posttoday

บรรทษัทน้ำมันแห่งชาติยักษ์ในตะเกียงวิเศษตัวใหม่?

02 เมษายน 2557

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยเสนอร่างแผนแม่บท “การปฏิรูปพลังงานไทย” โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยเสนอร่างแผนแม่บท “การปฏิรูปพลังงานไทย” โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

1.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ กำหนดให้ปิโตรเลียมทั้งที่อยู่ใต้ดินและที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นของรัฐ และให้เปลี่ยนระบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญารับจ้างบริการ โดยใช้วิธีประมูล

2.ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ) ขึ้นแทนบริษัท ปตท. โดยมีฐานะเป็นองค์กรของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ และจะนำมาขายหรือกระจายหุ้นเปลี่ยนแปลงเป็นเอกชนไม่ได้

3.ให้จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปิโตรเลียมขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ) โดยให้มีตัวแทนของประชาชนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ รวมทั้งนักวิชาการเป็นองค์ประกอบสำคัญ

4.อำนาจหน้าที่ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ) กำหนดไว้กว้างขวางมาก คือ

4.1 ถือสิทธิครอบครองทรัพยากรปิโตรเลียม เครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต การตรวจวัด และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.2 ออกกฎระเบียบ ควบคุมดูแลบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านทรัพยากรปิโตรเลียมให้ดำเนินอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

4.3 เป็นผู้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการประมูลที่โปร่งใส โดยให้สื่อสารมวลชนทำการเผยแพร่การดำเนินการทั้งหมด

4.4 จัดทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

4.5 จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ

4.6 ดำเนินการจัดประมูลขายจำหน่ายจ่ายโอนปิโตรเลียมที่ได้จากแหล่งผลิตต่างๆ

4.7 ให้มีการจัดตั้งกองทุนปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สนับสนุนสวัสดิการด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม เพิ่มเบี้ยคนชรา และสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน

นอกจากรายละเอียดทั้งสี่ข้อข้างต้นแล้ว ยังได้มีการระบุถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านอีก อันได้แก่การไม่ต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุอีกต่อไป และเมื่อหมดอายุสัญญาให้เปลี่ยนมาเป็นสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิตแทน

ส่วนการปฏิรูปด้านกิจการกลางน้ำนั้น ก็มีแผนการที่จะลดบทบาทและการผูกขาดทางธุรกิจของบริษัท ปตท. โดยห้ามมิให้ ปตท.เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักของประเทศ ห้ามมิให้ ปตท.มีอำนาจผูกขาดในการจัดซื้อจัดหาปิโตรเลียมแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้ดำเนินการแทน

ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซหุงต้ม หรือที่เรียกว่ากิจการปลายน้ำนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ประกอบไปด้วยการยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม โดยจัดสรรก๊าซจากโรงแยกก๊าซให้ประชาชนได้ใช้ก่อนตามต้นทุนที่แท้จริง ส่วนภาคอุตสาหกรรมให้ไปนำเข้า หรือสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการ

ให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพราะเมื่อไม่จำเป็นต้องอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเข้ากองทุนอีก ซึ่งจะทำให้ลดราคาน้ำมันลงได้

ให้ยกเลิกการอ้างอิงสูตรราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ และใช้ราคาส่งออกเป็นราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นแทน

ให้ยกเลิกการกำหนดมาตรฐานน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศตามมาตรฐานยูโร 4 เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่สูงเกินความจำเป็น ทำให้น้ำมันมีราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นภาระต่อประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอในการปฏิรูปพลังงานของกลุ่ม คปท. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งต้องบอกว่าบางเรื่องก็เป็นข้อเสนอที่น่ารับฟัง ถึงแม้ว่าอาจจะยังเป็นแค่แนวความคิดซึ่งยังไม่ตกผลึกดีนัก ต้องผ่านการระดมความคิดจากหลายฝ่ายถึงผลดีผลเสียหากจะนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางแนวทางในการปฏิรูป

แต่ประเด็นที่ผมอยากนำมาให้ความเห็นเพิ่มเติมในวันนี้ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องข้อเสนอในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของข้อเสนอในครั้งนี้

เนื่องจากเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ข้อเสนอนี้เปรียบเสมือนกับการเสนอให้มีการจัดตั้งบริษัท ปตท. 2 ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งนั่นเอง มิหนำซ้ำยังเป็นองค์กรด้านพลังงานของรัฐที่มีอำนาจสูงมาก อาจกล่าวได้ว่ามีอำนาจบริหารจัดการด้านพลังงานเบ็ดเสร็จมากกว่า ปตท.เดิมเสียด้วยซ้ำไป เพราะได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การดังกล่าวให้เป็นทั้งผู้ดำเนินการ (Operator) และผู้กำกับดูแล (Regulator) อยู่ในองค์กรเดียวกัน ซึ่งเป็นการผิดหลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการที่ดีเป็นอย่างยิ่ง

