"เหมืองแร่เหมืองเลือด"ความป่าเถื่อนที่วังสะพุง
สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือช่วยเหลือในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยในชุมชน เยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ
โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์
เมื่ออิทธิพลมืดคุกคามทำร้ายชาวบ้านตาดำๆ โดยที่ผู้รักษากฎหมายได้แต่มองตาปริบๆ สถานการณ์ ณ วันนี้ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จึงไม่ต่างอะไรกับบ้านป่าเมืองเถื่อน
เหตุการณ์ชายฉกรรจ์สวมหมวกไหมพรมคลุมหน้าจำนวนนับร้อยพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับกุมและทำร้ายชาวบ้านในพื้นที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ที่ทราบข่าวเป็นอย่างยิ่ง
ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อุกอาจป่าเถื่อนเช่นนี้ขึ้น แต่ที่น่าสลดหดหู่ใจไปกว่านั้นคือเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นและจบลง โดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน
"ท่าทีของเหมืองชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาเอาเราแน่ ทั้งรื้อกำแพง ใช้คำสั่งของทางราชการมาบีบบังคับ จนถึงฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ครั้งนี้เป็นวิธีที่เราคาดไม่ถึง ที่ผ่านมาเราเปิดหน้าสู้มาโดยตลอด แบบนี้มันไม่ใช่การต่อสู้ มันเป็นการคุกคามทำร้ายอย่างป่าเถื่อนที่สุด"ชาวบ้านรายหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงปวดร้าว
การต่อต้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นปัญหาคาราคาซังระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมานานนับสิบปีแล้ว หลังจากมีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินและเปิดเหมืองขุดแร่ทองคำบนพื้นที่ 1,160 ไร่ ในปี 2533 วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
โดยเฉพาะหมู่บ้านรอบเหมือง 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยผุก บ้านกกสะทอน บ้านนาหนองบง บ้านโนนผาพุงพัฒนา บ้านแก่งหิน และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา ต่างต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ลำน้ำธรรมชาติอย่างแม่น้ำฮวยที่ใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาปนเปื้อนสารพิษจนมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้อุปโภคบริโภค ฝุ่นละอองหนาแน่นในอากาศจากการขนสินแร่ มลภาวะทางเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินตลอดทั้งวันทั้งคืน มิหนำซ้ำยังเกิดความแตกแยกในชุมชนอันเนื่องมาจากผลประโยชน์อีกด้วย
สุขภาพย่ำแย่ แผ่นดินของบรรพบุรุษก็ถูกสูบจนเหือดแห้ง โดยไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ
ปี 2550 เมื่อรู้สึกหมดความอดทน ไร้ที่พึ่ง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มชื่อ 'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด' เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง รวมถึงเตือนภัยเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน การเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นไปอย่างเข้มข้น ถึงขั้นก่อกำแพงกีดขวางไม่ให้รถขนแร่น้ำหนักกว่า 15 ตัน วิ่งผ่านถนนของหมู่บ้าน จนนำไปสู่การเจรจาขอนำแร่ออกจากเหมืองของนายทุน ท่ามกลางการถูกข่มขู่ใส่ร้ายจากมือมืดมากโดยตลอด
วันที่ 16 ม.ค.2553 ความขัดแย้งก็ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัด เมื่อแกนนำชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางลงพื้นที่สำรวจและศึกษาระบบนิเวศน์ ภายใต้กิจกรรมค่ายโครงการศึกษาระบบนิเวศน์บนเส้นทางการพัฒนาอีสานของกลุ่มเผยแพร่กฏหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มดาวดิน จนถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุก
ปัจจุบัน ความบาดหมางระหว่างเจ้าของเหมืองแร่ทองคำและทองแดง กับชาวบ้าน บานปลายใหญ่โตกลายเป็นคดีความถึง 7 คดี คดีแรกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท บวก 10 ล้านบาททุกวัน จนกว่าคดีจะสิ้นสุดหรือกำแพงจะถูกทำลายลง และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จากการทำกำแพงครั้งที่หนึ่งเพื่อกั้นถนนไม่ให้รถบรรทุกแร่และสารเคมีในการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมวิ่งผ่าน
คดีที่สองเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกจากการทำซุ้มประตู (กำแพงครั้งที่สาม) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คดีที่สามเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 150 ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกพื้นที่สาธารณะด้วยการนำแท่งคอนกรีตทรงกลม (กำแพงครั้งที่สอง) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ส่วนคดีสุดท้ายบริษัทเอกชนร่วมกับอบต. เขาหลวง ร้องทุกข์กล่าวโทษชาวบ้าน 22 คน ข้อหาข่มขืนใจ บุกรุกและสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ
กระทั่งฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้นลง หลังจากเหตุนองเลือดกลางดึกของวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านที่ถูกทำร้ายร่างกาย เล่าว่าสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ยังคุกรุ่น ชาวบ้านยังคงบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว เสียขวัญ ขณะเดียวกันก็โกรธแค้น
"ตอนนี้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กินก็กินไม่ลง นอนก็นอนไม่หลับ ในที่ประชุมเราตกลงกันว่าให้เดินทางกันเป็นกลุ่ม ห้ามไปไหนมาไหนคนเดียว เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ นับตั้งแต่เกิดเหตุเราได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเพียงแค่ส่งเจ้าหน้าที่อนามัยมาดูแลอาการบาดเจ็บ ขณะที่ทางผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ก็รับปากกว่าจะส่งกำลังมาดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ แต่ก็มีแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงนายเดียว กับอปพร.อีก 2-3 คนที่ทางอำเภอก็ส่งมาเท่านั้น"
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา จากการประชุมที่บ้านนาหนองบงเพื่อวางแผนรับมือปกป้องชุมชน ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดเลย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้มีส่วนรับผิดชอบต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น
แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดย้ำว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือช่วยเหลือในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยในชุมชน เยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเร่งด่วน และเพื่อความยุติธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ขอให้ระงับใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ของเอกชนทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้าน และ ขอตรวจสอบและขอสำเนาใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของเอกชนทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เนื่องจากที่ผ่านมาความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความทุกข์และกังวลแก่คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
โดยอ้างอิงกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 103 วรรคแรก ที่ระบุไว้ว่า“อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน”
"วันนี้เรารู้สึกเหมือนถูกบีบคั้นให้จับอาวุธขึ้นมาสู้ อยากให้เรามีกองกำลังของตัวเองหรือยังไง ?เราไม่ต้องการใช้ความรุนแรงตอบโต้ ไม่ต้องการใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่นี่เราโดนเหยียบย่ำทำร้ายถึงในบ้าน เราจึงจำเป็นต้องสู้เท่าที่จะสู้ได้"
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่มดาวดิน องค์กรนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด บอกว่าเป้าหมายสูงสุดในการต่อสู้ครั้งนี้คือปิดเหมืองและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในพื้นที่ให้กลับคืนมาดังเดิม ภายใต้แนวทางอหิงสา
"คนเราเมื่อโดนกดขี่ข่มเหงจนถึงขีดสุด มีอยู่สองทางคือยอมจำนนหรือไม่ก็ต่อสู้ ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแบบวันนั้นอีก ชาวบ้านมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ พวกเขาจะไม่มีวันจับอาวุธขึ้นมาใช้ความรุนแรงอย่างแน่นอน"
แม้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากชาวบ้าน แต่มีแนวโน้มว่าทีมกฎหมาย นำโดยนายวสันต์ พานิช เตรียมยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ที่นำกำลังเข้าทำร้ายชาวบ้าน หรือหน่วยงานรัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันนำไปสู่วีรกรรมอัปยศที่จะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไม่มีวันลืม