

โดย...สมาน สุดโต

ภาพเสือป่าถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2557 ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังจากเวลาผ่านไป 100 ปีเศษ เมื่อกลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เชิญวิทยากรที่คลุกคลีกับพระราชกรณียกิจพิเศษของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาเล่าเรื่องประกอบภาพเก่าฟื้นความคิด จิตวิญญาณเสือป่า

กำเนิดเสือป่า

พระราชกรณียกิจสำคัญอย่างหนึ่งของรัชกาลที่ 6 คือ กิจการเสือป่า กองกำลังพลเรือนอาสาสมัคร แต่ใช้การฝึกแบบทหาร ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวน สืบเสาะหาข่าว เพื่อความมั่นคงของประเทศ

กำเนิดเสือป่าตามพระราชดำริมีขึ้นในเรือพระที่นั่งจักรี

กองเสือป่าที่ทรงตั้งครั้งแรกใช้ม้าเป็นหลัก เพื่อความคล่องตัว คอยทำหน้าที่ลาดตระเวน โดยไม่ผิดสัญญาต่อพระราชไมตรีกับต่างประเทศที่ห้ามมิให้มีหน่วยทหารใกล้บริเวณชายแดน เพราะเสือป่าเป็นอาสาสมัครพลเรือนที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ใช่ทหาร

การซ้อมรบเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6

 

ก่อนที่เวทีเสวนาจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นัยนา แย้มสาขา นำคณะผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน 100 คน ถวายกุหลาบแดง ณ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ที่ประทับบนพระเก้าอี้สนาม บนเนินสูงเพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบเสือป่า ด้วยความสนพระราชหฤทัย ณ ค่ายหลวงบ้านไร่

ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ เป็นเวลา 15 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงนำกองลูกเสือป่ามาซ้อมรบ ณ ที่แห่งนี้ถึง 15 ครั้ง

ม.ล.ปิ่น มาลากุล

ค่ายหลวงบ้านไร่ได้รับการรื้อฟื้นและบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2530 โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนเสือป่ารับใช้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน ที่เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตา เป็นผู้ชี้จุดสำคัญๆ ในค่ายหลวง เช่น ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า อยู่ตรงไหน เป็นต้น

ที่ประทับนั้น ปัจจุบันมีต้นมะปรางเปรี้ยวต้นสูงใหญ่ยืนสง่าเป็นเครื่องหมาย ใกล้ๆ กับบ่อน้ำซึม สำหรับตักมาใช้สอยและบริโภค

วิทยากรที่เล่าเรื่องประกอบภาพเก่า ได้แก่วรชาติ มีชูบท อดีตนักเรียนเก่า และครูโรงเรียนวชิราวุธ ภาณุพงศ์ ไชยคง อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ วชิราวุธวิทยาลัย และภูวนารถ กังสดาลมณีชัย แห่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

การซ้อมรบเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6

 

แผนยุทธศาสตร์

ตามแนวพระราชดำริการป้องกันประเทศของรัชกาลที่ 6 ถ้าชาติตะวันตกรุกราน จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ จ.นครปฐม โดยพระราชวังสนามจันทร์ จะเป็นที่ประทับ เพราะเชื่อว่าอริราชศัตรูที่เป็นฝรั่งจะเดินทางไปถึงลำบาก เช่น ถ้าเดินทางบกจะต้องติดหล่มแถวสวนธนบุรี ที่พระองค์ไม่มีพระราชดำริให้สร้างถนนย่านฝั่งธนแม้แต่สายเดียว เพราะเกรงว่าจะเป็นทางสะดวกสำหรับศัตรู แต่ถ้าศัตรูเลือกเดินทางโดยรถไฟ ก็ง่ายต่อการป้องกัน เพราะจะรื้อรางรถไฟออก เช่นกัน

การที่มีพระราชดำริในการป้องกันศัตรู ก็เพราะเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาพระองค์นำประเทศสยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2460 โดยอยู่ฝ่ายพันธมิตร มีฝรั่งเศส เป็นต้น