ถึงแม้ว่าในข้อเสนอจะมีการตั้งสภาประชาชนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร ที่มีตัวแทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการเข้ามามีส่วนในการร่วมกำกับดูแล แต่ที่มาของสภาประชาชนดังกล่าวก็ยังเลื่อนลอยมาก สัดส่วนองค์ประกอบจะเป็นอย่างไร ควบคุมกำกับดูแลได้จริงแค่ไหนก็ยังเป็นปัญหา อย่าลืมว่าผลประโยชน์ในบรรษัทพลังงานแห่งชาติตามที่ระบุไว้ในอำนาจหน้าที่นั้นมันมากมายมหาศาลนัก คนที่เข้าไปกำกับดูแลจะต้านทานผลประโยชน์ดังกล่าวได้จริงหรือเปล่า

ผมดูข้อเสนอของ คปท.แล้ว ก็ดูเหมือนยอมรับว่าเราต้องมีองค์กรกำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน และบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็เกี่ยงว่าไม่ไว้ใจกระทรวงพลังงาน และมองว่า ปตท.แปรรูปเป็นเอกชนไปบางส่วนแล้ว ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ จึงไปสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่นกระทรวงพลังงาน องค์กรกำกับดูแล และ ปตท. เป็นต้น

แต่ผมเป็นห่วงว่าด้วยความกลัวและความไม่ไว้วางใจดังกล่าว ทำให้เรากำลังจะไปสร้างยักษ์ในตะเกียงวิเศษขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง โดยเชื่อว่าเราจะควบคุมมันได้ แต่เมื่อไรก็ตามถ้ามันหลุดออกมาจากตะเกียงได้ เราก็จะต้องมานั่งแก้ปัญหากันอีก และจะเป็นปัญหาที่ใหญ่โตกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป

ความจริงแล้วเราสามารถปฏิรูปพลังงานโดยไม่จำเป็นต้องรื้อโครงสร้างปัจจุบันก็ทำได้ เพียงแต่ปรับแต่งแก้ไขให้ดีขึ้น โดยยึดหลักการที่ผมเคยเสนอเอาไว้สามข้อ คือ

1.โปร่งใส ธรรมาภิบาล และมีส่วนร่วม

2.ลดการผูกขาด

3.เพิ่มประสิทธิภาพ

ซึ่งถ้ายึดหลักดังกล่าว สิ่งที่ควรทำก็คือการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลธุรกิจพลังงานครบวงจรที่เป็นอิสระ โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นการยกระดับองค์กรที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่นคณะกรรมการปิโตรเลียม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) ขึ้นมาให้รับผิดชอบธุรกิจพลังงานให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปรับสัดส่วนองค์ประกอบและที่มาของกรรมการให้หลากหลาย ให้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น และต้องให้ผ่านการรับรองจากวุฒิสภา เป็นต้น

ในส่วนของ ปตท.นั้น ก็ควรปรับองค์กรโดยลดสิทธิพิเศษและการผูกขาดต่างๆ ลงให้หมด แล้วแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน 100% นำผลประโยชน์ต่างๆ ส่งคืนรัฐให้หมด แล้วให้ไปแข่งขันกับเอกชนให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและการแข่งขันที่สมบูรณ์

ในขณะที่การดำเนินการในเรื่องการให้สิทธิการสำรวจและขุดค้นปิโตรเลียม ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้นั้น

ก็ชอบที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยทุกฝ่ายที่มีความเห็นต่าง และนักวิชาการที่มีความเป็นกลางมาหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งผมเชื่อว่าในที่สุดระบบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยก็คือระบบ Hybrid นั่นก็คือระบบที่ผสมผสานกันไประหว่างระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลประโยชน์นั่นเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะค้นพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดไหน ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก

ดังนั้น ผมจึงยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คปท.ที่ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาถือสิทธิครอบครองทรัพยากรปิโตรเลียม จัดการเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ ตลอดจนควบคุมดูแลบริหารจัดการธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจร ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแล และผู้ดำเนินการในองค์กรเดียวกันครับ

ผมว่าตอนนี้เรามียักษ์ในตะเกียงตัวเดียวก็น่าจะพอแล้วนะครับ ช่วยกันหาทางควบคุมและใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดน่าจะดีกว่าครับ