ส่วนพิธีตั้งกองเสือป่าและถือน้ำพิเศษกองเสือป่า จัดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 2454 และได้จัดตั้งเป็นระบบโดยแบ่งเป็น 7 เหล่า คือ 1.เหล่าราบ 2.เหล่าม้า 3.เหล่าปืนใหญ่ 4.เหล่าช่าง 5.เหล่าเดินข่าว 6.เหล่าพาหนะ 7.เหล่าพราน

และแบ่งเป็น 7 แผนก คือ 1.แผนเสนาธิการ 2.แผนกปลัด 3.แผนกสัสดี 4.แผนกยกกระบัตร 5.แผนกเกียกกาย 6.แผนกจเร 7.แผนกสารวัตร

การซ้อมรบเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6

 

การซ้อมรบเสมือนจริง

การซ้อมรบเสือป่า ได้ทำนอกสถานที่หลายแห่ง เช่น นครไชยศรีและพระราชวังสนามจันทร์ นอกจากที่ค่ายหลวงบ้านไร่ แต่โปรดให้ซ้อมเสมือนจริง โปรดให้ใช้รถยนต์ของพระองค์เป็นรถหุ้มเกราะ ให้ใช้ประทัดเป็นอาวุธ

ตัวอย่างการซ้อมรบที่พระราชวังสนามจันทร์ มีการแบ่งกองกำลังออกเป็นฝ่ายสีแดงและสีเหลือง สีแดงสมมติว่าเป็นฝ่ายยุโรป ที่เป็นศัตรูบุกรุกมีกองกำลัง 917 นาย สีเหลืองสมมติว่าเป็นฝ่ายสยาม ที่ถูกบุกรุกหรือตั้งรับ มีกองกำลัง 600 นาย

ได้มีเหตุสลดใจในการซ้อมรบ เมื่อเสือป่าจมน้ำตาย เรื่องมีว่าเสือป่าชื่อเชื้อ ว่ายน้ำไม่เป็น แต่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ลงน้ำ จึงจมน้ำตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ที่พระปฐมเจดีย์ และยังคงอยู่ทุกวันนี้

กรณีกบฏ ร.ศ. 130

อย่างไรก็ตาม การเกิดกองเสือป่า ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่ทหาร เพราะหลายสิ่งหลายอย่างบ่งบอกว่ามาแข่งกับทหาร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ให้ความสนใจและใกล้ชิดมาก จึงเกิดกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น โดยมีนายทหารถูกจับกุม 91 นาย ศาลทหารพิพากษาประหารชีวิต 3 นาย นอกจากนั้นพิพากษาลงโทษหนักเบาแล้วแต่กรณี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษหมดทุกคน หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1

เสือป่า กองรบพิเศษ ที่ทำหน้าที่สอดแนม หาข่าว เพื่อความมั่นคงของชาติ ได้ยืนยงอยู่ชั่วระยะเวลาการครองราชย์ของพระผู้สถาปนาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องให้ศึกษา เพราะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสยาม

ไทยตั้งกองลูกเสือเป็นที่ 3 ของโลก

ข้อมูลจาก 100 รอยอดีต โดย ส.พลายน้อย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2527 ว่า

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสือป่าและลูกเสือ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2454 และกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2454 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพิธีตรึงหมุดธงประจำกอง ในครั้งนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองเสือป่าหลวงที่จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว 1 กองร้อย กระทำสัตย์สาบานถือน้ำเป็นสมาชิกประจำการเป็นประเดิม

การจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นนี้ ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ เพราะทรงมีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหารไว้ช่วยป้องกันบ้านเมืองในเวลาที่มีศึกสงคราม หรือช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย

ต่อมามีพระราชปรารภว่า “ผู้ที่จะเป็นเสือป่าต้องเป็นผู้ที่นับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฝ่ายเด็กชายที่ยังอยู่ในปฐมวัยก็เป็นที่สมควรจะได้รับความฝึกฝน ทั้งในส่วนร่างกายและในส่วนใจให้มีความรู้ในทางเสือป่า เพื่อว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้วจะได้รู้จักหน้าที่ซึ่งผู้ชายไทยทุกคนควรจะประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นตามโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2454 เป็นต้นไป

การลูกเสือแห่งแรกของโลกกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2451 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเม่ือ พ.ศ. 2452 ประเทศไทยจึงมีกิจการลูกเสือเป็นประเทศที่ 3 ของโลก